ย้อนอดีตลังกาสุกะ (2) เครือข่ายผู้คน-วัฒนธรรมร่วมกับภาคกลาง
กัณหา แสงรายา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ตลอดยุคสมัยของลังกาสุกะ แม้ว่าจะถูกอำนาจจากภายนอกอาณาจักรมาแทรกแซง เช่น จากพวกศรีวิชัย โจฬะ มัชปาหิต และสยาม (นครศรีธรรมราช) แต่ก็มีช่วงใดช่วงหนึ่งที่อาณาจักรลังกาสุกะสามารถขยายอิทธิพลทางใต้สุดไปจนถึงตูมาซิก หรือ ตือมาเซะ (สิงคโปร์) ทางตะวันตกไปถึงเคดะห์และเปรัก ส่วนทางเหนือเชื่อว่าเคยครอบคลุมทั้งพัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช
หากแต่เป็นในลักษณะการแผ่อิทธิพลทางด้านภาษา วัฒนธรรมและการค้าเป็นหลัก ส่วนทางด้านการเมืองการปกครองและด้านเศรษฐกิจและศาสนา แต่ละเมืองมีการจัดการอย่างเป็นเอกเทศไม่ขึ้นแก่กัน การดำรงความสัมพันธ์เป็นไปในลักษณะความเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันมากกว่า หรือถ้าขึ้นต่อกันก็เป็นเพียงการกำหนดความสัมพันธ์แบบพี่ใหญ่กับน้องเล็ก ซึ่งในกรณีนี้ “น้องเล็ก” จะต้องส่งเครื่องบรรณาการ เช่น ดอกไม้เงินทองให้ “พี่ใหญ่” เป็นสัญลักษณ์ แต่ในทางปฏิบัติก็อาจส่งเครื่องบรรณาการไปได้หลาย “ขุมอำนาจ” ไม่จำกัดเฉพาะต่อพี่ใหญ่แต่เพียงผู้เดียว
บ้านเมืองและอาณาเขต
ถ้าดูจากแผนที่ของ “วู่เป่ยฉี” (Wu Pei Chih) เขียนเมื่อ ค.ศ.1085 (พ.ศ.1628) ได้ระบุตำแหน่งที่ตั้งของ “หลงไซกา” (Long-sai-ka) หรือ “ลังกาสุกะ” อยู่ระหว่างแม่น้ำสาย (สายบุรี) กับเมือง “ซิงกูนา” (Sing-ku-na) หรือ "สงขลา" ในปัจจุบัน
หลักฐานอื่นๆ จากจีนชี้ว่า อาณาจักรลังกาสุกะทางเหนือครอบคลุมเหนือคอคอดกระขึ้นไปจนถึงเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยอ้างจดหมายเหตุราชทูตของราชวงศ์สุย (Sui) ซึ่งบันทึกการเดินทางเรือจากเมืองหนานไห่เพื่อไปยังเมืองชีทูของผู้บันทึกระหว่าง ค.ศ.607-610 (พ.ศ.1150–53) โดยผ่านชายฝั่งหลินยี่ (จามปา) เลียบชายฝั่งแหลมอินโดจีน ข้ามอ่าวไทย ผ่านเกาะแก่งต่างๆ และเกาะสมุย เลียบชายฝั่งไป 2-3 วัน ผู้คนบนเรือก็เห็นภูเขา “หลังยาชู” หรือ “หลังยาสิว” (Lang-Ya-Hsu หรือ Lang-Ya-Hsiu) อยู่ทางทิศตะวันตก
ม.จ.จิรายุ รัชนี ทรงมีความเห็นว่าเทือกเขาดังกล่าวคือเทือกเขาสามร้อยยอด[1] ทำให้มีผู้ตีความว่า อาณาเขตของลังกาสุกะอยู่เหนือคอคอดกระขึ้นไป ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของเคดี้ (Cady, 1964: 56-57) ที่ระบุว่า ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 (ค.ศต.ที่ 5-6) เป็นต้นมา อาณาจักรลังกาสุกะมีอำนาจปกครองเหนือคอคอดกระตลอดไปจนถึงชายฝั่งเบงกอล (อินเดีย)[2]
ใน “ตาริค ปาตานี” ท่านชี้คฟากิห์ อาลี และจดหมายเหตุจีนกล่าวว่า อาณาจักรลังกาสุกะครอบคลุมถึงดินแดนต่างๆ ทางฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายู ตั้งแต่สงขลาถึงกลันตัน และไปถึงเคดะห์ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตก ช้างถูกใช้เป็นพาหนะหลักในการเดินทางระหว่างฝั่งทะเลทั้งสอง และคงเป็นบางยุคสมัยที่ขอบเขตของลังกาสุกะไปถึงนครศรีธรรมราชหรือลิกอร์ ดังในคำบรรยายว่า ลังกาสุกะมีเมืองท่าที่สำคัญ 2 แห่งคือบริเวณเมืองเคดะห์สำหรับเป็นที่ค้าขายกับเมืองต่างๆ ทางทิศตะวันตก เช่น อินเดีย อาหรับ เปอร์เซีย ฯลฯ อีกแห่งหนึ่งบริเวณปาตานี ซึ่งเป็นเมืองท่าสำหรับค้าขายกับจีน เขมร ชวา และอื่นๆ
