วิกฤตชุมชนชาวเล : เมื่อ “พื้นที่ทางกายภาพและจิตวิญญาณ” ถูกคุกคาม
…ไม่มีทะเล ไม่มีที่ทำกิน มีแผ่นดิน ไม่มีที่อยู่อาศัย…
ปัจจุบันมี 41 ชุมชนชาวเล 2,758 ครัวเรือนราว 12,000 คน กระจายใน 5 จังหวัดอันดามัน
คือภูเก็ต 5 ชุมชน พังงา 20 ชุมชน ระนอง 3 ชุมชน กระบี่ 10 ชุมชน สตูล 3 ชุมชน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มมอแกน เป็นชาวเลที่มีวิถีหาอยู่หากินกับทะเลมากกว่าบนฝั่ง ส่วนใหญ่ยังสื่อสารกันเป็นภาษามอแกน และอาศัยตามเกาะต่างๆ เช่น เกาะเหลา เกาะสินไห เกาะช้าง และเกาะพยามในจังหวัดระนอง หมู่เกาะสุรินทร์ ในจังหวัดพังงา และบ้านราไวย์ในจังหวัดภูเก็ต มีประชากรกว่า 2,100 คน
กลุ่มมอแกลน อาศัยตั้งบ้านเรือนชายฝั่งทะเล มีวิถีชีวิตผสมผสานกับสมัยใหม่ เช่น หมู่บ้านชาวเลชายฝั่งทะเลกว่าสิบหมู่บ้านในจังหวัดพังงา ภูเก็ต และ เกาะพระทอง ประชากร 3,700 คน และกลุ่มอูรักลาโว้ย เป็นชาวเลที่มีภาษาพูดเฉพาะแตกต่างจากมอแกน และมอแกลน เป็นกลุ่มที่อาศัยตามเกาะต่างๆ ในจังหวัดสตูล ภูเก็ตบางส่วน และกระบี่ เช่น เกาะลันตา เกาะ พีพี ฯลฯ มีประชากรกว่า 6,200 คน
งดงาม...ท่ามกลางวัฒนธรรมที่...เรียบง่าย
ชาวเลทั้งสามกลุ่ม มีวิถีทางวัฒนธรรม การแสดงพิธีกรรม ที่แตกต่างหลากหลายเรียบง่าย งดงาม เกี่ยวข้องกับการเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และธรรมชาติ อาทิเช่น พิธีไหว้หลาพ่อตาหรือโต๊ะ ตามความเชื่อของแต่ละพื้นที่ พิธีนอนหาด พิธีลอยเรือ พิธีอาบน้ำมนต์ งานกินข้าวกลางบ้าน การแสดงรองแง็งและกาหยง ฯลฯ เหล่านี้เป็นกระบวนการเชื่อมร้อยจิตวิญญาณของคนแต่ละรุ่นแต่ละตระกูลเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ ชาวเลมีประสบการณ์และภูมิปัญญาความชำนาญเกี่ยวกับทะเลเป็นอย่างยิ่ง ทั้งการจับทิศทางคลื่นลม การจับสัตว์น้ำ การดำน้ำ การสร้างเรือ การเอาชีวิตรอดในทะเล ฯลฯ
ดังนั้น การไม่ปกป้องดูแลจากสังคมและระดับนโยบาย นั่นหมายถึงการทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่ควรสืบทอดให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
ผลพวงการพัฒนา ก่อความเหลื่อมล้ำ...เบียดขับชาวเล
กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ได้รับผลพวงจากการพัฒนาสมัยใหม่ ที่ไม่สมดุลเหมือนกับชนเผ่าพื้นเมืองอื่น ๆ ของประเทศไทย ทั้งการพัฒนาอันดามัน เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวระดับโลก และการประกาศเขตอุทยาน / เขตอนุรักษ์ทับที่ทำกินดั้งเดิมของชาวเล ส่งผลให้เบียดขับวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวเล พื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ประกอบพิธีกรรมถูกยึดด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งทะเล ที่เน้นการให้บริการนักท่องเที่ยว ที่มีมาทีหลัง ทำให้ชาวเลไม่มีสิทธิเข้าไปหากินในที่เคยทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญไทยรับรองสิทธิตามจารีตประเพณีดั้งเดิม แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชาวเลตกต่ำลงเรื่อยๆ
ปัญหาไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย : เมื่อเอกสารสิทธิ อยู่เหนือสิทธิชุมชนดั้งเดิม
ชาวเลส่วนใหญ่ไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย เพราะไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน โดยส่วนใหญ่ชุมชนอยู่ในที่ดินรัฐ บางชุมชนมีเอกชนอ้างสิทธิเหนือที่ดิน โดยออกเอกสารทับที่ชุมชนและฟ้องขับไล่ชาวเล มีชุมชนชาวเลรวม 41 แห่งไม่มั่นคงในการอยู่อาศัยถึง 28 แห่ง
ชุมชนชาวเลที่มีเอกชนอ้างสิทธิเหนือที่ดินและมีปัญหาความไม่ชัดเจนในการถือครองที่ดิน คือ ชุมชนชาวเลอูรัคราโวยเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ชุมชนชาวเลอูรัคลาโวยบ้านแหลมตง เกาะพีพีจังหวัดกระบี่ ชุมชนเกาะสิเหร่ และชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ จังหวัดภูเก็ต สำหรับชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ มีจำนวน 255 ครัวเรือนกว่า 2,000 คน ถูกฟ้องขับไล่แล้ว 10 ครอบครัว และมีแนวโน้มว่าจะถูกทะยอยฟ้องทั้งชุมชน
การขาดกรรมสิทธิ์ที่ดินส่งผลกระทบต่อสวัสดิการอื่นๆ เช่น ต้องใช้น้ำประปาไฟฟ้า ราคาแพงกว่าคนทั่วไป 2 ถึง 3 เท่าเพราะซื้อแบบต่อพ่วง ขาดโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานท้องถิ่น
ปัญหาที่ทำกินดั้งเดิมในทะเล ถูกแย่งชิง...จากกฎหมาย นโยบายและทุน
แต่เดิมชาวเล หากินตามเกาะแก่ง ท้องทะเลและหน้าหาด แต่นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้ชายหาด ท้องทะเลและแหล่งดูปะการังถูกเป็นพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยว เมื่อชาวเลเข้าไปวางเครื่องมือดักปลา ต้องเผชิญกับความเสี่ยง จากการถูกทำลายโดยนักท่องเที่ยวหรือถูกคุกคามจากกลุ่มคนของบริษัท
การประกาศพื้นที่อุทยานทางทะเลทับซ้อนพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชาวเล ทำให้การเข้าไปทำกินผิดกฎหมาย ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสิทธิทำกินตามจารีตประเพณีดั้งเดิมที่ระบุในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กับการประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกินดั้งเดิมของชาวเล
และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล
“การให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมง หาทรัพยากรตามเกาะต่างๆได้และเสนอ ผ่อนปรนพิเศษในการประกอบอาชีพประมงที่ใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมของกลุ่มชาวเลในการเข้าไปทำมาหากินในพื้นที่อุทยานและเขตอนุรักษ์อื่น ๆ และกันพื้นที่จอด ซ่อมเรือ เส้นทางเข้า – ออกเรือ เนื่องจากส่วนมากทับซ้อนพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว มีความขัดแย้งกันเป็นระยะ รวมถึงการควบคุมเขตการทำประมงอวนลากและอวนรุนให้เป็นไปตามข้อตกลงอย่างแท้จริง ( รุกล้ำเขตประมง ชายฝั่ง ) “
แต่ มติครม.ไม่มีผลในทางปฏิบัติ ในระหว่างปี 2553-2555 มีชาวเลถูกเจ้าหน้าที่อุทยานจับกุมพร้อมยึดเรือ อุปกรณ์และสัตว์น้ำ 32 ราย เป็นการกระทำขัดมติคณะรัฐมนตรี และจงใจใช้อำนาจโดยฝ่าฝืนสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ผิดวินัยอย่างร้ายแรง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
