ย้อนอดีตลังกาสุกะ (1) อาณาจักรฮินดู พุทธ และอิสลาม
กัณหา แสงรายา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกวันนี้คือผลสัมฤทธิ์ของการเดินทางทะลุกาลเวลาแห่งอดีตมาเผยโฉมต่อเบื้องปัจจุบัน ในท่ามกลางนั้นมีบทเรียนมากมายให้ได้เรียนรู้และศึกษา ผู้รู้ยึดหลักว่า “ศึกษาอดีตเพื่อรู้ปัจจุบัน เข้าใจปัจจุบันเพื่อหยั่งการณ์อนาคต” ลังกาสุกะที่แท้ก็คือทัศนภาพโดยรวมของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่เติบโตอย่างยิ่งใหญ่ด้วยพลังแห่งการรวมกันเป็นหนึ่ง ท่ามกลางความหลากหลายที่ไม่แตกแยก
ลังกาสุกะ...วิวัฒน์ตัวเองในฐานะอาณาจักรฮินดู-พุทธ-อิสลามผสมผสานกัน ณ โกตามะห์ลิฆัย ราชธานีแห่งสถูปเจดีย์ ตราบวาระสุดท้ายของมันจากเหตุผลการตื้นเขินของแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงอาณาจักร หาใช่จากความแตกแยกระหว่างเผ่าพันธุ์พลเมืองของตนแต่อย่างใดไม่
การนำเสนอบทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านเกิดมโนทัศน์รวบยอดอย่างรวดเร็วที่สุดภายใน 3 ตอนจบเกี่ยวกับ “อาณาจักรลังกาสุกะ” อายุเกือบ 2 พันปี ในฐานะรัฐโบราณและเก่าแก่ที่สุดในคาบสมุทรภาคใต้ของไทย...
กลุ่มชนซึ่งตั้งถิ่นฐานหรือหลักแหล่งอาศัยในพื้นที่ป่าเขาและต้นน้ำลำธารในเทือกเขาสันกาลาคีรี ไม่ว่าจากเบตง ธารโต บันนังสตา และยะหา ล้วนมีจุดประสงค์ที่แน่นอนในการเคลื่อนย้ายลงมาสู่บริเวณเขาคูหาและที่ราบแห่งทุ่งกาโล ซึ่งปัจจุบันคือสนามบินยะลา พวกเขาอาศัยแม่น้ำปัตตานีเป็นเส้นทางสัญจรอย่างสนุกสนาน และมีบางส่วนได้ลงไปจนถึงชุมชนขนาดใหญ่ในเขต อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
ในทางกลับกันกลุ่มชนมลายูโปลีนีเซียนบริเวณชายฝั่งทะเลและปากแม่น้ำปัตตานีใกล้บริเวณเมืองเก่ายะรังจากสภาพภูมิศาสตร์สมัยนั้น ก็ได้เคลื่อนย้ายขึ้นไปทางต้นแม่น้ำจนลุถึงท่าและทุ่งกาโล เป็นผลให้บริเวณนี้เกิดเป็นชุมชนตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าประเภทของป่าจากพื้นที่ป่าเขาต้นน้ำ กับประดิษฐกรรมของคนพื้นราบริมฝั่งทะเล และจากแดนไกลที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมา
“ชุมชนบ้านทุ่งกาโล-ท่าสาบ-เขาคูหา” กลายเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในช่วงแรกเริ่มประวัติศาสตร์ จัดอยู่ในเครือข่ายเดียวกันกับแหล่งโบราณคดียะรัง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งเวลานั้นคือเมืองหลวงของอาณาจักรโบราณที่รู้จักกันในชื่อว่า “ลังกาสุกะ” (Langkasuka)
