‘ศิริวัฒน์’ เล็งหารือ ‘โอบามา’ งดคว่ำบาตรสินค้าประมงไทย
รมช.เกษตร เล็งหารือ ‘โอบามา’ ลดขึ้นแบล็คลิสต์สินค้าประมงไทย ชี้มีแผนระดับชาติป้องกันค้ามนุษย์-คุ้มครองแรงงาน ผู้ประกอบเล็งย้ายฐานผลิตไปกัมพูชาหนีนโยบายค่าแรง 300 บ.
วันที่ 12 พ.ย. 55 กรมประมง จัดสัมมนา ‘แนวทางการพัฒนาการใช้แรงงานภาคอุตสาหกรรมประมง’ ณ โรงแรมเซ็นทรัลเพลส จ.สมุทรสาคร โดยนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล รวมถึงการกีดกันทางด้านการประมงโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ซึ่งมีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้จัดทำแผนปฏิบัติการคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมประมง และการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมง
ซึ่งมุ่งหวังว่าไทยจะรอดพ้นจากการเป็นประเทศที่น่าจับตามองเป็นพิเศษในความพยายามต่อต้านมนุษย์ (Tier 2 Wacth list ใน TIP report) ของสหรัฐอเมริกาติดต่อ 3 ปี (2553-2555) จนอาจส่งผลให้มีการคว่ำบาตรสินค้าไทย โดยเฉพาะอาหารแช่แข็ง อย่างไรก็ตามหากมีโอกาสจะนำเรื่องเข้าหารือกับนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ 18 พ.ย. 55
ด้านนายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่าอุตสาหกรรมกุ้งและอาหารทะเลของไทยมีผลผลิตการส่งออกปี 54 จำนวน 1.9 ล้านตัน/ปี เป็นสินค้ากุ้ง 4 แสนตัน และสินค้าทะเลอื่น ๆ 1.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกสัตว์น้ำโดยรวมปีละกว่า 2 แสนล้านบาท เฉพาะกุ้งมีมูลค่าถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งมีแรงงานทำงานในอุตสาหกรรมนี้กว่า 1 ล้านคน ส่วนแรงงานประมงในเรือเดินทะเลมีประมาณ 3 แสนคน หากไทยไม่ดำเนินการแก้ปัญหาที่ถูกจับตามองอาจะส่งผลให้สหรัฐจะระงับความช่วยเหลือด้านการค้าแก่ไทยด้วย
นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐได้เผยแพร่รายงาน Finding on the Worst Forms of Child Labor ประจำปี 2554 และรายการสินค้าที่ผลิตจากแรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ ประจำปี 2555 ซึ่งไทยมีรายชื่อติดในบัญชีรายการสินค้าที่ผลิตจากแรงงานเด็กฯ ภายใต้กฎหมาย Trafficking Victims Protection Reauthorization Act 2005 (TVPRA) 5 รายการ ได้แก่ กุ้ง สิ่งทอ อ้อย ปลา สื่อลามก และสินค้าไทยยังติดในรายการสินค้าที่ผลิตจากแรงงานเด็กฯ ภายใต้ Executive Order 13126 จำนวน 2 รายการ ได้แก่ สิ่งทอและกุ้ง โดยสหรัฐจัดทำขึ้นมิให้หน่วยงานของรัฐซื้อสินค้าที่ผลิตจากแรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ
อธิบดีกรมประมง กล่าวต่อว่า กรมประมงจึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมง 7 ศูนย์ ได้แก่ จ.สมุทรสาคร ระยอง ตราด ชุมพร สงขลา ระนอง และสตูล เร่งรัดการพิสูจน์สัญชาติให้ทัน 14 ธ.ค. 55 การติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System : VMS) บนเรือประมงน่านน้ำชักธงไทยแล้ว 118 ลำ และอยู่ระหว่างติดตั้งอีก 15 ลำ พัฒนาคู่มือฝึกอบรม หลักสูตรความปลอดภัยในการทำประมงทะเล ส่งเสริมการวิจัยเทคโนโลยี เพื่อลดการใช้แรงงานบนเรือประมง การเผยแพร่ข้อเสนอรายการงานอันตรายสำหรับเด็กในอุตสาหกรรมกุ้งและอาหารทะเล 15-17 ปี ซึ่งได้ยกร่างแล้ว แต่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติม เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง ระดับความร้อน ให้มีความเหมาะสมกับแรงงานเยาวชน ทั้งนี้ยังเปิดเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ Good Fisheries Labour Practices เพื่อเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานด้านแรงงานประมงให้แพร่หลายต่อต่างชาติ
ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่าสิ่งที่กังวล คือ อุตสาหกรรมด้านประมงไทยจะขาดแรงงานไทย ต้องจ้างแต่แรงงานต่างชาติ อย่างไรก็ดีการจ้างแรงงานต่างชาติก็สร้างผลดีต่อสังคมมากกว่าการปล่อยให้หันไปประกอบอาชีพผิดกฎหมาย นอกจากนี้เห็นด้วยกับนโยบายของจ.สมุทรสาครที่จะพัฒนาพื้นที่มหาชัยเป็นเมืองต้นแบบให้บุตรหลานแรงงานต่างชาติเข้าศึกษาในโรงเรียน พร้อมจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนขึ้น เพื่อลดปัญหาการถูกมองว่าใช้แรงงานเด็ก ซึ่งความจริงเด็กเหล่านี้ตามมาอยู่กับพ่อแม่ในสถานประกอบการเท่านั้น
นายกสมาคมอาหารแช่แข็ง กล่าวอีกว่ากำลังพิจารณาเรื่องการเคลื่อนย้ายฐานแปรรูปอาหารแช่เยือกแข็งไปกัมพูชา เพื่อหลีกหนีปัญหาค่าแรง 300 บาทตามนโยบายรัฐบาล .