โปรแกรมแปลภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทย อีกความภูมิใจจากปลายด้ามขวาน
ปรัชญา โต๊ะอิแต
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
Hilang Bangsa, Hilang Negara, Hilang Agama, Bahasa Jiwa Bangsa, Hilang Bahasa, Hilang Bangsa แปลเป็นไทยว่า เชื้อชาติหาย ประเทศหาย ศาสนาหาย...ภาษาเป็นชีวิตจิตใจของเชื้อชาติ ภาษาหาย เชื้อชาติก็สูญหาย
เป็นบทกวีพื้นบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จดบันทึกไว้โดย ผศ.ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่ง “โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา” เคยนำมาอ้างอิงไว้ในสารคดีเรื่อง “เปิดตัวพจนานุกรมมลายูถิ่นปัตตานี ฉบับแรกของโลก” เมื่อ 23 ก.ค.2551 เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของภาษา เชื้อชาติ และศาสนา ที่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออกในความรู้สึกและวิถีชีวิตของพี่น้องมลายูมุสลิม
ข้อเขียนในครั้งนั้นบอกเล่าถึงความสำเร็จในการจัดทำพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทย และภาษาไทย-มลายูถิ่นปัตตานี เล่มแรกของประเทศไทยและของโลก โดยคณะนักวิชาการจาก ม.อ.ปัตตานี นำโดย ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา จ.ปัตตานี) เพื่อหวังรวบรวมคำภาษามลายูถิ่นที่ใช้ในชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นระบบ และสามารถอ้างอิงทางวิชาการได้
ผ่านมาปีครึ่ง คณะนักวิชาการชุดเดิมได้พัฒนาพจนานุกรมดังกล่าวเป็น "โปรแกรมแปลภาษา" เพื่อตอบสนองผู้คนในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) โดยโปรแกรมแปลภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทยนี้ ได้รับการพัฒนาและยกระดับวิธีใช้จนได้มาตรฐานไม่ต่างจากโปรแกรมแปลภาษาทั่วๆ ไปที่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นในปัจจุบัน
โปรแกรมแปลภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทย รวบรวมคำศัพท์ภาษามลายูถิ่นที่ใช้กันในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 5,000 คำ พร้อมเสียงอ่านที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ทั้งยังจัดลำดับคำและจัดทำประโยคตัวอย่างการใช้คำเป็นมาตรฐานตามแบบพจนานุกรมภาษาอื่นๆ ด้วย
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคณะผู้จัดทำจะเผยแพร่แจกจ่ายโปรแกรมแปลภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทย ให้กับหน่วยงานราชการและองค์กรเครือข่าย เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเชื่อว่าการเข้าใจภาษาเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี เพื่อยืนยันถึงความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมของคนในชาติ
สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.อ.ปัตตานี โทรศัพท์ 0-7331-2290
รศ.ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การทำให้คนในพื้นที่รู้สึกถึงความภาคภูมิใจในความเป็นท้องถิ่นของตนเอง จะช่วยคลี่คลายบรรยากาศตึงเครียดและความรุนแรงในพื้นที่ลงได้ระดับหนึ่ง
"ถ้าเราเปิดพื้นที่ให้คนในสามจังหวัดได้ภาคภูมิใจในความเป็นท้องถิ่นของเขา ภูมิใจในประวัติศาสตร์ของเขา ภูมิใจในสิ่งที่เขายึดปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา หลักศรัทธา ภูมิใจในการอนุรักษ์สิ่งดีๆ ของเขาเอาไว้ ก็จะลดปัญหาในพื้นที่ได้มาก เพราะคนเราต้องการความภาคภูมิใจ ต้องการรู้สึกว่าได้ทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่น ให้กับตัวเอง ให้กับคนที่อยู่รอบๆ ตัว”