ถ้าเชื่อตามที่จดหมายเหตุราชวงศ์เหลียง (ประมาณ ค.ศ.500) บันทึกไว้ ลังกาสุกะตั้งขึ้นในราว ค.ศต.ที่ 1 แต่เรียกว่า หลังยาสิ่ว "Lang-ya-xiu" (จีน: 狼牙脩) ชื่อเรียกอาณาจักรนี้อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัยและตามแต่ละชนชาติที่เรียก[1] อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานที่ค้นพบมีพระพิมพ์ดินดิบและเครื่องถ้วยเซลาดอน ฯลฯ จะแสดงถึงความร่วมสมัยกับอาณาจักรมอญทวารวดี (Dvaravati) เท่านั้น ซึ่งอาณาจักรมอญทวาราวดีมีศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐม (นครไชยศรี) บ้านคูบัว สุพรรณบุรี เพชรบุรี ฯลฯ มีอิทธิพลในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำท่าจีนแถบภาคกลางของประเทศในระหว่าง ค.ศต.ที่ 6-11
ลังกาสุกะในเอกสารจีนและชนชาติอื่นๆ
ลังกาสุกะถือเป็นรัฐโบราณแรกสุดบนคาบสมุทรมลายู มีความสัมพันธ์กับจีนมาตั้งแต่ ค.ศต.ที่ 6 เคยส่งราชทูตไปเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิราชจีนหลายครั้ง เช่น ในปี ค.ศ.515 ค.ศ.523 ค.ศ.531 ค.ศ.523 ค.ศ.568 ในการส่งราชทูตไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิจีนในปี ค.ศ.515 ในจดหมายเหตุบันทึกว่า ทางราชสำนักจีนได้วาดรูปและบันทึกชื่อของราชทูตลังกาสุกะว่าชื่อ “อาเชอโต” (Acheto) หรือ “อชิตะ” ส่วนพระราชาผู้ครองอาณาจักรทรงพระนามว่า “ภคทัต” (Bhagadat) ในเอกสารจีนเรียกว่า โปเจียตาตัว (Pochiehtato)
ในสมัยต่อๆ มามีบันทึกทั้งจากอินเดียใต้ ลังกา ชวา อาหรับ กรีก ฯลฯ ยืนยันการมีอยู่จริงของอาณาจักรลังกาสุกะ แม้แต่งานประวัติศาสตร์นิพนธ์ในท้องถิ่นเอง คือ “ตาริค ปาตานี” (Tarikh Patani/ประวัติปัตตานี ซึ่งเรียบเรียงขึ้นโดย “ชี้คฟากิหฺ อาลี” (Syiekh Fakih Ali มีชีวิตใน ค.ศต.ที่ 18) ก็กล่าวว่า ผู้เรียบเรียงฯ ได้ยินได้ฟังคนเฒ่าคนแก่ในสมัยนั้นได้รับการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับลังกาสุกะว่า เป็นเมืองที่เกิดขึ้นก่อนคริสตกาล ส่วนชาวจีนที่ทำมาค้าขายกับปัตตานีในช่วงนั้นก็บอกว่า ลังกาสุกะเริ่มมีพระราชาหลังจากพระเยซูประสูติ 200 ปี [2]
บันทึกและคำบอกเล่าเช่นนี้พอจะสันนิษฐานได้ว่า ลังกาสุกะน่าจะเป็นบ้านเมืองหรืออาณาจักรที่มีอยู่จริงและรุ่งเรืองมาก่อน ซึ่งผู้คนร่วมสมัยรู้จักดี รวมทั้งคนรุ่นหลังที่ได้ยินได้ฟังมาหรือได้รับการบอกเล่าต่อๆ กัน และน่าจะตั้งขึ้นก่อนหรือหลังคริสตกาลไม่นาน ดังคำบอกเล่าของหลักฐานเอกสารที่ปรากฏ
ความรุ่งเรืองผ่านแว่นโบราณคดี
อาณาจักรลังกาสุกะปรากฏโดดเด่นขึ้นมาโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ทำให้เราเรียกแหล่งที่ค้นพบโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมายในบริเวณนี้ว่า “แหล่งโบราณคดียะรัง”
