ย้อนอดีตลังกาสุกะ (3) สงครามและหัวเลี้ยวแห่งการเปลี่ยนผ่าน
กัณหา แสงรายา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ในช่วงปลายลังกาสุกะ ชนชั้นปกครองที่ปกครองราชธานี "โกตามะห์ลิฆัย" ได้กลายเป็นราชวงศ์มลายูมุสลิมนามว่า "วรวารีวงศ์" ราชวงศ์นี้อาจเป็นเชื้อสายของเจ้าชายวรวารี (Wurawari) ซึ่ง ศ.ยอร์จ เซเดส์ กล่าวว่าน่าจะเป็นผู้นำท้องถิ่น (a local chief) มาจากเมืองบนคาบสมุทรมลายู [1]
ชื่อ "เจ้าชายวรวารี" มีความสำคัญขึ้นเนื่องจากปรากฏใน "จารึกปูจังงัน" (Prasasti Pucangan/Culcutta Stone) บนเกาะชวาว่า ในปี ค.ศ.1006 (พ.ศ.1549) ทรงยกทัพไปโจมตีพระเจ้าธรรมวังสา (Dharmmawangsha) ซึ่งเป็นพวกมัชปาหิต (Majapahit) เนื่องจากต้องการล้างแค้นให้พวกศรีวิชัยที่ถูกกษัตริย์มัชปาหิตพระองค์นี้โจมตีมาก่อน
จนกระทั่งพระเจ้าไอร์ลังคะ (ครองราชย์ ค.ศ.1009-ค.ศ.1042/พ.ศ.1552-พ.ศ.1585) ราชบุตรเขยซึ่งรอดชีวิตจากการถูกโจมตี (ในระหว่างพระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระองค์กับราชธิดาของพระเจ้าธรรมวังสา) พระองค์ได้ทรงกอบกู้อาณาจักรมัชปาหิตขึ้นใหม่ พร้อมทวงคืนสิ่งที่พระเจ้าธรรมวังสาทรงสะสางไว้ในรัชสมัยของพระองค์ได้สำเร็จ [2]
ในจารึกยังได้กล่าวถึงชื่อเจ้านายที่ยกทัพมารุกรานมัชปาหิตว่าชื่อ "หะยีวรวารี" (Haji Wurawari) ว่ามาจากเมืองลวารัม (Lwaram) มีผู้แสดงทัศนะแย้งว่า "หะยีวรวารี" น่าจะเป็นเจ้าเมืองบนเกาะชวานั่นเองซึ่งมีจิตปฏิพัทธ์ต่อเจ้าหญิงพระราชธิดาของพระเจ้าธรรมวังสา แต่ทรงถูกปฏิเสธ จึงเลือกที่จะโจมตีพระเจ้าธรรมวังสาในช่วงที่มีพระราชพิธีอภิเษกสมรสพระธิดาของพระองค์กับเจ้าชายไอร์ลังคะผู้เป็นพระราชนัดดา ต่อมาหลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ ก็ได้ทรงกอบกู้บ้านเมืองขึ้นใหม่ กล่าวกันว่าพระองค์ทรงถือว่า "หะยีเวงเกร์" (Haji Wengker) ต่างหากคือศัตรูตัวฉกาจของพระองค์ หาใช่ "หะยีวรวารี" ไม่ [3]
ที่ ศ.ยอร์จ เซเดส์ คิดว่าเจ้าชายผู้นี้มาจากเมืองบนคาบสมุทรมลายูนั้น อาจสันนิษฐานได้ว่าเมืองดังกล่าวคือเมือง "อูจงมดานี" (Ujung Medani) หรือ "อูจงตาเนาะห์" (Ujung Tanah) เมื่อคราวที่ "สุลต่านมาหมูดชาห์" เจ้าเมืองมะละกาองค์สุดท้าย เสด็จหนีพวกโปรตุเกสมาที่นี่เมื่อ ค.ศ.1511 (พ.ศ.2054) ทรงตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่นี่ และได้พระราชทานนามว่าเมืองยะโฮร์ [4]
ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นไปได้เหมือนกันว่า เจ้าชายวรวารีจะมาจาก "ลังกาสุกะ" เนื่องจากหลังจากพระเจ้าโจฬะทรงยกทัพมาปล้นหัวเมืองศรีวิชัยครั้งแรกในปี ค.ศ.1007 (พ.ศ.1550) โดยทรงอ้างว่าสามารถยึดครองเกาะต่างๆ ตามรายทางได้ถึง 12,000 เกาะนั้น แต่หลังจากนั้นคาดว่าลังกาสุกะคงฟื้นตัวอย่างรวดเร็วภายในห้วงเวลาเพียง 9 ปี จนสามารถมีแสนยานุภาพทางเรือได้อีกครั้ง พระองค์จึงทรงแต่งทัพเรือไปตีเมืองต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยงบนเกาะชวาได้อีก
อย่างไรก็ตาม ลังกาสุกะในช่วงนี้ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ปกครอง ชื่อ "วรวารี" ก็ยังไม่ปรากฏในลังกาสุกะ เนื่องจากเพิ่งในสมัย "พระเจ้าภารุภาษา" (Bharubhasa) ขึ้นครองลังกาสุกะในปี ค.ศ.1335 (พ.ศ.1888) หรืออีกกว่า 300 ปีต่อมานี่เอง ที่พระองค์ทรงเปลี่ยนชื่อลังกาสุกะเป็น "วรวารี" โดยพระองค์ยังคงชื่อราชธานีเดิมคือ "โกตามะห์ลิฆัย" ไว้ [5]
รวมทั้งอาจเป็นไปได้อีกเช่นกันว่า "วรวารี" อาจจะเป็นชื่อเก่าที่เคยใช้แทนลังกาสุกะในช่วงหนึ่ง อาจจะหลังจากลังกาสุกะถูกศรีวิชัยยึดครองช่วงใดช่วงหนึ่งในระหว่าง ค.ศ.650-ค.ศ.1025 (พ.ศ.1193-พ.ศ.1568) แต่ชื่อวรวารีนี้ก็ได้ปลาสนาการไปอีกหลังจากถูกพระเจ้าราเชนทร์โจฬะที่ 1 ปล้นสะดมและทำลายเมืองในอิทธิพลของศรีวิชัยไปทั้งหมดในระหว่าง ค.ศ.1024-1026 (พ.ศ.1567-1569)
หลังสงครามเราไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับลังกาสุกะ จนกระทั่งอีก 300 ปีเศษให้หลัง ปรากฏว่าชื่อ "วรวารี" กลับโผล่ขึ้นมาแทนที่ชื่อ "ลังกาสุกะ" อีก เนื่องจากกษัตริย์พระองค์ใหม่เป็นมุสลิมจึงไม่เหมาะที่จะใช้ชื่อเดิมคือ "ลังกาสุกะ" (ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือ "ลึงคสุข") เราเข้าใจว่าพระเจ้าภารุภาษาหรือ "สุลต่านมาหมูด" แห่งโกตามะห์ลิฆัยทรงรื้อฟื้นชื่อ "วรวารี" ขึ้นมาใหม่อีกครั้งในราวๆ ค.ศ.1335-ค.ศ.1347 (พ.ศ.1888-พ.ศ.1890) อันเป็นช่วงบั้นปลายของศรีวิชัยซึ่งเริ่มต้นเมื่อ ค.ศ.650 (พ.ศ.1193) เวลานี้กำลังใกล้พบจุดจบเต็มที
นับจากนี้ไปในอีก 30 ปีศรีวิชัยก็ปิดฉากอาณาจักรอันยิ่งยงลงอย่างสมบูรณ์ทั้งในดินแดนแห่งหมู่เกาะและบนคาบสมุทร ซึ่งอยู่ในราวปี ค.ศ.1377 (พ.ศ.1920) จากนี้ไปศรีวิชัยก็คงเหลือเพียงร่องรอยเก่าๆ ซึ่งได้รับการเสริมเพิ่มแต่งด้วยร่องรอยอารยธรรมของมัชปาหิตที่หนักแน่นกว่า พร้อมๆ กับได้เวลาที่จะต้องตระหนักความจริงที่ว่า รัฐไทยพุทธสุโขทัยได้เริ่มต้นอาณาจักรของตนขึ้นแล้วตั้งแต่เมื่อ 128 ปีก่อน คือเมื่อ ค.ศ.1249 (พ.ศ.1792) หลักไมล์สำคัญของการขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งของอาณาจักรของชาวไทยพุทธก็คือ ทางตอนบนของคาบสมุทรตั้งแต่นครศรีธรรมราชขึ้นไปไม่อาจเป็นอิสระจากสุโขทัยได้อีก และต่อมาตั้งแต่พัทลุงขึ้นไปเช่นกันไม่อาจเป็นอิสระจากอยุธยาได้อีกเลย
