ชีวิตพอเพียงของ “เป๊าะเด็ง” กับเรื่องเล่าวันเข้าเฝ้าฯในหลวง
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“วาเด็ง ปูเต๊ะ...พระสหายแห่งสายบุรี” คือพาดหัวหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับที่สร้างกระแสฮือฮาให้กับคนทั้งประเทศเมื่อปลายปี 2548 จากการเปิดประเด็นของผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวอิศรา แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า เรื่องราวของ “วาเด็ง” หรือ “เป๊าะเด็ง” เป็นที่กล่าวขานกันใน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี มาเนิ่นนานแล้ว
เพราะ “เป๊าะเด็ง” นั้น ไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ชาวบ้านทั่วๆ ไป แต่ข้าราชการใหญ่น้อยก็รู้จักกันเป็นอย่างดี เนื่องจากทุกครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ “นายวาเด็ง” จะได้รับเชิญให้เข้าเฝ้าฯรับเสด็จด้วยทุกครั้ง จนเป็นที่โจษจันกันปากต่อปากว่า “นายวาเด็ง” เป็นพระสหายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“วาเด็ง” หรือ “เป๊าะเด็ง” อายุร่วมร้อยปีแล้ว มีภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากคือ นางสลาเมาะ ปูเต๊ะ มีบุตรธิดาทั้งหมด 5 คน เป็นชาย 3 คน และหญิง 2 คน ปัจจุบันเป๊าะเด็งและภรรยาอาศัยอยู่กับบุตรสาวคนเล็กที่บ้านบาเลาะ ต.ปะเสยาวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
“บ้านบาเลาะ” เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ใน ต.ปะเสยาวอ ห่างจากตัวอำเภอสายบุรีประมาณ 6 กิโลเมตร คำว่า “บาเลาะ” เป็นชื่อต้นไม้ใหญ่ โคนต้นขนาดเท่ากับต้นมะพร้าว 3 ต้นรวมกัน ในอดีตเคยมีผู้พบเห็นต้นบาเลาะที่บริเวณนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านนับแต่นั้นมา สภาพพื้นที่โดยทั่วไปอุดมสมบูรณ์ เป็นสวนดุซง มีทั้งทุ่งนา สวนผลไม้ อาทิ ทุเรียน เงาะ มังคุด และจำปาดะ
“เป๊าะเด็ง” เป็นคนรุ่นเก่า ไม่ได้จบการศึกษาระดับใดเลยเพราะสมัยนั้นยังไม่มีสถาบันอะไรให้เรียน แม้แต่วิชาศาสนาก็ไม่มี การปฏิบัติศาสนกิจก็ทำตามที่ผู้ใหญ่ปลูกฝังถ่ายทอด
ชีวิตของ “เป๊าะเด็ง” จึงมีแต่งาน เขาเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 10 ขวบ
“เป๊าะทำงานทุกอย่าง ไม่ว่าจะทำนา เลี้ยงสัตว์ ประมง ทำสวน เป๊าะมีรายได้ตั้งแต่เด็กเพราะชอบทำงาน แม้ต่อมาจะอายุเยอะก็ยังทำ เพิ่งหยุดทำได้ประมาณปีเศษๆ เท่านั้น เนื่องจากไม่สบาย ร่างกายไม่แข็งแรง เป็นโรคไตรั่ว”
ทัศนคติที่มีต่องานของ “เป๊าะเด็ง” นับว่าน่าสนใจยิ่ง เพราะไม่ได้หวังจะทำแต่งานเพื่อสร้างรายได้ถ่ายเดียว แต่ยังคอยเตือนตัวเองให้รู้จักพอและแบ่งปัน
“เป๊าะจะเน้นทำงานให้เต็มที่ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ต้องมีความขยันและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค มีความอดทน ทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ตั้งอยู่บนความประมาท แต่ก็ต้องรู้จักพอเมื่ออิ่ม รู้จักแบ่งปันเมื่อมีรายได้ และพยายามไม่เป็นหนี้สิน ชีวิตก็จะอยู่อย่างมีความสุข”
และความสุขของ “เป๊าะเด็ง” ก็คือการได้ทำงาน เพราะเป็นคนชอบพึ่งตนเอง ไม่อยากเป็นภาระของใคร
“ทุกวันนี้ลูกหลานไม่ให้ทำงาน เพราะว่าทำงานมามากแล้ว แต่เป๊าะพูดว่าคนเคยทำงานและรู้ว่าตนเองยังเคลื่อนไหวได้ก็ยังอยากที่จะทำ เป๊าะนึกเสมอว่าพระเจ้าให้โอกาสเราได้มีชีวิตอยู่บนโลกอย่างไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เราก็น่าจะใช้ชีวิตด้วยการพึ่งตนเองและอยู่อย่างพอเพียง”
