ควันหลงวันครูที่ชายแดนใต้...เพรียกหาความปลอดภัยและสวัสดิการที่ดี
อะหมัด รามันห์สิริวงศ์ และทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
16 มกราคมของทุกปีเป็นวันครู แต่ปีนี้บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา เพราะวันครูไปตรงกับวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ดี ก็ยังคงมีหน่วยราชการและภาคเอกชนจำนวนมากจัดงานรำลึกถึงพระคุณครู รวมทั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นายธีรเทพ ศรียะพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นำหัวหน้าส่วนข้าราชการและพุทธศาสนิกชน ร่วมกันทำบุญตักบาตรถวายสังฆทานแด่พระภิกษุสงฆ์จาก 266 วัดในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ผู้วายชนม์ในเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยมีนักเรียนนักศึกษา ครู และประชาชนทั่วไปมาร่วมทำบุญกันเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีการมอบทุนหนุนแรงใจช่วยครูใต้ จำนวน 1,000 ทุน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ครูผู้เสียสละในโอกาสวันครูด้วย
ส่วนที่ จ.ยะลา ที่ลานหน้าหอประชุม 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายวิทยา พานิชพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วย นายอรรถสิทธิ์ รัตนแคล้ว ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ยะลาเขต 1 ผศ.ไกรสร ศรีไตรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ จ.ยะลา จำนวนกว่า 500 คน ได้พร้อมใจกันทำพิธีบุญตักบาตรเนื่องในวันครู เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแด่ครูผู้มีพระคุณ และครูที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โอกาสนี้ พระภาวนาวิสุทธิคุณ เจ้าคณะอำเภอเมืองยะลา ได้ให้สัมโมทเนยคาถา พร้อมทั้งประพรมน้ำมนต์แก่ข้าราชการครู ครูอัตราจ้าง และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ จ.ยะลา เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลกแด่ครูผู้ล่วงลับจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ พร้อมยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที
ที่หอประชุมโรงเรียนนราสิกขาลัย อ.เมือง จ.นราธิวาส นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานงานวันครูซึ่งจัดโดยจังหวัดนราธิวาส โดย นายสมโชติ ธรรมโสภณ ครูอาวุโสในประจำการ ได้นำกล่าวคำปฏิญาณตนให้แก่เพื่อนครูในพื้นที่ โดยมีเนื้อหายึดมั่นปฏิบัติตนในศีลธรรมจริยธรรมของวิชาชีพครู และดำรงการสอนลูกศิษย์ให้มีคุณภาพ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นคณะครูทั้งหมดได้ยื่นสงบนิ่งเพื่อระลึกถึงและไว้อาลัยครูที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลา 1 นาที
ในการนี้ นายถาวร ได้มอบโล่และเกียรติบัตรให้กับครูที่เสียสละเวลาในการทำหน้าที่ครูในพื้นที่เสี่ยงภัย ในฐานะครูดีเด่นประจำปี 2553 พร้อมกล่าวกับเพื่อนครูว่า รัฐบาลห่วงใยครูในพื้นที่และเข้าใจถึงความรู้สึกของครูที่ต้องทำงานภายใต้สถานการณ์ความไม่ปลอดภัย ฉะนั้นสิ่งที่ครูเรียกร้องมา รัฐบาลจะพยายามจัดหาและดูแลให้อย่างทั่วถึง
นายประสิทธิ์ ท่อสวน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาตันหยงมิตรภาพที่ 153 อ.เมือง จ.นราธิวาส กล่าวว่า ครูในพื้นที่มีความเสี่ยงสูง ทุกวันที่จะต้องไปทำงานจะบอกกับครอบครัวเสมอว่า “เราไปทำงานเพื่ออนาคตของเด็ก เราทำดีที่สุด หากจะเกิดอะไรขึ้น คงไม่อาจทราบได้” แต่กระนั้นก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนความประมาทมีการระวังป้องกันเสมอ
“สิ่งที่อยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยงข้องในฐานะตัวแทนตัวแทนครูในพื้นที่ก็คือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะไม่อยากให้เพื่อนครูต้องสูญเสียอีกแล้ว ในส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยครูของกองทัพภาคที่ 4 ที่ปฏิบัติอยู่ก็สามารถทำได้ดีระดับหนึ่ง แต่ขอให้คุ้มครองอย่างต่อเนื่อง สำหรับเรื่องสวัสดิการครูก็เช่นกัน ขออย่าตัดลดงบประมาณเงินเสี่ยงภัย เพราะครูเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตแทบทุกวัน” นายประสิทธิ์ กล่าว
ปัญหาความไม่สงบดูจะเป็นประเด็นที่ “ครู” วิตกกังวลมากที่สุด เพราะถือเป็นข้าราชการหรือสัญลักษณ์ของรัฐที่ไม่ต่างอะไรกับ “เป้านิ่ง” เนื่องจากต้องเดินทางไปโรงเรียนด้วยเส้นทางและเวลาซ้ำๆ กันทุกวัน ทั้งยัง “ไม่มีทางสู้” เนื่องจากไม่ใช่ข้าราชการติดอาวุธเหมือนกับทหาร ตำรวจ
ตลอด 6 ปี หรือ 72 เดือนที่เมฆหมอกแห่งความรุนแรงปกคลุมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของ จ.สงขลา มีครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องสังเวยชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 114 ราย!