แหล่งโบราณคดียะรังมีความสำคัญขึ้นเพราะการขุดค้นหลายครั้งทั้งโดยนักโบราณคดีภายในประเทศและต่างประเทศ พบว่าที่นี่อาจจะเป็นที่ตั้งของอาณาจักรลังกาสุกะที่ปรากฏในเอกสารและจดหมายเหตุทั้งของจีน อินเดีย ลังกา ชวา มลายู ชาติยุโรป ฯลฯ ซึ่งในหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมามีความรุ่งเรืองอย่างมากในระหว่าง พ.ศ.700-1400 เชื่อว่าความเจริญของราชอาณาจักรลังกาสุกะอยู่ ณ บริเวณที่ปัจจุบันคือ “บ้านวัด” ชื่อที่ชาวมุสลิมเรียกหลังจากพบซากโบราณสถาน เทวรูป และพระพุทธรูปจำนวนมากในบริเวณนั้น จึงเข้าใจว่าเป็นวัดเก่า ที่เรียก “บ้านวัด” คงจะเพราะชาวมุสลิมทั่วไปเรียกวัดว่า “วะ” โดยทับศัพท์ภาษาไทยแต่ออกเสียงเป็นมลายูถิ่น ภูมิสถานนามว่า “บ้านวัด” จึงถูกตั้งอย่างเป็นทางการ
จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีที่ขุดพบอยู่ในพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตรมีอยู่ 3 แห่ง คือที่บ้านวัด บ้านจาเละ และบ้านประแว เรียงจากอายุเก่าที่สุดไปหาน้อย พบเมืองที่มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูขนาด 500x550 เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีกำแพงล้อมโดยรอบสามชั้น และมีซากโบราณสถาน สถูปเจดีย์ เทวรูป พระพุทธรูป เศษภาชนะมากมายอยู่ในเนินดินบริเวณกว้าง โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่พบมีทั้งสถูปจำลองดินดิบและดินเผาจำนวนมาก มีลักษณะนูนต่ำรูปท้าวกุเวรพุทธเจ้าประทับนั่ง ขนาบด้วยสถูปจำลองทั้งสองข้าง และสถูปจำลองที่ฐานด้านล่างจารึกคาถาเยธัมมา
นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะดินเผา เครื่องถ้วยเปอร์เซีย เครื่องถ้วยเซลาดอนซึ่งร่วมสมัยกับศิลปะทวาราวดี เฉพาะซากสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่พบถึง 33 แห่ง รวมทั้งสถูปจำลองทรงฉัตรวลีเป็นอันมาก [3] ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของชื่อ “โกตามะห์ลิฆัย” (Kota Mahligai) ซึ่งแปลว่า “นครแห่งสถูป” อันเป็นชื่อที่รู้จักกันในชั้นหลัง คือหลังจากที่อาณาจักรนี้ถูกทำลายลงในราว พ.ศ.1573-74 โดยกองทัพของพระเจ้าราเชนทร์โจฬะแห่งอินเดียใต้
นครแห่งสถูป นครแห่งความสุข
ชื่อ “ลังกาสุกะ” ปรากฏในเอกสารของอินเดียว่า “อีลังกา โสกา” (Ilangka Soka) ในภาษามลายูคำว่า “อลังกะห์ซูกะ” (Alangkah suka) ประกอบด้วยคำว่า “อลังกะห์” กับคำว่า “ซูกะ” (suka, sukha/สุขะ) แปลรวมกันว่า “ช่างมีความสุขความรื่นรมย์เสียนี่กระไร” หรือแปลเอาความได้ว่า ลังกาสุกะนี้เป็นบ้านเมืองที่มีแต่ความสุขความรื่นรมย์
