ย่างเข้าปีที่สามของโรงเรียนทวิภาษา...คำตอบทางการศึกษาของน้องๆ ที่ชายแดนใต้
ปรัชญา โต๊ะอิแต
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“ดี กากี บูเกะ อาดอ อูเมาะฮ์ ปะ บูเวาะฮ์” เป็นเสียงที่ดังลอดออกมาจากห้องของน้องๆ นักเรียนชั้นอนุบาล 2 ของโรงเรียนบ้านประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี แม้จะเป็นประโยคสั้นๆ ที่มีความหมายธรรมดาๆ ว่า “ที่ตีนเขามีบ้าน 4 หลัง” แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาก็คือมันเป็นประโยคภาษามลายูถิ่นที่ถูกนำมาสอนเด็กๆ ด้วยอักษรไทย
การเรียนการสอนแบบนี้เรียกว่า “ทวิภาษา” ซึ่งนำภาษามลายูถิ่น หรือที่เรียกกันว่า “นายู” ที่คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้กันอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวันมาประยุกต์สอนด้วยอักษรไทย เพื่อให้เด็กๆ รุ่นใหม่อ่านและเขียนได้ทั้งภาษาไทยและมลายู
ทั้งนี้ การเรียนการสอนแบบ “ทวิภาษา” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษามลายูถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อ: กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษาในโรงเรียนเขตพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ
ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2550 มีโรงเรียนเข้าร่วมในโครงการนำร่อง 4 แห่งด้วยกัน คือ โรงเรียนบ้านประจัน จ.ปัตตานี โรงเรียนบ้านบึงน้ำใส จ.ยะลา โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 10 จ.นราธิวาส และโรงเรียนบ้านตำมะลังเหนือ จ.สตูล มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 9 ปี
การเรียนการสอนแบบ “ทวิภาษา” นำมาใช้ที่โรงเรียนบ้านประจันนานกว่า 2 ปีแล้ว ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากบางฝ่ายในทำนองไม่เห็นด้วย แต่คนที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดว่า “ทวิภาษา” ดีหรือไม่ดี น่าจะเป็นครู ผู้ปกครอง และตัวเด็กนักเรียนเองมากกว่า
เซาเดาะ จะปะกิยา ผู้ปกครองนักเรียนชั้นอนุบาล 1 ซึ่งเข้าเรียนในโปรแกรม “ทวิภาษา” บอกว่า ตั้งแต่เริ่มเรียนก็ได้เห็นพัฒนาการของลูก คือพูดเก่ง อ่านเก่งทั้งภาษาไทยและภาษาถิ่น ทำให้รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก
“เท่าที่ดูลูกก็สนุกกับการเรียน เวลาเขากลับจากโรงเรียนเขาก็จะทำทุกอย่างตามที่ครูสอน ทั้งทำการบ้าน วาดเขียน ตอนนี้ก็เขียนชื่อตัวเองได้แล้ว ผิดกับตอนก่อนเข้าเรียนที่เขาไม่ค่อยกล้าพูด ทุกวันนี้เวลาไปตลาดนัด เขามักขอให้เราซื้อหนังสือบ้าง สมุดวาดภาพบ้าง เอาไปเขียนเล่นที่บ้าน เขาสนุกกับการเรียน รู้สึกว่าเด็กที่เรียนที่นี่โชคดีกว่าเด็กอีกหลายๆคน เพราะยังไม่เคยเห็นลูกแสดงอาการไม่อยากไปโรงเรียน เขาได้เรียนทั้งสองภาษาตั้งแต่เล็กๆ ทำให้รู้คำศัพท์ต่างๆ มากขึ้น”
