ฟังรากหญ้าพูดถึงสะพานมิตรภาพ นายกฯมาเลย์เยือนใต้ และนครปัตตานี
นาซือเราะ เจะฮะ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
2-3 วันที่ผ่านมา ข่าวสารจากชายแดนใต้ถูกลำเลียงขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์รายวัน และเป็นข่าวนำในวิทยุ-ทีวีอีกครั้ง ทั้งประเด็นที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย ควงแขน นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เดินทางลงพื้นที่ครั้งประวัติศาสตร์ การร่วมกันบริหารจัดการและดูแลสะพานมิตรภาพที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส การก่อเหตุร้ายแบบปูพรมพร้อมติดป้ายประกาศจุดยืนของกลุ่มก่อความไม่สงบ ตามด้วยกระแส "นครปัตตานี" ที่องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ร่วมกันจัดต่อมา
แต่ยังมีคำถามที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ชาวบ้านในระดับ "รากหญ้า" จริงๆ ในพื้นที่ คิดอย่างไรกับความเคลื่อนไหวระดับประเทศเหล่านี้..."ทีมข่าวอิศรา" ร้อยเรียงความรู้สึกของหลากหลายผู้คนที่มีต่อหลากหลายเรื่องราว เพื่ออธิบายอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ชายแดนใต้...
นายซูดิง ฮารงค์ วัย 57 ปี เจ้าของร้านน้ำชา และเจ้าของเรือข้ามฟากที่นำชาวบ้านข้ามจากบ้านบูเก๊ะตาฝั่งประเทศไทย ไปยังบ้านบูเกะบองอ (บูกิตบุหงา) ฝั่งมาเลเซีย กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศเดินทางมาในพื้นที่ และยังเปลี่ยนชื่อสะพานเพื่อสร้างความสันพันธ์ที่ดี (เปลี่ยนจากสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 เป็นสะพานมิตรภาพ) เข้าใจว่ารัฐบาลพยายามนำความเจริญเข้ามาให้กับประชาชนในพื้นที่ แต่บางทีการพัฒนาก็ส่งผลกระทบกับประชาชนเหมือนกัน
"ก่อนที่จะมีสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก มีประชาชนเกือบ 200 ครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ ด้วยการทำมาหากินกับคลองบูเก๊ะตา (ชาวบ้านเรียกแม่น้ำโก-ลกช่วงที่คดเคี้ยวผ่านบ้านบูเก๊ะตาว่าคลองบูเก๊ะตา) อย่างผมเมื่อก่อนเคยเป็นคนแบกข้าวสารออกจากบ้านบูเกะบองอมายังบ้านบูเก๊ะตา จนได้ภรรยาเป็นชาวมาเลเซีย และมีลูกกันถึง 7 คน ต่อมาก็เปลี่ยนมาขับเรือข้ามฟาก ได้เงินก็เอาไปเลี้ยงครอบครัว ไม่เคยต้องมีหนังสือเดินทางข้ามฝั่ง เพราะเราไปทุกวันจนเจ้าหน้าที่จำหน้าได้”
“ผมเคยทำเงินได้วันละเป็นพัน ช่วงเทศกาลถึง 2 พัน จนสามารถปลูกบ้านหน้าท่าเรือได้เลย ทั้งๆ ที่เราเก็บเงินค่าข้ามฟากแค่คนละ 10 บาท เมื่อก่อนคนมาเลย์ชอบเข้ามาขายของ เข้า-ออกวันหนึ่ง 3-4 เที่ยว”
ชีวิตของ ซูดิง ที่ข้ามไปข้ามมาระหว่างสองฝั่งมาตลอด ทำให้เขาไม่คิดว่าแม่น้ำสายนี้คั่นแบ่งระหว่างสองประเทศ
“ผมจะข้ามไปบูเกะบองอทุกเช้า ไปกินข้าวกินชาทุกวัน บางครั้งไปเช้ากว่าจะออกมาก็เที่ยง นั่งคุยไปเรื่อย เบื่อก็กลับมา เลยทำให้รู้สึกว่าสองประเทศนี้ไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลย กลับรู้สึกว่าคือประเทศเดียวกัน ข้ามไปบ่อยจนรู้สึกว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”
แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อมีการสร้างสะพาน...