ขุมน้ำเขียว ตะกั่วป่า ชาวใช้จอดเรือ และหากินหน้ามรสุม แต่ตอนนี้มีเอกชนอ้างสิทธิ์ขับไล่ ข่มขู่ชาวเล ไม่ให้เข้าไปจอดเรือ หากินอีก, ผู้หญิงชาวเลหากินกับการตอกหอยติบ หน้าชายหาด แต่เมื่อหาดกลายเป็นโรงแรม /รีสอร์ทเพื่อกาท่องเที่ยว ก็ถูกขับไล่ไม่ให้เข้าไปหาอีก
ชาวเลต้องออกทะเลไกลค่าใช้จ่ายสูง ต้องดำน้ำลึกขึ้น อันตรายกับชีวิต บางครั้งนักท่องเทียว แอบตัดอวนปล่อยปลา “ เราดำน้ำลงไปเห็นฝูงปลาดักมาได้สัก 100 โลแบ่งกันกินและขายมีรายได้ทั้งชุมชน แต่ก่อนค่ำเห็นเรือลำใหญ่เข้ามาแล้ว ปลาฝูงนี้หมดแน่ เขาลากไปทีละหลายตันเข้ามาในเขตพื้นบ้านก็ไม่มีใครจับหากเรือใหญ่มาเราก็อดกันทั้งชุมชน “ เป็นเสียงจาก พรานทะเลกลอย บางจาก ชุมชนราไวย์ ที่หลังจากเกิดโรคน้ำหนีบจนเส้นเลือดในสมองแตก แต่ใจยังสู้ ไม่เคยท้อกับปัญหา ...ตอนนี้ถูกฟ้องขับไล่ที่ด้วย
“พวกเราเอาเครื่องมือจับปลาไปวางลงในทะเล บางครั้งมันอยู่ใกล้กับแหล่งปะการัง แหล่งดำน้ำของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อก่อนเป็นแหล่งทำกินสำคัญของชาวเล เมื่อนักท่องเที่ยวเห็นเครื่องมือหาปลาของพวกเรา เค้าก็นึกว่าเราทำลายสิ่งแวดล้อม นึกว่าเราจับปลาสวยงาม เค้าก็ตัดลวดทำลายเครื่องมือของพวกเราเพื่อปล่อยให้ปลาเป็นอิสระ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อย เราต้องเสียเงิน เสียเวลา เสียของอยู่เรื่อยๆ เมื่อออกไปวางอวนหรือเครื่องมือหาปลาไกลออกไปกว่า 5,400 เมตร แต่อุปสรรค คือเรือประมงอวนลากขนาดใหญ่ได้ลากเอาอวนหรือเครื่องมือของเราไปด้วย บางทีหาไม่เจอเลย ” ซาติน ช้างน้ำ ชาวเลชุมชนโต๊ะบาหลิว เล่า
สุสานและพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ถูกคุกคาม
ชาวเลมีพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น พิธีลอยเรือ การไหว้บูชาหลาหรือโต๊ะที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีนอนหาด ซื่งเป็นการรวมญาติและทำพิธีสะเดาะเคราะห์เสี่ยงทาย งานกินข้าวกลางบ้าน พิธีอาบน้ำมนต์ ฯลฯ ดังนั้นทั้งสุสานและพื้นที่พิธีกรรมจึงเป็นแหล่งรวมจิตวิญญาณ และสืบทอดจารีตประเพณีชาวเลที่มีมาดั้งเดิม แต่นโยบายท่องเที่ยวทำให้เกิดการรุกรานที่ดินสุสานและยึดพื้นที่พิธีกรรมชาวเลไปเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชาวเลบางชุมชนไม่มีพื้นที่ทำพิธีกรรม สุสานชาวเลหลายแห่งถูกอ้างสิทธิครอบครองโดยนายทุน/ผู้มีอิทธิพล ปัจจุบันมีพื้นที่สุสานและพื้นที่พิธีกรรมถูกคุกคามไม่ต่ำกว่า 15 แห่ง
ที่ภูเก็ตชาวเลไม่สามารถเดินเข้าออกสุสานได้เพราะเอกชนที่อ้างเป็นเจ้าของที่ดินทำประตูปิดสุสาน หากมีผู้เสียชีวิตต้องขอกุญแจไปเปิดสุสานเพื่อนำศพเข้าไปฝัง, ที่เกาะพีพีโรงแรม 4 แห่งสร้างทับสุสานชาวเล เหลือสุสานแห่งสุดท้าย ล่าสุดยังมีการทำถนนผ่านกลางสุสาน โดยไม่ใส่ใจความรู้สึกของชาวเล, พื้นที่เพื่อทำพิธีกรรมและนอนหาด “ หาดไม้ขาว ” ของชาวเลจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันมีการก่อสร้างโรงแรมชาวเลไม่มั่นใจว่าพื้นที่หาดสาธารณะจะถูกปิดเหมือนหาดอื่นๆในภูเก็ตหรือไม่, เกาะหลีเป๊ะ รีสอร์ทสร้างติดกับสุสาน ชาวเลเล่าว่าตอนนี้เขาห้ามฝังแล้ว คิดว่าระยะยาวจะถูดยึด เหมือนสุสานที่เกาะอื่นๆ, พื้นที่ประกอบพิธีกรรม ของชาวเลราไวย์ ภูเก็ต เป็นลานโล่งที่ชาวเลทำต่อเนื่องมาทุกปี แต่ เอกชนอ้างเอกสารสิทธิ์ ทำให้ชาวเลรวมกลุ่มกันสร้างหลาบูชาเล็กๆไว้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์และแสดงสิทธิ