ความขัดแย้งบนคาบสมุทรและสงครามที่โจฬะรุกราน
ในช่วงที่ศรีวิชัยมีปัญหากับมัชปาหิตนั้น ทั้งศรีวิชัยและโจฬะมีความสัมพันธ์เป็นพันธมิตรกันอย่างใกล้ชิด พระเจ้าโจฬะทรงสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ.1014 (พ.ศ.1557) พระโอรสของพระองค์คือพระเจ้าราเชนทร์โจฬะที่ 1 ก็ทรงดำรงความสัมพันธ์เป็นอันดีกับศรีวิชัยดุจเดิม [6] ในปี ค.ศ.1016 (พ.ศ.1559) นี่เองที่พระเจ้าวรวารีได้ยกทัพจากแหลมมะละกาไปโจมตีพระเจ้าธรรมวังสาบนเกาะชวา
สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธก็คือ ตลอดเวลาฝ่ายโจฬะมีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะควบคุมช่องแคบมะละกาให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้ไมตรีที่ทั้งศรีวิชัยและโจฬะมีต่อกันต้องขาดสะบั้นลง ในปี ค.ศ.1023 (พ.ศ.1566) พระเจ้าราเชนทร์โจฬะก็ทรงยกทัพเข้าโจมตีกะดารัมและกตาหะ (เคดะห์) ในปีถัดมาเมื่อ ค.ศ.1024 (พ.ศ.1567) ก็ทรงยกทัพมาตีหัวเมืองศรีวิชัยบนคาบสมุทรมะละกา แต่ก็เผชิญอุปสรรคมากมายจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เต็มไปด้วยหนองคลองบึงและแม่น้ำมากมายหลายสาย ทำให้การยกทัพของพระองค์แสนที่จะไม่สะดวก ด้วยเหตุนี้อำนาจของศรีวิชัยจึงเพียงถูกทำให้อ่อนแอลงเท่านั้น
จนกระทั่งในอีกปีหนึ่งต่อมาเมื่อ ค.ศ.1025 (พ.ศ.1568) ทัพใหญ่ของพระเจ้าราเชนทร์โจฬะก็มาถึงอีกระลอก และเข้าโจมตีปาเล็มบัง มลายู (จัมบี) ปาเน (ชายฝั่งตะวันออกของเกาะสุมาตรา) เกาะนิโคบาร์ และเมืองต่างๆ ในเขตอิทธิพลของศรีวิชัยบนคาบสมุทรมลายู เช่น ลังกาสุกะ (วรวารี) เคดะห์ ตะโกลา (ตะกั่วป่า) จนราพณาสูร [7] ผลก็คือลังกาสุกะ (วรวารี) เช่นกันถึงกาลล่มสลายลงอย่างราบคาบจากสงครามครั้งนี้
การปรากฏตัวอีกครั้งของ "วรวารี"
กองทัพจากวรวารี (ลังกาสุกะ) ซึ่งเข้าใจว่าเป็นอยุธยามาโผล่อีกครั้งหนึ่งเมื่อเวลาล่วงเลยไปกว่า 300 ปี ปรากฏว่าทัพเรืออันเกรียงไกรของวรวารีสามารถยึดครองตูมาซิก (เกาะสิงคโปร์) ซึ่งเวลานั้นเป็นของเจ้ามัชปาหิต แต่ที่สุดชั่วเวลาไม่นานนัก ผู้ปกครองตูมาซิกซึ่งเป็นพวกวรวารีก็เสียทีแก่เจ้าชายปรเมศวร (Parameswara) แห่งศรีวิชัยจนได้