“ทุกวันนี้คนไทยมักจะนำสินค้าข้ามไปขายในมาเลย์ ไปขายตามตลาด และจะข้ามไปโดยรถยนต์ ข้ามสะพานเข้าไป ช่วงที่มีสะพาน รายได้ของผมก็ลดไปพอสมควร”
แต่ที่หนักกว่าการมีสะพานก็คือความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ เพราะจุดผ่านแดนบ้านบูเก๊ะตาเดิมซึ่งอยู่กันแบบบ้านๆ นั้น วันนี้กลายเป็นด่านศุลกากรใหญ่โตอย่างเป็นทางการไปแล้ว
“ถ้าเจ้าหน้าที่มาเลย์ปิดจุดผ่านแดนเดิมเมื่อไหร่ จะกระทบกับประชาชนกว่า 200 ครัวเรือนที่ใช้ท่าเรือแห่งนี้เลี้ยงชีพ บอกตรงๆ ว่าหากจะปิดจุดผ่านแดนก็ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการขนสินค้าหนีภาษีได้ เพราะคนที่ทำอยู่ก็จะย้ายไปที่อื่น ปัญหาก็จะตามมาอีกมาก โดยเฉพาะการโจรกรรม และการข้ามแดนผิดกฎหมาย อาจมีคนร้ายหลบหนีข้ามแดนด้วย”
ส่วนที่นายกฯของทั้งสองประเทศมาจับมือทำโครงการร่วมกัน ซูดิง มองอย่างไม่ซับซ้อนว่า ถือเป็นเรื่องดีมากกว่าเสีย เพราะเป็นมิตรดีกว่าเป็นศัตรู แม้การทำแบบนี้จะดูเป็นเรื่องการเมือง แต่เมื่อคิดถึงความสงบสุขที่จะตามมาแล้ว คิดว่าชาวบ้านอย่างเราๆ ยอมรับได้
กับข้อเสนอเรื่อง "นครปัตตานี" อันหมายถึงการจัดรูปแบบการปกครองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ ซึ่งพูดกันมากในแวดวงวิชาการและภาคประชาสังคมอยู่ในขณะนี้ ซูดิง บอกตรงๆ ว่า ไม่เคยได้ยิน
"ถ้าถามผม ผมไม่เคยคิดอยากแบ่งแยกเลย เพราะเราอยู่ด้วยกันได้ดีแล้ว แบ่งไปก็จะเกิดปัญหามากขึ้นกว่านี้แน่นอน ปัจจุบันยังไม่ได้แบ่งแยกแต่คนในชาติก็ขาดความสามัคคีกันแล้ว ถ้าแบ่งได้หรือสามารถจัดตั้งนครปัตตานีขึ้นได้ ผมว่าจะยิ่งเพิ่มปัญหามากกว่าลดความขัดแย้ง เพราะเป็นการแก้เรื่องการเมือง ไม่ใช่มุ่งแก้ปัญหาด้วยความจริงใจหรือมองมาที่ประชาชน"
ดูเหมือนประเด็นเกี่ยวกับ "นครปัตตานี" ยังมีการรับรู้และความเข้าใจที่หลากหลายมากในหมู่ชาวรากหญ้า เพราะ ซูเด็ง มะลี วัย 49 ปี ชาวบ้านบูเก๊ะตา ก็ให้ความเห็นคล้ายๆ กัน
"เรื่องนครปัตตานีที่ทุกคนพยายามพูดกัน ยังไม่เคยมีหน่วยงานไหนลงมาถามชาวบ้านบ้างเลยว่าต้องการแบ่งแยกหรือไม่ ต้องการนครปัตตานีหรือเปล่า ผมคิดว่าการทำอะไรโดยไม่ถามประชาชนจะทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า"
ส่วนการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซียนั้น ซูเด็ง ซึ่งเป็นเจ้าของเรือข้ามฟาก กล่าวว่า ได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะไม่ค่อยมีคนใช้เส้นทางนี้แล้ว
"บางวันได้แค่ 10 บาท บางวันไม่ได้เลยก็มี เจ้าของเรือหลายคนเบื่อและเลิกทำไปเยอะแล้ว เมื่อก่อนที่ท่าเรือนี้มีเรือมากกว่า 60 ลำ แต่ทุกวันนี้เหลือแค่ 20 กว่าลำเอง"
ไม่รู้เพราะเจอผลกระทบเรื่องสะพานหรือเปล่า จึงทำให้ ซูเด็ง บอกว่ารู้สึกเฉยๆ กับภารกิจที่นายกรัฐมนตรีไทยกับมาเลเซียลงพื้นที่ครั้งประวัติศาสตร์
"ก็ดีใจแต่ก็ไม่ได้ตื้นเต้นอะไรมาก รู้สึกเฉยๆ มากกว่า เพราะโดยปกติก็ติดตามข่าวมาตลอดอยู่แล้ว โดยเฉพาะนายกฯอภิสิทธิ์ ก็เคยฟังความคิดของท่านว่าคิดอย่างไรกับคนชายแดน และพยายามจะแก้ปัญหาอย่างไร การเข้าพื้นที่เที่ยวนี้เป็นเรื่องการเมือง แต่ก็ถือว่าเป็นทิศทางที่ดีของประเทศ ยังดีกว่าบางคนที่ทำเรื่องการเมืองเหมือนกันแต่ทำให้ประเทศเสียหาย เช่น เรื่องนครปัตตานี"
