เตรียมชง คกก.ยาง-ครม.ปลดล็อกโครงการพยุงราคาชะงัก
กษ.ถกปลดล็อกโครงการพยุงราคายาง กก.ละ 100 บาทวงเงิน 5 หมื่นล้านบ.ชะงัก แจงรับซื้อยางเข้าโครงการแล้ว 1.7แสนตัน 1.7หมื่นล้านบ. เตรียมชง คกก.ยาง-ครม.แก้ปัญหาขาดโกดัง-เบิกจ่ายชาวสวนช้า
วันที่ 19 พ.ย. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เปิดเผยว่า เตรียมนำเสนอมาตรการพยุงราคาและรักษาเสถียรภาพราคายางพาราต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) เป็นประธาน ในวันที่ 20 พ.ย.55 เพื่อผลักดันให้ราคายางพาราขยับตัวสูงขึ้น 100 บาท/กิโลกรัม หลังจากที่นโยบายเดินหน้าโครงการเสริมสร้างศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา วงเงิน 50,000 ล้านบาท ที่รับซื้อยางจากเกษตรกรในราคาสูงกว่าตลาด เพื่อกระตุ้นราคายาง เกิดชะงักลง
ดังนั้นจึงเสนอให้กนย. เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้องค์การสวนยาง (อสย.) ชำระเงินคงค้างแก่บริษัทประกันภัย 11 ล้านบาท เพื่อเช่าโกดังเก็บสินค้าให้เพียงพอ ภายหลังบริษัทประกันภัยไม่คุ้มครอง เพราะไม่ได้รับเงินค่าประกันภัย นอกจากนี้ได้เสนอแก้ปัญหาที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้รับเงินจากการขายยางล่าช้า เนื่องจากขั้นตอนการเบิกเงินซ้ำซ้อน จากเดิมวงเงินโครงการอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ ธ.ก.ส. มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน และเมื่อ อสย. ต้องการกู้เงินในโครงการของ ธ.ก.ส.ไปซื้อขายยางจากเกษตรกร ต้องขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันอีก ดังนั้นเพื่อลดความซ้ำซ้อนจึงให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันรายใหญ่องค์กรเดียว
“ปัจจุบันรับซื้อยางในโครงการแล้ว 1.7 แสนตัน ใช้เงิน 1.7 หมื่นล้านบาท เหลือเงินอยู่อีก 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะดำเนินงานถึงมี.ค. 56 แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะสานต่อโครงการหรือไม่ต้องดูราคายางในประเทศก่อน หากดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องทำโครงการต่อไป”
รมช.กษ. กล่าวต่อว่า รัฐได้กำหนดราคายางนำตลาด เพื่อกระตุ้นให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น แต่ต้องอาศัยตัวชี้วัดจากเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก พร้อมมีนโยบายหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมให้ธุรกิจยานยนต์ของไทยผลิตล้อยางโดยใช้วัตถุดิบในประเทศ เน้นที่รถยนต์ระดับสูง ที่สำคัญจะต้องเพิ่มมาตรการควบคุมการสวมสิทธิทุจริตสินค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกรต่อไป
ทั้งนี้วันที่ 12 ธ.ค.2555 จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ+1ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อกำหนดมาตรการกระตุ้นราคายางพาราในตลาดโลก ภายหลังเคยมีข้อตกลงให้ทุกประเทศชะลอส่งออกยางประมาณ 300,000 ตัน ซึ่งไทยได้ทำตามข้อตกลงแล้ว โดยให้ผู้ส่งออกไทยเก็บยางไว้ในสต๊อก 1.2 แสนตัน โดยล่าสุดคณะกรรมการควบคุมยางมีมติให้ระบายยางเหล่านี้ออกแล้ว.