ทว่าในปี ค.ศ.1377 (พ.ศ.1920) นั้นเอง พวกมัชปาหิตก็หวนกลับมาบดขยี้พวกศรีวิชัยที่ตูมาซิกได้อย่างรวดเร็ว ผลก็คือเจ้าชายปรเมศวรต้องหนีไปตั้งหลักที่ปากแม่น้ำมัวร์ (Muar) ในระหว่าง ค.ศ.1400-1403 (พ.ศ.1943-พ.ศ.1946) เจ้าชายปรเมศวรก็ทรงแปลงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ทางชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรขึ้นเป็นเมืองมะละกา (Melaka) ซึ่งในไม่ช้าก็กลายเป็นเมืองท่าสำคัญบนปลายแหลมมลายู และจะมีความรุ่งเรืองต่อไปจนถึง ค.ศ.1511 (พ.ศ.2045) ก่อนที่จะส่งมอบความรุ่งเรืองนี้แก่ "อาณาจักรปัตตานี/ปาตานี" อาณาจักรใหม่ของลังกาสุกะ-วรวารีสืบช่วงต่อไป
เมื่อย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ที่ลังกาสุกะในระยะใกล้ๆ นี้ จารึกตรังกานูเมื่อ ค.ศ.1303 (พ.ศ.1846) คงบอกอะไรหลายอย่างที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านทางศาสนาจากศาสนาฮินดู-พุทธสู่อิสลาม จารึกที่ค้นพบเมื่อ ค.ศ.1899 (พ.ศ.2446) ที่กัวลาบรัง รัฐตรังกานู มาเลเซีย แสดงถึงการสถาปนารัฐมลายูมุสลิมแบบจารีตที่ตรังกานูได้สำเร็จ และน่าจะสะท้อนถึงอิทธิพลของศาสนานี้ในลังกาสุกะ โดยเฉพาะในชุมชนริมชายฝั่งและปากแม่น้ำซึ่งเปรียบดังบ้านพี่เมืองน้องกับตรังกานู
เพียงอีกประมาณ 50 ปีหลังจากนี้ ผู้ปกครองโกตามะหลิฆัยก็เปลี่ยนมารับศาสนาอิสลาม หรือไม่ก็เป็นกลุ่มผู้ปกครองใหม่ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามและเป็นผู้สถาปนา “วรวารีวงศ์” (ราชวงศ์วรวารี) ซึ่งเท่าที่ทราบทรงปกครองโกตามะห์ลิฆียในช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่าง ค.ศ.1357-ค.ศ.1398 (พ.ศ.1900-พ.ศ.1941) [8] จึงมีคนรู้จักลังกาสุกะในนาม "วรวารี" (Wurawari / "น้ำใส" หรือ "น้ำดี") [9] เคียงคู่กับโกตามะหลิฆัย (Kota Mahligai) ซึ่งบัดนี้มีความหมายเลือนไปเป็นเพียงชื่อกว้างๆ หมายถึง "นคร" (Kota) หรือ "ตำหนัก" / "พระราชวัง" (Mahligai) เท่านั้น
ผู้ปกครองมุสลิมองค์สุดท้ายแห่งโกตามะห์ลิฆัย
กล่าวโดยสรุปแล้ว เหตุการณ์ที่ลังกาสุกะในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ปรากฏว่าผู้ปกครองอาณาจักรได้หันไปนับถือศาสนาอิสลามไปหลายเพลาแล้ว พร้อมทั้งได้สถาปนาชื่อบ้านเมืองเสียใหม่ว่า "วรวารี" (Wurawari) แทนที่ชื่อลังกาสุกะเดิม ผู้ที่รับบทบาทนี้คือ "พระเจ้าภารุภาษา" (Bharubhasa) หรือ "สุลต่านมาหมูดชาห์" (Sultan Mahmud Syah)
