“พันแสงรุ้ง” สารคดีสร้างสรรค์เพื่อสันติภาพแดนใต้
แวลีเมาะ ปูซู
รอซิดะห์ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“รายการพันแสงรุ้ง นำเสนอเรื่องราวความหลากหลายอันงดงามของวิถีชีวิต วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั่วผืนแผ่นดินไทยและอุษาคเนย์ที่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน โดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากงานวิจัยวิชาการและการสำรวจข้อมูลจากชุมชน เน้นเนื้อหา ถอดเชื่อมโยงความรู้จากนักวิชากรและชุมชมเพื่อสร้างความเข้าใจ นำไปสู่การอยู่รวมกันอย่างสันติ...”
เป็นถ้อยคำที่อธิบายถึงรายการ “พันแสงรุ้ง” ที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ “ทีวีไทย” สถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย...
“พันแสงรุ้ง” เป็นรายการในรูปแบบสารคดี เมื่อจุดประสงค์ของรายการมุ่งบอกเล่าเรื่องราวความหลากหลายอันงดงามทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรมบนผืนแผ่นดินไทย ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดินแดนที่ว่ากันว่ามี “อัตลักษณ์” แตกต่างจากภาคส่วนอื่นๆ ของประเทศมากที่สุด
รายการนี้เกิดขึ้นจากสามองค์กรผู้ผลิต ได้แก่ ทีวีไทย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และป่าใหญ่ครีเอชั่น จำกัด มี “นก” นิรมล เมธีสุวกุล พิธีกรคนเก่งแห่งบ้านทุ่งแสงตะวัน เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว ที่ผ่านมาเคยออกอากาศเรื่องที่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว 6 ตอน ปรากฏว่ามีกระแสตอบรับเกินคาด ส่งผลให้ทีมงานต้องลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อเก็บข้อมูลเรื่องน่าสนใจ
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เพิ่งมีวงประชุมเล็กๆ เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะ และเสนอแนะเกี่ยวกับสารคดี ผ่านเวทีเสวนาที่ชื่อ “พันแสงรุ้งสัญจร” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนเข้าร่วม อาทิ โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ครองชัย หัตถา หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี อิสมาแอล เบญจสมิทธิ์ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นุกูล รัตนดากุล นักวิชาการสายสิ่งแวดล้อม ม.อ.ปัตตานี รวมไปถึงผู้นำชุมชนต่างๆ และแฟนรายการอีกเป็นจำนวนมาก
ไฮไลท์สำคัญคือการเปิดประเด็นสนทนาหัวข้อ “เรื่องเล่าพันแสงรุ้ง” และ “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ความจริงที่ควรเรียนรู้” โดย นิรมล เมธีสุวกุล ผู้ผลิตและผู้ดำเนินรายการ กับ ครองชัย หัตถา ร่วมกันดำเนินการเสวนา
ทั้งนี้ แนวคิดว่าด้วยการทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มาจากฐานคิดของโครงการ “จินตนาการใหม่ความเป็นไทย” ที่ริเริ่มโดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินไทยมาอย่างเนิ่นนาน...ก่อนจะมีการก่อตั้ง “รัฐชาติไทย” เสียอีก
นิรมล เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ได้ออกอากาศเรื่องราวจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว 6 ตอน มีผู้ชมจากทุกภาคส่งข้อความมาร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาเป็นจำนวนมาก จึงเห็นว่าควรจะมีการส่งเสริมรายการให้เผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการขยายผลแนวคิดของรายการที่ต้องการสะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ท่ามกลางความงดงามที่แตกต่างหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรม และกลุ่มชาติพันธุ์ต่อไป
