กรณีศึกษาผู้ว่าฯปัตตานี-ยะลา...ความสลับซับซ้อนของปัญหาชายแดนใต้
มอเตอร์ไซค์บอมบ์ที่พุ่งเป้าถล่มรถยนต์ประจำตำแหน่งของ นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เมื่อบ่ายวันอังคารที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะปฏิบัติภารกิจอยู่ในพื้นที่ อ.ปะนาเระ สร้างความตื่นตระหนกให้กับหลายฝ่ายว่าสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เล่นกันแรงถึงขนาดนี้แล้วหรือ
พร้อมๆ กับคำถามเสียดแทงใจที่เกิดขึ้นตามมา...ขนาดผู้ว่าฯยังโดน แล้วประชาชนจะไปเหลืออะไร?
ผู้ว่าฯนิพนธ์ ซึ่งโชคดีไม่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุร้าย วิเคราะห์สาเหตุที่เขาตกเป็นเป้าลอบวางระเบิดว่า น่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่ต้องการตอบโต้การทำงานของตัวเขาและหน่วยงานภาครัฐที่เข้าไปสร้างการมีส่วนร่วมจนได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน พยายามสร้างความเข้าใจกับผู้นำศาสนาไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของขบวนการผู้ไม่หวังดีที่พยายามบิดเบือนหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นยังได้ทำบันทึกข้อตกลง หรือ "เอ็มโอยู" การร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานราชการ ผู้นำศาสนา และผู้นำชุมชนเพื่อสร้างสันติ ซึ่งได้รับความร่วมมือดีมาก
"ผมเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่กลุ่มแนวร่วมไม่พอใจและลอบทำร้ายผม" ผู้ว่าฯนิพนธ์ ให้สัมภาษณ์เอาไว้หลังเกิดเหตุ
จากการวิเคราะห์ของผู้ว่าฯปัตตานี สรุปง่ายๆ ก็คือการก่อเหตุรุนแรงถึงขั้นจะเอาชีวิตกันนั้น เป็นปัญหาจากการปฏิบัติงานที่ไปขัดขวางเส้นทางของบรรดากลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งหากการวิเคราะห์นี้เป็นจริง ผู้ว่าราชการจังหวัดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคนย่อมล้วนตกอยู่ในอันตราย เพราะภารกิจสำคัญของฝ่ายปกครองก็คือ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้ราษฎร สวนทางกับแนวทางการก่อความไม่สงบชัดเจนอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่เกิดกับผู้ว่าฯปัตตานี (หากไม่มีข้อเท็จจริงอื่นนอกเหนือจากที่ท่านวิเคราะห์) ก็ยังไม่ค่อยสลับซับซ้อนมากนัก โดยเฉพาะหากเทียบกับผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายกฤษฎา บุญราช
แม้ผู้ว่าฯกฤษฎาจะไม่ได้ถูกลอบทำร้ายด้วยการก่อเหตุรุนแรง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อเมืองรายนี้ก็ร้ายแรงไม่แพ้กัน เพราะเขาโดนทั้งใบปลิวโจมตี และการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชนิดถี่ยิบ ทั้งๆ ที่บทบาทและผลงานของผู้ว่าฯกฤษฎา จัดว่าได้รับการยอมรับอย่างสูงจากประชาชนชาวยะลาและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งตลอด 1 ปีครึ่งที่เขาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กับอีก 3 ปีในตำแหน่งรองผู้ว่าฯยะลา ก็แทบไม่เคยมีข่าวคราวเสียๆ หายๆ พาดพิงถึงตัวเขาเลย
ที่สำคัญคือท่าทีที่ผู้ว่าฯกฤษฎาแสดงออกหลังเกิดเหตุการณ์สับสนอลหม่านในพื้นที่รับผิดชอบนั้น หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้วจะพบนัยยะหลายประการที่สะท้อนว่าปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีเฉพาะ "การก่อความไม่สงบ" ด้วยอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนแต่เพียงอย่างเดียว
เส้นทางสายวิบากที่ยะลา...กระพือใบปลิวถล่มผู้ว่าฯ
ช่วงปลายเดือน ม.ค.ต่อเนื่องถึงต้นเดือน ก.พ.2554 มีการแจกจ่ายใบปลิวโจมตีผู้ว่าฯกฤษฎาถึงในพื้นที่เขตเมืองและย่านที่เป็นสถานที่ตั้งของหน่วยราชการ เนื้อหาในใบปลิวจัดว่ารุนแรงไม่น้อย เพราะกล่าวหาว่าผู้ว่าฯกฤษฎาไปพูดจาเหยียดหยามอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ที่เป็นมุสลิมในประเด็นที่เกี่ยวโยงกับศาสนา ขณะออกตรวจการปฏิบัติหน้าที่ในค่ำคืนหนึ่งของเดือน ม.ค.
