วสท.ประกาศรวมพลังวิศกร ค้านอภิโปรเจคน้ำรบ. 3.5 แสนล้านบ.
'ปราโมทย์'ชี้วิกฤตน้ำไทยแล้ง เน้นแก้เฉพาะหน้า ระบบรวมศูนย์สั่งการไร้ประสิทธิภาพ แนะภาคปชช.ใช้พ.ร.บ.ข่าวสารจี้รัฐเปิดทีโออาร์น้ำ 3.5 แสนล้านบ. วสท.ประกาศรวมพลค้านอภิโปรเจค
วันที่ 14 พ.ย. 55 ที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) มีงานเสวนา ‘วิกฤตการบริหารจัดการระบบทรัพยากรน้ำประเทศไทย’ โดยนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า วิกฤตการณ์น้ำที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.การขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปีและกำลังประสบอยู่ในขณะนี้โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน และจะประสบปัญหาต่อเนื่องไปถึงปี 2556 โดยคาดว่าจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา มีสาเหตุมาจากฝนตกน้อยทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ทั้งนี้ควรมีการสร้างแหล่งน้ำชุมชนไว้ประจำหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรอย่างเพียงพอ
2.น้ำท่วม วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นแทบทุกปีตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการสร้างสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำมากขึ้นโดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรม โดยไม่มีนโยบายและกระบวนการจัดการกับปัญหาดังกล่าวที่ชัดเจน 3.น้ำเน่าเสีย ซึ่งเป็นปัญหาที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียโดยธรรมชาติลดน้อยลง แต่รัฐบาลกลับนิ่งเฉย
อย่างไรก็ดีวิกฤตการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นขณะนี้ คือ ‘วิกฤตการบริหารจัดการน้ำ’ ซึ่งเกิดจากการที่ผู้บริหารประเทศไม่มีความเข้าใจ ยอมรับและ รู้ทันธรรมชาติ ซึ่งหมายถึง ลม ฟ้า อากาศ ทรัพยากรธรรมชาติและภูมิศาสตร์ของประเทศ ประเทศไทยจึงไม่มีนโยบายบริหารจัดการน้ำระดับชาติที่ชัดเจน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกรัฐบาล
โดยการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้ระบบรวมศูนย์สั่งการ หรือ ซิงเกิลคอมมานด์ (Single Command) ซึ่งเหมาะสมที่จะใช้ในช่วงเกิดวิกฤตการณ์เท่านั้นแต่กลับนำมาใช้สั่งการในภาวะปกติทำให้หน่วยงานที่ดูแลและเชี่ยวชาญเรื่องน้ำอยู่แล้วมีปัญหาในการทำงาน ซึ่งแม้จะคิดหาวิธีแก้ไขได้แต่ขับเคลื่อนการทำงานไม่ได้เพราะต้องรอการตัดสินใจจากคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) อย่างเดียว
นอกจากนี้สิ่งที่รัฐบาลเรียกว่ายุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการน้ำ ก็เป็นเพียง“แผนคิดคำนึง”ที่ร่างบนโต๊ะทำงาน โดยไม่มีการศึกษาวิเคราะห์อย่างรอบด้านและยาวนานพอ “ เช่น ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯชุดที่ผ่านมาบอกว่าจะขยายพื้นที่ชลประทานให้เป็น 60 ล้านไร่ จากเดิมมี 30 กว่าล้านไร่ คำถามคือจะไปเอาน้ำมาจากไหน ทั้งหมดนี้เกิดจากความไม่เข้าใจธรรมชาติ”
ดร.สุบิน ปิ่นขยัน วิศวกรแหล่งน้ำ บริษัท เซาท์อีสเอเชีย เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า โครงการออกแบบสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไข ปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาล ซึ่งกำหนดให้บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกยื่นกรอบแนวคิดการบริหารจัดการน้ำฯ หรือ Conceptual Plan เพื่อให้กบอ.พิจารณาภายใน วันที่ 23 พ.ย.55 นั้น เป็นกรอบแนวคิดที่ใช้เวลาเพียง 2 เดือนในการจัดทำ โดยกบอ.จะใช้เวลาอีก 1 เดือนกว่าในการพิจารณาและประกาศรายชื่อกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาที่ผ่านการพิจารณากรอบแนวคิดในวันที่ 31 ม.ค. 56 ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการภายใต้ระยะเวลาที่รวดเร็วเกินไป
จากประสบการณ์ทำงานของตนในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของเอกชนมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ยังใช้เวลาดำเนินการวางยุทธศาสตร์ ตั้งแต่การศึกษาความเป็นไปได้ การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ การสำรวจและออกแบบ ฯลฯ ตลอดจนหาผู้รับเหมาอย่างน้อย 2 ปีครึ่ง แต่สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลกลับใช้เวลารวมแล้วเพียง 6 เดือน ซึ่งถือว่าเร็วเกินไปทั้งยังไม่มีแบบแผนที่ชัดเจนด้วย
นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) การศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) รวมทั้งการศึกษาผลกระทบด้านสังคม (เอสไอเอ) ซึ่งควรจะใช้เวลาอย่างน้อย 1- 2ปี ก็เป็นขั้นตอนที่รัฐบาลมองข้ามไป จะเห็นได้ว่ารัฐบาลทำข้ามขั้นตอนหลักการศึกษาและพัฒนาโครงการแหล่งน้ำไปมาก จึงเป็นไปได้ยากที่โครงการจะสำเร็จลุล่วงด้วยดี โดยเสนอแนะให้มีการศึกษาโครงการต่างๆเป็นรายโครงการ โดยดูว่าแต่ละโครงการใดอยู่ในขั้นตอนไหน ควรเริ่มจากจุดใด ใช้เวลาและงบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งงบประมาณ 3.5 แสนล้านอาจไม่จำเป็นต้องใช้ในครั้งเดียว แต่ควรทยอยใช้
ด้านรศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวถึงแผ่นแม่บทการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลทั้ง 8 แผนงานว่า เป็นแผนงานที่ดำเนินการไม่ถูกต้องและสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ตัวอย่างเช่น แผนงานฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ ซึ่งดำเนินการโดยปลูกป่าเพิ่มนั้น ในความเป็นจริงกลับไม่มีพื้นที่ป่าให้ปลูกเพิ่มแล้ว เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ป่าในประเทศลดลงมาก สิ่งที่ควรทำอันดับแรกจึงไม่ใช่การปลูกป่าแต่คือการหยุดการบุกรุกพื้นที่ป่าและการออกเอกสารสิทธิ์ให้ได้ หรือ แผนงานสร้างความเข้าใจ การยอมรับ และการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอุทกภัยขนาดใหญ่ของทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ดำเนินการตามแนวทางนี้
นอกจากนี้การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนแต่ละพื้นที่ยังเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องมีความรู้ความเข้าใจ โดยที่ผ่านมาผลจากการเร่งระบายน้ำโดยขาดการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบระยะยาวในแต่ละพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำโดยรวมในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของภาคอีสานเหลือเพียงร้อยละ 27 ขณะที่ภาคเหนือเหลือร้อยละ 39 ซึ่งจะส่งผลต่อวิกฤตการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงต่อไป
ขณะที่รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. ให้ความเห็นว่า การดำเนินงานโครงการบริหารจัดการน้ำฯของควรใช้มาตรการที่มิใช่เพียงการสร้างสิ่งก่อสร้างเป็นหลักอย่างที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ โดยคาดว่าโครงการฯจะไม่เกิดขึ้นถึงขั้นที่มีการก่อสร้าง เนื่องจากการดำเนินการของรัฐบาลมีการข้ามขั้นตอนในโครงการแหล่งน้ำไปมาก นอกจากนี้เมื่อมีการประมูลเสนอราคาในกรอบวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งผู้รับเหมาจะต้องมี แบงก์การันตี หรือการให้ธนาคารเป็นประกันให้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากโครงการไม่มีความชัดเจน โดยมีความเป็นห่วงว่ารัฐบาลจะต้องเผชิญกับปัญหาการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพราะโครงการไม่ประสบผลด้วย
นายปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 กบอ.ต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆต่อสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการที่มีมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท “ขณะนี้เราไม่รู้ระบบการทำงานของกบอ.เลย ซึ่งเรามีสิทธิ์จะรู้ว่ากระบวนการขับเคลื่อนและพิจารณาเป็นอย่างไร การที่อยู่ๆจะมาตัดสินเลือกผู้รับเหมาเองมันถูกต้องหรือเปล่า” นายปราโมทย์กล่าว
ด้านนายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกวสท. กล่าวว่า ปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านจะส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อประเทศ ซึ่งวศท.จะไม่นิ่งนอนใจ โดยนับจากนี้จะดำเนินการเชิงรุกมากขึ้น ด้วยการผนึกกำลังร่วมกับภาคีเครือข่ายวิศวกรเพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยจะหาทางพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนแก่สาธารณะ โดยจะดำเนินการคัดค้านทางกฎหมายต่อไปด้วย ทั้งนี้จะยึดหลักการวิชาชีพวิศวกรและผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก โดยไม่ต้องการให้เป็นเรื่องทางการเมือง
ที่มาภาพ ::: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1347595906&grpid=01&catid=01