ทางสองแพร่งพัฒนาอ่าวท่าศาลา : วิถีประมงพื้นบ้านหรือท่าเรือเชฟรอน?
ที่อ่าวท่าศาลาชาวบ้าน ท้องถิ่น ข้าราชการ ร่วมประกาศว่าทะเลหน้าบ้านอุดมสมบูรณ์สมดังเป็น “อ่าวทองคำ” แต่วันนี้พวกเขาบอกว่าอีไอเอโครงการท่าเทียบเรือบริษัทเชฟรอน ขัดแย้งกับความเป็นจริง
หลายสิบปีก่อนทะเลแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก แต่ก็ถูกเรือประมงพาณิชย์ ทั้งเรืออวนลาก อวนรุน เรือคราดหอยลาย เข้ามาทำการประมงจนทะเลเสื่อมโทรมเพราะฟื้นฟูไม่ทัน จนเมื่อปี ๒๕๕๐ ภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง จนสามารถยับยั้งการทำประมงที่ทำลายล้างได้เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะเรือคราดหอยลาย และได้ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นทางทะเล เพื่อปกป้องและรักษาทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน เป็น อบต.แรกของประเทศไทย ในปี 2552
จากนั้นเป็นต้นมาทะเลท่าศาลาฟื้นตัวกลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างรวดเร็ว เพราะการทำประมงผิดกฎหมายที่ค่อยหมดไป ประกอบกับที่อ่าวทองคำแห่งนี้เป็นระบบนิเวศน์เฉพาะที่เอื้อต่อการอาศัยของสัตว์น้ำ ทำให้วันนี้เรือประมงเกือบสองพันลำยังคงทำการประมงอย่างมีความสุขและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี นายอภินันท์ เชาวลิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา ซึ่งเป็นแกนนำท้องถิ่นเผยว่า
“ทะเลท่าศาลา เพียงพอให้ชาวประมงจำนวนมากทำมาหากินกันอย่างเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานที่อื่น เศรษฐกิจประมงที่นี้มีความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบัน อบจ.ได้วางปะการังเทียมตลอดแนวชายฝั่งสองชั้น ทั้งจังหวัด ในเขต 3,000 เมตร และ 5,400 เมตร รวมทั้งมีเรือตรวจการณ์ เฝ้าระวังชายฝั่ง เมื่อทะเลไม่มีใครทำลาย ไม่มีการรบกวน ไม่มีนายทุนมากอบโกย มันสมบูรณ์ได้ในตัวมันเอง”
ด้วยความเป็นอ่าวที่ตั้งในเขตทิศทางลม มีอิทธิพลจากเทือกเขาหลวงเป็นปราการกั้นขวางไว้ตลอดแนว ประกอบกับอ่าวท่าศาลาเป็นดินดอนปากแม่น้ำหลายสิบสาย ทำให้มีระบบนิเวศน์เฉพาะถิ่น เมื่อลมพัดจากชายฝั่งทะเลมาปะทะเทือกเขาหลวง ทิศทางจะไหลเวียนทำให้เกิดลมแปดทิศ อีกทั้งเทือกเขาหลวงเป็นแหล่งแร่ธาตุและสารอินทรีย์จำนวนมาก รวมถึงก่อเกิดแม่น้ำสายสั้นๆหลายสิบสายพัดพาตะกอนลงมาในอ่าวท่าศาลา เป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์น้ำขนาดเล็ก ส่งผลให้เกิดระบบนิเวศน์หลากหลายที่ปากแม่น้ำ
อาจารย์วิชาญ เชาวลิต ประธานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา ซึ่งเป็นนักวิชาการท้องถิ่น อธิบายว่า “ท่าศาลาเป็นระบบนิเวศน์เฉพาะที่เรียกว่าลมแปดทิศและดินดอนปากแม่น้ำ รวมทั้งกระแสหมุนเวียนของน้ำที่เป็นระบบทะเลนอกและทะเลใน คือน้ำทะเลตั้งแต่หัวไทร ปากพนัง แหมตลุมพุกจะไหลพามวลน้ำจากด้านใต้มาทิศเหนือ และทางด้านอำเภอขนอม สิชล กระแสน้ำจะไหลลงมาทิศใต้ ทำให้ไหลเวียนวนทวนเข็มนาฬิกาเข้าสู่อ่าวท่าศาลา ส่งผลให้สัตว์น้ำเข้ามาอยู่บริเวณอ่าวท่าจนมีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับหน้าดินเป็นดินโคลนน้ำไม่ลึกมากนัก เป็นอาหารที่สำคัญสำหรับสัตว์น้ำหน้าดิน และสัตว์น้ำวัยอ่อน”
อ่าวท่าศาลาวันนี้ เกือบสามสิบกิโลเมตรทางด้านทิศใต้ ดินดอนปากแม่น้ำก่อตัวสูงขึ้นกลายเป็นพื้นที่หาดโคลน มีป่าชายเลนเกิดขึ้นหลายพันไร่เป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ทิศเหนือตะกอนเลนที่เกิดแนวชายฝั่งจะลดลง น้ำทะเลท่วมถึง จึงยังเป็นดินตะกอนปากแม่น้ำ ชาวประมงเรียกว่า ดอน หรือ ฮัน
อ.วิชาญ กล่าวเสริมว่า “ดอน ใต้ทะเลเป็นแหล่งวางไข่ของปลา เนื่องจากเมื่อตะกอนที่แม่น้ำพัดพาลงมาโดนกระแสน้ำในทะเลที่ไหลวน กองตะกอนเลนจะรวมตัว อีกทั้งซากพืชซากสัตว์เปลือกหอยต่างๆจะทับถม เมื่อนานเข้าจะแข็งตัว สัตว์น้ำต่างๆจึงอาศัยเป็นแหล่งอาหารสำคัญของระบบนิเวศน์”
