สรุป ประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 14
วันที่ 10 พฤศจิกายน สถาบันพระปกเกล้า จัดงานประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 14 ประจำปี 2555 เรื่อง "การปฏิรูปรัฐสภา: มุมมองเชิงเปรียบเทียบ" (Parliamentary Reform: Comparative Perspectives) เป็นวันสุดท้าย ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร โดยได้มีการสรุปผลการประชุมทั้ง 5 กลุ่มย่อย
กลุ่มย่อยที่ 1: บทบาทด้านนิติบัญญัติของรัฐสภา
วิทยากรประกอบด้วย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 นายไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และนายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 โดยมีข้อสรุปว่า ควรมีหน่วยงานวิชาการทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานของรัฐสภา จัดโครงการวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ. ต่างๆ กรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรควรแยกกฏหมายที่ต้องมีการเสนออยู่แล้วออกจากกฏหมายการเงินซึ่งเป็นกฏหมายส่วนใหญ่ เพื่อประโยชน์ในการเสนอและตีความ ทางด้านหน่วยงานราชการต่างๆ ก็ควรศึกษาและออกกฎหมายให้เป็นไปทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมายมากขึ้นด้วย
กลุ่มย่อยที่ 2: การตรวจสอบและถ่วงดุลของรัฐสภา
วิทยากรประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธาณคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน และ ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยทั้งหมดได้เสนอว่า การจะทำให้รัฐสภามีประสิธิภาพในการตรวจสอบนั้น จะต้องทำให้รัฐสภามีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันยังไม่ใช่เพราะ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง ดังนั้น ส.ส. จำเป็นต้องหาจุดสมดุลระหว่างการทำหน้าที่สมาชิกพรรคการเมืองกับสมาชิกรัฐสภาให้ได้ และควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่สืบหาข้อมูลเพื่อตรวจสอบโดยเฉพาะ ไม่ควรปล่อยให้เป็นความสามารถพิเศษของสมาชิกบางคนเท่านั้น
กลุ่มย่อยที่ 3: บทบาทด้านงบประมาณของรัฐสภา
วิทยากรประกอบด้วย นายชาบี โมฮิบ จากธนาคารโลก ศาสตราจารย์ ดร.จรัส สุวรรณมาลา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นางวลัยรัตน์ ศรีอรุณ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ วิทยากรในกลุ่มย่อยนี้มีความเห็นตรงกันว่า รัฐสภายังไม่สามารถแสดงบทบาทในด้านงบประมาณได้ตามที่ระบอบประชาธิปไตยคาดหวัง และได้เสนอแนวทางการแก้ไข 4 ข้อหลักๆ ได้แก่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่คณะกรรมาธิการ การจัดตั้งหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านงบประมาณ การทำให้กลไกการตรวจสอบมีความเป็นกลาง และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน อย่างไรก็ตาม แนวทางปฏิรูปดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงได้ ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายต้องมองข้ามเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองเสียก่อน
กลุ่มย่อยที่ 4: บทบาทด้านการเป็นตัวแทนของประชาชน
วิทยากรประกอบด้วย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า นายสน รูปสูง รองประธานสภาพัฒนาการเมือง นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ประธานกรรมาธิการ การพัฒนาการเมือง การสื่อมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน และ ศาสตราจารย์ Yang Fengchun จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กลุ่มย่อยนี้มีข้อสรุปสำคัญๆ ดังนี้ ต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเองในขั้นแรก ส่วนในเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งของ ส.ส. ก็ต้องเป็นไปด้วยความเป็นธรรม กำหนดให้แบ่ง ส.ส.เป็น 2 ประเภท คือ ส.ส. ตามเขตพื้นที่ และ ส.ส. จามกลุ่มอาชีพ รัฐมนตรีเองก็ต้องมาจากกลุ่มอาชีพด้วย นอกจากนี้ กฏหมายควรส่งเสริมนักการเมืองที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง ตลอดจนส่งเสริมบทบาทสตรีในสภาด้วย
กลุ่มย่อยที่ 5: รัฐสภากับการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
วิทยากรประกอบด้วย รองศาสตรจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า นายเจริญ ภักดีวาณิช สมาชิกวุฒิสภา ดรงผุสดี ตามไท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ข้อสรุปว่า วัฒนธรรมทางการเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่งในปัจจุบัน คือ ประชาชนไม่ไว้ใจสมาชิกในรัฐสภา ดังนั้น รัฐสภาควรต้องทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยร่วมกันให้ได้ ทั้งภาคประชาชน นักการเมือง พรรคการเมือง ประธานรัฐสภา สื่อมวลชน และกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ การจะพัฒนาวัฒนธรรมการเมืองให้ดีขึ้นได้นั้น ต้องสร้างขึ้นจากการมีส่วนร่วมภายใต้ข้อเท็จจริงด้วย
อนึ่ง ภายในงานได้มีการฉายวีดิทัศน์รางวัลพระปกเกล้า และมีพิธีมอบรางวัลพระปกเกล้าสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2555 หลังจากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าแสดงปาฐกถาปิดและกล่าวปิดการประชุม