“เครือข่ายที่ดินแนวใหม่ท้องถิ่นจัดการตนเอง” : วางผัง พัฒนาคน พิชิตความจนจากฐานราก
การรวมตัวของขบวนประชาชนแก้ปัญหาที่ดิน 5 ภาค จะเป็นคำตอบปัญหาชาวบ้านที่ร้อนระอุได้หรือไม่ ไปศึกษารูปธรรมของคนวังน้ำเขียวโคราช คนแม่ทาเชียงใหม่ คนคลองปูนสระบุรี คนนาโพธิ์ชุมพร
เร็วๆนี้“เครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ” จัดเวทีพัฒนาเครือข่ายที่ดินชนบทแนวใหม่ ที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เพื่อกำหนดแผนขับเคลื่อนขบวนที่ดินชนบท 5 ภาค เพื่อสร้างความเข้าใจการจัดการทำผังวิถีชีวิตชุมชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้และกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันของขบวนที่ดินชนบท โดยกำหนดจังหวะก้าว 3 ระยะ 1) เพื่อให้เกิดขบวนที่ดินที่ชัดเจน 2) สร้างระบบแก้ไขปัญหาจากฐานราก/เชื่อมโยงภาคี 3) สร้างความเปลี่ยนแปลงประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การจัดการสิทธิที่ดินสู่การจัดการตนเองของท้องถิ่น ยึดคน-ดิน-ระบบ
อุทยานฯทับซ้อนชุมชน ความผิดพลาดนโยบายรัฐในอดีต “เสียงร้องคนวังน้ำเขียว”
สมบูรณ์ สิงกิ่ง ประธานศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชนตำบลไทยสามัคคี เล่าว่าในตำบลมี 11 หมู่บ้าน 2,617 หลังคาเรือน ประชากร 6,168 คน ส่วนใหญ่รับจ้าง ค้าขายและเกษตรกรรม ปัญหาจำแนกเป็น 4 กลุ่ม 1)ไม่มีที่อยู่อาศัย 2)ไม่มีที่ดินทำกิน 3)หนี้สินเกษตรกร 4) แนวเขตอุทยาน/สปก.ทับซ้อนชุมชน
ปี 2524 รัฐบาลมีนโยบายประกาศเขตอุทยานแห่งชาติให้มากที่สุด โดยกรมป่าไม้จึงประกาศอุทยานเพิ่มขึ้นถึง 18 แห่งภายในปีเดียว โดยใช้วิธีเร่งรัด อาศัยการดูแผนที่เบื้องต้นแล้วขีดเส้นแนวเขตในแผนที่ ไม่ได้มีการรังวัดตรวจสอบพื้นที่จริงในการปักหลักแนวเขตที่จะประกาศเขตอุทยานฯ และด้วยเป็นนโยบายเร่งด่วนในทางปฏิบัติจึงประกาศไปก่อน หากมีปัญหาค่อยแก้ไขทีหลัง จึงมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง รวมทั้งอุทยานฯทับลานที่ประกาศ 23 ธันวาคม 2524 1,400,000 ไร่มีการทับซ้อนชุมชน 80 กว่าหมู่บ้านใน 15 ตำบล 5 อำเภอ 2 จังหวัด และยังทับซ้อนพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปี 2521 ที่มีการออกเอกสาร สปก. 4-01 ให้แก่เกษตรกรแล้วตั้งแต่ปี 2528 - 2532
สมบูรณ์ เล่าถึงการแก้ปัญหาของชุมชนว่ามีการจัดเวทีประชุมทำความเข้าใจ สำรวจข้อมูลผู้ที่มีปัญหาทั้ง 4 กลุ่ม พัฒนาระบบฐานข้อมูลการจัดการที่ดิน และประสานหน่วยงาน สำรวจข้อมูลที่ดิน จัดทำแผนที่ แผนผังระดับตำบล การเชื่อมโยงเครือข่าย และจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน เพื่อสนับสนุนกลุ่มอาชีพเกษตรและการแปรรูป ปัจจุบันมีเงินกองทุน 426,750 บาท