ปัญหาไร้สัญชาติ ไร้สิทธิขั้นพื้นฐาน
18 กันยายน 2550 มีมติครม.เรื่องแนวทางและหลักการกำหนดสถานะให้ชาวมอแกน 724 คน หลังจากนั้นมีชาวมอแกนที่อาศัยที่หมู่เกาะสุรินทร์ 94 คนได้รับบัตรประชาชน แต่ยังมีชาวมอแกนกว่า 600 คน เกาะเหลา เกาะช้าง และเกาะพยาม ไม่ได้บัตรประชาชน เป็นเพียงบัตรบัตรเลข 0 ซึ่งไม่มีสิทธิในบริการพื้นฐานของรัฐ เช่น รักษาพยาบาล เบี้ยยังชีพ การเดินทาง คุ้มครองแรงงาน ซึ่งทำให้มีโอกาสถูกข่มขู่และเรียกเก็บเงิน
ดอกบัว เกาะลอยและลูกสาว น้องดอกมะลิ เกาะลอย แม่ของหนูน้อยไม่มีบัตรประชาชนจึงเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานการรักษาพยาบาล และไม่กล้าพาลูกไปหาหมอตามนัดหลังคลอด เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ชาวเลที่ไม่มีบัตรป่วยหนักและเสียชีวิตในโรงพยาบาล ไม่ได้รับสิทธิในการักษาฟรี ต้องหาเงินมาจ่าย 50,000 บาท จึงจะนำศพออกมาได้ ไม่มีเงินต้องทำสัญญาผ่อนชำระรายเดือน มีเสียงสะท้อนว่า ตอนมีชีวิต นายไต๋เบ้นยากจน ไร้ค่า แต่เมื่อตายกลับมีราคา “ เราต้องผ่อนศพ ”
ปัญหาการขาดความมั่นใจ / ภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม และอีกมาก
ชาวเลเผชิญกับปัญหาที่บั่นทอนความมั่นคงด้านวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ แม้ว่าจะเป็นคนพื้นเมือง แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการศึกษา ภาษาและวัฒนธรรมกำลังสูญหาย ขาดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมตนเอง ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นรอบด้านและการเข้าไม่ถึงระบบการเงินธนาคาร ทำให้ต้องเป็นหนี้นอกระบบ จ่ายดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 – 60 บาทต่อเดือน และถูกข่มขู่คุกคามหากไม่จ่ายเงินรายวัน
………………….....
2 มิถุนายน 2553 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมงหาทรัพยากรตามเกาะต่างๆได้ โดยผ่อนปรนพิเศษในการที่ใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมของกลุ่มชาวเล การช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การแก้ปัญหาสัญชาติ การส่งเสริมด้านการศึกษา การแก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ การส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรม การส่งเสริมชุมชนและเครือข่ายชาวเลให้เข้มแข็ง รวมทั้งให้มีงบประมาณส่งเสริม วันนัดพบวัฒนธรรมชาวเล หากแต่ยังไม่เป็นผลในทางปฏิบัติ !
ที่มา : เอกสารประกอบการเสวนา “วิกฤติ วิถีชาวเล” โดยมูลนิธิชุมชนไทย, สสส., ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง, เครือข่ายชาวเล .