เอกสารตอนหนึ่งบรรยายว่า “อาณาจักรลังกาสุกะนี้ครอบคลุมถึงลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) และสงขลา เมืองท่าที่สำคัญอยู่ที่ปาตานี”[3] ในลังกาสุกะสมัยนั้นยังไม่มีเมืองชื่อปาตานี (อาณาจักรปัตตานีโบราณ) เป็นไปได้ว่าท่านชี้คจะใช้ชื่อปัจจุบันในสมัยของท่านในการระบุสถานที่ว่าเป็นเมืองที่ท่านอาศัยอยู่ในช่วงที่ชี้คเขียนต้นฉบับ
อีกประเด็นหนึ่งที่มีการสันนิษฐานว่า ภูเขาหลังยาซู หรือหลังยาสิว ทางตะวันตกคือภูเขาสามร้อยยอดนั้น อาจตีความได้อีกทางหนึ่งกล่าวคือ เป็นไปได้ว่าเวลานั้นเรือของราชทูตแห่งราชวงศ์สุยได้ไปถึงชายฝั่งลังกาสุกะแล้ว และภูเขาหลังยาชูหรือหลังยาสิวทางทิศตะวันตกนั้นคือเทือกเขาสันกาลาคีรีบริเวณบ้านทรายขาวก็เป็นได้
ข้อสังเกตอยู่ที่คำว่า “หลังยาสิ่ว” ซึ่งอาจเป็นคำเดียวกับคำว่า “ลังซูวิรฺ” (langsuir) หรือ “เฮลังซูยาร์” (helangsuyar) ในความเชื่อของคนปัตตานีคือ “อูลาซูวี/อูลาซูเว” (ulasuwi/ulasuwe) ซึ่งชาวบ้านเข้าใจว่าคือ "ผีหลังกลวง" ซึ่งเป็นคนแต่มีหลังกลวงชอบมาหลอกพาคนไปดูดเลือด
วิธีสู้กับผีหลังกลวงต้องหลอกผีว่าจะเอา “อีแกปูยู” หรือปลาหมอยัดใส่หลังกลวงๆ ของมัน ผีกลัวก็จะหลบหนีไป ทั้งๆ ที่ “หลังยาสิ่ว” หรือ “ลังซูวีรฺ” อาจจะเป็น “คน” จริงๆ หรือมนุษย์เผ่าพันธุ์โบราณที่อยู่ทางต้นน้ำซึ่งเป็นพลเมืองของเมืองลังยาสิ่วหรือลังกาสุกะที่ยังคงตกค้างหลงเหลืออยู่ในราว 100–200 ปีก่อนก็เป็นได้ คงเป็นเพราะไม่ต้องการปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลง (เช่นเดียวกับพวกเผ่าคนป่า) แต่ด้วยความกลัว ชาวบ้านจึงหาว่าเป็นผี ส่วนที่ว่าผี “หลังกลวง” (หรือที่มลายูว่า “ลังซูยา” หรือ “เฮลังซูยา”) ก็คงต้องถือว่าคนปัจจุบันยังพยายามคงไว้หรือพยายามรักษาคำว่า “หลัง” หรือ “ลัง” ไว้ อาจจะด้วยผีบอกว่าตนเป็น “คน” (มนุษย์ไม่ใช่ผี) และตนเป็นพลเมืองของ “หลังยาสิว” (ลังกาสุกะ) ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้นในแทบทุกสังคมที่มีการเหยียดหยันหรือเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
เช่น กรณีคนที่ถูกเรียกว่า “ส่วย” จนเกิดคำว่า “ไพร่ส่วย” ซึ่งที่จริงพวกเขาเรียกตัวเองว่า “กุย” ซึ่งแปลว่า “คน” หรือพวกเงาะซึ่งคนเมืองเรียกว่า "ซาไก" (ขี้ข้า, ทาส) แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่า “มันนิ” (แปลว่า คน) งานศึกษาค้นคว้าด้านมานุษยวิทยาและภาษาศาสตร์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ หลายเล่มก็หยิบยกปรากฏการณ์เหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในลักษณะนี้มาอธิบาย
