เอกชนชี้ประชานิยมทำข้าวไทยแพ้เพื่อนบ้าน ชูอีสานเป็นศูนย์กลางเกษตรอาเซียน
เอกชนชี้ไทยประกาศเป็นครัวโลกแต่ “เกษตรกรยากจน-สหกรณ์ล้มเหลว-ธกส.ไม่ตอบโจทย์รากหญ้า” แนะตั้งธนาคารคนจน ติงนโยบายข้าวไทยไม่ชัด ประชานิยมทำแพ้เพื่อนบ้าน ชูอีสานศูนย์กลางเกษตรอาเซียน
วันที่ 14 พ.ย. 55 กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จัดสัมมนา ‘สหกรณ์การเกษตรเป็นกุญแจหล่อเลี้ยงชาวโลก’เนื่องในวันอาหารโลก ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยนายอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านประสานกิจการสัมพันธ์ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัดกล่าวว่า ไทยประกาศตัวเป็นครัวของโลก เพราะมีพื้นที่เกษตรกรรมมากและเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งของภูมิภาค โดยเฉพาะข้าว แต่ 70 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรยังยากจน ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้า แม้จะจัดตั้งสหกรณ์ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนต่อยอดการพัฒนา แต่กลับพบว่าหลายแห่งไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขาดความรู้ด้านพาณิชย์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการสหกรณ์ให้ยั่งยืน
ทั้งนี้ปัจจัยที่เป็นปัญหาต่อการพัฒนาสหกรณ์ไทย แบ่ง 2 ส่วน คือ ตลาดภายใน นับเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะด้านจัดการเงินทุนที่เกษตรกรยังเข้าไม่ถึง แม้จะเรียกร้องให้จัดตั้งธนาคารเพื่อคนจนตั้งแต่ปี 40 เพื่อให้สินเชื่อช่วยเสริมสภาพคล่องนอกเหนือจากสหกรณ์ แต่กลับไม่ได้รับการใส่ใจจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นองค์กรทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังไม่ตอบโจทย์คนจนทั้งหมด
นอกจากนี้กลุ่มสหกรณ์ยังขาดความรู้ด้านช่องทางการจำหน่ายสินค้า และไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารด้านการตลาดที่เพียงพอ ส่งผลให้หลายคนรอความช่วยเหลือจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล แต่หากเอาใจมากเกินไป อาจทำให้สมาชิกสหกรณ์บริหารจัดการเองไม่ได้
รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสฯ กล่าวต่อว่า ด้านตลาดภายนอก ไทยต้องส่งเสริมให้สหกรณ์นำเทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิตมากขึ้น เพื่อรองรับประชากรโลกที่เพิ่มสูงในอนาคต มากกว่าการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงพัฒนางานวิจัยควบคู่ ที่สำคัญต้องสร้างอำนาจการต่อรองสินค้าให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่แสดงเจตนารมณ์ไม่ซื้อข้าวจากไทย เพราะหวั่นว่าเมื่อข้าวไทยที่มีราคาถูกเข้าประเทศจะทำให้ข้าวในญี่ปุ่นต้องลดราคาตาม และส่งผลต่อรายได้เกษตรกรที่ลดน้อยลง ชาวนาญี่ปุ่นจึงเป็นอาชีพที่รวยอันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่ชาวนาไทยที่ผลิตข้าวขายทั่วโลกกลับจน เพราะขาดการเจรจาต่อรองที่ดี
“สมมติสินค้ากก.ละ 8 บ. ต่างชาติสั่งซื้อ 10 กก. ได้เงิน 80 บ. แต่หากเรารู้จักเจรจาต่อรองสินค้าขายในราคากก.ละ 15 บ. ขายให้เพียง 7 กก. จะได้เงินถึง 105 บ. ส่วนอีก 3 กก. เราก็ป้อนวัตถุดิบเข้าบริษัททุนข้ามชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศแทน”
นอกจากนี้ยังแสดงความกังวลต่อนโยบายการพัฒนาข้าวไทยไม่ชัดเจน อาจทำให้คุณภาพข้าวแพ้เวียดนามและพม่าในอนาคตได้ จึงต้องเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ทนสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการขับเคลื่อนผ่านนโยบายประชานิยมต่าง ๆ แต่ให้ใช้กฎหมายบังคับแทน พร้อมพัฒนาภาคอีสานเป็นพื้นที่กสิกรรมหลักของภูมิภาค เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ได้เปรียบเทียบการปรับขึ้นฐานราคาผลผลิตสินค้าสำคัญ รอบ 20 ปี เพื่อชี้ให้เห็นถึงสาเหตุความยากจนของเกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเงินเดือนข้าราชการเริ่มต้น 1,250บ. ปรับเป็น 15,000 บ. คิดเป็น 12 เท่า ทองคำเริ่มต้น 400 บ. ปรับเป็น 25,000 บ. คิดเป็น 65 เท่า น้ำมันดีเซลเริ่มต้น 1.25 บ. ปรับเป็น 30 บ. คิดเป็น 25 เท่า ขณะที่ข้าวเปลือกเริ่มต้น 2 บ. ปรับเป็น 10 บ. คิดเป็น 5 เท่า จึงไม่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตเกษตรกรดีได้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า‘วันอาหารโลก ประจำปี 2555’ จะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ สหกรณ์การเกษตรเป็นกุญแจหล่อเลี้ยงชาวโลกโดยมีกิจกรรม คือ นิทรรศการ ‘สหกรณ์แหล่งผลิตปัจจัย 4’ และการออกร้านจำหน่ายสินค้าสหกรณ์กว่า 100 ร้านผู้สนใจเข้าชมงานได้ ระหว่าง 14-16 พ.ย. 55 ณ ลานคนเมืองศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร.