กาชาดระหว่างประเทศ…ภารกิจเพื่อ“มนุษยธรรม”ที่ชายแดนใต้
สุเมธ ปานเพชร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้รัฐบาลไทยจะนั่งยัน นอนยันมาตลอดว่า ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “ปัญหาภายใน” ของประเทศไทย แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าเป็นปัญหาที่ทั่วโลกจับตามอง และมีองค์กรระดับนานาชาติหลายองค์กรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
ปัจจุบันจึงมีชาวต่างชาติวิ่งเข้าวิ่งออกพื้นที่ชายแดนใต้ไม่น้อย หลายๆ ครั้งทำให้หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยมองอย่างไม่ค่อยไว้วางใจนัก...
แต่กระนั้นก็มีอยู่หลายองค์กรเช่นกันที่เข้ามาทำงานแบบ “พี่มีแต่ให้ ไม่ได้หวังอะไรตอบแทน” และหนึ่งในนั้นคือ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ” หรือ ไอซีอาร์ซี (ICRC : International Committee of the Red Cross)
ก่อนจะไปทำความรู้จักกับ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ” น่าจะไปทำความรู้จักกับ “กาชาด” เสียก่อน โดย “กาชาด” เป็นคำที่ใช้เรียกหน่วยงานสากลที่ประกอบด้วยอาสาสมัครจากทั่วโลกราว 97 ล้านคน มีจุดประสงค์ในการพิทักษ์ชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ การบรรเทาทุกข์ และการรักษาพยาบาลโดยไม่เลือกชาติพันธุ์ เชื้อชาติ เพศ ความเชื่อทางศาสนา ระดับชั้นในสังคม หรือความคิดเห็นทางการเมือง
ตราสัญลักษณ์ของกาชาดที่ใช้กันมี 3 ตรา คือ ตรากากบาทแดง (Red Cross) ตราเสี้ยววงเดือนแดง (Red Crescent) สำหรับกลุ่มประเทศมุสลิม และตราเพชรแดง (Red Crystal)
สำหรับ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ” เป็นสถาบันสังคมสงเคราะห์อิสระ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ชาติสมาชิกยอมรับให้เป็นองค์กรอิสระตามหลักการมนุษยธรรมนานาชาติ (international humanitarian law) แห่งข้อตกลงเจนีวา (Geneva Conventions) ซึ่งถือเป็นกฎหมายนานาชาติตามธรรมเนียม มีหน้าที่ตั้งแต่แรกตั้งคือปกป้องผู้รับเคราะห์จากสงครามทั้งภายในและระหว่างประเทศ ทั้งการบาดเจ็บจากสงคราม การลี้ภัย เชลยสงคราม และพลเรือน
คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ เป็นองค์กรที่เก่าแก่ที่สุดและทรงเกียรติในกระบวนการกาชาด เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพถึง 3 ครั้งเมื่อปี ค.ศ.1917 ค.ศ.1944 และ ค.ศ.1963
คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศมีสำนักงานสาขาอยู่ในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และมีสำนักงานย่อยอยู่ที่ จ.ปัตตานี เพื่อรองรับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ฌอง-ฟรองซัวส์ ซอนเนย์ เป็นผู้แทนหัวหน้าคณะทำงานภาคใต้
คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ มีภารกิจหลักในการคุ้มครองช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบและเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทั่วโลก โดยยึดถือความเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ
งานของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศคือ การเข้าไปเยี่ยมประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องขังจากความขัดแย้ง สืบหาบุคคลสูญหาย และช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวที่พลัดพรากจากกันจากสถานการณ์ความขัดแย้งให้ได้กลับมาพบกัน นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือด้านน้ำและอาหาร ตลอดจนการบริการทางการแพทย์แก่ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งยังชีพขั้นพื้นฐานเหล่านี้ได้อีกด้วย
ขณะเดียวกันก็ยังส่งเสริมงานให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรม (หลักการมนุษยธรรมนานาชาติ) และควบคุมการนำกฎหมายมนุษยธรรมไปใช้อย่างถูกต้องในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง
กล่าวโดยสรุปก็คือ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศยึดหลัก “กาชาด” 7 ประการที่ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ.1965 คือ มนุษยธรรม การไม่เลือกปฏิบัติ ความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ การให้บริการอย่างอาสาสมัคร เอกภาพ และความเป็นสากล
ปัจจุบันคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศมีสำนักงานอยู่ใน 80 ประเทศทั่วโลก!