ด้านปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยนั้น มีที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ สปก. 1,300 ครัวเรือน 18,469 ไร่ มีที่ดินทำกินอยู่ในเขตป่าสงวน อุทยาน 1,230 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ทับซ้อนอุทยาน สปก.ทั้ง 11 หมู่บ้าน ขาดแคลนที่ดินทำกินไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพประสบปัญหา 58 ครอบครัว ประชาชนในพื้นที่ถูกจับกุม ดำเนินคดี 372 คดี ขาดแคลนที่อยู่อาศัย ครัวเรือนขยาย 89 ครอบครัว
และต่อจากนี้ ชาวบ้านจะขยับเวทีรับรองผังระดับหมู่บ้าน/ตำบล เวทีรับรองกลุ่มผู้เดือดร้อนระดับหมู่บ้าน/ตำบล การพัฒนาที่อยู่อาศัย (ผ่านกองทุนธนาคารที่ดิน) การส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการร่มกลุ่มวิสาหกิจ/สหกรณ์ การจัดทำแผนพัฒนาที่สอดคล้องกับผังตำบล และการออกข้อบัญญัติรับรองผังตำบล
“กรณีวังน้ำเขียวปัจจุบันชาวบ้านกำลังหวาดกลัวการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำโดยไม่มีแบบแผน ซ้ำยังถูกประณามจากสังคมว่าเป็นคนตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดน้ำท่วม ทั้งยังกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยว ทำให้แรงงานในพื้นที่ตกงานขาดรายได้ บวกกับผลผลิตทางการเกษตรขายไม่ได้ เกิดความเสียหาย และชาวบ้านวิตกกังวลเรื่องการชดใช้หนี้สินที่มีอยู่เพราะไม่มีรายได้”
ทั้งนี้ขบวนองค์กรชุมชนมีข้อเสนอต่อหน่วยงานรัฐ 1) ขอให้ทางราชการชะลอการดำเนินการใดๆตามกฎหมายกับคนในพื้นที่เพื่อลดผลกระทบด้านสังคม-เศรษฐกิจจนกว่าจะมีนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน 2)ขอให้มีการพิจารณาเพิกถอนพื้นที่ทับซ้อนชุมชนออกจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี 2524 15 ตำบล 80 หมู่บ้าน โดยยึดหลักแนวเขตที่มีข้อตกลงร่วมกัน ปี 2543และให้มีการทบทวนจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ ที่จะผนวกเข้าเป็นพื้นที่อุทยานทับลานด้วย
3) ให้มีคณะกรรมการร่วมกำหนดแนวเขตป่าสงวนโซน C ป่าสงวนแห่งชาติเขาภูหลวงที่ทับซ้อนชุมชน ให้ชัดเจนโดยมีข้อตกลงการจัดการพื้นที่ร่วมกันทุกภาคส่วนตามสภาพความเป็นจริง 4) ให้มีการวางแผนการจัดการพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวร่วมกันทุกภาคส่วนและมีนโยบายกำหนดอำเภอวังน้ำเขียวเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน และ 5) ขอให้พิจารณาระเบียบปฏิบัติ การใช้ประโยชน์ที่ดินของ สปก.ให้สามารถพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์สร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงแต่ละท้องถิ่น
รู้จักต้นทุนตนเอง ร่วมสร้าง “ผังชีวิต ผังตำบลคนแม่ทา”
กนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า หัวใจของการจัดการที่ดินแนวใหม่ คือการให้ชาวบ้านรู้จักทุนของตัวเอง ทุนทางสังคม ทุนในพื้นที่ 73,000 กว่าไร่มีอะไรอยู่ตรงไหน และเป็นคนออกแบบวางแนวทางการใช้ประโยชน์ผืนดินมรดกตกทอดมาจากปู่ย่าตายายต่อไปให้ลูกหลาน ต้องตื่นตัวลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน อย่าปล่อยให้คนอื่นจัดการ เช่นที่ ต.แม่ทา มีพื้นที่ป่าถาวร 280 ไร่ พื้นที่ทำเกษตรของชาวบ้าน 9,400 กว่าไร่ มีข้อมูลการถือครองที่ดินรายแปลง และมีพื้นที่หน้าหมู่ ที่ไม่ใช่พื้นที่หลวงที่เราใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ซึ่งโจทย์ร่วมของคนแม่ทา คือการจัดการทรัพยการทั้งระบบ มีทรัพยากรอย่างพอเพียงต่อการดำรงชีวิต และการได้รับการรองกรรมสิทธิชุมชน อีกเรื่องคือการใช้ประโยชน์ที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหารและรายได้ โดยพัฒนาแบบแผนการผลิต เป็นการใช้ประโยขน์ที่สัมพันธ์กับการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และการบริหารจัดการที่องค์กรชุมชนเข้มแข็งมีเครื่องมือหรือกิจกรรมในการบริหารจัดการ เช่น กฎกติกาชุมชน, กลไกควบคม, ข้อบัญญัติตำบล, กองทุนการจัดการทรัพยากร, มีระบบการติดตามประเมินผล
“แม่ทามีพื้นที่ที่ชาวบ้านครอบครองได้ 5,000 ไร่ คนแม่ทาใช้ได้จริงๆ รวมพื้นที่ของรัฐด้วย 9,000 ไร่ เราจะต้องดูแลที่อยู่อาศัยที่ทำกินโดยจะไม่ขยับพื้นที่ออกไปอีก ทำอย่างไรจะให้ 1,500 ครอบครัวรวมถึงครอบครัวที่จะขยายขึ้นในอนาคต อยู่อาศัยทำกินอย่างมีความสุขบนที่ดินคนละประมาณ 6 ไร่นี้ได้”
การทำงานของตำบลแม่ทาได้ทำควบคู่กันไปทั้งในเรื่องการจัดการที่ดิน ที่ได้ทำทั้งเรื่องการจัดทำแนวเขตที่ดินทำกินชุมชน เขตป่า ให้ชัดเจน เกิดการรับรองร่วมกันก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ การนำเสนอพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน และการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยการปรับวิถีการผลิตเป็นระบบเกษตรกรรมยั่งยืน การจัดากรน้ำที่เน้นการรักษาระบบเหมืองฝาย ประปาภูเขา ประปาชุมชน และการเมแหล่งน้ำโดยการทำฝายชะลอน้ำ ขุดบ่อและขุดลอกแหล่งน้ำการจัดการป่าโดยการจัดทำแนวเขตป่าที่ชัดเจน วางกติกาดูแลรักษาป่า ทำแนวกันไฟ ที่นำไปสู่การผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน จนกระทั่งได้กลับมาเน้นการจัดการร่วมกันโดยชุมชนท้องถิ่น จัดทำข้อบัญญัติป่าชุมชนตำบลแม่ทาเป็นแห่งแรกด้วย
“การเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับคน ถ้าคนมีข้อมูลชัดเจน มีการเรียนรู้ มีแนวทางพัฒนา สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ โดยพื้นฐานที่สุดถ้าชาวบ้านสามารถจัดการที่ดินได้ ทุกอย่างสามารถจัดการได้หมด”
“ปลวกสร้างรัง” วิธีแก้ปัญหาของคนคลองหินปูน โดยไม่รอคอยรัฐ
ละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง คณะทำงานการจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัยโดยชุมชนท้องถิ่น เล่าว่า ต.คลองหินปูน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว พื้นที่ 32,340 ไร่ ภาพรวมผู้เดือดร้อน 920 ครัวเรือน ประชากร 2 พันกว่าคน ปัญหาหลักคือน้ำและที่ดินทำกิน อีกทั้งสาธารณูปโภคสาธารณูปการด้วย
