ตามรอยปลากะพง...ฝีมือเด็ก ม.5 ร.ร.รุ่งอรุณ กับรายงาน HIA “แม่น้ำบางปะกง”
ไม่น่าเชื่อว่า....จากเมนู “ปลากะพงทอดน้ำปลา” ในมื้อเที่ยงของวันหนึ่งเมื่อต้นภาคการศึกษาที่แล้ว ประกอบกับได้ชมคลิปข่าวปลากะพงตายทั้งกระชังที่บางปะกงในเวลาต่อมา ได้ทำให้เด็ก ๆ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สายศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณเกิดข้อสงสัยถึงที่มาของปลากะพง
และเมื่อทราบว่า ปลากะพงมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่แม่น้ำบางปะกง จึงเกิดการ “ตามรอยปลากะพง” จนเป็นกระบวนการศึกษาแม่น้ำบางปะกงทั้งสาย
ทั้งหมดนี้ดำเนินอยู่ภายใต้โครงงานวิชาสังคมศึกษา ที่มี "คุณครูเปรมปรีติ หาญทนงค์" หรือครุปุ๊เป็นผู้นำปลากะพงจานแรกมาเสิร์ฟ และพาเด็ก ๆ จากเมืองกรุงให้มารู้จักกับต้นธารของอาหารที่พวกเขากินอันมีชื่อว่า “แม่น้ำบางปะกง” ที่ในวันนี้...เริ่มป่วยไข้ จากผลกระทบของ “การพัฒนา”
10 พ.ย.ที่วัดสนามจันทร์ ต.บ้านโพธิ์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา-ริมแม่น้ำบางปะกง โรงเรียนรุ่งอรุณร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้นำเสนอความสำเร็จของโครงงานที่ทำมาตลอดสองเทอม โดยการจัดเวทีสาธารณะ “เด็กวอนถามผู้ใหญ่ กรณีแหล่งอาหารกับการพัฒนา พื้นที่ศึกษาลุ่มน้ำบางปะกง” เพื่อรายงานผลการศึกษา และแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ความคิดเห็นจากโครงงาน “ศึกษาศักยภาพของพื้นที่ในฐานะแหล่งอาหารและผลกระทบจากการพัฒนา กรณีแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา”
โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สายศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณเป็นผู้นำเสนอรายงาน Health Impact Assesment หรือ HIA ต่อด้วยการเสวนา ซึ่งประกอบด้วยนักวิจัยชุมชน นักวิชาการด้านผังเมือง ตัวแทนชุมชน และตัวแทนจากกรมเจ้าท่าร่วมเสวนา โดยมีชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำบางกะปงเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
เว้นแต่เพียงตัวแทนจากนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ไม่ได้มาร่วม
ทั้งนี้เมื่อจบงาน นักเรียนได้ส่งมอบรายงาน HIA ทั้ง 3 เล่มที่แบ่งการศึกษาแม่น้ำบางปะกงเป็นพื้นที่ช่วงต้น ช่วงกลาง และช่วงปลาย ให้แก่ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนต่าง ๆ ที่นักเรียนได้ลงไปศึกษาเก็บข้อมูล เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ชาวบ้านรวมกันกว่าหนึ่งพันเล่ม
เด็ก ๆ ม.5 ร.ร.รุ่งอรุณ มีคำถามที่อยากวอนถามผู้ใหญ่มากมาย ที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นคำถามที่ว่า “การพัฒนา คืออะไรกันแน่?” เพราะพวกเขาพบว่า แม่น้ำบางปะกงนำความ “มีอยู่มีกิน” มาสู่ทุกคนในพื้นที่มาแต่อดีต แต่ปัจจุบันแม่น้ำบางปะกงได้รับผลเสียจากการประกอบอุตสาหกรรม ที่เกิดมาจากแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก (Eastern Seaboard Development Plan) ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524
ก่อนที่เด็ก ๆ จะวอนถามผู้ใหญ่ในอีกหลายเรื่อง พวกเขาได้นำเสนอสิ่งที่พบจากการลงพื้นที่ศึกษาว่า