ลังกาสุกะปรากฏในอีกชื่อหนึ่งว่า “ละครสุกะ” คำว่าละครคือนคร ดังนั้น ละครสุกะ ก็คือนครแห่งความสุข ทำนองเดียวกับชื่อ “สุโขทัย” ซึ่งมีความหมายว่า รุ่งอรุณแห่งความสุข
ความหมายอันเกี่ยวข้องกับความสุขความสนุกสนานรื่นเริงนี้ สอดคล้องกับความเป็นไปภายในราชอาณาจักรเอง ดังปรากฏหลักฐานจากจารึกที่กำแพงด้านทิศใต้ของวัดราชวาระแห่งเมืองตันจอร์ เมื่อ ค.ศ.1030 ว่า “อิลังกาโสกา (ลังกาสุกะ) ไม่เคยแพ้ในสนามรบ หรือเก่งกล้าในการรบ” [4] แสดงว่าลังกาสุกะเป็นเมืองการค้าชายฝั่งซึ่งมั่งคั่ง มีความมั่นคงและความสงบสุข ทั้งอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหารและผลหมากรากไม้นานาพรรณ พระราชาทรงนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือฺฮินดู-พุทธ ขณะเดียวกันศาสนาพุทธมหายานก็รุ่งเรือง จนแม้แต่พระจีนหลายรูปก็มาพำนักอยู่ที่นี่ในระหว่างจาริกแสวงบุญไปอินเดียหรือกลับจากอินเดีย และมีพระสงฆ์อย่างน้อยสองรูปมรณภาพที่นี่ [5]
"ลังกาสุกะ" คงเป็นชื่ออาณาจักรซึ่งโด่งดังไปทั่วโดยเฉพาะในความมั่งคั่งและความมั่นคง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข สันนิษฐานว่าราชธานีของอาณาจักรหลังถูกพวกโจฬะทมิฬนาดูโจมตีมีชื่อว่า “โกตามะห์ลิฆัย” หรือ “นครแห่งสถูป” เนื่องจากเป็นราชธานีที่เต็มไปสถูปเจดีย์จำนวนมาก ชื่อนี้ยังคงใช้ควบคู่กับชื่อลังกาสุกะ หรือแว่นแคว้นแห่งความสุขความรื่นรมย์
ในสมัยหลังที่ชื่อลังกาสุกะกำลังจะเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน “โกตามะห์ลิฆัย” กลับมีชื่อเสียงขึ้นมาแทนที่ ในฐานะเมืองที่ราชวงศ์มุสลิมปกครอง จนกระทั่งสิ้นสุดราชวงศ์มุสลิมในสมัยพระราชาสุไลมานชาห์ [6] เปิดโอกาสให้ “ปาตานี” (Patani) อาณาจักรมุสลิมเต็มรูปแบบเผยตัวตนอย่างยิ่งยงในต้น ค.ศต.ที่ 15
คนลังกาสุกะ
ชาวลังกาสุกะจริงๆ แล้วอาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วบริเวณซึ่งสามารถติดต่อกับศูนย์กลางที่ยะรังและชุมชนอื่นๆ ในเครือข่ายชุมชนทางการค้าและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเผ่าพันธุ์เดียวกัน หากแต่ตกลงที่จะใช้ภาษาเดียวกันคือ “ภาษามลายู”
กลุ่มชนดั้งเดิมบางเผ่าพันธุ์ของลังกาสุกะตั้งถิ่นฐานอยู่ทางเหนือแม่น้ำปัตตานีในบริเวณหุบเขาและถ้ำ ไม่ว่าที่เบตง ธารโต บันนังสตา พวกเขาใช้แม่น้ำปัตตานีสัญจรสู่บริเวณทุ่งกาโล ท่าสาป ภูเขาวัดถ้ำ ภูเขากำปั่น บ้านเนียง ในเขตอำเภอเมืองยะลาในปัจจุบัน
