อสังหาฯบูมที่ชายแดนใต้ (1) "ปัตตานีเพลส" กับแลนด์มาร์คใหม่ "วาว บูลัน มอลล์"
การเปิดตัวโครงการ "ปัตตานี จายา" หรือ "เมืองใหม่ปัตตานี" ที่จะมีทั้งหมู่บ้านทันสมัย มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ ตลาด ศูนย์การค้า หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาล บนเนื้อที่ 1,500 ไร่ ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 ท้องที่ ต.บานา ออกจากตัวเมืองปัตตานีไปเพียงไม่กี่นาที และมีมูลค่าโครงการถึง 6,000 ล้านบาทนั้น ทำให้เกิดคำถามว่า "เขาไม่กลัวระเบิดกันหรือ?"
คำถามที่ว่า ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่ความจริงที่ยืนยันได้ด้วยตัวเลขแบบเน้นๆ ก็คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ชายแดนใต้เป็นธุรกิจที่ "มาแรงมาก" ในห้วง 3-4 ปีมานี้ โดยเฉพาะ จ.ปัตตานี ซึ่งเปรียบเสมือน "ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ" ของสามจังหวัดชายแดน ขณะที่ยะลาเป็นศูนย์กลางของส่วนราชการ
อย่างไรก็ดี "ปัตตานี จายา" ไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ หรือ "เมกะโปรเจค" โครงการแรกของปัตตานี เพราะหากยังจำกันได้ เมื่อปี 2552 ก็เคยมีการเปิดตัวโครงการ "ปัตตานีเพลส" ด้วยงบลงทุนกว่า 500 ล้านบาทจนเป็นที่ฮือฮามาแล้ว
การเดินทาง 3 ปีกับวันนี้ของ "ปัตตานีเพลส"
โครงการชื่อเก๋ๆ ฟังดูคล้ายคอนโดมีเนียมหรูกลางกรุงเทพฯ อย่าง "ปัตตานีเพลส" คือการก่อสร้างศูนย์การค้าและศูนย์กลางการศึกษาขนาดใหญ่ใจกลางเมืองปัตตานี ตั้งอยู่บนที่ดินทำเลทองขนาด 10 ไร่ริมถนนเจริญประดิษฐ์ หรือที่รู้จักกันดีในนาม "ถนนสาย มอ." ห่างจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เพียงไม่กี่ร้อยเมตร
ที่บอกว่าเป็น "ศูนย์กลางการศึกษา" นั้น หมายถึง "ศูนย์ติวและฝึกอบรมเพื่อพัฒนาการศึกษา" รองรับการแข่งขันของเด็กนักเรียนในพื้นที่ที่จะก้าวสู่ระดับอุดมศึกษาหรือเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ โดยไม่ต้องเหนื่อยไป "ติวเข้ม" ถึงที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อีกต่อไป
นอกจากศูนย์ติวและฝึกอบรมแล้ว ยังมีการก่อสร้าง "คอนโดมีเนียม" ไว้บริการสำหรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพ่อแม่ผู้ปกครองที่มารับส่งบุตรหลาน หรือพ่อแม่ที่ซื้อห้องไว้ให้บุตรหลานพักในช่วงที่มาศึกษาต่อหรือติวพิเศษ ขณะเดียวกันก็มี "โฮมออฟฟิศ" สำหรับผู้ที่ต้องการบุกเบิกธุรกิจใหม่ด้วย
ทั้ง 2-3 ส่วนของโครงการที่พูดถึงอยู่นี้ ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยหรือเกือบ 100% โดยบางส่วนเปิดให้บริการแล้ว ยังเหลือเพียงส่วนที่เป็น "ศูนย์การค้า" ซึ่งไม่ค่อยคืบหน้าเพราะติดปัญหาเรื่องแหล่งทุน
ทว่าล่าสุด ปัญหาดูจะถูกขจัดไปเรียบร้อย เพราะมีการเปิดตัว "วาว บูลัน มอลล์" (Wau Bulan Mall) ศูนย์การค้าแห่งใหม่ที่ทางโครงการตั้งใจจะให้เป็น "แลนด์มาร์ค" (จุดสังเกต) ใหม่ของปัตตานีเลยทีเดียว
"หากได้รับการสนุบสนุนด้านการเงินจากสถาบันการเงินอย่างเต็มที่ตั้งแต่เริ่มโครงการมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว คิดว่าขณะนี้ วาว บูลัน มอลล์ น่าจะเปิดให้บริการได้แล้ว ที่ผ่านมาจึงมีเพียงโฮมออฟฟิศที่ก่อสร้างและปิดการขายไป ส่วนคอนโดมิเนียมคืบหน้าแล้วกว่า 90% ขณะที่ศูนย์การค้า วาว บูลัน มอลล์ จริงๆ เราเดินหน้าก่อสร้างไปแล้วกว่า 70%" อิบรอเฮ็ง เจะอาลี ผู้บริหารปัตตานีเพลส เล่าให้ฟัง
แหล่งทุนที่ให้การสนับสนุนเม็ดเงินสำหรับก่อสร้าง "วาว บูลัน มอลล์" ก็คือ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ "ไอแบงก์" ซึ่งได้อนุมัติสินเชื่อก้อนสำคัญให้กับโครงการปัตตานีเพลสเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้ "วาว บูลัน มอลล" เปิดจองพื้นที่ได้เกือบ 100% คาดว่าปลายปีนี้จะเปิดให้บริการได้บางส่วน และสามารถเปิดได้เต็มรูปแบบในเดือน เม.ย.ปีหน้า (2556)