ใบปลิวที่ว่านี้พิมพ์ข้อความด้วยระบบคอมพิวเตอร์เป็นภาษาไทย ความยาว 2 หน้ากระดาษเต็มๆ เนื้อหาตำหนิการกระทำของผู้ว่าฯกฤษฎา การเรียบเรียงและการใช้ภาษาไทยต้องบอกว่าดีเยี่ยม แม้จะลงท้ายด้วยถ้อยคำที่แสดงให้เห็นว่าคนเขียนเป็นมุสลิมก็ตาม
ผู้ว่าฯกฎษฎา ให้สัมภาษณ์กับ "ทีมข่าวอิศรา" ช่วงหลังเกิดเรื่องใหม่ๆ ว่า รู้สึกงงกับใบปลิวที่ออกมา จากนั้นได้หารือกับผู้นำในพื้นที่ และได้ไปชี้แจงให้ผู้ใหญ่ทราบว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง
"ไม่ขอพูดอะไรมาก อยากให้ฟังคนอื่นพูดมากกว่า เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยะลามาได้ปีครึ่ง ได้ยึดหลักของผู้นำที่ดีมาตลอด และใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา จึงรู้สึกงงว่าใบปลิวลักษณะนั้นออกมาได้อย่างไร"
หลังมีใบปลิวเผยแพร่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็มีแถลงการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ลงนามโดย นายนิมิง นิมูดอ อิหม่ามประจำมัสยิดกลางยะลา กับ นายอับดุลรอแม เจะแซ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ยืนยันว่าเหตุการณ์ที่ระบุในใบปลิวว่าผู้ว่าฯกฤษฎาพูดจาดูหมิ่น อปพร.ที่เป็นมุสลิมนั้นไม่เป็นความจริง และเป็นการใส่ร้าย
การเมือง-ชิงอำนาจ-สวมรอยขบวนการ?