บริเวณทุ่งกาโล-เขาคูหา-ท่าสาป ถือเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญและร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดียะรัง จ.ปัตตานี อีกทั้งยังเป็นถิ่นฐานที่สำคัญของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคหินใหม่ลงมาจนถึงยุคสำริด
ในห้วงประวัติศาสตร์ลำน้ำปัตตานีมีการแจวเรือถ่อแพขึ้นล่องเพื่อขนถ่ายและแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนแถบต้นแม่น้ำเกือบทั้งปี ยกเว้นก็แต่ในหน้าน้ำหลาก จากแหล่งดังกล่าวนี้ยังมีเส้นทางข้ามคาบสมุทรไปยังกตาหะ (เคดะห์) ด้านมหาสมุทรอินเดียได้ด้วย
หลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่บางจุดของจังหวัดปัตตานีและนราธิวาสจากศิลปวัตถุที่พบที่บ้านลานควาย อ.ปะนาเระ บริเวณวัดสักขี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี บริเวณบ้านพร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แสดงว่าอาณาเขตของอาณาจักรโบราณลังกาสุกะครอบคลุมไปทั้งจังหวัดปัตตานีและนราธิวาสด้วย ส่วนที่บันนังสตาและเบตง จ.ยะลา พบหลักฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่มาก่อนแล้วทั้งสิ้น
ผู้คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประชากรพื้นฐานของเครือข่ายสังคมลังกาสุกะ และยังคงมีความสืบเนื่องทางวัฒนธรรมที่เป็นพื้นบ้านพื้นเมืองของลังกาสุกะทั้งทางด้านภาษา วัฒนธรรมและเผ่าพันธุ์ โดยได้ร่วมกันกับผู้อพยพเข้ามาใหม่ ซึ่งมีทั้งพวกมอญ จาม สยามดั้งเดิม เขมร ทมิฬ อาหรับ จีน เปอร์เซีย ฯลฯ พวกผู้อพยพเข้ามาใหม่เหล่านี้มีส่วนสำคัญทำให้แว่นแคว้นนี้สามารถก้าวพ้นจากยุคก่อนประวัติศาสตร์สู่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ และก้าวเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ต่อมาแม้ว่าต้องใช้เวลานานนับพันปีก็ตาม
อาณาจักรลังกาสุกะอยู่ที่ไหน
คำว่า “อาณาจักรลังกาสุกะ” แท้จริงก็ไม่ได้แสดงอะไรมากไปกว่าการเป็นชุมชนเครือข่ายที่มีจุดศูนย์รวมความเจริญทางทั้งวัตถุและจิตใจ และยังรวมทั้งวัฒนธรรมกระแสหลักอื่นๆ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของผู้คนใน “โกตามะห์ลิฆัย” อันเป็นประดุจนครหลวง แน่นอนว่าอำนาจทางการเมืองการปกครองย่อมถูกรวมไว้มากที่สุดที่นี่ กระนั้นก็แผ่ไปเหนือเมืองบริวารหรือชุมชนหมู่บ้านรอบๆ ซึ่งอาจจำกัดอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบศูนย์กลางเท่านั้น
