พลวัตชายแดนใต้...จากจุดไฟแยกดินแดนสู่ไฟล้างแค้นข้ามศาสนา
"จะดับไฟรุนแรงที่ปลายด้ามขวาน ต้องเอาความจริงมาพูดกัน" หลักการนี้จะว่าไปก็เป็นสัจธรรมในการปลดชนวนปัญหาทุกปัญหา รวมทั้งปัญหาไฟใต้ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 7 ปีด้วย และความจริงที่ต้องนำมาพูดกัน ณ วันนี้ก็คือ สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เคลื่อนจากปม "แบ่งแยกดินแดน" ไปสู่ปม "แก้แค้น" ระหว่างผู้คนสองศาสนาชัดเจนขึ้นทุกที กลายเป็นเงื่อนไขใหม่ที่แทรกซ้อนขึ้นมา โดยที่ปมปัญหาเดิมก็ยังคงอยู่ และไม่ได้ถูกลดเงื่อนไขลงแต่ประการใด
ที่น่าตกใจก็คือ ภาครัฐยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาเพื่อป้องกันเงื่อนไขนี้ไม่ให้ลุกลาม ล่าสุดฝ่ายความมั่นคงยังคงทุ่มสรรพกำลังในการกวาดล้างธุรกิจเถื่อนในพื้นที่ ตาม "โจทย์ใหม่" ที่เพิ่งโหมกระแสกันเมื่อไม่นานมานี้เอง
ในบทสัมภาษณ์ขนาดยาวล่าสุดของ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรับผิดชอบปัญหาชายแดนใต้ในส่วนของ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ที่กล่าวกับ ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ พิธีกรชื่อดังในรายการ "เดอะ แชร์" ทางสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ เมื่อไม่นานมานี้ มีอยู่ตอนหนึ่งที่ นายถาวร พูดเอาไว้อย่างน่าสนใจเมื่อถูกถามถึงเอกภาพของหน่วยงานภาครัฐในภารกิจดับไฟใต้
"วันนี้ความเป็นเอกภาพในนโยบายดีอยู่แล้ว แต่ในระดับปฏิบัติยังขาดอยู่ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่บางกลุ่ม บางคน อาจจะแค้นแทนเพื่อนหรือผู้บังคับบัญชาที่สูญเสียจากเหตุการณ์ ก็ไปกระทำการบางอย่างในลักษณะเอาคืน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องระดับนโยบาย แต่เป็นปัญหาเฉพาะบุคคล และได้ให้แม่ทัพภาคที่ 4 ดำเนินการสอบสวนเอาผิดเรียบร้อยแล้ว"
"เรื่องแบบนี้มีไม่มากนัก แค่ 1-2 กรณี แต่ฝ่ายตรงข้ามจะหยิบไปขยายผลเพื่อนำไปสู่องค์กรระหว่างประเทศและองค์กรสิทธิมนุษยชน เช่น โอไอซี (องค์การการประชุมชาติอิสลาม)"
เป็นคำกล่าวของคนระดับรัฐมนตรีผู้กุมนโยบายในรัฐบาล ซึ่งยอมรับว่ากระบวนการ "แก้แค้น-เอาคืน" มีอยู่จริงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนำซ้ำมิได้จำกัดวงเฉพาะชาวบ้านทั่วไป แต่ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวพัน และกลายเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ "ผสมโรง" ความรุนแรง!
สำรวจเหตุร้ายจากไฟแค้น
เหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะหลัง ถูกเฝ้าสังเกตอย่างระแวดระวังจากหลายฝ่ายว่ากำลังกลายเป็นการ "ล้างแค้น-เอาคืน" กันระหว่างคนสองศาสนา โดยเมื่อคนของศาสนาหนึ่งถูกสังหาร ถัดจากนั้นอีกไม่กี่วันจะมีเหตุการณ์รุนแรงที่กระทำต่อคนอีกศาสนาหนึ่งทันที
แน่นอนว่าหลายกรณีเป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบเพื่อหวัง "ตอกลิ่ม" ความขัดแย้งระหว่างคนสองศาสนา แต่ก็ต้องยอมรับว่าอีกหลายๆ กรณี...ไม่ใช่!