แวมัสนะห์ แส๊ะเด็ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านประจัน บอกว่า โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการหลักสูตรทวิภาษามา 2 ปีเต็มแล้ว เราได้เห็นพัฒนาการทางภาษาของเด็กๆ ตั้งแต่ปีแรกจนถึงตอนนี้ซึ่งดีขึ้นมาก โดยเฉพาะในเรื่องการพูดและการอ่าน หากเปรียบเทียบกับโรงเรียนปกติ การเรียนแบบทวิภาษาถือว่าดีกว่ามาก เพราะโรงเรียนที่ไม่ได้ร่วมโครงการ เด็กๆ จะยังเขียนประโยคอย่างเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้เลย แต่เด็กๆ ที่นี่เขียนเล่าเรื่องราวได้ถึง 4-5 ประโยคแล้ว
“เด็กๆ มักจะเขียนประโยคที่เขาใช้อยู่เป็นประจำ เช่น เขาจะเขียนคำว่า ‘บาบอ กาเซะ มามี’ แปลว่า ‘พ่อรักแม่’ เขาจะเขียนเป็นภาษาไทย แล้วมาอ่านให้เราฟัง ตรงนี้เป็นตัวชี้วัดที่เห็นเด่นชัด”
อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านประจัน ยอมรับว่า ช่วงที่นำโรงเรียนเข้าร่วมโครงการใหม่ๆ ก็รู้สึกกังวลอยู่เหมือนกัน เพราะมองไม่ออกว่าเด็กๆ จะเข้าใจความหมายของคำโดยเชื่อมโยงกับภาษาไทยได้อย่างไร เท่าที่คุยกับผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็กังวลไม่แพ้กัน
“จากเมื่อก่อนที่เคยเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ ก็ให้อ่านตัวหนังสือไทยไปเลย ทำไมครูไม่สอนแบบนั้น ครูสอนแบบใหม่ โดยหันมาใช้ภาษามลายูถิ่นในชั้นเรียน ที่บ้านก็พูดนายู มาที่นี่ก็พูดนายูอีก แล้วลูกของเขาจะอ่านออกเขียนได้เมื่อไหร่ เป็นคำถามที่เราเจอเยอะมากในช่วงแรกๆ แต่เมื่อจัดการเรียนการสอนมาเรื่อยๆ กระทั่งเด็กขึ้นอนุบาล 2 ผู้ปกครองชุดเดิมก็เริ่มยอมรับ เพราะเขาได้เห็นพัฒนาการชัดเจนขึ้น เราเองก็เห็นพัฒนาการของเด็กๆ ที่สามารถใช้คำเชื่อมโยงกับภาษาไทยได้ ทำให้ตอนนี้มีกระแสตอบรับดีมาก”
“ตอนนี้เวลามีการจัดดูงาน ทุกหน่วยงานก็จะมาดูที่นี่ เขาจะดูพฤติกรรมการเรียนของเด็กๆ เห็นแล้วเขาก็ทึ่ง เขาบอกว่าเด็กเก่งมาก สามารถเขียนเรื่องราวจากความคิดของตนเองได้ และกล้าแสดงออก ที่สำคัญเด็กๆ อาสาจะอ่านให้ฟังโดยที่เราไม่ต้องสั่ง ทำให้ได้รับความสนใจจากรายการโทรทัศน์ต่างๆ เช่น รายการพันแสงรุ้ง รายการตะวันยิ้ม ก็เข้ามาถ่ายทำ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการมาดูงาน มาจาก อ.ยะหา จ.ยะลา ก็มี เขาได้ข่าวว่าการสอนที่นี่ได้ผลดี เขาก็อยากเอาไปปรับใช้บ้าง”
สิ่งที่ทำให้ แวมัสนะห์ ภาคภูมิใจมากที่สุด เห็นจะเป็นความอยากรู้อยากเรียนของเด็กๆ นั่นเอง...