ชาวบ้านใน ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และในแถบเทือกเขาสันกาลาคีรีในห้วง 15-40 ปีก่อน หลายคนยังคงจดจำเรื่องคนหรือ “ผีหลังกลวง” (ลังซูวิรฺ) อย่างแจ่มชัด ผู้ใหญ่สมัยก่อนยังได้ผูกเรื่องคนหรือผีหลังกลวงเป็นนิทานเล่าให้เด็กๆ ฟังให้เป็นที่เสียวสยองปนสนุกสนานเป็นที่ยิ่ง ก่อนที่ประเพณีการเล่านิทานให้เด็กๆ ฟังจะถูกกลบด้วยภาพและเสียงจากละครโทรทัศน์ในแทบทุกครัวเรือนอย่างในปัจจุบัน ชาวบ้านเล่าว่า ผี(คน)หลังกลวงมีมากในเทือกเขาสันกาลาคีรีที่พวกเขาอาศัยยังชีพหาของป่าและล่าสัตว์ครั้งละหลายๆ วันในสมัยกระโน้น
เทือกเขาสันกาลาคีรีนี้เริ่มต้นจาก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ทอดตัวไปในท้องที่ อ.ยะหา บันนังสตา ธารโต เบตง จ.ยะลา ไปจนถึงนราธิวาสกางกั้นพรมแดนไทย-มาเลเซีย ที่บริเวณเชิงเขาแห่งเทือกสันกาลาคีรีเป็นที่ตั้งของ ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี บริเวณที่ราบลุ่มเชิงเขาสันกาลาคีรีซึ่งปัจจุบันเป็นทุ่งนากว้างขวางไปจรดทะเลอ่าวไทย สันนิษฐานว่าเคยเป็นทะเลมาก่อน และเรือของราชทูตราชวงศ์สุยคงเข้ามาใกล้ๆ นี้
เมื่อดูแผนที่ของ "วูเป้ยฉี" อาณาจักรนี้ถูกเรียกว่า “หลงไซกา” (Long-Sai-Ka) ใกล้เคียงกับที่คนพื้นเมืองมลายูเรียก ต.ทรายขาวว่า “แซกา” หรือ “ไซกา” (Saika) ซึ่งน่าจะตรงหรือใกล้เคียงกับที่ราชทูตแห่งราชวงศ์สุยเรียกลังกาสุกะว่า “หลงไซกา” (Long-Sai-Ka)
ชื่อตำบล “ทรายขาว” (Sai-Khau) หรือในชื่อภาษามลายูถิ่นว่า “แซกา” (Se-Ka) จึงมีที่มาจากชื่อดั้งเดิมของอาณาจักร “ไซกา” (Sai-Ka) หรือ “หลงไซกา” (Long-Sai-Ka) ในสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-ค.ศ.618/พ.ศ.1124-พ.ศ.1161) เป็นอย่างช้า
ลังกาสุกะแผ่อิทธิพลเหนือคอคอดกระ?
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของพลเมืองแห่งอาณาจักรในเครือข่ายทวารวดี (ค.ศต.ที่ 6–11) บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งรวมหัวเมืองใกล้ทะเลอื่นๆ โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณที่ตั้งเมืองนครปฐมหรือเมืองนครไชยศรีบริเวณพระประโทนเจดีย์ในปัจจุบัน เข้าใจว่าประชาชนพื้นฐานของทวาราวดีมีทั้งคนมอญ มลายู และเขมร[5] ภาษาหลักที่ใช้คือภาษาตระกูลมอญ-เขมร และมีร่องรอยของภาษามลายู (เช่น กันมัน/กึมมัง) และภาษาเขมรปรากฏอยู่จำนวนมาก
กลุ่มคนเชื้อสายเขมรเป็นกลุ่มคนที่ครองละโว้ (ลวรัฐ-ลพบุรี) ในฐานะศูนย์กลางของเขมรที่แยกต่างหากจากเขมรแห่งกัมพุชเทศะ (กัมพูชา/kampujadesa) ขณะที่พวกชวา-มลายูโดยเฉพาะในช่วงราชวงศ์ไศเลนทร์มีบทบาทในละโว้และพระนคร ปรากฏว่าละโว้สามารถแผ่อำนาจไปทางเหนือและเป็นผู้สร้างหริภุญชัย (ลำพูน) เมื่อ พ.ศ.1207 (ค.ศ.664)
จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนว่า “...อาณาจักรหริภุญชัย (ลำพูน) (ซึ่ง) มีพลเมืองเป็นละว้า มอญและไทย และมี ชนชั้นปกครองเป็นชวา-มลายู มอญ และไทยสับเปลี่ยนกัน...”[5] แม้ว่าจิตรไม่สามารถพิสูจน์ว่า นอกจากชนชั้นปกครองแล้ว พลเมืองหริภุญชัยจำนวนหนึ่งก็เป็นพวกชวา-มลายูเช่นกัน แต่จิตรก็พูดถึงพวกจามซึ่งตั้งอาณาจักรอยู่ทางตะวันออกของอาณาจักรเขมร คืออาณาจักรจามปา รวมทั้งเป็นพลเมืองส่วนหนึ่งของเขมรเอง และเป็นผู้สร้างและสถาปนาเมืองจำปาศักดิ์ขึ้นเป็นเมืองหลวงของลาวลานช้าง อีกทั้งพวกจามซึ่งถูกเหยียดเป็นข่าพวกต่างๆ เช่น ข่าจราย ข่าระแด ฯลฯ ล้วนแต่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มลายู-โพลีนีเซียนทั้งสิ้น ซึ่งจิตรเองได้อธิบายว่า จามเป็นชนชาติตระกูลชวา-มลายูที่ตกค้างอยู่บนพื้นทวีป[6]