และนั่นก็เป็นผลมาจากความหวาดระแวงระหว่างพี่น้องไทยพุทธกับมุสลิมในพื้นที่อย่างชัดแจ้ง เมื่อฝ่ายหนึ่งถูกฆ่าหรือประทุษร้ายก็จะเข้าใจว่าอีกฝ่ายเป็นผู้กระทำทันที แล้วก็นำมาสู่การใช้ "ศาลเตี้ย" และ "ความรุนแรง" เข้าประหัตประหารกัน
เหตุการณ์ที่กลุ่มคนร้ายใช้รถกระบะเป็นพาหนะ และใช้อาวุธปืนสงครามทั้งเอ็ม 16 อาก้า กราดยิงร้านน้ำชา ร้านขายของชำ และบ้านราษฎรถึง 5 จุดในท้องที่หมู่ 5 บ้านกาโสด ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา จนมีชาวบ้านเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บอีก 12 คน เมื่อค่ำวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา คือตัวอย่างอันดี
เพราะหลังจากเหตุเกิดได้ 3 วัน นายพีรพล ปานดำ อายุ 25 ปี ชาว ต.คีรีเขต อ.ธารโต จ.ยะลา ซึ่งเป็นอดีตทหารพราน ก็เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน สภ.บันนังสตา หลังตกเป็นผู้ต้องสงสัยร่วมก่อเหตุกราดยิงร้านน้ำชาที่บ้านกาโสด
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผู้ต้องสงสัยรายนี้เป็นน้องชายของ นายสมบัติ ปานดำ ซึ่งเพิ่งถูกคนร้ายฆ่าแล้วเผาในท้องที่หมู่ 1 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมานี้เอง เหตุเกิดขณะนายสมบัติกำลังออกจากบ้านไปหาของป่า
จริงๆ แล้วหลังเกิดเหตุกราดยิงร้านน้ำชาที่บ้านกาโสดจนมีพี่น้องมุสลิมเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ถัดจากนั้นเพียง 2 วันก็เกิดเหตุฆ่าเผาชาวไทยพุทธ 2 รายทันทีในท้องที่หมู่ 5 บ้านกาโสดนั่นเอง โดยเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายคือ นายวิรัตน์ แต้มประสิทธิ์ อายุ 42 ปี ชาว จ.พัทลุง กับ นางหนูแดง ศรีวิเชียร อายุ 43 ปี ภรรยาของนายวิรัตน์ ชาว จ.ตรัง เหตุเกิดขณะที่ทั้งคู่กับขี่รถจักรยานยนต์กลับจากซื้อของที่ตลาดนัดบันนังสตา
ส่วนเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา หรือราวๆ 2 เดือนก่อนหน้า ก็เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงพระสงฆ์มรณภาพ 1 รูป และยังมีพระสงฆ์กับสามเณรได้รับบาดเจ็บอีก 2 รูป ขณะกำลังออกบิณฑบาตบนถนนสายโคกโพธิ์–บางโกระ ท้องที่บ้านโคกโพธิ์ หมู่ 7 ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
เหตุการณ์ร้ายที่กระทำต่อภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 3 มี.ค.มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนขับรถกระบะไม่ทราบยี่ห้อและหมายเลขทะเบียน ใช้อาวุธปืนประกบยิง นายเจ๊ะอาลี จิยีมะ อายุ 54 ปี โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดอัสลาม (ปาแดตืองู ) บ้านป่าอ้อย บ้านย่อยของบ้านคลองหิน หมู่ 2 ต.ปากล่อ อ.โคกโพธิ์ เสียชีวิต และนายอุเซ็งตาแง เซ็งตาเห อายุ 66 ปี คอเต็บประจำมัสยิดอัสลาม ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดขณะที่นายเจ๊ะอาลีกำลังขี่รถจักรยานยนต์กลับจากร่วมประชุม ณ ที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ กำลังมุ่งหน้ากลับบ้าน โดยมีนายอุเซ็งตาแงนั่งซ้อนท้าย
นี่คือตัวอย่างเพียง 2-3 เหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็น "เหตุร้ายจากไฟแค้น" ที่กำลังคุโชนในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน
แต่งกายคล้ายทหาร...ข้ออ้างเสื่อมมนต์ขลัง
นอกจากการแก้แค้นหรือฆ่ากันไปมาระหว่างคนสองศาสนาในพื้นที่ซึ่งเริ่มปรากฏถี่ขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เหตุการณ์ที่ดูจะยิ่งซ้ำเติมความหวาดระแวงก็คือ ผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัย หรือคนที่ก่อเหตุร้ายจำนวนหนึ่งกลายเป็น "คนของรัฐ" โดยเฉพาะทหารพรานและอดีตทหารพราน
ตรงตามที่นายถาวรเคยพูดไว้ว่า มีเจ้าหน้าที่บางกลุ่ม บางคน ต้องการแก้แค้นแทนเพื่อน!