จากชื่อ "วรวารี" นี่เองเป็นที่มาของราชวงศ์วรวารี หรือ "วรวารีวงศ์" โดยมีต้นราชวงศ์อยู่ที่พระเจ้าภารุภาษา ผู้ทรงเป็นพระเชษฐาของ "ราชาสุลัยมานชาห์" (Raja Sulaiman Syah) ซึ่งมีชื่อและเหตุการณ์ปรากฏใน "สยาเราะห์มลายู" (Sejarah Melayu / พงศาวดารมลายู) [10] ว่าพระองค์ทรงเป็นพระราชาองค์สุดท้ายในราชวงศ์มุสลิมแห่งโกตามะห์ลิฆัย
น่าเสียดายที่เรารู้เพียงว่า เวลาของราชวงศ์นี้มีแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากรัชสมัยของพระองค์ถึงกาลสิ้นสุดลงเมื่อทรงแพ้ศึกชนช้างกับเจาเซอรีบังซา (Cau Seri Bangsa) เจ้าสยามแห่งพวกมลายูพุทธ
-----------------------------------------
บรรยายภาพ
1. ภาพยนตร์ไทยแนวแฟนตาซี ใช้ฉากหลังเมืองลังกาสุกะโบราณกับปาตานีอย่างกลมกลืน
2. ซากเมืองเก่ายะรัง
3. พบที่ยะรัง
ติดตามอ่าน
"ย้อนอดีตลังกาสุกะ" ตอนที่ 1 และ 2 ได้ในเว็บอิศรา
- ย้อนอดีตลังกาสุกะ (1) อาณาจักรฮินดู พุทธ และอิสลาม
http://www.isranews.org/isranews/index.php?option=com_content&view=article&id=31:-1---&catid=11:2009-11-15-11-15-13&Itemid=3
- ย้อนอดีตลังกาสุกะ (2) เครือข่ายผู้คน-วัฒนธรรมร่วมกับภาคกลาง
http://www.isranews.org/isranews/index.php?option=com_content&view=article&id=42:-2-&catid=11:2009-11-15-11-15-13&Itemid=3
อ้างอิง
[1] Cœdès, George. 1968. The Indianized States of Southeast Asia. Vella F., Walter (edited). Sue Brown Cowing Translation. East-West Center Press, 1968. p.144.
[2] Tim Temukan Situs Wura-Wari di Cepu, Ekspedisi Bengawan Solo "Kompas" 2007, edisi Sabtu, 16 Juni 2007 และ de Casparis, J.G., Airlangga, The Threshold of the Second Millennium, IIAS Newsletter Online, No. 18. Diakses 8 Juli 2008 ใน <http://id.wikipedia.org/wiki/Airlangga> Retrieved 15/12/2552
[3] ทัศนะที่กล่าวว่าชื่อ ‘วรวารี’ มาจากชื่อกษัตริย์ชวาพระองค์หนึ่ง โปรดดู Soedjatmoko (edited). 2007. An Introduction to Indonesian Historiography. PT Equinox Publishing Indonesia. p.71
[4] ‘วรวารี’ (Wurawari) เข้าใจว่าเป็นชื่อเก่าแก่ของเมือง ‘อูจงตาเนาะ’ หรือ ‘อูจงมาดานี’ หลังจากสุลต่านมาหมูดชาห์ กษัตริย์มะละกาองค์สุดท้าย หนีพวกโปรตุเกสมาตั้งหลักที่นี่ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่เป็น ยะโฮร์ (Johor) ซึ่งมาจากคำว่า ‘เยาฮัร’ (ภ.อาหรับ Jauhar/เพชรนิลจินดา) โปรดดูใน <http://www1.nst.com.my/Current_News/JohorBuzz/Monday/MyJohor/2480438/Article/printarticle> สืบค้นเมื่อ 8/12/2552