“พันแสงรุ้งเป็นรายการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า วิถีชีวิต วัฒนธรรม และปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ชาวบ้านอยากจะเล่าให้ฟัง ซึ่งเมื่อได้ลงมาทำงานในพื้นที่ก็รู้สึกสนุกและมีความสุขมาก คนที่นี่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่อาจจะต้องระมัดระวังเรื่องการพูดคุยให้เขาเข้าใจและสื่อถึงความจริงใจที่เรามีต่อเขา” นิรมล บอก
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ในความรับรู้ของผู้คนทั่วไป ดินแดนแห่งนี้ยังคงมีอันตราย ซี่ง นิรมล และทีมงานก็ไม่ได้ประมาท
“กับสถานการณ์ปัจจุบัน เราก็ต้องระมัดระวังตัวบ้าง จะเข้าไปหมู่บ้านไหนก็ต้องประสานกับผู้นำชุมชนอย่างชัดเจน ทุกครั้งจะประสานงานกันก่อนเพื่อจะได้มั่นใจว่าทีมงานปลอดภัยดี แต่พอเข้าไปอยู่ในชุมชนในหมู่บ้านแล้วสบายมาก อาหารก็อร่อย นอนอุ่น กินอิ่ม คุยกันรู้เรื่อง ที่สำคัญคือได้เห็นวิถีชีวิตที่เป็นปกติ แต่แน่นอนก็มีอีกหลายพื้นที่ที่ไม่เป็นปกติ ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวัง แต่ถ้ามองในเชิงบวก ในท่ามกลางสถานการณ์ที่วิกฤติ เราทำให้คนในพื้นที่ได้คุยกันมากขึ้น ให้ชุมชนได้ช่วยเหลือกันมากขึ้น ได้มีการเช็คข่าว พูดคุยเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น ก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี”
“พี่ยอมรับว่างานสารคดีชิ้นนี้ทีมงานต้องทำงานหนักมากเลย เพราะต้องทำงานกับนักวิชาการ โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นที่เราเริ่มที่เรื่องประวัติศาสตร์ปัตตานี ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ถูกประวัติศาสตร์ระดับชาติกลบไปหมด ทำให้มีการพูดถึงน้อยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เราต้องไปพบกับนักวิชาการ ไปพบกับผู้คนในท้องถิ่นเพื่อให้บอกเล่าเรื่องราวที่คนส่วนใหญ่นอกพื้นที่ไม่ค่อยได้รับรู้ ก็เลยรู้สึกว่าสารคดีชุดนี้เป็นสารคดีที่น่าภาคภูมิใจชุดหนึ่ง และคิดว่าจะต้องทำต่อในอีกหลายๆ ตอน” พิธีกรสาวชื่อดังกล่าว
นิรมล ยังบอกอีกว่า หากจะนับความยากของสารคดีพันแสงรุ้ง สิ่งที่ยากที่สุดคือ ข้อมูล ต้องลงพื้นที่สำรวจข้อมูลตามความเป็นจริง ตรวจสอบข้อมูลที่เรามี โดยอุปสรรคที่สำคัญมากคือเรื่องภาษา เพราะภาษาแต่ละกลุ่มภาษามีทั้งยากและง่าย มีทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจ สิ่งที่เราต้องระมัดระวังเหนือกว่านั้นก็คือบางทีเรานึกว่ารู้เรื่อง แต่จริงๆ แล้วกลับไม่รู้เรื่องเลย
“เพราะฉะนั้นในฐานะคนทำงานด้านสื่อ สิ่งที่เราเห็นอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น มันอาจจะมีเบื้องหลัง มีสิ่งต่างๆ ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจ พี่คิดว่าคนทำงานด้านสื่อไม่ใช่แค่ที่ภาคใต้อย่างเดียวนะ หมายถึงที่อื่นๆ ด้วย จะต้องมีดวงตาที่สามที่ไม่ใช่มองแต่สิ่งที่เห็น แต่ต้องพยายามทำความเข้าใจและมองหาสิ่งที่ไม่เห็นด้วย เพื่อจะได้นำมาถ่ายทอดได้หลายๆ มิติ” นิรมล กล่าว
ด้านความเห็นของผู้สนับสนุนรายการอย่าง โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย ภาษาบ่งบอกถึงความเป็นชาติพันธุ์ เฉพาะประเทศไทย มีภาษาแตกต่างมากถึง 60-70 กลุ่ม เมื่อพูดถึงผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะพบว่าเป็นชาติพันธุ์มลายู นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีอัตลักษณ์ วิถีชีวิตที่เป็นของตนเอง มีความงดงาม แต่ไม่มีใครพูดถึง ไม่มีพื้นที่สื่อให้ จึงต้องเปิดเนื้อที่สื่อเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวแท้จริงจากพื้นที่
“ชื่อรายการพันแสงรุ้ง เป็นความหมายในเชิงเปรียบเทียบกับแสงของรุ้งที่มีเฉดสีมากกว่า 7 สี แต่เป็นพันๆ สีประกอบกันเป็นรุ้งที่งดงาม เช่นเดียวกับสังคมไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการผสมผสานด้านภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างงดงาม ณ ดินแดนนี้มานานนับร้อยหรือพันปี” โคทม กล่าว