จากปัญหาที่ทำที่ดิน หนี้นอกระบบ ชาวบ้านระดมความร่วมมือร่วมใจช่วยกันแก้ไขทีละเล็กละน้อยเหมือนปลวกสร้างรังโดยไม่รอความหวังจากรัฐ อาทิ 1) ตั้งกองทุนที่ดิน/กองทุนที่อยู่อาศัย 2) ตั้งธนาคารตำบล/เศรษฐกิจชุมชน 3) กองทุนเพื่อปลดหนี้ 4) นำเข้าแผน อบต.คลองหินปูน 5) นำสวัสดิการมาเกื้อกูลกองทุนที่ดิน 6) สร้างขบวนเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายที่ดินจังหวัด 30 ตำบล 6) นำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเป้าหมายการพัฒนาขบวนองค์กรชุมชนตำบลคลองหินปูน มุ่งให้ประชาชนมีสวัสดิการครบถ้วนหน้า มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย มีแผนชุมชนที่เกิดจากฐานข้อมูลที่แท้จริง เยาวชนมีกิจกรรมร่วมกับชุมชน มีสื่อประชาสัมพันธ์ตนเอง สามารถแก้ปัญหาหนี้สิน สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้ยั่งยืน
“การทำแผนที่ทำมือ ผังตำบลทำให้เราเห็นข้อมูลสภาพปัญหา ทั้งที่ดิน น้ำประปาน้ำการเกษตร มลพิษจากโรงงาน เส้นทางคมนาคม คลองสายสำคัญ ภัยพิบัติ รวมถึงข้อมูลประวัติศาสตร์ ประมง ข้อมูลกองทุนในชุมชน นำไปสู่การวางแผนพัฒนาทุกด้านของตำบล ทั้งที่ดิน ทรัพยากร เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม”
สำหรับบันได้ 7 ขั้น กระบวนการแก้ปัญหาที่ดินตำบลคลองหินปูนนั้น ขั้นที่หนึ่งเริ่มจากการรวมกลุ่มหาเพื่อน 2) ประชุมสร้างความเข้าใจระดับตำบล 3) ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล 4) อบรมผู้ทำข้อมูล 5) จัดทำข้อมูลหมู่บ้าน 6) สรุปข้อมูลตำบล และขั้นที่ 7 วางแผนแก้ไขปัญหา กำหนดแผนพัฒนาตำบล ส่วนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่ผ่านมา นายละอองดาวสรุปว่า
1.เกิดทีมทำงานของขบวนองค์กรชุมชนจากผู้เดือดร้อนที่ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง 2.เกิดการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่มีมา 50 กว่าปี โดยใช้ชาวบ้านทำกินชั่วลูกชั่วหลาน 3.เกิดการแบ่งปันที่ดินขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จำนวน 300 ไร่ จากที่ดิน 800 ไร่ 4.เกิดการขอเช่าที่ดินธนารักษจำนวน 22 ไร่ 5.เกิดการยกเลิกโรงงานมันสัปปะหลัง 6.เกิดการใช้กองทุนในการซื้อที่ดินจำนวน 3 แปลงซ่อมสร้างไปแล้ว 40 กว่าหลัง 7.เกิดเครือข่ายขบวนที่ดินจังหวัดสระแก้ว 30 ตำบล 8.เกิดการสร้างแกนนำชาวบ้านในการหนุนเสริมการอบรมระบบ ข้อมูลแผนที่ทำมือ ระบบgis โดยขบวนองค์กรชุมชนเองทั้งระดับจังหวัด / ภาค 9.เกิดการผลักดันเป็นนโยบายของจังหวัดในแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยองค์กรชุมชนและท้องถิ่น
