“หมอมงคล” เชื่อชุมชนไทย 60%จัดการสุขภาพเองได้ ชู “ต.เมืองแกง สุรินทร์” ต้นแบบ
ชู “ตำบลเมืองแกง สุรินทร์” ต้นแบบชุมชนจัดการสุขภาพ –สวัสดิการชุมชน-เกษตรอินทรีย์ ตั้งเป้าขยายผล 600 ตำบลใน 3 ปี “หมอมงคล” ชี้ชุมชนไทย 60% มีศักยภาพแต่อุปสรรคการเมือง-เศรษฐกิจ
สำนักงานวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยและเทศบาลเมืองแก ได้จัดกระบวนการพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ เข้าใจ ปรับประยุกต์ใช้เครื่องมือเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนที่เทศบาลตำบลเมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์
พ.ญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้อำนวยการ สพช.กล่าวว่าทุกพื้นที่มีต้นทุนด้านสุขภาพอยู่แล้ว ต้องเน้นสร้างเสริมให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น จึงได้จัดอบรมนำคนทำงานด้านสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น จาก 11 พื้นที่ อาทิ จ.สมุทรสงคราม จ.สุรินทร์ จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.ชัยภูมิ จ.อำนาจเจริญ จ.หนองคาย เข้ามาเรียนรู้การทำงานของชุมชนที่มีความเข้มแข็งเพื่อปรับและประยุกต์ใช้ในพื้นที่จตนเองและขยายองค์ความรู้ต่อให้ชุมชนใกล้เคียงเพื่อสร้างระบบสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็ง
ซึ่งการอบรมครั้งนี้จะใช้ ต.เมืองแก ที่มีการทำงานด้านสุขภาพชุมชนที่โดดเด่นประสบความสำเร็จเป็นต้นแบบ อาทิ เรื่องการจัดการสวัสดิการชุมชน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้องกันโรคติดต่อ ระบบเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ตั้งเป้าจะขยายการทำงานเรื่องระบบสุขภาพชุมชนออกไปให้ได้ 600 ตำบลภายใน 3 ปี เพื่อให้ประชาชนและชุมชนจัดการดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี
ด้าน นพ.มงคล ณ สงขลา อนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน และ อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวสาธารณสุข กล่าวว่าระบบสุขภาพชุมชนถือเป็นระบบที่ดีที่ประเทศไทยควรพัฒนาให้ทุกชุมชนกลายเป็นชุมชนที่เข็มแข็งจัดการและพึ่งพิงตนเองได้ โดยชุมชนที่เข็มแข็งจะต้องเกิดจากการมีกระบวนการร่วมกันคิดร่วมกันทำของชุมชน ประชาชนมีอำนาจในการดำเนินโครงการต่างๆอย่างแท้จริงตามความต้องการ จนได้ผลลัพธ์ออกมาตามที่ชุมชนคาดหวัง มีสุขภาพดี มีความเป็นอยู่ที่ดีในทุกมิติ ส่วนหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ท้องถิ่น ก็ต้องมีหน้าที่หนุนเสริมในการสร้างระบบสุขภาพที่ดี ทั้งการเสริมทักษะ เสริมความรู้ หรือเสริมสิ่งที่ชุมชนยังขาด
“เมืองไทยมีชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ที่สามารถจัดการตนเองได้ แต่มีอุปสรรคบางอย่างที่ทำให้การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนพัฒนาไปได้ช้า ทั้งปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ แต่หากยังยึดมั่นตามกระบวนการและมีการเรียนรู้จากชุมชนต้นแบบ มีการแลกเปลี่ยนโครงการดีๆระหว่างชุมชนกัน ก็จะพัฒนาสู่ชุมชนไทยที่เข็มแข็งมีระบบสุขภาพที่ดีได้ไม่ยาก” นพ.มงคลกล่าว .