ช่วงที่มีใบปลิวโจมตีผู้ว่าฯกฤษฎาออกมา มีเสียงร่ำลือในพื้นที่อยู่เหมือนกันว่าเป็นฝีมือของขบวนการก่อความไม่สงบที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ซึ่งมักนิยมกระพือข่าวโดยใช้ "ใบปลิว" เป็นเครื่องมือ แต่กระแสดังกล่าวนี้ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่าย
นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิ จ.ยะลา ในฐานะผู้นำศาสนา กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ได้สืบหาความจริงในพื้นที่แล้ว และพบว่าเป็นเรื่องเท็จ เป็นการเล่นการเมืองของคนที่เสียผลประโยชน์มากกว่า เพราะอีกไม่นานก็จะมีการเลือกตั้งใหม่ แน่นอนว่าจะต้องมีบางฝ่ายพยายามเล่นเกมนี้เพื่อเล่นงานผู้ว่าฯกฤษฎา โดยหวังผลทางการเมือง
"จากที่ได้อ่านใบปลิว คำที่อ้างว่าผู้ว่าฯใช้และเป็นการดูหมิ่นมุสลิมนั้นไม่มีความเป็นธรรมชาติเลย และเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาสิ่งเหล่านั้นมาพูดผสมรวมกัน รวมถึงเรื่องเอาน้ำมันหมูมาราดบนหัวยิ่งแล้วใหญ่ว่าจะพูดไปทำไม ไม่ใช่ธรรมชาติที่คนจะพูดกันเลย ยิ่งตอนนี้มีการแอบอ้างกันว่าเป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการ ผมยิ่งเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องจริง" นิมุ กล่าว
ขณะที่กำนันรายหนึ่งใน จ.ยะลา (ขอสงวนนาม) มองว่า ต้นตอของใบปลิวน่าจะมาจากความพยายามชิงดีชิงเด่นกันของกลุ่มข้าราชการในพื้นที่
"การทำงานของฝ่ายเจ้าหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมาสามารถเห็นได้ชัดเจนว่าใครมีบทบาทอะไร ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่อีกฝ่ายจะโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งที่ทำงานดีกว่าหรือเด่นกว่าอีกฝ่าย ฉะนั้นต้นเหตุน่าจะมาจากการเสียผลประโยชน์ในเรื่องการทำงานหรือตำแหน่งหน้าที่ เมื่อเล่นอย่างตรงไปตรงมาสู้ไม่ได้ ก็ต้องเล่นกันแบบนี้ ชาวบ้านเรียกกันว่าวิธีสกปรก"
"ส่วนที่มาของใบปลิวนั้น กำนันรายนี้บอกว่า ไม่ได้ออกมาจากกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบอย่างแน่นอน เพราะหลายๆ อย่างในใบปลิวผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่ขบวนการเคยทำ ทั้งรูปแบบการเขียน ถ้อยคำที่ใช้ และลักษณะการโจมตี ผมเห็นว่าเป็นลักษณะการเขียนหนังสือของคนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันมากกว่า"
"ผมเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ต้องมาจากฝ่ายเดียวกัน คือเขียนหนังสือราชการมาตลอดแต่พยายามอยากเขียนให้เหมือนโจรเขียน ดูอย่างไรก็ยังทิ้งร่องรอยของความเป็นราชการไทยอยู่ และเมื่อดูลักษณะการโจมตีเป็นรายบุคคลด้วยแล้ว ยิ่งไม่ใช่ฝีมือขบวนการแบ่งแยกดินแดนแน่ๆ เพราะขบวนการจะโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐไทยในภาพรวม"
อย่างไรก็ดี ยังมีทัศนะของ อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ซึ่งออกตัวว่าไม่ได้รู้จักสนิทสนมกับผู้ว่าฯกฤษฎา เขามองต่างออกไปว่า ข้อมูลในพื้นที่ยังมีหลายชุดและไม่ตรงกัน จึงอยากเรียกร้องให้ผู้ว่าฯกับรัฐบาลออกมาสร้างความกระจ่าง ก่อนที่ปัญหาจะบานปลาย
ปมทึ้งงบประมาณ-กลุ่มก๊วนหาผลประโยชน์
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาพื้นที่เขตเมืองของ จ.ยะลา ตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มผู้ไม่หวังดีหลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งเป็นการก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ ได้แก่
วันอาทิตย์ที่ 13 ก.พ. คาร์บอมบ์ในย่านเศรษฐกิจกลางเมืองยะลา มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 18 คน เพลิงเผาอาคารไม้เก่ากว่า 10 คูหา
วันจันทร์ที่ 21 ก.พ. มอเตอร์ไซค์บอมบ์บนถนนรัฐคำนึงตัดกับถนนระนอง ใกล้กับห้างสรรพสินค้าซุปเปอร์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ในเขตเทศบาลนครยะลา ห่างจากจุดเกิดเหตุคาร์บอมบ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 ก.พ.เพียง 300 เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีก 14 ราย
วันจันทร์ที่ 18 เม.ย. คาร์บอมบ์บริเวณปากทางเข้าที่ทำการแขวงการทางยะลา ถนนสิโรรส เพื่อดักโจมตีรถกระบะของทหารพรานที่กำลังเข้าไปซื้อเสบียงในตลาด ทำให้ทหารพรานเสียชีวิต 1 นาย ทหารและชาวบ้านได้รับบาดเจ็บถึง 25 คน
ช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ ผู้ว่าฯกฤษฎาเผยแพร่เอกสารคล้ายๆ แถลงการณ์เรื่อง "ความจริงที่ชาวยะลาควรรู้" เนื้อหาเป็นการแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนงานและโครงการของจังหวัดที่ทำเพื่อชาวยะลา ได้แก่
-อุดหนุนเงินให้ลูกหลานชาวยะลาได้เรียนทั้งวิชาศาสนาและวิชาสามัญในโรงเรียนเอกชนทุกแห่ง รายละ 7,000 ถึง 14,000 บาท จำนวน 64 โรงเรียน รวม 8 อำเภอ งบประมาณรวมปีละ 531 ล้านบาทเศษ เป็นประจำทุกปี
-ก่อสร้างโรงงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางเบตง และโรงงานผลิตเสื้อผ้ารามัน เพื่อเพิ่มรายได้ชาวยะลา งบประมาณรวม 40 ล้านบาท
-สนับสนุนและช่วยเหลืออาชีพการเกษตร โดยการแจกจ่ายปัจจัยการผลิตพร้อมฝึกอาชีพ รวมทั้งสร้างและซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้ 96 หมู่บ้าน 8 อำเภอ
-สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดยะลามอบทุนการศึกษา และช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส/คนพิการแล้ว 4,538 ราย งบประมาณ 4 ล้านบาทเศษ
เอกสารฉบับนี้มีทั้งภาษาไทย ภาษามลายู และภาษาอังกฤษ!
ท่าทีของผู้ว่าฯกฤษฎานับว่าน่าสนใจ เพราะดูเหมือนท่านจะตีความว่าเหตุร้ายแรงบางส่วนน่าจะเกิดจากความรู้สึกไม่เท่าเทียมระหว่างคนพุทธกับมุสลิมในเรื่องการทุ่มเทงบประมาณลงไปช่วยเหลือ เพราะท่านเป็นผู้ว่าฯที่นับถือศาสนาพุทธ จึงต้องออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าดูแลประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ
สอดคล้องกับที่เจ้าตัวเคยปรารภกับคนใกล้ชิดเวลาเกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่ชนบทห่างไกล ซึ่งฟังดูคล้ายกับว่ามีความพยายามสร้างสถานการณ์เพราะไม่พอใจในนโยบายหรือเรื่องราวอะไรในลักษณะนี้...
หากสมมติฐานนี้จริง ย่อมแสดงว่าเหตุการณ์ร้ายในพื้นที่ไม่ได้เกิดจากขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกลุ่มอิทธิพลอื่นที่อาจจะไม่พอใจหรือเสียประโยชน์จากนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง แล้วอาศัยจังหวะชุลมุนสร้างสถานการณ์ขึ้นด้วย
เพราะหากคิดตามหลักเหตุและผลแล้ว กลุ่มขบวนการคงไม่จำเป็นต้องก่อเหตุด้วยเหตุผลเช่นนี้ เนื่องจากพวกเขาย่อมปฏิเสธทุกเรื่องที่มาจากตัวแทนรัฐไทยอยู่แล้ว ขณะที่การสร้างสถานการณ์จากกลุ่มอิทธิพลอื่น เช่น การเมืองท้องถิ่น ฝ่ายปกครองท้องที่ หรือกลุ่มแก๊งต่างๆ ที่รอรับผลประโยชน์จากเม็ดเงินงบประมาณจากภาครัฐ ฯลฯ ก็สามารถกระทำได้ไม่ยากในบริบทของพื้นที่ที่อำนาจรัฐไม่ได้ปกคลุมเหนือดินแดนทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ดังเช่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เอกภาพและบูรณาการที่ยังคงเป็นคำถาม
ล่าสุดกรณีคนร้ายเกือบสิบคนก่อเหตุใช้อาวุธสงครามกราดยิงชาวบ้านในร้านน้ำชาที่บ้านกาโสด หมู่ 5 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อคืนวันอังคารที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากนั้น ผู้ว่าฯกฤษฎาก็แสดงท่าทีผ่านคำพูดให้ได้คิดกันอีก
โดยถัดจากวันเกิดเหตุ 1 วัน ผู้ว่าฯกฤษฏา เดินทางไปประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านใน อ.บันนังสตา เพื่อทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ทางจังหวัดยะลาจะดำเนินการกับกลุ่มคนร้ายอย่างถึงที่สุด เพราะถือว่าคนร้ายกลุ่มนี้เปรียบเสมือนคนบ้า ยิงคนไม่เลือก แม้แต่คนกำลังตั้งครรภ์ก็ไม่เว้น
หลังจากการประชุมเสร็จสิ้น ผู้ว่าฯกฤษฏา ยังเข้าไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านถึงในที่เกิดเหตุ และได้กล่าวกับประชาชนผ่านเครื่องขยายเสียงว่า "วันนี้ผู้ว่าฯมาให้คำมั่นสัญญากับชาวบ้านด้วยตนเองว่าจะไม่ยอมให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นคลื่นกระทบฝั่ง จะดูแลให้ความเป็นธรรมกับประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการติดตามหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดีทางกฎหมายให้ถึงที่สุด โดยให้ประชาชนที่เห็นเหตุการณ์และรู้ตัวคนร้าย ไปแจ้งให้นายอำเภอบันนังสตา และผู้กำกับการตำรวจภูธรทราบ หากไม่มั่นใจว่าจะไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือไม่มั่นในความปลอดภัย ให้แจ้งโดยตรงกับผม และผมจะดูแลความปลอดภัยให้เป็นอย่างดี"
"หากรู้ตัวคนร้ายที่ก่อเหตุจริงโดยไม่ได้ใส่ความกลั่นแกล้ง และไม่มีใครกล้าไปจับกุม ผมจะอาสาโดยใช้อำนาจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองนำกำลังไปจับกุมด้วยตนเอง โดยจะมอบรางวัลแก่ผู้ที่แจ้งเบาะแส จนสามารถจับกุมตัวคนร้ายได้คนละ 50,000 บาทด้วย"
ฟังดูเหมือนในพื้นที่กำลังมีปัญหาเรื่องเอกภาพและการบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงด้วยหรือไม่ รวมทั้งเหตุระเบิดประทุษร้ายผู้ว่าฯปัตตานีในแบบที่ไม่น่าปล่อยให้เกิดขึ้นได้นั่นด้วย?
