ศึกษาประเพณี“แต่งงานกับต้นไม้”…การประนีประนอมระหว่างวัฒนธรรม
เอลิยา มูเก็ม
ประเพณีความเชื่อ “ไหว้ต้นไม้ใหญ่” ที่เกิดขึ้น ณ บ้านมะม่วงหมู่ ที่หมู่ 4 ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา นับว่าน่าสนใจ...น่าสนใจตรงที่ว่าความเชื่อนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง 3-4 วัฒนธรรมของสังคมบนแดนดินผืนนี้
นั่นคือสังคมของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ อิสลาม และสังคมจีน ควบรวมไปถึงความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ซึ่งเป็นรากฐานทางสังคมก่อนพุทธศาสนาและก่อนอิสลามจะเดินทางมาถึง
ประเพณีไหว้ต้นไม้ใหญ่ มีชื่อเรียกตามกลุ่มชนและพัฒนาการตามยุคสมัย เช่น ไหว้ทวดม่วงทอง ไหว้ต้นไม้ใหญ่ แต่งงานกับแม่ม่วงทอง หรือแม้กระทั่ง...แต่งงานกับต้นไม้
เล่ากันว่าที่มาของประเพณีเกิดจาก 2 รากความเชื่อที่ต่อเป็นเนื้อเรื่องเดียวกัน คือความเชื่อในตำนานลูกสาวเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในยุคหลายร้อยปีก่อนที่ถูกโจรฆ่าตายแล้วฝังไว้ใต้ต้นมะม่วงใหญ่ ปัจจุบันคือบริเวณวัดมะม่วงหมู่
อีกความเชื่อหนึ่งเล่าว่า ชาวบ้านหลายคนฝันเห็นสาวรุ่นหน้าตาสะสวย แต่งตัวด้วยเครื่องประดับที่เป็นทองคำ ใส่กำไลข้อมือ ข้อเท้า สวมสายสร้อยพร้อมปิ่นปักผม แวววาวไปทั้งตัว สิงสถิตย์ ณ ต้นมะม่วงใหญ่
อาจารย์อำนวย สงนวล ประธานสภาวัฒนธรรม อ.สิงหนคร จ.สงขลา ผู้สนใจและศึกษาปรากฏการณ์ของประเพณีความเชื่อดังกล่าว เห็นว่า ที่มาแห่งความเชื่อเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนของเมืองสงขลายุคเก่าที่แบ่งออกเป็นสามชุมชน สามประเพณี สามวัฒนธรรม คือ ชุมชนปะโอ หรือชุมชนปากอู่เก่า ที่อพยพเข้ามาประมาณศตวรรษที่ 18 เป็นชุมชนดั้งเดิม กับชุมชนมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซียที่เข้ามาช่วงศตวรรษที่ 22 และชุมชนเชื้อสายจีน
“การผสมผสานระหว่าง 3 ชุมชน คือเมื่อมีการแต่งงานระหว่างกัน พุทธไปได้เมียมุสลิม หรือจีนไปได้กับมุสลิม ต่อมาก็เกิดความรู้สึกขัดแย้งกัน ฝ่ายพุทธบอกว่ามีลูกชายต้องบวชก่อน ฝ่ายมุสลิมก็บอกว่าต้องเข้าสุนัต (ขริบอวัยวะเพศ) ก่อน ฉะนั้นในระหว่างความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถประนีประนอมในวัฒนธรรมทั้งสองฝ่าย เป็นอันว่าเจ้าบ่าวฝ่ายพุทธต้องบวชก่อนแล้วค่อยมาเป็นมุสลิม อย่างไรก็ดี ยุคนั้นความเชื่อที่มีด้วยกันคือการเชื่อผีหรือความเชื่อในเรื่องตายาย ต้องไหว้ตายายเสียก่อน เพราะตายายก็คือผีของบรรพบุรุษที่ชาวบ้านนับถือ และตายายที่ว่านี้สิงสถิตย์ ณ ต้นมะม่วง ไหว้เสร็จก็บวช จากนั้นก็เข้าอิสลาม”