[5] Abdullah bin Mohamad (Nakula). 1981. Keturunan Raja-Raja Kelantan dan Peristiwa-Peristiwa Bersejarah. Perbadanan Muzium Negeri Kelantan. Hlm. 40
[6] <http://www.beritamusi.com/berita/2009-07/buku-kerajaan-sriwijaya-3/>
สืบค้นเมื่อ 2/12/2552
[7] โปรดดูใน [6]
[8] อับดุลระห์มาน อับดุลเลาะห์ (Abdul Rahman Abdullah) แสดงทัศนะพร้อมระบุช่วงปีที่ราชวงศ์นี้ดำรงอยู่ว่า หลังจากชื่อลังกาสุกะหายไปก็เกิดราชวงศ์หนึ่งชื่อว่า ‘วรวารี’ (Wurawari) ซึ่งมีความหมายว่า ‘น้ำใส’ โดยเขาได้ให้ช่วงเวลาที่ราชวงศ์นี้ครองโกตามะห์ลิฆัยระหว่าง ค.ศ.1357-ค.ศ.1398 (พ.ศ.1900-พ.ศ.1941) โปรดดู <http://www.geocities.com/unit_pm_dan_bk/en_hamdan/Artikel/patani.htm?20081> ในขณะที่อับดุลเลาะห์ บิน มูฮัมมัด (นากูลา) อ้างใน [5] ระบุปีที่ราชาสุลัยมานชาห์ขึ้นครองโกตามะห์ลิฆัยคือ ค.ศ.1345 (พ.ศ.1888) คือเร็วกว่า 12 ปี
[9] การสันนิษฐานว่า ลังกาสุกะ (ช่วงปลาย) คือ ‘วรวารี’ อ้างโดย อับดุลเลาะห์ บิน มูฮัมมัด (นากูลา) ใน Abdullah bin Mohamad (Nakula). 1981. Keturunan Raja-Raja Kelantan dan Peristiwa-Peristiwa Bersejarah. Perbadanan Muzium Negeri Kelantan. Hlm. 40 ซึ่งได้ทำผังสาแหรกราชวงศ์มลายู-ชวากะที่ปกครองกลันตัน-พัทลุง-ลังกาสุกะ-จามปา ฯลฯ ว่าสืบเชื้อสายมาจากมหาราชาศรีมัทไตรโลกยราชา หรือมหาราชาสัมภูคีตะ และมหาราชชวากะองค์ต่อๆ มาอีกหลายพระองค์ เช่น ราชาสุเรนทรา (มหาราชาสุรัน) ราชาสกรันตา (มหาราชชวากะ) ราชาตีลัม (ราชาซังตาวัล มหาราชมลายู) ราชาภารุภาษา (สุลต่านมาหมูดชาห์) ซึ่งเป็นราชาลังกาสุกะระหว่าง ค.ศ.1335-ค.ศ.1345 (พ.ศ.1878-พ.ศ.1888) โดยทรงให้พระอนุชาคือ ‘ราชาสุลัยมานชาห์’ ครองลังกาสุกะแทน ส่วนพระองค์ทรงไปครองเมืองกลันตันระหว่าง ค.ศ.1345-ค.ศ.1362 (พ.ศ.1888-พ.ศ.1905) จนกระทั่งราชวงศ์วรวารีสิ้นสุดลงเมื่อราชาสุลัยมานชาห์สิ้นชีพิตักษัยบนหลังช้าง
นักเรียบเรียงประวัติศาสตร์อีกผู้หนึ่งที่เสนอชื่อนี้คือ อับดุลฮาลิม บาชาห์ (อับฮาร์) ใน Haji Abdul Halim Bashah (Abhar). 1994. Raja Campa & Dinasti Jembal Dalam Patani Besar (Patani, Kelantan, Terengganu). Kelantan: Pustaka Reka. Hlm. 2-3
[10] Shellabear, W.G. (diushakan). 1995. Sejarah Melayu. Cetakan ke-29. Shah Alam: Penerbit Fajar Bakti. Hlm.182.