ถกผลผลิตประมงลดลงกว่าครึ่งเหตุทะเลโทรม หวังร่าง พ.ร.บ.ใหม่ชุมชนมีส่วนร่วม
เวทีประมงพื้นบ้านถกผลผลิตประมงไทยลดลงกว่าครึ่ง เหตุทะเลไทยเสื่อมโทรมจากโครงการขนาดใหญ่-อวนลากอวนรุน-รัฐไม่เคร่ง กม.-หวัง ร่าง พรบ.ประมงฉบับใหม่ เปิดโอกาสชุมชนมีส่วนร่วม
วันที่ 21 พ.ย. 55 ที่กรมประมง บางเขน กรุงเทพฯ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา “การมีส่วนร่วมของชาวประมงพื้นบ้านกับการแก้ไขปัญหาประมงและทะเลไทย” โดยนายศิริวัฒน์ กล่าวว่าปัจจุบันทรัพยากรทางทะเลไทยถูกทำลายเสื่อมโทรมไปมาก โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลและคงความเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกสินค้าประมงในภูมิภาคไว้ โดยจะประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชนชาวเพื่อปฏิรูปทรัพยากรทางประมงร่วมกันอย่างยั่งยืน สำหรับการยกร่างพระราชบัญญัติประมง ซึ่งขณะนี้ผ่านขั้นตอนการรับหลักการวาระแรกของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีตัวแทนประมงพื้นบ้าน เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการธิการวิสามัญ เป็นสัญญาณที่ดีที่จะช่วยแก้ปัญหาการประมงของไทย
นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมงกล่าว ว่า ไทยเป็น 1 ใน 10 แหล่งผลิตสินค้าประมงขนาดใหญ่ของโลก โดยมีสินค้าประมาณ 1.6 ล้านตันต่อปีคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทหรือร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และร้อยละ 10 ของจีดีพีภาคการเกษตร โดยในปีที่ผ่านมาสินค้าประมงไทยสร้างรายได้ได้มากที่สุดในรอบ 15 ปีเป็นมูลค่า 2.7 แสนล้านบาท แต่กลับพบว่าทรัพยากรทะเลไทยเสื่อมโทรมไปมาก ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น การใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง(เช่น อวนลาก อวนรุน) และความไม่สมดุลระหว่างแรงงานภาคประมงที่มีมากขึ้นสวนทางกับทรัพยากรทางทะเลที่น้อยลงซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและความเป็นอยู่ชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งแผนแม่บททะเลไทยได้มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และการพัฒนาทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน เพื่อให้มีทรัพยากรทะเล คน และสังคมอยู่รอด
ด้านนายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ประมงพื้นบ้านไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีหมู่บ้านชาวประมงราว 3,800 หมู่บ้าน หรือ 57,000 ครอบครัว โดยที่ผ่านมาชุมชนมีบทบาทมากในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ทั้งยังเป็นผู้ผลิตสินค้าเกรดเอปลอดสารเคมีที่ได้มาจากการทำประมงอย่างรับผิดชอบส่งออกต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แต่ในแง่การบริหารจัดการทรัพยากรทะเลนั้น ชาวประมงพื้นบ้านกลับไม่มีส่วนร่วมเท่าที่ควร
นายสมบัติ ภู่วชิรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและความหลากหลายทางชีวภาพ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึงสถานการณ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลไทยปัจจุบันว่าน่าเป็นห่วง โดยพบว่าพื้นที่ป่าชายเลนลดลงจาก 3 ล้านไร่เหลือ 1.5 ล้านไร่ในรอบ 40 ปี ขณะที่แนวปะการัง1.2แสนไร่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนนอกจากจะถูกฟอกขาวตามธรรมชาติเพราะภาวะโลกร้อนที่เพิ่มอุณหภูมิน้ำทะเลแล้ว ตะกอนที่เกิดจากโครงการก่อสร้างต่างๆซึ่งไหลสู่ทะเลมากขึ้นยังทำให้ปะการังตายมากขึ้น
นายไพโรจน์ ซ้ายเกลี้ยง ผู้เชี่ยวชาญกรมประมง กล่าวว่า ปี 2520 ไทยสามารถผลิตสินค้าประมงได้ประมาณ 3 ล้านตัน แต่ปัจจุบันลดลงไปกว่าครึ่ง โดยประมงพาณิชย์ซึ่งมีจำนวนร้อยละ 30 ของชาวประมงทั้งประเทศสามารถผลิตสินค้าได้ถึงร้อยละ 70 ของผลผลิตประมงทั้งประเทศ ขณะที่ประมงพื้นบ้านซึ่งมีอยู่ร้อยละ 70 ผลิตสินค้าได้เพียงร้อยละ 30 ดังนั้นจึงต้องมีวิธีการจัดการเพื่อสร้างความเท่าเทียมหรือส่งเสริมกลุ่มประมงพื้นบ้านที่เป็นผู้อนุรักษ์ทรัพยากรต่อไป
นายอาหลี ชาญน้ำ นายกสมาคมคนรักเลกระบี่ กล่าวว่าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่และการใช้ทรัพยากรทะเลโดยปราศจากความรับผิดชอบ เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรชายฝั่ง ประกอบกับเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ลงไปแก้ไขปัญหาโดยร่วมมือกับชุมชนอย่างแท้จริง แต่ก็ดีมีความหวังว่าร่างพ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนได้ แต่ต้องรอดูว่ากฎหมายที่ออกมานั้นจะเป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของประชาชนหรือไม่
ด้าน ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ นักวิชาการด้านการจัดการประมง มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าวว่าที่ผ่านมาพบว่ารัฐมีปัญหาในการจัดการทรัพยากรทะเล ทั้งด้านนโยบายที่มุ่งเน้นแต่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจระยะสั้น ขาดวิสัยทัศน์ในการใช้ทรัพยากรระยะยาวที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนในท้องถิ่น และยังเน้นการเป็นศูนย์รวมอำนาจตัดสินใจไว้ที่หน่วยงานกลาง ทำให้กฎระเบียบต่างๆไม่สามารถบังคับใช้ได้เนื่องจากไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน ทั้งนี้ พ.ร.บ.ประมง พ.ศ. 2490 ที่ใช้อยู่ยังล้าสมัยไม่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งบทลงโทษต่ำ .