หันไปฟังความเห็นของคนหนุ่มบ้าง นายรูมาดี ยา อายุ 22 ปี อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน (อรบ.) บ้านควน ต.โละจูด อ.แว้ง กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่นายกฯมาเลเซียนเดินทางเยือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะดูเป็นเรื่องการเมือง แต่ก็ยังรู้สึกดี และจะส่งผลดีต่อประเทศไทย เพราะถ้าเกิดไทยมีปัญหาแบบเดียวกับเขมรอีก คงจะยิ่งเกิดผลเสีย
"ผมไม่อยากให้ไทยกับมาเลเซียต้องทะเลาะกันไม่ว่าเรื่องอะไร เพราะความสัมพันธ์ของคนทั้งสองประเทศดีมาก และอยู่เหนือเรื่องของเขตแดน คนสองฝั่งจะรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนแยกไม่ออกว่าไหนคือประเทศไทย ไหนคือประเทศมาเลเซีย"
สอดคล้องกับความรู้สึกของเจ้าของร้านอาหารอิสลามแห่งหนึ่งใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ที่บอกว่า การที่นายกรัฐมนตรีของสองประเทศจับมือกัน และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะคนในพื้นที่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าประเทศมาเลเซียหรือคนมาเลเซียเป็นคนอื่นคนไกลอยู่แล้ว การที่ผู้นำของสองประเทศกระชับความสัมพันธ์กันยิ่งเป็นเรื่องดี ขณะที่การสร้างสะพานเชื่อมระหว่างสองประเทศที่ อ.แว้ง ก็เป็นการนำความเจริญเข้ามาสู่ท้องถิ่น
ขณะที่ นางต่วนซูไลนี ต่วนโลซี ชาวบ้านรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งข้ามแดนมายังประเทศไทยในช่วงที่นายกฯมาเลย์เยือนสามจังหวัดภาคใต้พอดี กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้ข้ามมาเขตแดนไทยเป็นครั้งแรก ที่ผ่านมาไม่กล้าข้ามมาเพราะกลัว มีข่าวระเบิดข่าวยิงกันตลอด ส่วนครั้งนี้ที่กล้าเพราะมั่นใจในระบบรักษาความปลอดภัย เนื่องจากผู้นำมาเลเซียก็อยู่ในพื้นที่
"รู้สึกดีใจที่ผู้นำของทั้งสองประเทศร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียว เพราะประชาชนเป็นหนึ่งเดียวกันมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งปรองดองกัน การจับมือของทั้งสองรัฐบาล แม้จะเป็นเรื่องการเมือง แต่น่าจะส่งผลดีมากกว่าไม่ดี"
ส่วนเรื่องนครปัตตานี ต่วนซูไลนี บอกว่า เคยได้ยินมาบ้างเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นไปได้อยากจะให้ประชาชนของทั้งสองประเทศอยู่อย่างนี้ต่อไป ไม่อยากให้แบ่งแยก เพราะปัจจุบันคนจากสองฝั่งก็ข้ามไปข้ามมา คนไทยข้ามไปทำงานและซื้อของในมาเลย์ ส่วนคนมาเลย์ก็ข้ามมาซื้อของหรือท่องเที่ยวฝั่งไทย หากตั้งนครปัตตานีก็เหมือนเป็นการแบ่งแยกกับมาเลย์ด้วย ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยอย่างเดียว"
ด้าน นางวรรณา ศิริกาญจน์ อายุ 52 ปี ผู้สูญเสียซึ่งพักอยู่ที่บ้านรอตันบาตู หรือหมู่บ้านแม่หม้าย อันเป็นจุดหมายหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียเดินทางไปเยือน กล่าวว่า รู้สึกดีใจและมีกำลังใจขึ้นที่คนระดับผู้นำประเทศให้ความสำคัญ ที่ผ่านมาแม้จะมีคนมาเยี่ยม แต่พอทุกคนหันหลังออกจากบ้านรอตันบาตูไป ก็จะรู้สึกเคว้ง ไม่มีที่พึ่ง หมดกำลังใจที่จะใช้ชีวิต ทุกวันนี้ได้แต่ขอกำลังใจเท่านั้น ไม่อยากได้อะไรอย่างอื่น
ส่วนสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น วรรณา บอกว่า ไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นเรื่องการแบ่งแยกดินแดน เพราะคนในพื้นที่รู้สึกว่าไทยกับมาเลเซียเป็นแผ่นดินเดียวกัน เพียงแต่ไม่รู้ว่ากลุ่มไหนทำเท่านั้นเอง
ทั้งหมดเป็นเสียงจากรากหญ้า ซึ่งแม้ไม่อาจใช้เป็นบทสรุปใดๆ ได้ แต่ก็สมควรเงี่ยหูฟังบ้าง...มิใช่หรือ?!?