ผลการศึกษาพื้นที่บางปะกงช่วงต้น เจาะจงไปที่ อ.บางคล้า พบว่า เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เกษตรกรปลูกผลไม้ เช่น มะม่วง มะพร้าว หมากพลู มีพื้นที่ปลูกข้าว และอาชีพเลี้ยงกุ้งขาว ซึ่งต้องใช้ประโยชน์จากน้ำในแม่น้ำบางปะกงโดยตรง แต่ปัจจุบันประสบปัญหาน้ำในแม่น้ำมีปริมาณและคุณภาพลดลง เป็นผลจากสถานีสูบน้ำดิบบริษัท East Water และเขื่อนทดน้ำบางปะกง ที่เอื้อต่อกันโดยเขื่อนทำหน้าที่กั้นน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้ามายังตอนในของแม่น้ำ ทำให้ East Water สูบน้ำดิบไปใช้งานได้นานขึ้น
น้ำจากแม่น้ำบางปะกง ถูกส่งไปใช้ในนิคมอุตสาหกรรมที่ชลบุรีกว่า 60% ชุมชนได้ใช้เพียง 10%
นอกจากนี้เขื่อนทดน้ำยังทำให้เกิดการพังทลายของตลิ่ง และน้ำเค็มเข้าท่วมพื้นที่ใต้เขื่อน ชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันเรียกร้องให้ปิดเขื่อน ทำให้ปัจจุบันเขื่อนทดน้ำบางปะกงกลายเป็นเพียงสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำเท่านั้น
ต่อมาในพื้นที่บางปะกงช่วงกลาง ได้แก่ พื้นที่ของอำเภอบ้านโพธิ์ และบางส่วนของ อ.พานทอง จ.ชลบุรี ปัจจุบันโดดเด่นเรื่องการเพาะเลี้ยงกุ้งและเลี้ยงปลา พบว่า ผลผลิตลูกกุ้งกว่า 50% ของประเทศไทยมาจาก อ.บ้านโพธิ์และ อ.บางปะกง
- ปลานิล 30,000 ตันต่อปี มาจาก อ.พานทอง
- ปลาสลิด 500 ตันต่อปีมาจาก อ.พานทอง และ อ.บางปะกง
แต่สิ่งที่กำลังสร้างความกังวลแก่ชาวบ้านในพื้นที่ตอนนี้คือแผนการขยายนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร 2 การเผยหลุมฝังกลบกากอุตสาหกรรมที่ ต.หนองแหน พบสารก่อมะเร็งเกินมาตรฐาน 20-30 เท่า
และล่าสุดคือโครงการท่าเทียบเรือในแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นของบริษัทเอกชนจำนวน 6 ท่าในพื้นที่ ต.สนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ ซึ่งส่อว่ามีการเลี่ยงการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือ EIA เพราะออกแบบท่าเรือแต่ละท่าให้มีพื้นที่ใกล้เคียง 1,000 ตร.ม. เพื่อไม่ต้องทำ EIA ตามที่กฎหมายกำหนด
สุดท้าย พื้นที่บางปะกงช่วงปลาย เป็นพื้นที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตปลายน้ำถึงบริเวณปากน้ำ หลากหลายด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำนานาพันธุ์ ทั้งกุ้ง เคย หอยแมลงภู่ ปู ปลาดุก และที่โดดเด่น คือ การเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงปลากะพงขาว ทั้งแบบกระชัง และแบบบ่อดิน ที่ให้เนื้อปลากะพงที่มีคุณภาพ
ปัจจุบันมีกระชังปลาประมาณ 3,000-4,000 กระชัง ให้ผลผลิตปลากะพงวันละ 10 ตัน รวมถึงการทำประมงพื้นบ้านอีกหลายรูปแบบที่ทำให้ชาวบ้านหาอาหารกินเองได้
แต่...วิถีเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น โรงงานแป้งมันสำปะหลัง ทำให้ชาวบ้านป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ โรงไฟฟ้าบางปะกง ที่ปล่อยน้ำทิ้งอุณหภูมิสูงจากระบบหล่อเย็นลงสู่แม่น้ำ ทำให้สัตว์น้ำรวมถึงปลากะพงที่ชาวบ้านเลี้ยงตาย และท่าเรือ Future Port สองแห่งที่เข้ามาในช่วงที่ผังเมืองยังไม่ประกาศใช้ โดยเฉพาะท่าเรือบริเวณชุมชนเทศบาลตำบลบางปะกงหมู่ 1 ซึ่งพยายามเปิดใช้มาตั้งแต่ปี 2550 แต่ชาวบ้านไม่ยินยอม และมีรายงานผู้พบเห็นเรือเข้ามาขนถ่ายสินค้าอยู่ เรื่อย ๆ
ล่าสุดเมื่อต้นปี 2555 มีผู้พบเห็นเรือขนถ่ายถ่านหินเข้ามา 5 ลำ!!