"เรามีอาชีพอะไรก็จงจริงจังกับอาชีพนั้น ไม่ต้องเลียนแบบเพื่อน เห็นเขาได้เห็นเขามีก็อยากมีเหมือนเพื่อน อย่างนั้นไม่ดี จงพอใจกับชีวิตของเรา พอใจในสิ่งที่เรามี และมีความสุขกับอะไรที่พระเจ้าให้กับเรา คิดว่าตนเองไม่จน ไม่รวย ไม่มีหนี้สินก็พอแล้ว”
“เป๊าะเด็ง” บอกว่าสิ่งที่โชคดีที่สุดในชีวิตของตนเองก็คือ การได้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์เสด็จฯไปทุกหนแห่งเพื่อคลายทุกข์ให้กับพสกนิกรของพระองค์ พร้อมด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“เมื่อกว่า 15 ปีที่แล้ว เวลา 5 โมงเย็น บรรยากาศใกล้จะค่ำ เป๊าะโชคดีที่ได้พบในหลวง” เป๊าะเด็งเล่าถึงเหตุการณ์ที่จดจำไม่มีวันลืม “คำพูดแรกที่ในหลวงพูดกับเปาะคือ ‘สุงานี ซุดีมานอ’ คือทรงถามว่าคลองนี้สิ้นสุดที่ไหน จากนั้นในหลวงตรัสถามเรื่องอาชีพว่าทำอะไร ความเป็นอยู่เป็นอย่างไรบ้าง แต่ที่ดีใจมากคือในหลวงตรัสถามเรื่องขุดคลองตรงนี้จะดีใจไหม เป๊าะบอกว่าดีใจมาก เพราะจะได้ปลูกพืชในที่ตรงนี้ และคลองยังให้ประโยชน์กับชาวบ้านได้ประกอบอาชีพทำสวนและทำการเกษตรอย่างมีคุณภาพด้วย”
"ในหลวงตรัสถามอีกว่า ทำการเกษตรใช้อะไรรดน้ำ เป๊าะตอบว่าใช้เครื่องจักรรถไถนา ทรงถามว่าจะประทานเครื่องใหม่ให้เอาไหม เป๊าะตอบว่าไม่อยากได้ เนื่องจากเรามีใช้อยู่แล้ว”
“เป๊าะเด็ง” อธิบายแง่คิดของตนเองว่า ไม่ต้องการสิ่งของอะไรหากสิ่งนั้นตัวเองก็มีอยู่แล้ว
“คิดในใจว่าบางทีก็กลัวคนจะครหาว่าเราอยากได้ทุกอย่างที่เขาจะให้ แต่เราบอกว่าไม่ต้องการ ในเมื่อตนเองก็มีอยู่แล้ว คิดว่าเกินความจำเป็น ปัจจุบันบ้านเราหากินง่ายถ้าไม่เลือกงาน แต่อาชีพที่มีอยู่เดิมในชุมชนกลับไม่มีใครอยากทำ เพราะกว่าจะได้ผลต้องใช้เวลาและลงทุนสูง เขาจึงไปหาแหล่งเงินหรืออาชีพจากข้างนอก ยอมทิ้งครอบครัวและบ้านเกิดเพื่อไปทำงานข้างนอก แม้จะหาเงินง่ายก็จริง แต่ต้องทิ้งบ้านและครอบครัวไป”
“สำหรับเป๊าะถึงลำบากแค่ไหนเป๊าะก็ไม่เคยคิดที่จะทิ้งบ้านทิ้งถิ่นฐานของตนเอง ไม่ว่าจะมีจะจนอย่างไรก็จะใช้ชีวิตบนแผ่นดินนี้ให้ได้”
“เป๊าะเด็ง” ยังเล่าความรู้สึกที่มีต่อในหลวง ในฐานะพ่อของแผ่นดินว่า พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่สุดประเสริฐ และหาไม่ได้อีกแล้ว เพราะพระองค์ช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนพ้นความเดือดร้อน พระองค์จะเสด็จฯไปทุกที่ที่ประชาชนมีความทุกข์ เพื่อให้ประชาชนได้รับความอบอุ่น
“ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงเอาใจใส่ดูแลประชาชนอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ถือเป็นความยินดีและปลาบปลื้มของเป๊าะและครอบครัวที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ไม่มองว่าเราเป็นคนจน พระองค์เป็นกษัตริย์ที่เห็นใจประชาชนไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม”
ทั้งหมดคือความประทับใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งความรู้สึกของ “เป๊าะเด็ง” คงไม่ต่างอะไรกับคนไทยทั้งประเทศ...
------------------------------------------
หมายเหตุ งานชิ้นนี้เป็นบทหนึ่งในหนังสือเรื่อง “วิถีพอเพียง” ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างรวมเล่มและจัดพิมพ์ จัดทำโดย รอซิดะห์ ปูซู ผู้สื่อข่าวอิศราประจำ จ.ปัตตานี และทีมงาน