ปลัด กษ.ยอมรับมีปัญหา ก.พาณิชย์ฯในโครงการจำนำข้าว เร่งร่วมมือดันสินค้าเกษตรสู่เออีซี
ปลัด กษ.ยอมรับมีปัญหาทำงานร่วม ก.พาณิชย์ฯ ต่างคนต่างทำ-ตัวเลขจำนำข้าวพลาดจนดีเอสไอตั้งข้อสังเกตเป็นช่องว่างทุจริต เร่งหารือร่วม 2 กท.-ดัน 9 สินค้าเกษตรสู่เออีซี
วันที่ 16 พ.ย. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) เปิดเผยภายหลังประชุมหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เรื่องรับจำนำข้าว ว่าเนื่องจากคณะกรรมการเตรียมความพร้อมสู่เออีซี ปี 2558 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มอบหมายให้ กษ.ซึ่งเสนอสินค้าเกษตร 9 ชนิด (ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าว มันสำปะหลัง ลำไย ทุเรียน กุ้ง ไก่เนื้อ) สู่เออีซี ร่วมปรึกษาหารือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อหาแนวทางการเตรียมความพร้อมด้านสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกัน
นายชวลิต กล่าวว่ากระทรวงพาณิชย์มีการเตรียมพร้อมสนับสนุนสินค้าสู่เออีซีเช่นกัน แต่ให้ความสำคัญกับสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อัญมณีเป็นหลัก ทั้งนี้การส่งเสริมสินค้าเกษตรทั้ง 9 ชนิดจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากกระทรวงพาณิชย์เพื่อสนับสนุนโอกาสทางการค้าและการตลาด โดยทั้ง 2 กระทรวงจะตั้งคณะทำงานร่วมกัน และนำเสนอแผนงานต่อคณะกรรมการเตรียมความพร้อมสู่เออีซี ปี 2558 ต่อไป
“การแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรทุกตัวไม่ใช่แต่เฉพาะข้าว ส่วนใหญ่ต่างคนต่างแก้ เช่น เมื่อประชุมกันใน กขช.(คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ)เสร็จ และมอบหมายงานให้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรมาทำส่วนหนึ่ง กระทรวงพาณิชย์ก็ไปทำอีกส่วนหนึ่ง ก็ต่างคนต่างทำไม่เคยคุยกันว่าจะไปในทิศทางเดียวกันไม่ให้ขัดแย้งกันได้อย่างไรบ้าง”
ปลัด กษ.กล่าวถึงปัญหาการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ที่ผ่านมา และกล่าวต่อว่าเป็นโอกาสดีที่ทั้ง 2 กระทรวงได้มาร่วมหารือกันเพื่อปรับบทบาทการทำงานให้สอดคล้องกันมากขึ้น ทั้งนี้สำหรับแผนยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่ง กษ.ต้องเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)นั้น จะเร่งทำและนำเสนอต่อไปภายใน ธ.ค.ปีนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุม ตัวแทน กษ.ได้พูดถึงปัญหาตัวเลขประมาณการผลผลิตข้าวเปลือกโครงการจำนำข้าวที่ กษ.ต้องนำเสนอต่อ กขช. เพื่อของบประมาณและวางกรอบจำนวนข้าวที่จะเข้าโครงการรับจำนำข้าวในฤดูกาลต่อไป ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยึดตัวเลขดังกล่าวเป็นกรอบผลผลิตข้าวเปลือกของโครงการฯ ขณะที่ กษ.เน้นว่าเป็นเพียงตัวเลขประมาณการ เมื่อสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวจึงเกิดปัญหาขึ้นเมื่อปรากฏว่ามีจำนวนข้าวมากหรือน้อยกว่าตัวเลขที่ประมาณการไว้ ส่งผลกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตั้งข้อสังเกตว่าป็นช่องว่างให้เกิดการทุจริตหรือสวมสิทธิ์ในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งอาจสร้างความเดือดร้อนให้ทั้ง 2 กระทรวง โดย กษ.อาจถูกมองว่าไม่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการขึ้นทะเบียนจริง อย่างไรก็ดียืนยันว่าตัวเลขผลผลิตข้าวเป็นเพียงการคาดการณ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้และไม่อาจระบุให้ได้ชัดเจน โดย กษ.จะเชิญปลัดกระทรวงพาณิชย์เพื่อหารือถึงปัญหาดังกล่าวร่วมกันต่อไป .