สำหรับต้นสายปลายเหตุที่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ไอซีอาร์ซี สนใจเข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ฌอง-ฟรองซัวส์ ซอนเนย์ เล่าให้ฟังว่า ไอซีอาร์ซี ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงมาในพื้นที่นี้ตั้งแต่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงใหม่ๆ คือราวปี 2547 เนื่องจากพบว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจำนวนมาก รวมไปถึงมีประชาชนจำนวนไม่น้อยตกเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ทั้งใน จ.ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสงขลา รวมกว่า 500 ราย
“เจ้าหน้าที่ของ ไอซีอาร์ซี ได้เข้าไปพบผู้ต้องขังคดีด้านความมั่นคงโดยได้รับความยินยอมจากตัวผู้ต้องขัง เพื่อเข้าไปสัมภาษณ์ จดทะเบียน ทำบัญชีผู้ต้องขัง และให้ความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น โดยจะสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังว่าได้รับสิทธิตามสมควรที่จะได้รับตามหลักกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ หากพบว่าไม่ได้รับการดูแลตามสมควร ทาง ไอซีอาร์ซี จะแจ้งไปยังผู้รับผิดชอบให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับการปฏิบัติและดูแลตามที่สมควรจะได้รับ”
นอกเหนือจากการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังแล้ว ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งที่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศดำเนินการอย่างกว้างขวางในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การพบปะและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรง
“เราได้ทำการสำรวจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่ว่ามีมากน้อยแค่ไหน จากนั้นก็เข้าไปคุยกับผู้ได้รับผลกระทบเพื่อหาทางช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนเท่าที่จะทำได้ อย่างเช่นกรณีเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงเรียนที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทาง ไอซีอาร์ซี ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเยี่ยมครูและนักเรียน พบว่าอาคารเสียหาย นักเรียนไม่มีอุปกรณ์การเรียน เราจึงได้เข้าไปสนับสนุนทั้งหนังสือและอุปกรณ์การเรียนทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแก่ทางโรงเรียน ก่อนที่หน่วยงานที่รับผิดชอบจริงๆ จะเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือ”
“เช่นเดียวกับครอบครัวที่มีสมาชิกเสียชีวิตจากสถานการณ์ความรุนแรง บางครอบครัวอาจยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ อาจจะเป็นเพราะไม่รู้หรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ของ ไอซีอาร์ซี ก็จะเข้าไปทำหน้าที่ประสานงานเพื่อขอรับความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐตามสิทธิที่ควรจะได้รับ”
อย่างไรก็ดี ฌอง-ฟรองซัวส์ ซอนเนย์ บอกว่า ไม่ได้หมายความว่าคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ มีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกราย หรือนำข้าวของเงินทองไปบริจาคได้ทุกกรณี
“องค์กรของเราทำได้เพียงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ได้รับผลกระทบที่มีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอาหารและน้ำดื่ม ตลอดจนปัจจัยที่ใช้ในการดำรงชีวิต”
นอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น และประสานงานให้เหยื่อความรุนแรงได้รับการดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คณะกรรมการกาชาดิระหว่างประเทศยังมีภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม ซึ่งเป็นงานที่ทำควบคู่ไปกับงานช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้า
“เรามีกิจกรรมบรรยายให้ความรู้เรื่องหลักมนุษยธรรมนานาชาติให้กับประชาชนทั่วไปในพื้นที่ต่างๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตำรวจ เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจหลักการของมนุษยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักสากล” ฌอง-ฟรองซัวส์ ซอนเนย์ กล่าว
แน่นอนว่า การเป็นองค์กรต่างประเทศที่เข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ขัดแย้งซึ่งรัฐบาลเจ้าของประเทศย้ำว่าเป็น “ปัญหาภายใน” ย่อมทำให้คณะเกรรมการกาชาดระหว่างประเทศถูกจับตามองจากหน่วยงานด้านความมั่นคงไม่น้อยเหมือนกัน
เรื่องนี้ ฌอง-ฟรองซัวส์ ซอนเนย์ ย้ำว่า คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศทำหน้าที่ด้านมนุษยธรรมอย่างเดียว และจะไม่เข้าไปแทรกแซงการปฏิบัติใดๆ ของรัฐบาลหรือหน่วยงานความมั่นคง ไม่ว่าจะในประเทศไหนก็ตาม
“เราไม่ได้มีหน้าที่เข้าไปแทรกแซงหรือยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของฝ่ายรัฐบาล หากการทำหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านั้นอยู่ภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวก็ต่อเมื่อมีการละเมิดหลักมนุษยธรรม และมีประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้รับความเดือนร้อน”
“อย่างกรณีการประกาศเคอร์ฟิว (ห้ามออกนอกเคหะสถานในเวลาที่กำหนด โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก) ของหน่วยงานด้านความมั่นคงก่อนหน้านี้ หากพื้นที่เคอร์ฟิวมีประชาชนได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถออกไปซื้อหาเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อยังชีพได้ หรือไม่มียารักษาโรคจนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐานตามที่มนุษย์สมควรจะได้รับ ตรงนั้นจะเป็นหน้าที่ของ ไอซีอาร์ซี ที่จะต้องเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่ถ้าไม่ถึงขั้นนั้น เราก็จะไม่ยุ่งเกี่ยว เพราะเราจะไม่แทรกแซงเรื่องนโยบาย” ฌอง-ฟรองซัวส์ ซอนเนย์ กล่าว
ปัจจุบันคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ได้พยายามเข้าไปพบปะพูดคุยกับหน่วยงานด้านความมั่นคง และองค์กรอื่นๆ ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดี โดยเฉพาะกับภารกิจหน้าที่ของ ไอซีอาร์ซี เพื่อเดินหน้าทำงานด้านมนุษยธรรมต่อไป...
ตราบเท่าที่ความรุนแรงยังไม่หยุดสร้างบาดแผลและความเจ็บปวดให้กับผู้คน!
-----------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ทีมข่าวอิศรามีโอกาสเข้าไปเยือนและพูดคุยถึงภารกิจของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ กับ ฌอง-ฟรองซัวส์ ซอนเนย์ หัวหน้าคณะทำงานภาคใต้ โดยมี เฟรเดริก เล้อแตลีเยร์ ล่ามประจำสำนักงานย่อยจังหวัดปัตตานี ช่วยแปลภาษา
ภาพประกอบ :
1. ดัดแปลงจากภาพในเว็บไซต์คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ www.icrc.org อ้างอิง ©ICRC/T. Gassmann ref. iq-e-00323
2. ฌอง-ฟรองซัวส์ ซอนเนย์ (ซ้าย) กับ เฟรเดริก เล้อแตลีเยร์ (ขวา)
3-4 กิจกรรมของ ไอซีอาร์ซี ที่ชายแดนใต้