12 วาระตานี...ปัญหาที่นี่เร่งด่วนทุกเรื่อง
ย้อนกลับไปที่ผู้ว่าฯนิพนธ์ ก่อนหน้าประสบเหตุการณ์ร้าย "ทีมข่าวอิศรา" เคยสัมภาษณ์พิเศษเขาเอาไว้เกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ที่จะผลักดันตลอด 1 ปีของการเป็นผู้ว่าฯบนแผ่นดินเกิด
เขาบอกว่า ยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติราชการคือ "ทำดีวันนี้เพื่อปัตตานีของเรา" โดยมีจุดเน้นที่การทำงานเชิงรุก นำแนวคิดดีๆ แผนงาน โครงการดีๆ และคำพูดดีๆ ของทุกคนมาบูรณาการลงมือทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยยึด "ชาวปัตตานี" เป็นศูนย์กลางและเป้าหมายในการพัฒนา ให้ถือว่าปัตตานีเป็น "บ้าน" ของชาวปัตตานีทุกคน ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ และมีหน้าที่ดูแลรักษาพัฒนาบ้านเมืองอย่างเท่าเทียมกัน
สำหรับ "วาระเร่งด่วนของเมืองปัตตานี" ที่ผู้ว่าฯนิพนธ์บอกว่าจะต้องดำเนินการในทันที และวางรากฐานการพัฒนาในระยะยาวไปพร้อมกัน มีอยู่ 12 เรื่อง เรียกง่ายๆ ว่า "12 วาระตานี" ประกอบด้วย
(1) ภูมิใจตานี คือการสร้างความภาคภูมิใจร่วมกันในการเป็นพลเมืองไทยและเป็นชาวปัตตานี เพราะปัตตานีเป็นดินแดนอารยธรรม มีวัฒนธรรมที่หลากหลายล้ำค่า
(2) วิถีตานี คือการสร้างค่านิยมร่วมของชาวปัตตานี โดยเน้นหนักเรื่องการรู้รักสามัคคี มีจิตอาสาและสันติวัฒนธรรม
(3) แก้จนคนตานี เน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เมนูอาชีพ ธนาคารต้นไม้ ประมง การออมและระบบสวัสดิการสังคมที่สอดคล้องกับหลักศาสนา และจัดตั้งสภาเศรษฐกิจชาวบ้าน
(4) ปัตตานีเมืองน่าแวะ โดยชูเรื่องการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเป็นศูนย์การประชุมจัดกิจกรรมต่างๆ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
(5) ปัตตานีเมืองกีฬา ใช้กีฬาเป็นสื่อในการสร้างความสามัคคีให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และสร้างนักกีฬาอาชีพ
(6) แบรนด์ตานี เน้นการสร้างภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ปัตตานี ซึ่งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและใช้กลยุทธ์ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมการขาย
(7) ครัวตานี ชูเรื่องการเป็นแหล่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร ศูนย์กลางฮาลาล ครัวอาหารสามวัฒนธรรม (ไทย-จีน-มุสลิม ) และคลังอาหารทะเล
(8) ยิ้มตานี เน้นเรื่องการสร้างรอยยิ้มให้แก่ประชาชนที่มารับบริการ และสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่แวะมาเยือน
(9) ข่าวดีตานี เน้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมการลงทุน การท่องเที่ยว การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ปัตตานี และรณรงค์คุณค่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม
(10) รักษ์ตานี ให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ภูเขา แม่น้ำ จนถึงทะเล
(11) ปัตตานีแข็งแรง เน้นเรื่องการดูแลสุขภาพ สร้างครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง พัฒนาระบบการรักษาความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินและต่อสู้กับยาเสพติดอย่างจริงจัง
(12) เด็กตานีมีอนาคต เน้นพัฒนาด้านการศึกษาและภาษาที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมจริยธรรมตามหลักศาสนา และการสร้างโอกาสให้เยาวชนมีงานทำ มีความหวังมีอนาคตในสังคมไทย
จากนโยบายที่ดูเหมือน "ทั่วๆ ไป" คือแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกด้านในฐานะพ่อเมือง ทว่าที่ปัตตานีกลับกลายเป็น "วาระเร่งด่วน" ไปเสียทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าสภาพการณ์ในดินแดนปลายสุดด้ามขวานนั้น...แท้ที่จริงแล้วน่าวิตกเพียงใด!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพลีด ซ้าย - ผู้ว่าฯกฤษฎา ขวา - ผู้ว่าฯนิพนธ์
อ่านประกอบ : ดับใฟใต้สไตล์ผู้ว่าฯกฤษฎา...อาสาปลดชนวน อยุติธรรม
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4957&Itemid=86