เมืองหรือเขตชุมชนในเครือข่ายของลังกาสุกะมีอาทิ ชุมชนบ้านกาโล-ท่าสาป-เขาคูหา, ชุมชนบ้านยือริงหรือยิหริ่ง (Jering) ที่มาของชื่อยะหริ่ง ซึ่งเคยมีผู้พบกำแพงเมืองโบราณแต่ยังไม่เคยมีการสำรวจ, เมืองยือแร (Djere) ที่ถูกกล่าวถึงในบทลิลิตเรื่อง “นครกฤตคามะ” (Negarakertagama) [7] ซึ่งรจนาเมื่อ ค.ศ.1365 (พ.ศ.1908) โดยพระปันจา สมณกวีชวาแห่งอาณาจักรมัชปาหิต (Majapahit)
ในลิลิตบทที่ 14 ได้กล่าวถึงชื่อ "ยือแร" (Djere/สำเนียงชวา), "ยือไร" (Jerai/สำเนียงมลายูยะโฮร์-เรียว) หรือ "ยือฆา" (Jegha/สำเนียงมลายูปาตานี) ซึ่งปัจจุบันอาจอยู่ในบริเวณเทือกเขาบูโด จ.นราธิวาส เนื่องจากเคยมีผู้พบเห็นพระพุทธรูปหรือเทวรูปขนาดใหญ่และซากโบราณวัตถุในบริเวณนั้น แต่ยังไม่มีการสำรวจ
ปัจจุบันระหว่างเส้นทาง อ.สายบุรี-ไม้แก่น กับ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส มีตำบลชื่อ “ปอฮงยือฆา” (Pohon Jegha/ต้นไทร) หรือนัดต้นไทร (นะ ปอฮง ยือฆา) อยู่ หรือว่าชื่อ “ยือแร” นี้จะเป็นชื่อเดียวกับยะรัง ที่ตั้งแหล่งโบราณคดียะรัง ศูนย์กลางอาณาจักรลังกาสุกะและที่ตั้งของนครโกตามะห์ลิฆัย
ในขณะที่ชื่อ "ลังกาสุกะ" เองก็ปรากฏในลิลิตบทเดียวกันด้วย พร้อมกับชื่อเมืองอื่นๆ ซึ่งเป็นพันธมิตรกัน โดยทั้งหมดล้วนเป็นเครือข่ายเมืองภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรมัชปาหิตที่ถูกกล่าวถึงในลิลิตบทดังกล่าว อาทิ ปาหัง ซาอิมว้ง กลันตัน ตรังกานู ยะโฮร์ ปากา มัวร์ ดูงุน ตูมาซิก (ปัจจุบันสิงคโปร์) กลัง เกอดะห์ จือไร กัญจาปีนีรัน ซึ่ง “ทั้งหมดได้ถูกรวบรวมไว้(ใต้อาณัติมัชปาหิต)มานานแล้ว” (“…semua sudah lama terhimpun.”) [8] ปีที่หัวเมืองมลายูเหล่านี้ถูกยึดครองโดยกองทัพของมัชปาหิตคือ ค.ศ.1292 (พ.ศ.1835)
เบ้าหลอม ‘วัฒนธรรมร่วม’ และภาษามลายู-ยาวี
ลังกาสุกะในระยะเริ่มแรกได้ก่อตัวเป็นชุมชนศูนย์กลางทางการค้าและวัฒนธรรมโดยอาศัยเส้นทางทางทะเลและแม่น้ำปัตตานีเป็นหลัก ในเวลาเดียวกันมีการพัฒนาเส้นทางที่ใช้ช้างเป็นพาหนะเพื่อข้ามคาบสมุทรระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ทำให้เกิดการไหลบ่าของสินค้าและวัฒนธรรมทั้งรูปธรรมและนามธรรมเชิงซับซ้อนระหว่างพื้นที่ราบชายฝั่งกับเขตป่าเขาต้นน้ำและวัฒนธรรมจากภายนอกอื่นๆ ส่งผลให้เกิดพลวัตในสังคมชุมชนของลังกาสุกะอย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอดห้วงเวลาที่ยาวนานนับร้อยนับพันปีทีเดียว
ลักษณะการเป็นเมืองศูนย์กลางของลังกาสุกะและชุมชนในเครือข่ายในช่วงแห่งการก่อร่างสร้างตัวนี้ เมื่อพัฒนาได้ระยะหนึ่งแล้วได้เข้าสู่ขั้นตอนของ “เมืองก่อนรัฐ” (Proto-State) ซึ่งแต่ละเมืองและแต่ละชุมชนยังมีอิสระแก่กันค่อนข้างสูง และมักเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน เนื่องจากทุกชุมชนต่างเข้าสู่กระบวนการปะทะสังสรรค์กับโลกภายนอกโดยเฉพาะอินเดียในห้วงเวลาใกล้ๆ กันนั่นเอง
