เมื่อกลุ่มป่วนใต้เลิกพักร้อน...รัฐเจอจัดหนักเพราะยุทธศาสตร์ยังสะดุด
ในที่สุดสังคมไทยโดยเฉพาะผู้ที่ติดตามปัญหาชายแดนใต้ก็ได้คำตอบชัดเจนแล้วว่า สาเหตุที่สถานการณ์ในพื้นที่เงียบสงบในช่วงครึ่งแรกของเดือน พ.ย. คือมีจำนวนวันที่ไม่เกิดเหตุรุนแรงเลยถึง 5 วันนั้น ยังไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นเพราะรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มคลำทางถูกหรือแก้ไขปัญหาตรงจุด แต่น่าจะเป็นเพราะกลุ่มผู้ก่อการหยุดพักร้อนเพื่อรอจังหวะเหมาะในการโจมตีมากกว่า
3 เหตุรุนแรงสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมา หากไม่สะท้อนว่ากลุ่มป่วนใต้ "วางแผนมาเป็นอย่างดี" ก็ต้องบอกว่าเลือกจังหวะเวลาก่อเหตุได้อย่างเหมาะเจาะจริงๆ เพราะสามารถสร้างผลสะเทือนได้อย่างกว้างขวาง ได้แก่
หนึ่ง เหตุยิง นายอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านอุเบง ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา เสียชีวิตเมื่อวันพุธที่ 14 พ.ย.
สอง เหตุมอเตอร์ไซค์บอมบ์กลางเมืองยะลา เมื่อวันเสาร์ที่ 17 พ.ย. มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 33 ราย
สาม เหตุลอบวางระเบิดและยิงถล่มขบวนรถไฟที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 พ.ย. มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 14 ราย
ยิงอิหม่ามกระทบ"เชื่อมั่น"
เหตุการณ์แรก สังหารอิหม่ามอับดุลลาเต๊ะ แม้จะดูเหมือนเหตุยิงรายวันธรรมดาๆ แต่จริงๆ แล้วต้องบอกว่ารัฐเจอ "จัดหนัก" เพราะนายอับดุลลาเต๊ะมีสถานะทางสังคมมากมาย เป็นทั้งประธานชมรมอิหม่าม อ.ยะหา และกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา
ข้อมูลของฝ่ายรัฐจาก พ.ต.อ.สุคนธ์ ศรีอรุณ ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา (ผกก.สส.บก.ภ.จว.ยะลา) ระบุว่า นายอับดุลลาเต๊ะช่วยเหลืองานเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นแหล่งข่าวด้านความมั่นคงคอยแจ้งเบาะแสความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จนนำไปสู่การติดตามจับกุมผู้ก่อความไม่สงบได้หลายราย และเคยถูกยิงมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2553
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาแถลงการณ์ประณามผู้ก่อเหตุยิงอิหม่ามที่ออกมา 2 วันหลังจากนั้นโดยมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและองค์กรเครือข่าย จะพบว่าอิหม่ามรายนี้นอกจากจะมีสถานะทางสังคมสูงแล้ว ยังได้รับการแต่งตั้งจากเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ให้เป็นกรรมการตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐใช้อาวุธปืนยิงชาวบ้านเสียชีวิต 5 รายในพื้นที่บ้านสะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2555 ด้วย
แถลงการณ์ของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ยังระบุอีกว่า อิหม่ามอับดุลลาเต๊ะ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประสานให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายแก่ชาวบ้าน และเป็นสมาชิกเครือข่ายชาวบ้านของมูลนิธิฯ จึงถือว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือสังคมตลอดมา
เหตุการณ์ยิงอิหม่ามมัสยิดบ้านอุเบงจึงสะท้อนว่ารัฐไม่สามารถรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้นำศาสนาได้ ทั้งๆ ที่เป็นผู้นำศาสนาซึ่งรัฐเองก็บอกว่าอยู่ฝ่ายรัฐ แต่ขณะเดียวกันก็มีการปล่อยข่าวลือซ้ำตามร้านน้ำชาในพื้นที่ว่า รัฐต่างหากที่เป็นฝ่ายก่อเหตุนี้ขึ้น และชาวบ้านจำนวนไม่น้อยก็เชื่อ เนื่องจากอิหม่ามรายนี้มีบทบาทในการตรวจสอบเหตุยิงชาวบ้าน 5 ศพที่ อ.กรงปินัง
หลักฐานที่ว่าเรื่องนี้ส่งผลสะเทือนต่อความเชื่อมั่นของฝ่ายความมั่นคงก็คือ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ต้องออกแถลงการณ์ตามมาทันทีว่า เหตุการณ์สังหารอิหม่ามมัสยิดบ้านอุเบงไม่ใช่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่เป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง แล้วปล่อยข่าวว่าเจ้าหน้าที่ทำ
นี่คือความแหลมคมของการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องยอมรับว่าฝ่ายความมั่นคงยังตามหลังอยู่หลายก้าว...