“ผมคิดว่าสิ่งนี้จะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา และยังทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสันติ ผมเคยเห็นเด็กๆ ที่เรียนภาษามลายูถิ่นแต่เขียนไทย หรือที่รู้จักกันว่าทวิภาษา เด็กๆ เหล่านี้มีความสุข สนุกกับสิ่งที่ทำ แต่ถ้าเขาไม่ค่อยเข้าใจ แล้วรู้สึกเหมือนถูกบังคับ มันก็ไม่เป็นธรรมชาติ การเรียนก็ไม่เป็นธรรมชาติ ดังนั้นกรณีอื่นๆ ก็เช่นกัน ถ้าเราจะสนับสนุนการพัฒนาสิ่งเหล่านี้เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติของคนในพื้นที่ มันก็ง่ายที่จะแก้ปัญหา แต่ถ้าเราเอาความรู้ที่เราได้รับการถ่ายทอดมาจากตะวันตก แล้วก็มาใส่ตูม คนก็ไม่ค่อยเข้าใจ เขาก็ไม่ค่อยมีความสุขที่จะมาร่วม” รศ.ดร.โคทม กล่าว
อนึ่ง "ภาษามลายูถิ่นปัตตานี" จัดเป็นภาษาถิ่นของภาษามลายู ส่วน "ภาษามลายู" เป็นภาษาหนึ่งที่จัดอยู่ในแขนงภาษาหมู่เกาะตะวันออก (Eastern Nusantara) ซึ่งอยู่ในสาขาภาษาหมู่เกาะมลายู และสาขาภาษาหมู่เกาะมลายู เป็นสาขาหนึ่งในตระกูลภาษาออสโตรเนเซียน หรือมาลาโยโปลิเนเซียน
ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยส่วนใหญ่พูดภาษามลายูถิ่น ซึ่งเป็นภาษาที่มีความแตกต่างจากภาษามลายูมาตรฐาน หรือที่เรียกกันว่า "ภาษามลายูกลาง" ที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศมาเลเซีย เพราะเป็นกลุ่มภาษาที่มีศัพท์ สำเนียง และคำยืมจากหลายภาษา
ในภาคใต้ของประเทศไทย มีภาษามลายูถิ่นใช้กันอยู่หลายถิ่น เช่น ภาษามลายูถิ่นสตูล ภาษามลายูถิ่นนครศรีธรรมราช ภาษาอุรักลาโว้ย (ภาษาชาวเล) แต่ภาษามลายูถิ่นซึ่งมีผู้พูดมากที่สุดและแพร่หลายที่สุดคือภาษามลายูถิ่นปัตตานี
ภาษามลายูถิ่นปัตตานี หมายถึงภาษามลายูถิ่นที่ชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่ใช้พูดกันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้ง อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย จ.สงขลา ดังนั้นภาษามลายูถิ่นปัตตานีจึงนับว่าเป็นภาษากลางสำหรับชาวมุสลิมที่ใช้สื่อสารกันในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
ที่ผ่านมามีการเรียกภาษามลายูถิ่นปัตตานีอย่างผิดๆ ว่า "ภาษายาวี" หรือ "ภาษาอิสลาม" หรือ "ภาษาแขก" ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะอันที่จริงแล้ว "ยาวี" ไม่ใช่ชื่อภาษา แต่หมายถึงอักษรอาหรับที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการเขียนคำภาษามลายู ส่วน "อิสลาม" เป็นชื่อศาสนาไม่ใช่ชื่อภาษา บ่อยครั้งที่คนไทยต่างวัฒนธรรมเรียกภาษามลายูถิ่นปัตตานีว่า "ภาษาแขก" ซึ่งไม่เป็นที่พอใจของเจ้าของภาษามากนัก เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว คำว่า "แขก" แฝงไว้ด้วยความหมายของการดูถูกเหยียดหยาม
ส่วนชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัด เรียกภาษาของตนเองว่า "บาซอ นายู" หรือ "บาฮาซอ นายู" แปลว่า "ภาษามลายู" และเรียกตนเองว่า "ออแรฺ นายู" แปลว่า "คนมลายู"
-----------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : เปิดตัว "พจนานุกรมมลายูถิ่นปัตตานี" ฉบับแรกของโลก
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=3908&Itemid=86