จุดเริ่มต้นของประเพณีแต่งงานกับต้นไม้ จึงมีที่มาจากการไหว้ผีบรรพบุรุษ หรือประเพณีไหว้ตายาย เพราะชาวบ้านเชื่อว่าตายายอาศัยอยู่ที่ต้นมะม่วง คาดว่าน่าจะเป็นต้นมะม่วงคัน (มะม่วงป่า-บางถิ่นเรียกมะม่วงหมู อาจเพี้ยนมาเป็นหมู่) ซึ่งตายไปประมาณ 50-60 ปีแล้ว ครั้นต้นมะม่วงตายไป ชาวบ้านก็อัญเชิญท่านมาอยู่ที่ต้นประดู่ (ต้นโด-ภาษาถิ่น) ในบริเวณเดียวกัน จากเดิมที่ชาวบ้านไหว้ในลักษณะตายาย ก็เพี้ยนมาเป็นการไหว้นางไม้
แม้จะย้ายที่ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเรียกว่าเจ้าแม่ม่วงทอง...ในความเชื่อที่ว่า “เจ้าแม่สามารถทำอะไรกับลูกหลานได้” ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงนิยมนำลูกหลานยกให้เจ้าแม่ม่วงทอง ยกตั้งแต่เกิดบ้าง หรือรอให้โตก่อนค่อยยก บางคนเวลาลูกไม่สบายก็มายกให้ เพื่อขอให้ลูกหายจากโรคร้ายต่างๆ บางคนดื้อจนพ่อแม่ระอาใจ ก็มายกให้เจ้าแม่เพื่อให้หายดื้อ ทำสัญญาระหว่างลูก-พ่อ-แม่ กับเจ้าแม่ หากผิดสัญญาก็จะเกิดเหตุต่างๆ เช่น พูดไม่ได้ ฟั่นเฟือน ฯลฯ แต่หากไม่ทำตาม เกิดสำนึกผิด เข้ามาขอขมาก็จะหายเป็นปาฏิหาริย์
“เพราะฉะนั้นในมิติของการผ่อนคลายความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรม จึงอาศัยตัวนี้เป็นสื่อสลาย” อาจารย์อำนวย สรุป
ประธานสภาวัฒนธรรม อ.สิงหนคร กล่าวเสริมอีกว่า สำหรับมุสลิมในพื้นที่ เวลาผ่านไปความเชื่อนี้ก็เริ่มหายไป เพราะเขารู้ว่าผิดหลักการศาสนา บวกกับที่ตั้งของเจ้าแม่อยู่ในบริเวณวัดด้วย แต่ความเชื่อส่วนหนึ่งยังมีอยู่ มาช่วงหลังมุสลิมส่วนหนึ่งจึงดำเนินพิธีกรรมด้วยตัวเอง เช่น ที่บ้านม่วงหวาน มีการทำพิธีติดกับกุโบร์เก่า (สุสาน) พิธีอาจจะคล้ายกัน เช่น ต้องมีผ้าพระคล้องคอ มีย่ามแขวน แต่พิธีกรรมของมุสลิมหายไปแล้วเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ความเชื่อของคนพุทธก็กลายเป็นว่าถ้ามีลูกชายต้องนำมาแต่งงานกับเจ้าแม่ม่วงทอง
จะเห็นได้ว่าความเชื่อจะแบ่งเป็น 2 ยุค คือ “ยุคไหว้” กับ “ยุคแต่งงาน” นั่นหมายความว่าการแต่งงานก็คือการไหว้เจ้าแม่นั่นเอง เป็นวิวัฒนาการทางความเชื่อที่ละเอียดอ่อน เกิดขึ้นจาก 300-400 ปี และวิวัฒนาการมาจนถึงทุกวันนี้
