รายออีดิ้ลอัฎฮา...และการประกอบพิธีฮัจญ์ของพี่น้องมุสลิม
อับดุลเลาะ หวังนิ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
วันฮารีรายอ อีดิ้ลฟิตรี ฮิจเราะห์ศักราช 1430 หรือวันเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนแห่งการถือศีลอด ในปีนี้ตรงกับวันที่ 20 ก.ย.2552 หลังจากวันนั้นนับต่อมาจนครบ 60 วัน สำนักจุฬาราชมนตรีจะประกาศกำหนดวันรายออีดิ้ลอัฎฮา
ปีนี้สำนักจุฬาราชมนตรีได้ประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั้งประเทศดูเดือน (ดวงจันทร์) ในวันอังคารที่ 17 พ.ย.2552 ในเวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนซุลฮิจยะห์ ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1430
ปรากฏว่าในวันและเวลาดังกล่าวมีผู้เห็นดวงจันทร์ จุฬาราชมนตรีในฐานะผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (3) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2550 ประกาศว่า วันอีดิ้ลอัฎฮา ประจำฮิจเราะห์ศักราช 1430 ตรงกับวันศุกร์ที่ 27 พ.ย.2552
วันที่ 1 เดือนซุลฮิจยะห์ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 27 พ.ย.ดังกล่าวนี้ สำหรับผู้ที่เดินทางไปแสวงบุญ ณ นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ก็จะเข้าสู่ “พิธีฮัจญ์” ส่วนมุสลิมทั่วโลกที่ไม่ได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ จะเข้าสู่เทศกาลอีดิ้ลอัฎฮา หรือ “วันอีด” หรือเรียกว่ารายอฮัจญี (วันตรุษของมุสลิม) โดยจะมีการทำบุญเฉลิมฉลองกัน
กิจกรรมสำคัญคือการทำกุรบาน (เชือดสัตว์พลีทาน) เพื่อแบ่งปันเนื้อให้กับผู้ยากไร้ วันตรุษนี้ถือว่ามีความสำคัญยิ่งกว่าวันตรุษใดๆ พิธีการโดยทั่วไปจะเหมือนกับวันฮารีรายออีดิ้ลฟิตรี (รายอหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอด) สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาก็คือการเชือดสัตว์ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ เพื่อทำทาน เรียกว่า "กุรบาน" พิธีเชือดจะทำหลังละหมาดวันฮารีรายอฮัจญีแล้ว เนื้อสัตว์ที่ถูกเชือดจะนำไปขายไม่ได้ นอกจากทำอาหารเลี้ยงหรือแจกกัน
การประกอบพิธีฮัจญ์ คือการเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นหนึ่งในหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามที่มี 5 ประการ คือ 1.การกล่าวปฏิญาณตน 2.การละหมาด 3.การถือศีลอด 4.การจ่ายซะกาต และ 5.การประกอบพิธีฮัจญ์
“ฮัจญ์” ถือเป็นอิบาดัต หรือหลักศรัทธาของคนมุสลิมที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าที่ยิ่งใหญ่ ผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ.นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย พวกเขายอมจำนงค์และพร้อมที่จะปฏิบัติตามสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งและทรงห้าม พวกเขาต่างยอมสละทรัพย์สมบัติส่วนตัว เวลา และความสะดวกสบายที่มีอยู่ มุ่งหน้าสู่บัยตุ้ลลอฮ์ หรือกะบะฮ์ อันเปรียบเสมือนเป็นบ้านของพระองค์ ณ นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นี้ในช่วงเวลาเดียวกัน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนในโลกจะไม่มีการแบ่งแยกชาติพันธุ์ สีผิว ชนชั้น ทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกัน คือเป็นบ่าวของพระองค์