ขณะที่ อิสมาแอล เบญจสมิทธิ์ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น บอกว่า มีความคาดหวังว่ารายการพันแสงรุ้งจะมีการนำเสนอเรื่องราวของชาติพันธุ์มลายูต่อไป เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้วันนี้เป็นเรื่องของชาติอธิปไตยกับชาติพันธุ์
“ป้อมปราการที่เข้มแข็งของพื้นที่มี 4 อย่างคือ อูลามะ (ผู้รู้) กีตาบ (หนังสือเรียนเกี่ยวกับศาสนา) ปอเนาะ (สถาบันศึกษาเกี่ยวกับศาสนา) และตาดีกา (โรงเรียนขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กประถมศึกษา) ทางออกคือต้องทำให้ 4 อย่างนี้ได้รับการยอมรับ สนับสนุน และอยู่ภายใต้รัฐไทย แต่สามารถรักษาอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ในพื้นที่ไว้ได้”
สาเหะอับดุลเลาะ อัลยุฟรี ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามลายู กล่าวถึงรายการพันแสดงรุ้งว่า เป็นรายการที่ให้ข้อมูลอย่างกระจ่าง ไม่เหมือนกับข้อมูลเดิมๆ สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง ที่สำคัญคือมีภาพอันสวยงามของท้องถิ่น ทำให้คนในพื้นที่มีความภาคภูมิใจที่ได้ปรากฏในสื่อในแง่มุมที่สวยงาม คิดว่าเป็นรายการที่ช่วยสร้างความเข้าใจ อย่างตอนประวัติศาสตร์ปัตตานี หรือทวิภาษา เป็นต้น
อายิ อาแว แฟนรายการพันแสงรุ้ง กล่าวว่า อยากให้เพิ่มเวลาการออกอากาศ เพราะยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจในพื้นที่อีกมากที่สื่อยังไม่ได้นำเสนอ เชื่อว่าหากได้เสนอออกไป จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และนำไปสู่สันติภาพในอนาคต
ทั้งหมดนี้ความคาดหวังสำหรับก้าวต่อไปของรายการ “พันแสงรุ้ง”…เฉดสีรุ้งที่ฉายแสงงดงามของความหลากหลายทางศาสนา ภาษา วิถีชีวิต และวัฒนธรรม
------------------------------------
6 ตอนจากชายแดนใต้ที่ “พันแสงรุ้ง” ออกอากาศไปแล้ว
1.ปัตตานี...ประวัติศาสตร์และเรื่องเล่า
เป็นการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์และตำนานของปัตตานี เรื่องเล่าจากชุมชนที่ไม่ค่อยมีใครเคยได้ยินได้ฟังมากนัก จาก ครองชัย หัตถา รวมทั้งพาไปเยือนสุสานกษัตริย์อาณาจักรปาตานี ที่บ้านปาเระ ต.บาราโหม มัสยิดกรือเซะ สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและการอยู่ร่วมกันของคนไทยพุทธกับมุสลิมที่ ต.ตาแกะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี
2.ทวิภาษา ไทยกลาง-มลายูปาตานี
เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยกลางและมลายูปาตานี การเรียนรู้ของเด็กๆ ในโรงเรียนที่มีการสอนทั้งภาษาไทยและภาษามลายูถิ่น ที่โรงเรียนบ้านปุโรง อ.กรงปินัง จ.ยะลา
3.โลกใบเล็กของเด็กมุสลิม
เป็นเรื่องราวของการเรียนรู้โลกและวิถีชีวิตของเด็กมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่แรกเกิด กิจวัตรประจำวัน และการศึกษา เช่น วันสำคัญในศาสนาอิสลาม การเรียนในโรงเรียน ในตาดีกา ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม การเป็นมุสลิมที่ดีที่ต้องปฏิบัติตนตามบทบัญญัติ 5 ประการ เป็นต้น
4.เรื่องราวและภาษาจากตากใบ
“ตากใบ”นอกจากเป็นชื่ออำเภอหนึ่งของนราธิวาสแล้ว ยังเป็นชื่อสำเนียงภาษาไทยตากใบ หรือ “ไทยเจ๊ะเห” สารคดีตอนนี้พาไปพบกับเรื่องราวของชาวไทยพุทธส่วนน้อยนิดที่ดำรงอยู่อย่างมีอัตลักษณ์ท่ามกลางคนไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
5.ไทยตุมปัต
เรื่องราวของการใช้ภาษาไทยตุมปัต ของคนมาเลเซียเชื้อสายไทยกลุ่มหนึ่งที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาษาไทยสำเนียงเจ๊ะเห หรือที่บางคนเรียกว่าไทยตากใบ
6.เบตงแสนงาม
เรื่องราวของคนไทยเชื้อสายจีนใน อ.เบตง จ.ยะลา ที่พวกเขาต่างมีความสัมพันธ์กันในทางสร้างสรรค์และดำรงอัตลักษณ์ความเป็นจีนของตนอย่างโดดเด่น ท่ามกลางพหุสังคมที่ความหลากหลายซึ่งมีทั้งไทยพุทธ จีนพุทธ และไทยมุสลิม