กระนั้นก็ตาม ในวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษาของ บุญเลิศ จันทระ จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล หัวข้อ “กรณีศึกษาประเพณีแต่งงานกับต้นไม้” กล่าวถึงความเชื่อของชาวบ้านตรงนี้ว่า ลูกชายหัวปีของตระกูลที่เคารพนับถือทวดม่วงทองจะต้องทำพิธีไหว้ ส่วนลูกชายคนอื่นๆ จะไหว้หรือไม่ไหว้ก็ได้ หรือไปไหว้ในชั้นต่อไป แต่ในพิธีไหว้ต้องมีเจ้าพิธีหรือหมอเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนใหญ่จะไหว้เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ไหว้แล้วบวชเป็นภิกษุ ไหว้เช้าบวชบ่าย หรือไหว้วันนี้รุ่งขึ้นบวช หรือไหว้แล้วต้องบวชภายใน 3 วัน ถ้าจำเป็นต้องเลื่อน จะบวชเมื่อใดผู้ทำพิธีต้องบอกกล่าวในพิธี
สำหรับพิธีไหว้ จะทำกันตั้งแต่เดือน 6 เดือน 7 ช่วงขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ก่อนเข้าพรรษา วันไหว้ต้องเป็นวันเสาร์กับวันอังคาร ต้องทำพิธีตอนเช้าถึงเที่ยงเท่านั้น ตอนบ่ายไม่ทำ เจ้าบ่าวต้องแต่งตัวนุ่งผ้าโจงกระเบน เสื้อแขนยาวสีขาว ถุงเท้าหนังสีดำ หรือแต่งชุดราชปะแตน ต้องเหน็บกริช มีเพื่อนเจ้าบ่าว 1-2 คน มีขบวนขันหมาก 21 ขัน ผ้าขาว ชุดผ้าผลัดเจ้าบ่าว เสื่อและหมอนใหม่ ผู้ถือขันหมากทั้งหมดต้องเป็นสาวพรหมจรรย์ มีขบวนกลองยาวแห่ขันหมาก จุดประทัดพร้อมเครื่องสักการะบูชา
เมื่อเสร็จพิธีไหว้ต้องเลี้ยงแกงจืดวุ้นเส้นผู้ที่เข้าร่วมงาน และทุกคนต้องกินให้หมด ถ้าเหลือห้ามนำกลับบ้าน ต้องเทหรือทิ้งไว้บริเวณนั้น
ดังที่อาจารย์อำนวยได้ว่าไว้ ถ้ามองให้ลึกถึงมิติการแก้ไขปัญหาสังคม เราจะเห็นถึงพิธีกรรมที่มีส่วนผสมในระหว่าง 3-4 วัฒนธรรม กริชคือมุสลิม พุทธหรือพราหมณ์คือพิธีกรรมและการแต่งกาย ส่วนแกงจืดนั้นคืออาหารของคนจีน
ลงตัวไปหมด...
อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันความเชื่อนี้จะยังมีปรากฏให้เห็น แต่วิถีทุนนิยมตะวันตกที่รุกเข้ามาจนชาวบ้านตั้งตัวไม่ทัน ทำให้บางคนคิดไปว่าชั่วเวลาอีกไม่กี่ปีประเพณีความเชื่อนี้อาจสูญหายไปตามกาลเวลา แต่ อาจารย์อำนวย ไม่เชื่ออย่างนั้น เพราะเห็นว่าวัฒนธรรมก็เหมือนสายเลือดที่ติดตัวเราไปตลอด ไม่มีทางสูญหายไปได้
ปัจจุบันชาวบ้านสร้างศาลเจ้าแม่ที่ใต้ต้นตะแบกแทนต้นประดู่ซึ่งสูญสลายไปตามกาลเวลา โดยตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่เดิม
ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อ “เมื่อลูกได้แต่งงานกับต้นไม้ พ่อแม่จะมีความสุขเหมือนลูกได้บวช”