บึ้มยะลา-รถไฟโยงข่าวระดับโลก
เหตุการณ์ที่ 2 และ 3 คือลอบวางระเบิดกลางเมืองยะลา กับโจมตีขบวนรถไฟ ในวันที่ 17 และ 18 พ.ย. ถูกนำไปผูกโยงกับความเคลื่อนไหวสำคัญ 2 เรื่องคือ
หนึ่ง วันที่ 17 พ.ย.เป็นวันสุดท้ายของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศโอไอซี หรือองค์การความร่วมมืออิสลาม ที่ประเทศจิบูตี ในทวีปแอฟริกา ซึ่งปีนี้รัฐบาลส่ง "ทีมใหญ่" ทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศ กอ.รมน. และศอ.บต.ไปร่วมสังเกตการณ์และชี้แจง
สอง วันที่ 18 พ.ย.เป็นวันที่ นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ เดินทางเยือนประเทศไทย
ไม่ว่าทั้งหมดนี้จะเกี่ยวโยงกันจริงหรือไม่ แต่เหตุโจมตีขบวนรถไฟก็กลายเป็นข่าวขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับเคียงกับข่าวโอบามา ในห้วงที่สังคมไทยกำลังตื่นเต้นกับข่าวสารการเดินทางเยือนไทยของผู้นำชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก
ขณะที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่คุมงานด้านความมั่นคงของประเทศ ก็ออกมาพูดทำนองว่า เหตุป่วนใต้ในช่วงนี้เป็นเพราะผลประชุมโอไอซี ไม่เป็นประโยชน์กับกลุ่มขบวนการ
นี่คือความแหลมคมอีกครั้งหนึ่งของการสร้างสถานการณ์เชื่อมโยงกับข่าวสารความเคลื่อนไหวสำคัญๆ ที่รัฐไม่อาจควบคุมทิศทางข่าวได้เลย...
ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ไปไม่สุด
เมื่อเหตุร้ายเกิดขึ้นแล้ว หลายเสียงถามว่าสถานการณ์ไฟใต้ดีขึ้นบ้างไหม หากตอบโดยอิงข้อมูลสถิติก็ต้องบอกว่าภาพรวมดีขึ้น และก็น่าจะดีขึ้นจริงในระดับหนึ่ง เพราะแม้แต่ภาคประชาสังคมที่มักยืนอยู่ตรงข้ามกับฝ่ายความมั่นคงก็ยังยืนยันว่าสถานการณ์ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือการเปิดพื้นที่ "พูดคุยสันติภาพ" หรือ peace talk หรือ peace dialogue มากขึ้น ทั้งจากการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมเอง สถาบันพระปกเกล้า รวมถึงเวทีทั้งเปิดและปิดที่ สมช.เป็นเจ้าภาพ
แม้แหล่งข่าวระดับสูงจาก กอ.รมน.จะให้ข้อมูลในทางตรงกันข้ามว่า การพูดคุยสันติภาพดังกล่าวไม่มีผลต่อสถานการณ์ เพราะไม่ได้คุยกับตัวจริง (หมายถึงผู้นำที่มีอำนาจสั่งการกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง) แต่ก็ต้องยอมรับว่าหลายกลุ่มที่ได้มีเวทีพูดคุย เช่น ปัญญาชนมุสลิม ก็ทำให้แนวร่วมทางความคิดลดจำนวนลง
ประกอบกับบทบาทของ ศอ.บต.ที่เดินหน้าจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงทุกกลุ่ม และพยายามเข้าถึงผู้บริหารโรงเรียนสอนศาสนา ปอเนาะ ตาดีกา รวมทั้งกลุ่มผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่เคยอยู่ในมุมมืดมาตลอด ขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 เองก็เปิดช่องให้ "ผู้เห็นต่างจากรัฐ" เข้าแสดงตัว และกรุยทางมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เอาไว้รองรับ
