ตรวจแถว "นายก อบจ.-ผู้บริหารท้องถิ่น" ชายแดนใต้ หลังผ่านฤดูเลือกตั้ง
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายองค์กร กระจายไปทั้งสามจังหวัด
ที่สำคัญคือการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ที่มีการเลือกไปแล้วทั้ง 3 จังหวัด แต่ไม่พร้อมกัน โดยเมื่อวันที่ 14 ต.ค.2555 เป็นการเลือกตั้งในส่วนของ อบจ.ปัตตานี กับ นราธิวาส
"เศรษฐ์" นั่งนายก อบจ.ปัตตานี อีกสมัย
ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี (อบจ.ปัตตานี) ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภา อบจ.ปัตตานี ดังนี้
นายก อบจ.ปัตตานี มีผู้สมัคร 2 คน คือ หมายเลข 1 นายมะหามะ มะเด็ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบตต.) นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 91,869 คะแนน หมายเลข 2 นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี อดีตนายก อบจ.ปัตตานี 3 สมัย หมายเลข 2 ได้ 139,482 คะแนน ทำให้ นายเศรษฐ์ ยังคงรักษาตำแหน่งเอาไว้ได้
ในส่วนของผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ. (ส.อบจ.) แบ่งตามเขตเลือกตั้งได้ดังนี้
อำเภอเมือง มี 5 เขต ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งประกอบด้วย เขต 1 นายไฟซอล อีสเฮาะ (หมายเลข 2) ได้ 2,964 คะแนน เขต 2 นายรามดิน อารีอับดุลซอมะ (หมายเลข 2) อดีตผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ประจำจังหวัดปัตตานี ได้ 3,277 คะแนน เขต 3 นายแวหามะ แวกือจิ (หมายเลข 2) ผู้อำนวยการวิทยุร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ ได้ 3,616 คะแนน เขต 4 นายยาการิยา แวลาเตะ (หมายเลข 1) ได้ 5,141 คะแนน เขต 5 นางซารีนา ยูโซะ (หมายเลข 1) ได้ 5,325 คะแนน
อำเภอยะรัง มี 4 เขต ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งประกอบด้วย เขต 1 นายวีระ เจ๊ะอุบง (หมายเลข 1) ได้ 5,011 คะแนน เขต 2 นายอาดัม สนิทศาสตร์ (หมายเลข 6) ได้ 2,735 คะแนน เขต 3 นายราเชนทร์ กาหลง (หมายเลข 1) ได้ 2,272 คะแนน เขต 4 นายสานูซี กูบู (หมายเลข 2) ได้ 4,112 คะแนน
อำเภอยะหริ่ง มี 4 เขต ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งประกอบด้วย เขต 1 นายนิอันวาร์ นิเดร์หะ (หมายเลข 1) ได้ 4,513 คะแนน เขต 2 นายซุกรัน นาแว (หมายเลข 1) ได้ 3,838 คะแนน เขต 3 นางสาวรอฮานี มาหะมะ (หมายเลข 1) ได้ 5,636 คะแนน เขต 4 นายตอเละ เซ็ง (หมายเลข 2) ได้ 2,856 คะแนน
อำเภอโคกโพธิ์ มี 3 เขต ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งประกอบด้วย เขต 1 นางสุพิศ ขาวทอง (หมายเลข 2) ได้ 5,746 คะแนน เขต 2 นายอุดมพันธุ์ มากสุวรรณ (หมายเลข 2) ได้ 4,636 คะแนน เขต 3 นางสาวอุมาวดี อักษรแก้ว (หมายเลข 2) ได้ 6,134 คะแนน
อำเภอสายบุรี มี 3 เขต ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งประกอบด้วย เขต 1 นายยูนัยดล ต่วนปูเต๊ะ (หมายเลข 1) ได้ 5,655 คะแนน เขต 2 นายซูดิง มาหามะ (หมายเลข 2) ได้ 5,251 คะแนน เขต 3 นายหมัดรุสดี สารอเอง (หมายเลข 1) ได้ 5,269 คะแนน
อำเภอหนองจิก มี 3 เขต ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้ง ประกอบด้วย เขต 1 นายอัศมี หยีดาโอะ (หมายเลข 2) ได้ 4,439 คะแนน เขต 2 นายมะรูดิน ดาโต๊ะ (หมายเลข 2) ได้ 4,304 คะแนน เขต 3 นายอิสกันดา บากา (หมายเลข 2) ได้ 3,877 คะแนน
อำเภอปะนาเระ มี 2 เขต ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้ง ได้แก่ เขต 1 ร.ต.ต.ยาสะ กาเร็ง (หมายเลข 2) ได้ 5,029 คะแนน เขต 2 นายแวอูมา ซูสารอ (หมายเลข 2) ได้ 5,403 คะแนน
อำเภอมายอ มี 2 เขต ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้ง ประกอบด้วย เขต 1 นายอนันต์ ดือเระ (หมายเลข 1) ได้ 5,489 คะแนน เขต 2 นายมูหมัดอารอฟะห์ แวบือซา (หมายเลข 1) ได้ 5,968 คะแนน
อำเภอกะพ้อ มี 1 เขต ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้ง คือ นายอับดุลการิม ยูโซะ (หมายเลข 1) ได้ 5,928 คะแนน
อำเภอทุ่งยางแดง มี 1 เขต ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้ง คือ นายมูฮำมัดอาลาวี บือแน (หมายเลข 2) ได้ 4,382 คะแนน
อำเภอแม่ลาน มี 1 เขต ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้ง คือ นายดอรอแม หะยีสาเมาะ (หมายเลข 2) ได้ 4,563 คะแนน
อำเภอไม้แก่น มี 1 เขต นายอับดุลเลาะ มาเส (หมายเลข 2) ได้ 3,243 คะแนน
ทั้งนี้ จ.ปัตตานีมี 12 อำเภอ ประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 429,703 คน และมีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 791 หน่วย
"กูเซ็ง-น้องวันนอร์"รักษาเก้าอี้ – "อารีเพ็ญ"ร่วง
ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งนายก และ ส.อบจ.นราธิวาส ประกาศผลการเลือกตั้งนายก อบจ. โดย นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน ผู้สมัครหมายเลข 1 ยังคงรักษาเก้าอี้นายก อบจ.เอาไว้ได้ด้วยคะแนน 143,810 คะแนน ชนะ นายสุมิตร มะสา ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้คะแนน 110,331 คะแนน และ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีต ส.ส.หลายสมัย และอดีตรองหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ที่ได้คะแนน 43,193 คะแนน
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2555 มีการเลือกตั้งนายก อบจ.ยะลา ปรากฏว่า นายมุขตาร์ มะทา ผู้สมัครหมายเลข 1 อดีตนายกฯ 2 สมัย น้องชายของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเลือกตั้ง โดยได้คะแนน 101,831 คะแนน เอาชนะคู่แข่งคือ นายอับดุลฮาลิม บาฮี ผู้สมัครหมายเลข 2 จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ 45,482 คะแนน
30 มิ.ย.2555 มีการเลือกตั้งนายกเทศบาลนครยะลา แต่มีผู้สมัครเพียงรายเดียว คือ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ อดีตนายกเทศบาลนครยะลา 2 สมัย ในส่วนของสมาชิกสภาเทศบาล มี "ทีมชาวยะลา" เพียงทีมเดียวที่ส่งผู้สมัครครบทุกเขต 24 คน (เขตละ 6 คน) และมีผู้สมัครอิสระอีก 6 คน ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นายพงษ์ศักดิ์ ได้เป็นนายกเทศบาลฯสมัยที่ 3 เนื่องจากได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเกินร้อย 10 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเขตนั้น
ปลุกผู้บริหารท้องถิ่นแสดงศักยภาพดับไฟใต้
วันที่ 16 ต.ค.2555 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เชิญนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของ จ.สงขลา จำนวนกว่า 300 คน เข้ารับฟังแนวทางการปฏิบัติราชการจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต.และคณะผู้บริหาร ศอ.บต.
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาประชาชนในท้องถิ่นเกิดความสับสน เพราะในท้องถิ่นมีส่วนราชการมากมาย ทั้งทหาร ตำรวจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ละส่วนราชการมีโครงการและแผนงานจำนวนมาก แต่ก็ยังมีเหตุร้าย วิถีชีวิตของ ประชาชนยังคงไม่ปลอดภัย การพัฒนาด้านต่างๆ ก็ล่าช้า
ทั้งนี้ เห็นว่าองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบจ. เทศบาลทุกระดับ และ อบต. เป็นส่วนราชการที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนอย่างแท้จริง รู้ปัญหา มีศักยภาพ มีอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจน มีงบประมาณและบุคลากรเป็นของตนเอง ทั้งยังเป็นนิติบุคคล จึงมีความพร้อมในการบริหารดูแลพื้นที่เพื่อให้ผ่านพ้นปัญหาที่เป็นอยู่ได้
หากพิจารณายุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว มีอยู่ 9 ประการนั้น จะพบว่าหน้าที่ของ อปท.และศักยภาพที่มีอยู่ สามารถดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างครอบคลุมเกือบทุกยุทธศาสตร์ ศอ.บต.จึงอยากให้ อปท.กำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน และทำงานอย่างเต็มศักยภาพเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ได้อย่างตรงจุดต่อไป
สำหรับยุทธศาสตร์ 9 ประการ ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาการบริหารด้วยการมีส่วนร่วมและบูรณาการแก้ไขปัญหาพื้นที่พิเศษ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างความเข้มแข้งของหมู่บ้าน ชุมชน ในการร่วมสร้างสันติสุข
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างพื้นที่และสภาพแวดล้อมเพื่อแสวงหาทางออกความขัดแย้งโดยสันติวิธี
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การส่งเสริมการศึกษา ศาสนา ภาษา ศิลปะ พหุวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การอำนวยความเป็นธรรม การบังคับใช้กฎหมาย การส่งเสริมให้นำหลักศาสนาหรือยุติธรรมชุมชนมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรง
ยุทธศาสตร์ที่ 6 การเสริมสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ วิถีชีวิต และความต้องการของประชาชน
ยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต การท่องเที่ยว กีฬาและผู้ด้อยโอกาส
ยุทธศาสตร์ที่ 8 การสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน
ยุทธศาสตร์ที่ 9 การเสริมสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศและการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน