มท.1 รับลูก ปชช. สั่ง ผวจ.-อปท.เข้ม กม.เหล้า ผลสำรวจคนรู้แต่จะดื่ม-ขาย
เครือข่ายงดเหล้า ยื่น มท.1 สั่ง ผวจ.-อปท.เข้ม กม.ห้ามเหล้าบนรถ-สถานราชการ รัฐวิสาหกิจ-รร.-รง.-สวนสาธารณะ-วัด ชงต้นแบบงานบุญปลอดเหล้ารับลอยกระทง ผลสำรวจคนรู้กฎหมายแต่จะขาย-จะดื่ม
วันที่ 14 พ.ย.55 ที่กระทรวงมหาดไทย ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) พร้อมด้วยนักศึกษาจากเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่เข้าพบนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 1.กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด เร่งรัดบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงพื้นที่ห้ามขายห้ามดื่ม อาทิ สถานที่ราชการ สถานศึกษา สวนสาธารณะ วัด ซึ่งมักจะมีการจัดงานกาชาด ลอยกระทง สงกรานต์หรือปีใหม่ และควรนำเรื่องประสิทธิภาพในการควบคุมและลดปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวประเมินผลงานของจังหวัดด้วย
2.ขอให้ผู้ว่าฯทุกจังหวัดดำเนินการให้งานบุญประเพณีอาทิ งานศพ งานบวช เป็นงานปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามที่มีบางจังหวัดทำสำเร็จมาแล้ว เช่น ศรีสะเกษ มหาสารคาม และน่าน เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้เกือบครึ่ง และถ้ารวบรวมตัวเลขที่ประหยัดได้ทุกจังหวัดก็จะเป็นผลงานของมหาดไทย ในการลดรายจ่ายให้ประชาชนตามนโยบายรัฐบาล 3.มอบหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในสังกัด เร่งประชาสัมพันธ์และรณรงค์กฎหมายใหม่ 3 ฉบับ ได้แก่ ห้ามดื่มสุราบนรถ ห้ามขายห้ามดื่มในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน และห้ามขายห้ามดื่มในรัฐวิสาหกิจ และ4.เข้มงวดสถานบริการ โดยเฉพาะร้านเหล้า ผับ บาร์ที่ตั้งอยู่รอบสถานศึกษาไม่ให้มีการทำผิดกฎหมาย ห้ามเด็กเข้าใช้บริการ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนและลดพื้นที่เสี่ยง
ภก.สงกรานต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้หลายพื้นที่เตรียมจัดงานประเพณีลอยกระทง ซึ่งตรงกับวันที่ 28 พ.ย.ส่วนใหญ่สถานที่ที่ใช้จัดงานมักจะเป็นวัด สวนสาธารณะของทางราชการ สถานศึกษา ซึ่งบางพื้นที่อาจไม่มีการเข้มงวดหรือมีนโยบายควบคุมการห้ามขายห้ามดื่มสุรา ซึ่งตามกฎหมายแล้วถือว่าผิด มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงอยากวิงวอนให้ผู้มาร่วมงาน เจ้าภาพ และเจ้าหน้าที่เข้มงวดบังคับใช้กฎหมายด้วย เพื่อทำให้งานลอยกระทงเป็นประเพณีที่ดีงาน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหา อาชญากรรม การลวนลาม ล่วงละเมิดทางเพศ ทะเลาะวิวาท
ด้านนายธีรภัทร คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20–30 ต.ค.ที่ผ่านมาเครือข่ายฯได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนาลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง“ประเพณีลอยกระทงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” 1,893 ราย อายุ 15 ปีขึ้นไปในพื้นที่ กทม. และต่างจังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่เคยจัดงานลอยกระทง อาทิสวนสันติ ไชยปราการ สะพานพระราม 8 พบว่า เทศกาลลอยกระทงเป็นวันที่คนนิยมดื่มสุรา รองจากเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่ นอกจากนี้เกือบทั้งหมดหรือ 92% รับรู้รับทราบถึงกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มสุราในสถานที่ราชการ สถานศึกษา วัด หรือสวนสาธารณะ แต่ที่น่าเป็นห่วงเพราะปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างกว่า 80%ยังพบเห็นการขายการดื่ม ในประเพณีลอยกระทงปีที่ผ่านมา นั่นแสดงว่ารู้กฎหมายแต่ยังฝ่าฝืน
“สำหรับสิ่งที่ประชาชนไม่อยากให้เกิดขึ้นในวันลอยกระทง คือ 29 %การจุดประทัด พลุไฟ 26 % การทะเลาะวิวาท 23 % การดื่มแอลกอฮอล์ และ19 % การล่วงละเมิดทางเพศ อย่างไรก็ตามสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดปัจจัยเหล่านี้มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น เนื่องจาก 84 %เชื่อว่างานลอยกระทงที่ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยลดปัญหาต่างๆได้ จึงอยากให้พ่อค้าแม่ค้า เคารพกฎหมาย และเจ้าหน้าที่เข้มงวด ทั้งนี้ในวันงานเครือข่ายเยาวชนฯจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าระวังในหลายพื้นที่ หากพบเห็นการทำผิดจะแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที” นายธีรภัทร กล่าว
นายจารุพงศ์ กล่าวว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอของเครือข่าย และจะสั่งการเร่งด่วนไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัดให้เข้มงวดข้อกฎหมายพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการจัดงานประเพณีลอยกระทง รวมถึงประเพณีงานบุญต่างๆ เพื่อให้ทุกจังหวัดทำงานอย่างเอาจริงเอาจังและเข้มแข็งควบคุมปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงสถานบันเทิงผับ บาร์ ก็จำเป็นต้องเข้มงวดด้วย