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้นี้ส่งผลให้บางคนบางกลุ่มที่เคยอยู่ในเงา ได้ออกมาอยู่ในที่สว่าง เท่ากับเป็นการจำกัดขอบเขตของกลุ่มที่ต่อต้านรัฐ และน่าจะทำให้เหตุรุนแรงลดลงบ้าง แต่ไม่ทั้งหมด
ทั้งนี้ เพราะการเกิดเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ในช่วงที่มีการ "พูดคุยสันติภาพ" ที่ชายแดนใต้ น่าจะไม่ใช่แค่การตอบโต้หรือแสดงความไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่ทำกันอยู่ แต่น่าจะหมายถึงว่ากลุ่มผู้ก่อการที่เลือกใช้ความรุนแรงกลุ่มใหญ่ยังไม่มีแนวโน้มยอมนั่งลงพูดคุยกับรัฐมากกว่า สาเหตุสำคัญก็เนื่องจากรัฐไม่มี "ยุทธศาสตร์ใหม่ๆ" หรือ "เงื่อนไขใหม่" ใดๆ ที่จะสามารถตั้งเป็นประเด็นพูดคุยเจรจาได้เลย โดยเฉพาะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นพื้นฐานของชายแดนใต้ซึ่งทุกฝ่ายก็ทราบกันดีอยู่ เช่น
- เรื่องความไม่เป็นธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ ถ้าตัดสินใจเลิกจะเลิกเมื่อไหร่ ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่มีสถิติคดียกฟ้องถึง 78% มีระยะเวลาพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นยาวนาน 3-5 ปีจะเอาอย่างไร ฯลฯ
- เรื่องรูปแบบการปกครอง ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐจะไฟเขียวให้ตั้งเขตปกครองพิเศษหรือไม่ หรือจะให้เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ หรือจะเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือจะใช้สภาซูรอคัดกรองผู้สมัครรับเลือกตั้งระดับต่างๆ เพื่อลดความขัดแย้งของการเมืองระดับท้องถิ่น ฯลฯ
หากรัฐบาลจะอ้างว่ากำลังรอข้อเสนอจากการพูดคุยสันติภาพก็คงฟังไม่ขึ้น เนื่องจากการเปิดพื้นที่พูดคุยไม่ได้ดำเนินไปอย่างมียุทธศาสตร์ ยังมีลักษณะต่างคนต่างทำอย่างมาก
การพูดคุยสันติภาพลักษณะที่เป็นอยู่อาจบีบพื้นที่เคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบให้ลดลงได้จริง แต่คงไม่สามารถทำให้ชายแดนใต้สงบลงได้ หากดีขึ้นก็จะดีเพียงชั่วคราว เพื่อรอวันสถานการณ์ปะทุรอบใหม่ เนื่องจากรัฐยังไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐานอะไรเลย...
สุดท้ายจึงย้อนกลับมาที่รัฐบาล...ได้เวลาเสนอยุทธศาสตร์ใหม่ๆ เพื่อเป็น "จุดเปลี่ยนไฟใต้" จากวังวนเดิมๆ เสียที!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ความเสียหายจากเหตุระเบิดมอเตอร์ไซค์บอมบ์กลางเมืองยะลา เมื่อ 17 พ.ย.2555 (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)