จากการศึกษา เด็ก ๆ ได้มีข้อเสนอแนะฝากถึงผู้ใหญ่ไว้ 4 ประการ
1.อยากให้โรงงานอุตสาหกรรมย้ายจากพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงไปตั้งที่อื่น
2.อยากให้รัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารและยา เป็นการต่อยอดสิ่งที่ชาวบ้านถนัด จะเหมาะสมกับพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงมากกว่า
3.อยากให้เยาวชนมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศแม่เช่นในพื้นที่เล็ก ๆ ที่ตัวเองอาศัยอยู่ได้บ้าง
และ 4.อยากให้เปลี่ยนการวัดค่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP มาเป็นการวัดค่าความกินดีอยู่ดีและความสุขของคนในชุมชน
ซึ่งผู้ใหญ่อย่าง ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิจัยชุมชน ตอบคำถามของเด็ก ๆ กลางวงเสวนาว่า มีงานวิจัยสองชิ้นพบว่า หนึ่ง ปัจจุบันสามจังหวัดในภาคตะวันออกคือระยอง จันทบุรี และชลบุรี ปลูกข้าวไม่พอกิน และสอง จีดีพีของภาคเกษตรกรรมตกลงเรื่อย ๆ โดยติดลบ 1-2% ทุกปีนับตั้งแต่ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกเป็นต้นมา
"จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า ประเทศไทยควรจะพอเสียทีกับภาคอุตสาหกรรม จังหวัดระยองมีจีดีพีมากแต่ไม่ได้บอกว่าคนระยองมีความสุขหรือมีความเจริญทางด้านสิ่งแวดล้อม"
ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนตัวชี้วัดใหม่ เช่น แต่ละจังหวัดทำจีดีพีเกษตรกรรมของตัวเอง แล้วนำทั้งประเทศมาดูรวมกัน ก็จะเห็นภาพรวมที่ดีกว่าจีดีพีแบบเดิมที่เป็นค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ซึ่งไม่บอกอะไรนอกจากการนำเข้า ส่งออก และดอกเบี้ย
ขณะที่รากฐานของปัญหาของอุตสาหกรรม ดร.สมนึก มองไปที่ การจัดการของเสีย นอกจากภาคอุตสาหกรรมควบคุมการจัดการของเสียได้ไม่ดีพอแล้ว ยังจะขยายอุตสาหกรรมเพิ่ม ทางออกคือผู้ประกอบการกับชุมชนต้องมาร่วมกันสร้างกติกาเพื่อควบคุมการจัดการของเสีย อุตสาหกรรมกับชุมชนจึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
“อยากภาครัฐให้ความสำคัญกับเสียงชาวบ้านมากว่าภาคอุตสาหกรรม เพราะชาวบ้านย้ายฐานการผลิตไม่ได้” เป็นอีกหนึ่งข้อเสนอจากนักเรียนชั้น ม.5
ต่อมาผู้ใหญ่อย่างนายไตรภพ โคตรวงษา ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ก็บอกว่า ภูมิประเทศของไทยเหมาะสำหรับเกษตรกรรม ดังนั้นอุตสาหกรรมที่เหมาะกับประเทศไทยควรจะเป็นอุตสาหกรรมผลิตอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงกับการผลิตอาหาร เพราะอาชีพที่มีความมั่นคงที่สุดของโลก ก็คือเกษตรกรรม อุตสาหกรรมที่ไม่พอเพียงคืออุตสาหกรรมที่นำเข้าเทคโนโลยี คน ความรู้ และเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามา แต่สุดท้ายสิ่งที่หลงเหลืออยู่ในแผ่นดินของเรา คือ ขยะ ทั้งขยะในแม่น้ำ ในอากาศ และในใจคน
“เมื่อโลกต้องเปลี่ยนแปลงไป แม่น้ำบางปะกงก็เช่นกัน เราจะทำอย่างไรให้ความเปลี่ยนแปลงทั้งปวงอยู่บนฐานของความสมดุล ซึ่งเราไม่ควรต้องสูญเสียแม่น้ำบางปะกงให้แก่ใคร และไม่ควรต้องแลกกับอะไร เพราะเราไม่อยากให้บางปะกงเสียหายไปมากกว่านี้ เราขอเสนอแนะว่าของดีของเรา หรือสิ่งที่เราทำได้ดีควรได้รับการรักษาไว้ ไม่ควรให้ต้องเสียหาย หรือสูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุใด” *
* ส่วนหนึ่งจากบทความสรุปของรายงาน HIA เล่มที่ 3