ดังนั้นพลเมืองที่พูดภาษามลายูที่อาศัยอยู่ในท่ามกลางศูนย์รวมอิทธิพลของทวาราวดีในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างสมัยนั้นจึงน่าจะเชื่อมโยงกับทั้งคนมลายู-ชวา-จาม-ชนชั้นปกครองชวา-มลายูในหริภุญชัย-ละโว้และคนมลายูบริเวณเขาสามร้อยยอด (ประจวบคีรีขันธ์) อ.บางสะพาน หรือคอคอดกระลงไปจนถึงไชยา-อ่าวบ้านดอน (สุราษฎร์ธานี) รวมทั้งแหล่งโบราณคดีโมคคัลลานะ นครศรีธรรมราช (ระหว่าง ค.ศต.ที่ 7-20) ซึ่งในบางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์ตกอยู่ใต้อิทธิพลของลังกาสุกะ โดยอาจร่วมกับศรีวิชัย
ดังมีหลักฐานว่า สมัยที่อาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช)[7] ส่งไพร่พลไปช่วยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 กษัตริย์เขมรเพื่อสร้างเมืองนครธมนั้น ในปี ค.ศ.1270 (พ.ศ.1813) อาณาจักรตามพรลิงค์ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรลังกาสุกะ [8]
ต่อมาปรากฏในตำนานและคัมภีร์ต่างๆ ของลังการะบุว่า กษัตริย์คือพระเจ้าจันทรภาณุ ซึ่งในคัมภีร์เข้าใจว่ามาจากเกาะชวา แต่ตอนหลังพบในจารึกที่ไชยาก็ทราบว่าเป็น “เจ้าแห่งอาณาจักรตามพรลิงค์” (The Lord of Tambralinga) พระนามว่าจันทรภาณุศรีธรรมราชา (Candrabhanu Sri Dharmmaraja) และทหารของพระองค์ที่ยกทัพไปรุกรานเกาะลังกาเมื่อ ค.ศ.1247 (พ.ศ.1790) นั้นเป็นพวกชวากะ (Javaka) หรือพวกชวา-มลายู [8] ก่อนที่ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชจะปกครองตามพรลิงค์โดยเปลี่ยนเป็นนครศรีธรรมราช และเข้ารวมอยู่ในอาณาจักรสุโขทัยเมื่อ ค.ศ.1294 (พ.ศ.1837) ในรัชสมัยของพระร่วงเจ้าสุโขทัย (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พ.ศ.1822-พ.ศ.1842)
ความสัมพันธ์ระหว่างทวารวดีกับลังกาสุกะในเชิงผู้คนและวัฒนธรรมปรากฏหลักฐานจากศิลปวัตถุในแบบศิลปะทวารวดีจำนวนมากที่พบในแหล่งโบราณคดีเขาคูหา-ท่าสาป จ.ยะลา และแหล่งโบราณคดียะรัง จ.ปัตตานี สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่คนกลางในการส่งมอบสิ่งเหล่านี้ก็คือคนมลายู หรือคนที่สื่อสารด้วยภาษามลายูซึ่งอาศัยอยู่ทั่วไปทั่วทั้งคาบสมุทรภาคใต้ในเวลานั้น รวมทั้งในภาคกลางของประเทศ กระนั้นขอบเขตอิทธิพลของลังกาสุกะจึงไม่นับว่าเป็นเขตแดนหรืออาณาเขตแต่อย่างใด ตามที่ได้อนุมานและขยายความดังข้างต้น
---------------------------------
[1] อ้างใน อารีฟิน บินจิ, อ.ลออแมน และซูฮัยมีย์ อิสมาแอล. ปาตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู. มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้. หาดใหญ่ 2550, หน้า 32
[2] Wheatly, 1980. หน้า 253-254 อ้างแล้วใน [1] หน้า 32
[3] Sya’rani bin Haji Abdullah dan Ahmad bin Abdulrauf (pnyl). Tarikh Patani (อักษรยาวี). เอกสารถ่ายสำเนา, มปป.