10.เกิดการเตรียมพื้นที่ ระบบน้ำ และปรับพื้นดินเพื่อจัดสรรให้คนไม่มีที่ทำกินเพื่อการเกษตร(จากกองทุนที่ดิน) 11.เกิดการปรับพื้นที่ดิน โดยความร่วมมือจากท้องถิ่นและกองทุนที่ดิน เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยร่วมกัน ของคนไม่มีที่ไม่มีบ้านของคนในตำบล 12.เกิดการซ่อมแซมบ้านเรือน 59 หลัง หลังละ 20,000 บาท ยอดดำเนินการแล้ว 460,000 บาท 13.เกิดการใช้กองทุน(ที่ดิน+สวัสดิการ+สถาบันการเงิน) รับซื้อข้าวจากชาวนาในตำบล และขายในนามกลุ่มฯ 14.เกิดความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ โดยได้ให้ตำบลคลองหินปูน จัดนิทรรศการในงานกาชาดจังหวัดสระแก้ว
“กองทุนที่ดินตำบลนาโพธิ์” อำเภอสวี จังหวัดชุมพร
วิระ ปัจฉิมเพ็ชร คณะทำงานที่ดิน จ.ชุมพร เล่ากระบวนการแก้ไขปัญหาที่สาธารณะควนสีแท ต.นาโพธิ์ อ.สวี จ.ชุมพร ว่าเริ่มจากการจัดเวทีทำความเข้าใจการจัดการที่ดินแนวใหม่ เปิดเวทีสิทธิชุมชนเพื่อเรียนรู้กฏหมายที่ดิน ประมวลปัญหานำเสนอต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเสนอข้อมูลในระดับอำเภอ จนมีการแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดิน อ.สวีขึ้นมา หลังจากนั้นทีมงานลงพื้นที่จับพิกัดจีพีเอส สำรวจจัดทำข้อมูลรายแปลง รังวัด พิสูจน์สิทธิ์ จนนำไปสู่การได้รับหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐเป็นการชั่วคราวตามนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน 250 ราย
และได้จัดตั้ง “กองทุนที่ดินตำบลนาโพธิ์” เพื่อเป็นแหล่งรับเงินสนับสนุนจากองค์กรการเงินต่างๆ ในตำบลและหน่วยงานต่างๆ เช่น ธนาคารหมู่บ้าน, กองทุนภัยพิบัติ, กองทุนสวัสดิการชุมชน และที่สำคัญคือ ธนาคารต้นไม้ ได้สนับสนุนการปลูกต้นไม้ในแปลง แล้วขึ้นทะเบียนต้นไม้ ตรวจประเมินมูลค่าต้นไม้เพื่อใช้เป็นหลักประกันเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการลงทุนพัฒนาที่ดิน โดยสนับสนุนการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการปลูกต้นไม้ที่หลากหลาย วงเงินตามเครดิตที่ได้รับจากธนาคารต้นไม้
“เราส่งเสริมการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความมั่นคงด้านอาหาร เศรษฐกิจ รายได้ ที่อยู่อาศัย เพื่อให้ชาวบ้านไม่ขายที่ดินทำกิน ทั้งนี้ปัจจุบันมีสมาชิกกองทุน 130 ราย เงินสะสม 200,000 บาทเพื่อสร้างความมั่นคงอาหารและพันธุ์พืช ยารักษาโรค พืชสมุนไพร สิ่งแวดล้อม อากาศ ภัยพิบัติ ภัยแล้ง น้ำท่วม ซึ่งการจัดการผังตำบลจะนำไปสู่การตอบโจทย์ทุกเรื่อง” นายวิระ กล่าว
…………………………….
เวทีพัฒนาเครือข่ายที่ดินชนบทแนวใหม่ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นก่อรูป “เครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ” ที่ใช้คำขวัญว่า “วางผัง พัฒนาคน พิชิตความจน ปกป้องผืนแผ่นดิน” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของขบวนองค์กรชุมชนที่เคลื่อนงานแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยจาก 5 ภาค โดยแต่ละภาคมุ่งขยายพื้นที่รูปธรรม พัฒนา ศูนย์เรียนรู้ เชื่อมโยงขบวนพัฒนาโดยมุ่งขยายพื้นที่ให้ได้ประมาณ 650 ตำบลในปี 2556 ต่อไป .