"ด้วยเจตนาแรกที่เริ่มสร้างโครงการนี้ที่ปัตตานีเพื่อสร้างศูนย์ติวใหญ่ที่สุดในภาคใต้ เพื่อไม่ให้เด็กนักเรียนใน 5 จังหวัดต้องไปเรียนพิเศษช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงปิดเทอมถึงที่หาดใหญ่หรือกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาสังคม การศึกษา โดยเราวางโครงการที่สมบูรณ์แบบทั้งด้านที่พักอาศัย ศูนย์การค้า รองรับนโยบายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย ผ่านมา 3 ปีถึงวันนี้ ถือว่าโครงการเราใกล้เสร็จสมบูรณ์ และจะเปิดบริการเต็ม 100% ในปีหน้าแน่นอน" อิบรอเฮ็ง กล่าว
อย่างไรก็ดี จากความล่าช้าในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ไม่มั่นใจในสถานการณ์ที่ยังคงมีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ทำให้สินค้าบางแบรนด์ที่จองพื้นที่ของ วาว บูลัน มอลล์ ไว้แล้ว ตัดสินใจยกเลิก แต่ อิบรอเฮ็ง ไม่ได้มองเป็นเรื่องใหญ่
"ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นกับทุกโครงการในพื้นที่นี้ แต่เมื่อมีกำลังทรัพย์จากธนาคารอิสลามฯมาสนับสนุน ก็ทำให้โครงการเดินหน้าได้อย่างไม่ติดขัด จึงเหลือเพียงการก่อสร้างที่ต้องเร่งให้เสร็จในเร็ววันเท่านั้น ตอนนี้ก็เหลืองานใหญ่ในการวางระบบ ส่วนโครงสร้างพื้นฐานเราขึ้นหมดแล้ว คาดว่าปลายปีนี้จะเปิดบริการได้ในชั้น 1 และชั้น 3 และเปิดเต็มรูปแบบในเดือน เม.ย.ปีหน้า”
ในฐานะที่บริหารโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ การทำโครงการก่อสร้างในพื้นที่ที่ถูกมองว่าอันตรายอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายสงสัยและอยากทราบเหตุผล ประเด็นนี้ อิบรอเฮ็ง บอกว่า จริงๆ แล้วกำลังซื้อของคนสามจังหวัดมีมาก แม้จะมีสถานการณ์ความไม่สงบ แต่เศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงพื้นที่อยู่ไม่ค่อยโดนผลกระทบ กำลังซื้อจึงยังมีพอสมควร
"คนสามจังหวัดชอบซื้ออาคารพาณิชย์มากกว่าบ้านเดี่ยว เพราะได้ใช้ประโยชน์ทำธุรกิจและพักอาศัยได้ด้วย ส่วนคอนโดมิเนียมซื้อไว้เพื่ออยู่อาศัยในไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่ทันสมัย หรือเปิดให้เช่า ซึ่งโครงการของเราก็ออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างเต็มที่"
และโครงการปัตตานีเพลสก็ดันให้ราคาที่ดิน ค่าเช่าบ้าน และค่าเช่าอาคารพาณิชย์ย่านถนนเจริญประดิษฐ์ ขยับสูงขึ้นราว 3 เท่า ซึ่งเป็นการขึ้นที่น่าตกใจ
"ดีใจมากที่การมาของปัตตานีเพลสทำให้อสังหาริมทรัพย์ในปัตตานีบูมมากขึ้น ราคาบ้าน ราคาที่ดินในโซนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าจากปกติ และมีคนเข้ามาลงทุนในปัตตานีมากขึ้นด้วย เพราะดูสถานการณ์แล้วปลอดภัยมากกว่า จ.ยะลา กับนราธิวาส ซึ่งปัตตานีเพลสตั้งใจสร้างที่นี่ให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของสามจังหวัดชายแดน ใครไปใครมาก็พบเจอกันที่นี่” อิบรอเฮ็ง กล่าว
นอกจาก "ปัตตานีเพลส" แล้ว กลุ่มทุนเดียวกันภายใต้ชื่อ บริษัท ดีอาร์เอส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (DRS DEVELOPMENT CO., LTD) ยังเปิดตัวโครงการล่าสุดในปัตตานี คือ โครงการ Pattani Park ตั้งอยู่เยื้องห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ปัตตานี ซึ่งเป็นโครงการทาวน์โฮม จำนวน 33 ยูนิต และคอนโดมิเนียมบนเนื้อที่กว่า 6.5 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ส่วนกลาง 2 ไร่สำหรับทำคลับเฮาส์ มีฟิตเนส สปา สระว่ายน้ำ และสวนสาธารณะ มูลค่าโครงการ 250 ล้านบา...
ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ยืนยันว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ปัตตานี แรงจนฉุดไม่อยู่จริงๆ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารศูนย์การค้า วาว บูลัน มอลล์ ที่ขึ้นโครงเรียบร้อย
2 อิบรอเฮ็ง เจะอาลี (ภาพทั้งหมดโดย เลขา เกลี้ยงเกลา)