กุรบ่านรายาญี…การให้ที่เท่าเทียม
เลขา เกลี้ยงเกลา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“สลามัต ฮารีรายอ อีดิ้ลอัฎฮา” ปีนี้ “วันอีดิ้ลอัฎฮา" หรือ "ฮารีรายออีดิ้ลอัฎฮา” ตรงกับวันที่ 27 พ.ย.2551 มุสลิมทั่วโลกเฉลิมฉลองกันอย่างรื่นเริงในวันสำคัญนี้กันถ้วนหน้า ลูกหลานที่ไปทำงานมีครอบครัวหรือเรียนอยู่ต่างถิ่น ก็จะกลับไปหาพ่อแม่ญาติพี่น้องกันพร้อมหน้าพร้อมตา
แม้จะมีฝนตกลงมาตั้งแต่เช้า แต่พี่น้องมุสลิมหญิงชายยังไปร่วมละหมาดพร้อมกันที่มัสยิดหรือสถานที่ที่จัดไว้สำหรับละหมาดอย่างพร้อมเพรียง จังหวัดปัตตานีจัดละหมาดใหญ่รวมกันที่สนามกีฬากลางจังหวัดและมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี พร้อมฟังคุตบะฮ์สอนใจ หลังจากนั้นจึงเป็นการเชือด “กุรบ่าน" ทำทานแก่คนยากจน
"ฮารีรายออีดิ้ลอัฎฮา" นิยมเรียกสั้นๆ กันว่า “รายาญี” หรือ “รายอฮัจญ์” เป็นวันครบรอบ 70 วัน นับจากวันฮารีรายออีดิลฟิฏรฺ (หรือรายออีดิ้ลฟิตรี : วันอีดเมื่อครบเดือนถือศีลอด) ตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮ์ (เดือนที่ 12 ตามปฏิทินอิสลาม) อันเป็นวันที่มุสลิมทั่วโลกซึ่งเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เริ่มประกอบพิธีฮัจญ์ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ไปก็จะประกอบพิธีละหมาดอีดิ้ลอัฎฮาที่มัสยิดหรือสถานที่ที่จัดขึ้นในภูมิลำเนาของตน
“อีดิ้ลอัฎฮา” มาจากคำภาษาอาหรับ 2 คำ คือ "อีด" หรือ "อีดิ้ล" แปลว่า รื่นเริง เฉลิมฉลอง กับ "อัฎฮา" แปลว่าการเชือดสัตว์พลีทาน ฉะนั้น "อีดิ้ลอัฎฮา" จึงหมายถึง วันเฉลิมฉลองการเชือดสัตว์เพื่อพลีเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน
ในวันอีดิ้ลอัฎฮามีประเพณีปฏิบัติคล้ายคลึงกับอีดิ้ลฟิตรี ต่างกันตรงที่วันนี้มีการทำ “กุรบ่าน” หมายถึงการแจกจ่ายเนื้อที่เชือดสำหรับวันนี้โดยเฉพาะ เพื่อเป็นทานแก่ญาติมิตร โดยเฉพาะมุสลิมที่มีฐานะยากจนและอนาถา เพื่อจะได้ใช้เนื้อนั้นเป็นอาหารเลี้ยงครอบครัวให้ได้อิ่มเอิบปลาบปลื้มกันทุกครัวเรือนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะหรือสถานะใด ทั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ “อีดิ้ลอัฎฮา”
ดังนั้นการเชือดสัตว์พลีหรือการทำ "กุรบ่าน" จึงไม่ใช่การเชือดเพื่อบูชายัญหรือเซ่นไหว้หรือบูชาพระผู้เป็นเจ้า หากแต่เป็นการปฏิบัติที่องค์ศาสดามีพระประสงค์จะขัดเกลาจิตใจมนุษย์ให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
