"ปราโมทย์" ย้ำชัดสร้างเขื่อนแม่วงก์ ไม่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม
อดีตอธิบดีกรมชลฯ ระบุสร้างเขื่อนแม่วงก์ ต้องศึกษาผลกระทบให้ครบถ้วน เป็นไปตาม รธน. พร้อมชี้แจงเป็นเอกสารหลักฐาน ไม่ใช่พูดปากเปล่า ด้านเอ็นจีโอ ฉะมติ ครม. เห็นชอบหลักการสร้างเขื่อน ทั้งที่ EIA ยังผ่านเป็นเรื่องแปลก-เข้าข่ายการเมืองครอบงำ ขรก.
เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานจุฬาฯ วิชาการ 2555 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาเรื่อง ‘เขื่อนแม่วงก์: ปัญหาหรือทางออก’ ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การสร้างเขื่อนนั้นจะต้องศึกษาผลกระทบในทุกมิติ ทั้งด้านพื้นที่ ป่าไม้ วัฒนธรรม ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ไม่ใช่ศึกษาเฉพาะด้านวิศวกรรมเพียงอย่างเดียว สำหรับโครงการเขื่อนแม่วงก์นั้น ถือเป็นมหากาพย์ที่ยืดเยื้อมานาน และโครงการนี้ยืนยันว่าไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตลุ่มน้ำสะแกกรังได้ เพราะหากเทียบบัญญัติไตรยางศ์ จะเห็นว่า ลุ่มน้ำสะแกกรังมีพื้นที่ทั้งหมด 5,200 ตารางกิโลเมตรที่จะรับน้ำจากทุกทิศทาง ซึ่งเป็นแค่ส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำที่เกิดน้ำท่วม ประกอบกับจุดที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็มีพื้นที่เพียงแค่ 800 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้
“ผมก็เป็นนักพัฒนาคนหนึ่ง แต่การดำเนินการอะไรนั้น จะต้องทำให้ถูกต้องตามระบบ ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ และเมื่อสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) บอกว่าโครงการนี้ไม่ผ่าน ให้ไปศึกษาเพิ่มเติม ก็ต้องไปทำ ส่วนศึกษาหาข้อมูลมาได้ว่าอย่างไรก็ชี้แจงออกมาเป็นเอกสารหลักฐานให้เป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช่คำพูดอย่างเดียว” นายปราโมทย์ กล่าว
ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า การที่จะมาพูดกันในเรื่องที่ว่าเขื่อนดีหรือไม่ดีนั้น เป็นเรื่องที่โบราณมากในยุคนี้ เพราะอย่างไรก็ตามเขื่อนก็ย่อมมีข้อดีอยู่แล้ว เพียงแต่สิ่งที่น่าคิดก็คือ พื้นป่าที่สมบูรณ์มีเหลือเพียงไม่กี่แห่ง แต่เขื่อนกลับมีจำนวนมากแล้ว กระทั่งมีน้ำทำนา จนเป็นแชมป์ส่งออกข้าวได้ ดังนั้นคำถามคือ ทำไมจึงต้องเอาของที่มีเหลือแค่อยากเดียวไปแลกกับเขื่อน ซึ่งถ้าบอกว่าเพราะต้องการน้ำ ต้องการเขื่อน สุดท้ายถ้าคิดเช่นนี้มันก็ไม่มีวันพออยู่ดี
“การสร้างเขื่อนแม่วงก์ เป็นการทำลายระบบนิเวศของผืนป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และผืนป่าตะวันตก โดยเฉพาะปัจจุบันพบว่าอุทยานแห่งนี้เป็นแห่งฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งที่สำคัญ หลักฐานจากภาพถ่ายทางอากาศยืนยันว่ามีเสือโครงจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กระจายตัวเข้ามาหากินในอุทยานฯ แม่วงก์ และในพื้นที่แห่งนี้ยังมีสัตว์สำคัญอื่นๆ เช่น นกยูงไทย เป็นต้น ประกอบกับผลการศึกษายังพบอีกว่า เขื่อนแม่วงไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้จริง โดยเฉพาะในเขต อ.ลาดยาว ซึ่งพื้นที่มีลักษณะเป็นแอ่งรับน้ำ มีลำน้ำหลายสายไหลมาบรรจบกัน ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่บริเวณลุ่มต่ำอยู่ดี การก่อสร้างเขื่อนในเขตอุทยานฯ จึงช่วยกักเก็บน้ำได้เพียงแค่บางส่วนเท่านั้น”
ขณะที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวยืนยันว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์ในเขตอุทยานนั้นเป็นปัญหามากกว่าทางออก โดยเฉพาะการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2555 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยจะใช้งบประมาณ 13,000 ล้านบาท ทั้งที่การดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ยังไม่แล้วเสร็จ ถือเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด และการกระทำเช่นนี้เข้าลักษณะการเมืองครอบงำข้าราชการหรือไม่ ทั้งนี้ ตนเห็นว่า การดำเนินการใดๆ ในเรื่องเขื่อนแม่วงก์นั้น ควรรอให้ EIA ผ่านเป็นที่เรียบร้อยเสียก่อน เพราะงบประมาณไม่ใช้ก็ไม่เน่า