อ่าวทองคำท่าศาลาบริเวณด้านทิศเหนือ ยังเป็นหาดทรายสวยงามเหมาะแก่การท่องเที่ยว รวมทั้งยังอยู่ในแผนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ “โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด”ทำให้สภาพัฒน์ กำหนดพื้นที่บริเวณอำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีรองรับการขยายตัวจากมาบตาพุด ทำให้โครงการขนาดใหญ่ทะลักเข้ามาในพื้นที่หลายสิบโครงการ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่งผลให้ชาวบ้านที่นี่ รวมตัวกันต่อสู้ แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีโครงการใดสามารถก่อสร้างได้ เพราะชุมชนได้นำเสนอข้อมูลของอ่าวทองคำที่เป็นแหล่งอาหารทะเลที่สำคัญที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจท้องถิ่น และสัตว์น้ำที่ส่งออกไปขายทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ
แต่ด้วยความพยายามของรัฐบาลและบริษัทเอกชนข้ามชาติ ที่มองการพัฒนา และความเจริญทางวัตถุเพียงด้านเดียว ก็รุกพื้นที่อย่างหนัก และใช้กระบวนการมีส่วนร่วมที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อเป็นฐานสนับสนุนการขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของบริษัทเชฟรอน สำรวจและผลิต จำกัด ผ่านอีไอเอ ท่ามกลางข้อกังวล และข้อสงสัยของประชาชนจำนวนมาก เพราะข้อมูลที่ถูกหยิบยกสวนทางกับข้อเท็จจริงของพื้นที่โดยสิ้นเชิง โดยบริษัทที่ปรึกษาการทำอีไอเอรายงานว่าอ่าวทองคำท่าศาลา ไม่มีระบบนิเวศน์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการสร้างของโครงการ อีกทั้งที่นี้มีการทำประมงน้อยมากและมีคนได้รับผลกระทบทางการประมงเพียง 75 ครัวเรือน นั้นหมายถึง มีเรือประมงไม่กี่สิบลำ โดยทางบริษัท ได้จำกัดขอบเขตการศึกษาไว้รอบโครงการเพียง 5 กิโลเมตร และนับเรือประมงที่จอดในบริเวณนั้น
ทั้งที่ข้อเท็จจริงเรือประมงของที่นี้ ทั้งเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์มีจำนวนเกือบ 2 พันลำ และจอดกระจายตลอดแนวชายฝั่งอำเภอท่าศาลา ทั้งนี้เพราะบริเวณที่ตั้งของโครงการ บริเวณหลังท่าเป็นที่ดินเอกชน จึงไม่มีแพปลา และไม่มีเรือประมงขึ้นจอด
นายทรงชัย เส้งโสต ประมงอำเภอท่าศาลา ออกมายืนยันเรื่องนี้ว่า “การทำงานของบริษัทที่ลงมาศึกษาเรื่องนี้ ไม่เคยขอข้อมูลอำเภอเลย จากการทำงานยืนยันว่าทะเลที่นี้ไม่ได้ร้าง ไม่ได้มีเรือแค่สี่ห้าลำตามที่เข้าใจ แต่มีเรือทั้งในอำเภอท่าศาลา และเรือจากที่อื่นมาทำมาหากินไม่ต่ำกว่าสองพันลำ จุดนี้ชี้ให้เห็นว่า ทะเลที่นี้อุดมสมบูรณ์ เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา อำเภอท่าศาลายังจัดงานเทศกาลประจำปี รวมพลคนกินปลา และของดีท่าศาลาเมืองน่าอยู่ มันสะท้อนว่า เพราะทะเลมีปลา จึงมีกิจกรรมแบบนี้เกิดขึ้น”
ประสิทธิชัย หนูนวล นักวิชาการด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน วิจัยร่วมกับชุมชนท่าศาลามา 3ปีเผยว่า “มีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 5,000 คน เฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการทำประมงเพียงอย่างเดียว และสัตว์น้ำที่นี่จำหน่ายในจังหวัดประมาณ 50 ตลาด และยังส่งไปจำหน่ายในจังหวัดใกล้เคียงและส่งออกไปต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการทำประมงอีกมาก เช่น แม่ค้า การแปรรูป เครื่องมือประมง ร้านอาหารซีฟู๊ด ล้วนพึ่งพิงการทำประมงจากที่นี้ทั้งสิ้น”
สุพร โต๊ะเส็น นายกสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ยืนยันว่า “วันนี้ ที่อ่าวทองคำ ท่าศาลา ที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อประกาศว่าทะเลไม่ได้ร้างแต่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารให้แก่คนทั้งประเทศ และยังเป็นความยั่งยืนของการพัฒนาท้องถิ่นตามศักยภาพของทรัพยากรในพื้นที่ ชาวประมงต้องทำอาชีพประมงที่ตกทอดจากบรรพบุรุษและถนัด หากสร้างท่าเรือ อาชีพประมงหลายพันคนจะล่มสลายทันที”
…………………………..
ทางสองแพร่งของการพัฒนาเกิดขึ้นแล้วที่นี้ อนาคตทะเลอ่าวท่าศาลา จะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมตามโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด หรือเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงคนในประเทศและส่งออกซึ่งยังคงดำรงวิถีชุมชนประมงพื้นบ้าน…
คำตอบของวันนี้ จึงไม่ใช่คำตอบของคนท่าศาลาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นคำตอบของทุกคน .