ขณะที่บางรายก็ก่อเหตุในลักษณะ "รับจ้าง" หรือ "หวังชิงทรัพย์" โดยใช้อาวุธปืนซึ่งเกลื่อนกลาดอยู่ในชายแดนใต้นั่นแหละเป็นอุปกรณ์
กรณีตัวอย่างล่าสุดคือเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมานี้เอง คือการแถลงข่าวจับกุม อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) มูฮำหมัดสายูตี บือราเฮ็ม ซึ่งร่วมกับพวกที่ไม่ใช่ทหารก่อคดีพยายามฆ่า นายเจริญชัย พรพิสุทธิ์นรกุล อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 9 ถนนพัฒนา ซอย 6 อ.เบตง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 6 พ.ค. เหตุเกิดบนถนนสายตะโล๊ะหะลอ–ยี่งอ บ้านกูแบสะตู หมู่ 1 ต.ตะโล๊ะหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา
ขณะที่คดีของ นายพีรพล ปานดำ อดีตทหารพรานสังกัดกรมทหารพรานที่ 41 ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยคดีกราดยิงร้านน้ำชาที่บ้านกาโสด ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนปัญหาเดียวกัน
ที่น่าสนใจก็คือข่าวสารที่รายงานผ่านช่องทางการสื่อสารของเจ้าหน้าที่เองช่วงหลังเกิดเหตุร้ายหลายๆ เหตุการณ์ มักระบุว่า "คนร้ายแต่งกายคล้ายทหาร" หรือ "แต่งกายเลียนแบบทหาร" โดยนัยหมายถึงเจ้าหน้าที่ถูกใส่ร้ายโดยคนร้ายที่เป็น "กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง" หรือ "กลุ่มก่อความไม่สงบ" ต้องการป้ายสีรัฐว่าก่อความรุนแรงเสียเอง เพื่อสร้างกระแสเกลียดชังทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงให้เกิดในหมู่ชาวบ้านส่วนใหญ่
แต่เมื่อไปๆ มาๆ มีการจับกุมคนร้ายหรือผู้ต้องสงสัยที่กลายเป็น "คนของรัฐ" หรือ "อดีตคนของรัฐ" เสียเองเช่นนี้ วลีที่ว่า "คนร้ายแต่งกายเลียนแบบทหาร" จึงเริ่มเสื่อมมนต์ขลังลงไป
จะว่าไปประเด็นลักษณะนี้ก็เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยกันมานาน โดยเฉพาะเหตุรุนแรงหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางวงล้อมด่านตรวจของตำรวจ ทหารเต็มพื้นที่ แต่คนร้ายที่มีรถกระบะเป็นพาหนะ (ไม่ใช่รถจักรยานยนต์ที่ซอกแซกหลีกหลบไปได้ง่ายๆ) กลับเล็ดลอดด่านตรวจมากมายไปได้อย่างน่าฉงน
คนนอกพื้นที่หลายคนที่เคยลงไปสัมผัสความรู้สึกของพี่น้องประชาชนชาวสามจังหวัดถึงในระดับหมู่บ้าน คงทราบข้อมูลดีว่า เหตุร้ายแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น จริงๆ แล้วชาวบ้านที่เป็น "คนใน" ก็รู้ๆ อยู่ว่าเป็นฝีมือของใครหรือฝ่ายใด
ยกตัวอย่างกรณีเหตุกราดยิงร้านน้ำชาที่บ้านกาโสด ได้สร้างกระแสตึงเครียดขึ้นในหมู่บ้านเป็นอย่างมาก แถมมีใบปลิวถล่มซ้ำว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และทันทีที่นายพีรพลซึ่งเป็นอดีตทหารพรานเข้ามอบตัว เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ก็ได้เดินทางเข้าไปชี้แจงความคืบหน้าของคดีให้ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และชาวบ้านรับทราบถึงที่มัสยิดในหมู่บ้านกาโสด ผลการชี้แจงและการเข้ามอบตัวของอดีตทหารพราน ทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดในหมู่บ้านคลี่คลายลงระดับหนึ่ง
สอดคล้องกับท่าทีของ นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ที่เข้าไปติดตามความคืบหน้าของคดีถึงในหมู่บ้าน และประกาศต่อหน้าชาวบ้านว่า "ถ้าไม่มีใครกล้าไปจับกุมคนร้าย ผมจะอาสาโดยใช้อำนาจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองนำกำลังไปจับกุมด้วยตนเอง"
คำพูดของผู้ว่าฯกฤษฎา เสมือนหนึ่งรู้อยู่แล้วว่าทีมฆ่าเป็นใคร และ/หรือมีความเชื่อมโยงกับอิทธิพลอำนาจในส่วนใด โดยเฉพาะส่วนที่อาจเกี่ยวข้องกับรัฐ!