[4] http://en.wikipedia.org/wiki/Dvaravati สืบค้นเมื่อ 23 พ.ย.2552
[5] จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติฉบับสมบูรณ์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์ศยาม. พ.ศ.2544 หน้า 43
[6] อ้างแล้ว. หน้า 203-204
[7] นครศรีธรรมราชในอดีตเป็นที่รู้จักในชื่อ ตะมะลิง (Tamaling) หรืออาณาจักรตามพรลิงค์ (Tambralinga) ภายหลังตกอยู่ใต้อิทธิพลของศรีวิชัยชื่อ “ตามพรลิงค์” ก็เลือนหายไป เมื่ออิทธิพลของศรีวิชัยหายไป ก็กลับมาเป็นที่รู้จักในชื่อ “ตามพรลิงค์-เมืองสิบสองนักษัตร” ในระหว่าง พ.ศ.1700-พ.ศ.1900 อีกครั้ง สำหรับชื่อ จังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบันได้มาจากชื่อ พระเจ้าจันทรภาณุ “ศรีธรรมราชา” ภายหลังพบพระนามพระเจ้าศรีธรรมโศกราชในศิลาจารึกหลักที่ 35 พ.ศ.1710 ที่ดงนางเมือง อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ และหลักวัดหัวเวียง พ.ศ.1773 อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งน่าจะแสดงความเกี่ยวพันทั้งในแง่ราชอาณาจักรและวงศ์กษัตริย์ จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะมีความเชื่อมโยงกันในระหว่างเครือญาติระหว่างแว่นแคว้นทางเหนือและใต้คอคอดกระ กลุ่มทางเหนือคอคอดกระแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น ไม่นานก็สามารถตั้งรัฐอิสระของตนขึ้นมาได้ เมื่อตั้งมั่นได้ที่สุโขทัยราว พ.ศ.1792
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) อาจเป็นพระญาติกับสุโขทัยนั้น ทำให้ขยายความสัมพันธ์ระหว่างกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มีการถ่ายเทในแง่ภาษาและศาสนา (ลัทธิลังกาวงศ์) โดยเฉพาะในสมัยของพระเจ้าสิริธรรมนคร ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีส่วนอย่างสำคัญในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของพลเมือง เช่น เกิดการแพร่ขยายของภาษาไทย (สุโขทัย) ในหมู่ชนชั้นปกครองและพลเมืองของนครศรีธรรมราชอย่างรวดเร็วและกว้างขวางจนกระทั่งภาษาอื่น ๆ ที่เคยใช้ เช่น ภาษามอญ-เขมร-มลายู โดยมีภาษาไทยสุโขทัยในชั้นหลังเข้ามาผสมกลมกลืนกลายเป็น “ภาษาไทยถิ่นใต้” ในที่สุด
[8] ผู้รู้ท่านหนึ่งให้ข้อมูลในกระดานความเห็นที่ 14 ในhttp://larndham.net/index.php?s=ecda5ea3a9f1ae29c4f3746c987454f7&showtopic=27080&st=10 สืบค้นเมื่อ 25 พ.ย.2552
[9] ในคัมภีร์จุลวงศ์ (Culavamsa) กล่าวว่า “ลุปีที่ 11 ในรัชสมัยของพระจักรพรรดิราชพระองค์นี้ (พระกรมพาหุที่ 2 ค.ศ.1236-1270) กษัตริย์ชวากะพระองค์หนึ่งพระนามว่าจันทรภาณุก็ทรงยกทัพขึ้นฝั่งพร้อมกองทัพชวากะของพระองค์ซึ่งโหดร้าย โดยแสร้งหลอกว่าพวกตนเป็นพุทธมามกะ” ใน W.M.Sirisena. (1978). Sri Langka and South-East Asia: Political, Religious and Cultural Relations. Sri Langka University Press. p.36.