“เด็กๆ จะสนุกกับการเรียนมาก เขาอยากมาเรียนทุกวัน ไม่อยากให้โรงเรียนปิด บางทีพอถึงช่วงพักนอน เขาก็ไม่อยากนอน เขาอยากเขียน ทุกวันนี้ปากกาไวท์บอร์ดตั้งไว้ที่โต๊ะไม่ได้เลย เพราะเด็กจะมาหยิบแล้วเอาไปเขียนเป็นประโยคบนกระดาน พอครูเข้ามา เขาก็จะเรียกเพื่ออ่านให้ครูฟัง สิ่งที่เขาเขียนเป็นเรื่องที่ครูไม่ได้สอนมาก่อน เป็นเรื่องที่ออกมาจากความคิดของเขาเอง นี่คือพัฒนาการ ทำให้เราคาดหวังว่าต่อไปเด็กๆ ของเราจะไม่เจอปัญหาเรื่องการเขียนเรียงความอีก เพราะการเรียนการสอนแบบทวิภาษาน่าจะช่วยได้”
ครูรายหนึ่งที่สอนในโปรแกรมทวิภาษา กล่าวเสริมว่า การเรียนการสอนแบบนี้เป็นการอนุรักษ์และเคารพคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่แล้ว คือภาษามลายูถิ่น ซึ่งเป็นภาษาที่ทุกคนภาคภูมิใจ การสอนแบบ “ทวิภาษา” จะทำให้เด็กคงอัตลักษณ์ของตนเองเอาไว้ พ่อกับแม่ก็ภูมิใจ ขณะเดียวกันก็ง่ายที่จะพัฒนาเด็กต่อไปในสายสามัญด้วย
ด้าน รอฮีมะห์ ยูโซ๊ะ หัวหน้าสายงานอนุบาล โรงเรียนศาสโนวาทวิทยา อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งเคยพาคณะครูไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนบ้านประจัน กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านประจันน่าสนใจมาก เพราะสอนเด็กโดยใช้ภาษาถิ่นเป็นสื่อ ไม่ค่อยได้ใช้ภาษาไทย ทำให้เด็กเข้าใจง่าย จึงคิดว่าน่าจะนำแนวทางนี้ไปใช้ที่โรงเรียนบ้าง เพราะนอกจากจะช่วยให้นักเรียนมีพัฒนาการดีขึ้นแล้ว ยังสนองตอบต่อความเป็นท้องถิ่นโดยตรงด้วย
ส่วนเสียงวิจารณ์จากบางฝ่ายที่บอกว่าการเรียนการสอนแบบ "ทวิภาษา" เป็นการทำลายภาษามลายูถิ่นนั้น โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะคณะกรรมการอำนวยการวิจัยโครงการนี้ อธิบายว่า ประเด็นที่หยิบมาโต้เถียงว่าเป็นการทำลายภาษามีอยู่เรื่องเดียวคือ การใช้ตัวอักษรไทยมาเขียนภาษามลายูถิ่น
“เรื่องนี้ผมอยากชี้แจงว่า เราเองก็ได้วิเคราะห์วิจัยกันอย่างกว้างขวาง เพราะมีตัวอักษรให้เลือกใช้ทั้งอักษรยาวี อักษรโรมัน และอักษรไทย แต่ผมอยากให้คิดว่าตัวอักษรไม่ได้เป็นตัวทำลายภาษา การใช้อักษรยาวีก็เป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องให้นักภาษาศาสตร์ไปคิดว่าจะใช้อย่างไรให้ได้มาตรฐาน เหมาะกับแต่ละช่วงวัยของเด็ก”
“ที่สำคัญเรามุ่งให้ความสำคัญกับตัวผู้ใช้ ผู้เรียน ซึ่งก็คือเด็กๆ เป้าหมายของเราคือเด็กจะต้องเก่งทั้งภาษาแม่ของตัวเองและภาษาไทย เพราะเป็นภาษาที่เขาจะต้องใช้สื่อสารทั้งในการเรียนและการทำงานต่อไป การที่เด็กเริ่มต้นเรียนจากง่ายไปหายาก ฟังและพูดภาษาแม่ได้ ต้องถือว่าดีแล้ว ในช่วงชั้นต่อไปก็คือการเขียน เด็กจะเขียนได้ทั้งสองภาษา เราจึงใช้วิธีการสอนด้วยภาษาถิ่นเพื่อนำไปสู่การเข้าใจภาษาไทย”
โคทม ย้ำว่า เขาไม่เคยละเลยความสำคัญของภาษา เพราะเชื่อมาตลอดว่าภาษาคือตัวบ่งบอกอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ได้ดีที่สุด หากชาติพันธุ์ใดสิ้นภาษา ชาติพันธุ์นั้นก็จะสิ้นสุด
และการเรียนการสอนแบบ “ทวิภาษา” จะอนุรักษ์ภาษามลายูถิ่นให้คงอยู่ต่อไปในฐานะภาษาแม่ ขณะเดียวกันก็จะช่วยพัฒนาภาษาไทยของเด็กๆ ที่ชายแดนใต้ให้แข็งแกร่งเพื่อให้ก้าวย่างในโลกกว้างได้อย่างยั่งยืน…