“การเชือดกุรบ่าน” คือการเชือดสัตว์เป็นพลีเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ยากไร้และมิตรสหาย เพื่อนำมาฉลองในวันอีดิ้ลอัฎฮา หรือ "วันอีดใหญ่" โดยเชือดในตอนสายๆ หลังจากเสร็จพิธีละหมาด สัตว์ที่ใช้ทำกุรบ่าน ได้แก่ อูฐ วัว แพะ แกะ สัตว์ที่ทำกุรบ่านต้องมีอายุครบตามเกณฑ์จึงจะถือว่าแข็งแรง กล่าวคือ อูฐจะต้องมีอายุ 5 ปีขึ้นไป วัวและควายมีอายุ 2 ปีขึ้นไป แพะธรรมดาอายุ 2 ปีขึ้นไป แกะอายุครบ 1 ปี หรือแกะที่ฟันของมันหลุดร่วงไปหลังจาก 6 เดือน ถึงแม้มีอายุไม่ครบ 1 ปีก็ใช้ได้ บรรดาสัตว์ที่ใช้ทำกุรบ่านนั้น ดีที่สุดคือ “อูฐ” รองลงมาคือ “วัว” จากนั้นคือ แกะกับแพะ
จำนวนสัตว์ที่ใช้ทำกุรบ่าน น้อยที่สุดคือแพะ 1 ตัว หรือแกะ 1 ตัวสำหรับ 1 คน แต่ถ้าอูฐ 1 ตัว วัวหรือควาย 1 ตัวสำหรับ 7 คน สัตว์ที่จะใช้ทำกุรบ่านนั้นต้องสมบูรณ์แข็งแรง ไม่พิการตาบอด ไม่ตาเจ็บจนปิดตา ยกเว้นตามัวหรือมองไม่เห็นเฉพาะกลางคืน ขาจะต้องไม่เป๋หรือเก หูไม่แหว่งหรือฉีกขาด หางไม่กุด ยกเว้นเป็นมาแต่กำเนิด ไม่เป็นโรคผิวหนัง และจะต้องไม่ตั้งท้องหรือเพิ่งคลอดลูก
สำหรับสีของสัตว์ที่ใช้ทำกุรบ่านที่นิยมและที่ยกย่องกันว่าดีที่สุดคือสีขาว สีค่อนข้างเหลือง สีเทาแกมแดงสลับสีขาวปนดำ และสีดำ
ตามทัศนะของอิสลาม กุศลที่เกิดจากการทำกุรบ่านคือบุญที่จะทำให้สะดวกง่ายดายต่อการข้ามสะพานในวันกิยามะฮ์ (หมายถึงวันที่ฟื้นจากความตายไปสู่ปรโลก) ยิ่งสัตว์ดีมากและประเสริฐมากเท่าใดยิ่งทำให้เห็นถึงความภักดีต่ออัลลอฮ์มากขึ้นเท่านั้น สัตว์ที่เชือดเป็นพลีในวันนี้ก็จะได้เข้าสู่สรวงสวรรค์ด้วย แต่ทั้งหมดนี้จะต้องกระทำให้ถูกต้องตามบัญญัติของศาสนา จะเชือดก่อนละหมาดในวันอีดิ้ลอัฎฮาไม่ได้ มิฉะนั้นจะเป็นการเชือดเพื่อตนเอง และผู้เชือดต้องเป็นมุสลิม
ที่สำคัญเนื้อที่ได้จากการทำกุรบ่านจะไม่บริโภคแต่ผู้เดียว ต้องแจกจ่ายเป็นทานแก่คนยากจนรวมทั้งมิตรสหาย และเก็บไว้เพื่อตนเองเพียงนิดเดียวเท่านั้นเพื่อเป็นสิริมงคลในการทำกุรบ่าน
ชิ้นเนื้อแม้เพียงน้อย แต่เมื่อเป็นความตั้งใจของพี่น้องร่วมสังคมที่เอื้อเฟื้อแบ่งปันโดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ จึงเป็นการให้ที่น่าชื่นหัวใจ...
รอยยิ้มและสีสันของพี่น้องมุสลิมชายแดนใต้ยังคงมีให้เห็น วันแห่งความสดชื่นรื่นเริงที่ทุกคนอยากให้มีและสัมผัสได้ทุกๆ วัน เป็นวันที่ครอบครัวอบอุ่นพร้อมหน้าทั้งลูกหลานและญาติมิตร
หากชุมชนมีความร่มเย็น สงบสุข เปี่ยมไปด้วยทรัพยากรที่เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต เชื่อแน่ว่าคงไม่มีใครอยากจากแผ่นดินถิ่นเกิดไปต่อสู้ดิ้นรนยังถิ่นอื่น
ได้แต่รอว่าเมื่อไหร่ “วันนั้น” จะมาถึง...