การประกอบพิธีฮัจญ์ จึงเป็นการแสดงให้ชาวโลกไม่ว่าจะอยู่ในฐานะที่เป็นมุสลิมหรือต่างศาสนาได้ประจักษ์ถึงความเป็นเอกภาพแห่งอิสลาม และทำความเข้าใจถึงเป้าหมายของการประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วหากเราได้ศึกษาจากแง่มุมของประวัติศาสตร์ในการประกอบพิธีฮัจญ์สมัยของศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) ก็จะพบว่าฮัจญ์ไม่ได้มีเพียงจุดประสงค์ในระดับปัจเจกบุคคล แต่ฮัจญ์ตามแบบฉบับของท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) คือ “ญิฮาดที่ยิ่งใหญ่” ดังนั้นการประกอบพิธีฮัจญ์จะต้องให้ประโยชน์ต่อประชาชาติมุสลิมทั้งในแง่ของสังคม การเมือง และศีลธรรม
การทำฮัจญ์ มีเป้าหมายในการขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ต้องใช้ความอุตสาหะ เสียสละทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา มีความอดทนต่อความยากลำบาก และมีความสามารถที่จะไปได้โดยไม่ต้องกู้หนี้หยิบยืมทรัพย์ของบุคคลอื่น
อัลลอฮ์ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์ อัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน อายะฮ์ที่ 97 ความว่า การทำฮัจญ์ ณ บัยตุลลอฮ์ สำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางไปได้ หมายถึงว่า มุสลิมที่มีสุขภาพแข็งแรง สติปัญญาสมบูรณ์ มีทรัพย์สินเพียงพอในการใช้จ่ายโดยมิต้องเป็นหนี้สินและเดือดร้อนบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ เส้นทางที่จะเดินทางไปจะต้องปลอดภัย ถ้าหากผู้ใดไม่มีความสามารถด้านทรัพย์และสุขภาพ ก็ไม่เป็นความผิดอย่างไร เพราะจะอยู่ในเหตุของการด้อยความสามารถ
ระยะเวลาที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์ อาจจะไปแค่ประกอบพิธีแล้วกลับ ส่วนมากจะไปที่เมืองมะดีนะฮ์ เพื่อไปละหมาดที่มัสยิดนาบาวีก่อน แล้วเข้ามักกะฮ์ หรือไปมักกะฮ์เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์แล้วกลับมาที่มะดีนะฮ์ก็ได้ ใช้เวลาโดยประมาณ 40 วัน
ฮัจญ์และอัลอุมเราะฮ์เป็นบทบัญญัติที่ประเสริฐที่จะลบล้างความผิดและการทำบาป จะได้เข้าสวนสวรรค์ของพระองค์ ดังนั้นผู้ที่ไปทำฮัจญ์ควรหลีกเลี่ยงการกระทำและคำพูดที่จะทำให้การทำฮัจญ์ของเขาไร้ผลและไม่เป็นที่ตอบรับ เพราะอัลลอฮ์ตะอาลาและร่อซูลของพระองค์ได้ให้การรับรองไว้แล้วว่า ฮัจญ์ที่ดีเป็นที่รับรองนั้น ไม่มีการตอบแทนใดๆ แก่เขานอกจากสวนสวรรค์
ในส่วนของการเดินทางไปแสวงบุญของมุสลิมในประเทศไทยนั้น มี 2 ส่วน
หนึ่ง คือเดินทางโดยรัฐบาลเป็นผู้ดูแล เริ่มต้นโดยการจัดเครื่องบินเหมาลำจากท่าอากาศยานหาดใหญ่ จ.สงขลา ไปลงที่สนามบินเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
สอง ไปโดยให้บริษัททัวร์พาไป บางส่วนไปขึ้นเครื่องบินที่กรุงเทพฯ แต่ช่องทางนี้มีปัญหาที่พบต่อเนื่องมาหลายปีคือ ผู้แสวงบุญจะไปติดค้างประมาณ 2-3 วันที่กรุงเทพฯ เพราะเครื่องบินที่จะไปเป็นเครื่องบินโดยสารปกติ แต่ละเที่ยวบินจึงไม่มีที่นั่งเพียงพอกับความต้องการของผู้ไปแสวงบุญ
สำหรับการเดินทางโดยรัฐบาลเป็นผู้ดูแล จะใช้เครื่องบินเหมาลำ เมื่อไปถึงสนามบินเจดดาห์ จะมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และเจ้าหน้าที่จากกรมการศาสนามารับ ทั้งนี้ตลอดการเดินทางและช่วงประกอบพิธี จะมีเจ้าหน้าที่จากกรมการศาสนาไปคอยดูแล ไม่ว่าผู้แสวงบุญจะมาโดยการจัดการของรัฐบาลหรือเดินทางไปเองโดยทุนส่วนตัวก็ตาม