นี่อาจเป็นหนึ่งในคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมสถานการณ์ภาคใต้จึงสงบยากเย็นเสียเหลือเกิน...
คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ความยุติธรรม
เมื่อปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเคลื่อนจากการก่อเหตุรุนแรงเพื่อหวังผลแบ่งแยกดินแดน ไปสู่การก่อเหตุเพื่อ "แก้แค้น-เอาคืน" ระหว่างกัน หนำซ้ำยังมีบางเหตุการณ์เชื่อมโยงกับ "คนของรัฐ" หรือ "อดีตคนของรัฐ" ด้วย การจะปลดชนวนที่เป็น "เงื่อนไข" ลักษณะนี้ จึงมีหนทางเดียวเท่านั้นคือ รัฐต้องอำนวยความยุติธรรมอย่างเสมอหน้า แม้ว่า "คนของรัฐ" จะตกเป็นผู้ต้องหา ก็ต้องดำเนินคดีโดยไม่มีละเว้น
แต่ปัญหาก็คือภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมลำดับต้น ได้พยายามอำนวยความเป็นธรรมอย่างเสมอหน้าจริงหรือเปล่า?
หากย้อนดูคดีฆ่า 10 ศพในมัสยิดไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2552 ซึ่งผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับจนถึงขณะนี้มีเพียงรายเดียวคือ นายสุทธิรักษ์ คงสุวรรณ อดีตทหารพราน อยู่บ้านเลขที่ 132 หมู่ 10 ต.บางปอ อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งนายสุทธิรักษ์ยอมเข้ามอบตัวเมื่อวันที่ 14 ม.ค.2553 ที่กองบังคับการปราบปราม กรุงเทพมหานคร ทว่าสุดท้ายพนักงานสอบสวนกลับสั่งไม่ฟ้องคดี และกระทั่งถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในทางคดีอีกเลยนั้น ก็คงพอให้คำตอบได้ในเบื้องต้นว่า "ความยุติธรรมอย่างเสมอหน้า" ดูจะยังไม่เกิดขึ้นจริงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่สำคัญเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดไอร์ปาแย ซึ่งเปรียบเสมือน "บ้านของพระเจ้า" ของพี่น้องมุสลิม ก็มีข้อมูลจากในพื้นที่ว่าอาจเป็นการก่อเหตุเพื่อ "ล้างแค้น" กรณีชาวไทยพุทธหมู่บ้านใกล้เคียงกันถูกสังหารเมื่อเพียงสิบกว่าชั่วโมงก่อนเสียงปืนดังที่ไอร์ปาแยก็เป็นได้
หากความจริงเป็นเช่นนั้นย่อมหมายความว่า พี่น้องไทยพุทธเองก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมในแง่หลักประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงไม่สามารถพึ่งพากระบวนการยุติธรรมในการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดได้ด้วย...
เมื่อความยุติธรรมยังไม่เกิด การใช้ความรุนแรงเพื่อพิพากษากันเองก็จะยิ่งน่าหวาดสะพรึง!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายเข้าชี้แจงชาวบ้านบ้านกาโสด อ.บันนังสตา จ.ยะลา ภายหลังอดีตทหารพรานที่ตกเป็นผู้ตองสงสัยร่วมก่อเหตุกราดยิงร้านน้ำชา เข้ามอบตัว
2 ทหารยืนรักษาความปลอดภัยบริเวณหน้ามัสยิด เพื่อป้องกันการก่อเหตุรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ที่หวังตอกลิ่มคนสองศาสนา
อ่านประกอบ :
- "ยิงพระ-ฆ่าอิหม่าม" จุดชนวนขัดแย้งศาสนา และน้ำตาของมารดาพระอภิชัย
http://www.south.isranews.org/scoop-and-documentary/scoop-news-documentary/751-q-q-.html
- ส.ว.อนุศาสตร์ กับคำถามถึงบทบาทของภาคสังคม หลังกรณียิงชุด รปภ.พระ
http://www.south.isranews.org/interviews/648-2010-12-22-02-08-46.html