แม้ในปี 2552 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป เป็นปีที่วงการครูประสบกับความสูญเสียไม่มากนัก แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าหนึ่งในครูผู้จากไปคือ ครูอัจฉราภรณ์ เทพษร ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตขณะตั้งครรภ์ได้ 8 เดือนด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น เหตุรุนแรงในปี 2552 ซึ่งเก็บรวบรวมสถิติโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังพบว่าเกิดเหตุร้ายขึ้นถึง 1,347 ครั้ง เฉลี่ยมากกว่าวันละ 3 ครั้ง และสถิติประมาณนี้ก็ทรงๆ มา 2 ปีแล้ว ฉะนั้นด้วยความถี่ของความรุนแรงระดับนี้ ครูจึงยังตกเป็นเป้าได้ทุกเมื่อ
ครูเครือวัลย์ สันหมะ จากโรงเรียนบ้านจือนือแร ต.บุดี อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งเคยตกอยู่ในเหตุการณ์กลุ่มคนร้ายใช้อาวุธสงครามกราดยิงขบวนรถไฟในท้องที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 14 เม.ย.2550 กล่าวว่า สอนอยู่ในพื้นที่มากว่า 10 ปีแล้ว ทำให้รู้สึกชาชินกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น และแม้เหตุการณ์ในพื้นที่จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเพียงใด ก็คงต้องรับสภาพและทำหน้าที่ครูที่ดีต่อไป
"จากภาพที่เห็นเพื่อนครูถูกทำร้ายจนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ บางคนแม้ไม่ตายแต่ก็ต้องพิกลพิการ ทำให้รู้สึกหดหู่ใจ และมีความรู้สึกว่าการเป็นครูที่อยู่ในพื้นที่นี้ ต้องพบกับสภาพเลวร้ายจริงๆ แต่ถึงอย่างไรครูทุกคนก็จะตั้งใจฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพียงแต่อยากเรียกร้องให้ฝ่ายความมั่นคงดูแลรักษาความปลอดภัยให้เข้มงวดมากกว่านี้ และอยากให้รัฐบาลดูแลเรื่องสวัสดิการให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ถึงแม้เวลาในการจัดการเรียนการสอนในพื้นที่นี้จะน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ แต่ครูทุกคนก็ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้แก่ลูกศิษย์อย่างเต็มที่”
สำหรับโรงเรียนบ้านจือนือแร เป็นโรงเรียนหนึ่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดง แต่ละวันจะมีกำลังทหารจากหน่วยเฉพาะกิจยะลา 11 คอยดูแลรักษาความปลอดภัยให้อย่างใกล้ชิด แต่นั่นก็เพียงแค่ช่วยบรรเทาความหวาดกลัวไปได้บ้างเท่านั้น
ครูอมรรัตน์ สุวรรณชาตรี อายุ 53 ปี ครูโรงเรียนบ้านจือนือแรเช่นกัน ซึ่งแม้จะเออร์ลี่ รีไทร์ (เข้าโครงการลาออกก่อนเกษียณ) ไปแล้ว แต่ก็ยังกลับมาสอนนักเรียนด้วยความสำนึกในหน้าที่
“ฉันเป็นห่วงเด็กนักเรียนจะไปไม่ถึงฝั่ง อยากให้เด็กได้รับความรู้อย่างเต็มที่ หากไม่สอนต่อเท่ากับว่าเราทิ้งเด็กไว้กลางทาง จึงอยากสอนจนสิ้นปีการศึกษา เพื่อส่งเด็กขึ้นไปยังชั้นที่สูงกว่าต่อไป”
ในฐานะที่เป็นครูในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเห็นความรุนแรงกระทบกับระบบการศึกษาของเด็กในพื้นที่ ครูอมรรัตน์ จึงฝากวิงวอนไปยังผู้ก่อเหตุรุนแรงว่า ให้นึกถึงอนาคตของเด็กๆ ซึ่งเป็นลูกหลานของพวกเขาเองบ้าง
“เจตนาของผู้เป็นครูคือมาสอนหนังสือ อยากให้ทุกคนเป็นเด็กดี เป็นคนดี ไม่ว่าจะอยู่ในป่าหรืออยู่ในเมือง อยากสั่งสอนลูกศิษย์ให้เป็นคนดีทุกๆ คน ครูไม่มีเจตนาร้ายต่อใครเลย ครูไม่มีอาวุธ มีแต่อยากจะสร้างความดีเพื่อเด็ก วันข้างหน้าเมื่อเติบโตไปจะได้เป็นคนดีของสังคม มีหน้าที่การงานที่ดี และคิดทำในสิ่งที่ดีๆ ต่อไป จึงอยากให้ผู้ก่อเหตุเข้าใจตรงจุดนี้ด้วย”
ส่วนในเรื่องการรักษาความปลอดภัย แม้จะมีกำลังทหารมาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ ครูอมรรัตน์ ก็บอกว่ายังน้อยเกินไป
“ฉันรู้สึกว่าความปลอดภัยยังไม่เต็มร้อย มาโรงเรียนทุกวันนี้คิดว่าขึ้นอยู่กับดวง และความดีที่สร้างสมมา ถ้าหากว่าเราทำความดีไว้มากๆ ดวงเราก็คงจะแคล้วคลาดจากภยันตรายต่างๆ คงจะได้รับแต่สิ่งดีๆ คงจะมีความปลอดภัยในการเดินทางไปกลับ” ครูอมรรัตน์ ระบายความรู้สึกที่ยากจะทำใจ
ก็ได้แต่หวังให้ดินแดนแห่งนี้กลับมามีความปลอดภัยและสงบสุขโดยเร็ว...
---------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
ข่าวร้ายที่ปลายขวาน...บันทึกตามรอยความรุนแรง จากยิงครูท้อง ยิงไทยพุทธ ถึงยิงในมัสยิด
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4739&Itemid=86
ชุดคุ้มครองครู...ชีวิตที่ยิ่งกว่าแขวนบนเส้นด้าย
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4729&Itemid=86