“บ้านซือเลาะ” ปลายทางของนายกฯ...ต้นทางของสันติสุข
สุเมธ ปานเพชร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้หลายฝ่ายจะมองว่าภารกิจสำคัญที่สุดในการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เที่ยวล่าสุดของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2553 คือการทำพิธีเปิดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 แต่แท้ที่จริงแล้วภารกิจอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการลงพื้นที่บ้านซือเลาะ หมู่ 4 ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
เพราะเป็นครั้งแรกที่นายกฯอภิสิทธิ์ เดินทางเข้าพื้นที่ห่างไกลซึ่งถูกฝ่ายความมั่นคงแต้มสีว่าเป็น “พื้นที่สีแดง”
การเข้าไปปฏิบัติภารกิจที่บ้านซือเลาะ จึงเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ว่าอำนาจรัฐได้รับการสถาปนาในพื้นที่เสี่ยงอันตรายแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยผ่านกระบวนการของ "แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง" เสียด้วย
บ้านซือเลาะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอรือเสาะประมาณ 16 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 3,925 ไร่ มีบ้านเรือนประชาชน 180 ครัวเรือน ประชากร 917 คน ทั้งหมดประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนใหญ่ทำสวนยางพารา
บ้านซือเลาะมีประวัติความเป็นมาร่วมๆ 40 ปี คือในปี 2515 มีการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ และพบสายแร่ดีบุกในพื้นที่ประมาณ 220 ไร่ จึงมีนายทุนนำเครื่องจักรเข้าไปขุดแร่ ส่งผลให้ประชาชนมีงานทำ ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นคือ นายโมง เจ๊ะแว เป็นตัวตั้งตัวตีทำให้เกิดการจ้างงานกับลูกบ้าน
นอกเหนือจากสายแร่ดีบุกแล้ว บ้านซือเลาะยังเต็มไปด้วยป่าไม้และแหล่งน้ำ จัดเป็นหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง ทำให้ชาวบ้านเรียกชื่อเป็นภาษามลายูว่า “จือเลาะ” แปลว่า “ระหว่าง” หมายความถึงอยู่ระหว่างหรือท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ ภายหลังแผลงมาเป็นคำว่า “ซือเลาะ” และเรียกกันติดปากมาจนกระทั่งปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ปีที่แล้ว นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้เข้าไปเยือนบ้านซือเลาะ และเปิดเวทีประชาคมโดยผู้นำ 4 เสาหลัก คือผู้นำท้องที่ (ผู้ใหญ่บ้าน) ผู้นำท้องถิ่น (สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล) ผู้นำจิตวิญญาณ (ผู้นำศาสนา) และผู้นำทางธรรมชาติ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการพัฒนาจากชาวบ้าน 180 ครัวเรือน
และนั่นได้นำมาสู่โครงการพัฒนาอันหลากหลายที่ทยอยหลั่งไหลเข้าไป กระทั่งทำให้บ้านซือเลาะกลายเป็นหมู่บ้านพัฒนาสันติต้นแบบที่ชาวบ้านหันมาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เพื่อนำความสงบสุขสู่ชุมชนแบบยั่งยืน โดยเฉพาะการตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปนำร่องในพื้นที่สามจังหวัด เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงให้สามารถมีงานทำเลี้ยงตัวเองและครอบครัว
เป้าหมายก็คือยกระดับรายได้ครัวเรือนจากที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำสุด 64,000 บาทต่อปี เป็น 120,000 บาทต่อปี ซึ่งจากการสำรวจครัวเรือนที่อยู่ในข่ายจำเป็นเร่งด่วนลำดับแรกและลำดับที่ 2 คือมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 64,000 บาทต่อปี และมีรายได้เฉลี่ยระหว่าง 64,000-120,000 บาทต่อปี มีอยู่ทั้งสิ้น 68 ครัวเรือน จึงให้ความช่วยเหลือเรื่องการประกอบอาชีพ 18 ครัวเรือน และที่อยู่อาศัย 50 ครัวเรือน
การลงพื้นที่ของ นายกฯอภิสิทธิ์ ได้มอบกุญแจเปิดบ้านที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ตามโครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้กับผู้เดือดร้อน 2 หลัง หลังแรกมอบให้กับ นางมีเนาะ นิลูบี อายุ 53 ปี ซึ่งมีรายได้จากการกรีดยางเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเลี้ยงดูลูกถึง 3 คน และหนึ่งในสามยังพิการทางสมอง
ส่วนอีกหนึ่งหลังมอบให้กับ น.ส.ซูไฮบะ ลูทำตามิง อายุ 23 ปี ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ มีฐานะยากจน ต้องสูญเสียสามีไป และต้องรับภาระดูแลบุตรอีก 1 คนเพียงลำพัง
นายอับดุลเราะ เจ๊ะแว ผู้นำทางธรรมชาติหมู่บ้านซือเลาะ กล่าวว่า การเดินทางเข้ามาเยือนหมู่บ้านของนายกรัฐมนตรี สร้างความตื่นเต้นยินดีให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะส่วนใหญ่ไม่คิดว่าหมู่บ้านเล็กๆ อย่างบ้านซือเลาะจะได้รับความสนใจจากผู้นำประเทศที่เดินทางลงมาเยี่ยมถึงหมู่บ้าน การมาของนายกรัฐมนตรีทำให้ชาวบ้านรับรู้ถึงความจริงใจของรัฐบาลที่ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาความไม่สงบและพัฒนาพื้นที่อย่างแท้จริง
“หลังเกิดสถานการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 บ้านซือเลาะก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่แตกต่างจากหมู่บ้านอื่นๆ ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวและหวาดระแวง แม้จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลในพื้นที่ แต่ชาวบ้านก็ยังรู้สึกกลัวและไม่มั่นใจ จึงไม่ค่อยมีใครกล้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ จนทำให้หมู่บ้านซือเลาะถูกมองเป็นพื้นที่สีแดง เป็นพื้นที่อันตราย กระทั่งไม่ได้รับการพัฒนา ชาวบ้านก็ยิ่งลำบาก”
“แต่ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ทหารชุดพัฒนาสันติที่ 30-10 เข้ามาที่หมู่บ้านเพื่อดูแลความปลอดภัย และนำโครงการพัฒนาเข้ามา กระทั่งดำเนินการจนเห็นเป็นรูปธรรม จึงทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านเริ่มไว้วางใจเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านทุกคนเปลี่ยนความรู้สึกไปในทางที่ดี กล้าพูดกล้าคุยกล้าเสนอความคิดเห็น รวมทั้งให้ความร่วมมือทุกเรื่องอย่างเต็มที่” อับดุลเราะ กล่าว
ความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บ้านซือเลาะได้รับเลือกเป็นหมู่บ้านนำร่องในโครงการแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ จ.นราธิวาส เป็นหมู่บ้านประเภท “หมู่บ้านเสริมสร้างสันติสุข” หรือหมู่บ้าน 3 ส. ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐเพื่อพัฒนาหมู่บ้านทั้งในด้านอาชีพและที่อยู่อาศัย
“ผมรู้สึกดีใจที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง ผมเชื่อว่าหากหมู่บ้านอื่นๆ ที่เคยเป็นเหมือนกับหมู่บ้านซือเลาะในอดีต ได้รับการดูแล ส่งเสริม และพัฒนาด้านต่างๆ ที่ตรงกับความต้องการของประชาชนในหมู่บ้านแล้ว ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างทุกวันนี้จะหมดไปอย่างแน่นอน”
และนั่นคือต้นทางของการสถาปนาสันติสุขที่ยั่งยืนในพื้นที่อย่างแท้จริง!