ลัทธิความเชื่อและหลักปฏิบัติในศาสนาฮินดู-พราหมณ์ ทั้งไศวนิกายซึ่งนิยมบูชาพระศิวะ และไวษณพนิกายซึ่งนิยมบูชาพระวิษณุ พุทธศาสนานิกายมหายาน และศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ จึงคละเคล้าผสมปนเปกันกับความเชื่อดั้งเดิมของแต่ละกลุ่มชนเผ่า ซึ่งนับถือลัทธิบูชาวิญญาณบรรพบุรุษและผีจ้าวป่าจ้าวเขา (animism)
การปะทะสังสรรค์ดังกล่าวนี้มีลักษณะของการปฏิสัมพันธ์ทั้งการให้และการรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีต่อภาษากลางอันเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างกัน ซึ่งได้แก่ภาษามลายูลูกผสมซึ่งทุกชนเผ่าเลือกใช้ ภาษานี้จึงมีลักษณะของการผสมปนเปกันทั้งวงศัพท์และโครงสร้าง โดยมีที่มาทั้งจากภาษามลายู ชวา มอญ เขมร ทมิฬ สันสกฤต เปอร์เซีย อาหรับ และไทยในสมัยหลังลงมา กลายเป็น “ภาษามลายู-ยาวี” (Jawi) อันเป็นภาษามลายู “ถิ่นปัตตานี” ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
--------------------
[1] สมัยราชวงศ์ซ้อง (ค.ศ.960-ค.ศ.1279) อาณาจักรนี้ถูกเรียกว่า ลังยาเซเจีย "Lang-ya-se-chia" สมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1279-ค.ศ.1368) เรียกว่า ลังยาซิเจียว "Long-ya-si-jiao" ในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-ค.ศ.1644) เรียกว่า ลังเซเจีย "Lang-se-chia" จากแผนที่ที่เขียนโดย เมา กุน (Mao Kun) ซึ่งเดินทางมากับเรือของนายพลเรือจีนมุสลิมชื่อเจิ้งเหอ สมัยราชวงศ์หมิง โปรดดู http://en.wikipedia.org/wiki/Langkasuka ค้นเมื่อ 23 พ.ย.2552
[2] Sya’rani bin Haji Abdullah dan Ahmad bin Abdulrauf (pnyl). Tarikh
Patani (อักษรยาวี). เอกสารถ่ายสำเนา, มปป.
[3] สว่าง เลิศฤทธิ์. เมืองโบราณยะรัง. บริษัท อัมรินทร์ พรินติ้ง กรุ๊พ จำกัด
กรุงเทพฯ, 2531
[4] อ.ลออแมนและอารีฟิน บินจิ. ลังกาสุกะ ปาตานี ดารุสสลาม. ศูนย์วัฒนธรรมชายแดนภาคใต้. โรงพิมพ์และทำปกเจริญผล, กรุงเทพฯ, 2541. หน้า 17
[5] อ้างแล้ว. หน้า 13
[6] Shellabear, W.G. (diushakan). Sejarah Melayu. Penerbit Fajar Bakti: Cetakan ke-29. Shah Alam, 1995. p.182.
[7] [8] โปรดดูคำแปลฉบับสมบูรณ์ของบทลิลิตนครกฤตคามะ ภาษาชวาโบราณแปลเป็นบาฮาซาอินโดนีเซียใน Kitab Negarakertagama (terjemahan) โดย ไอ มาเด ยานัวร์ตา’ (I Made Yanuarta) ใน http://religi.wordpress.com/2007/03/16/kitab-negara-kertagama-terjemahan/ สืบค้นเมื่อ 25 พ.ย.2552