"ค่าจ้างเพิ่มทำคนงานเสี่ยงเพิ่ม" คลินิกโรคจากการทำงานตอบโจทย์ได้หรือ?
ปีนี้ผู้ใช้แรงงานได้เฮปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 40% ตั้งแต่ เม.ย. และจะเพิ่มเป็น 300 บาททั่วประเทศ 1 ม.ค.56 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังขาดแคลนแรงงาน ทำให้ลูกจ้างมีทางเลือกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม อีกมุมหนึ่งต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้น จำนวนแรงงานที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ให้สูงขึ้นตามไปด้วย ข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า 8 เดือนที่ผ่านมาผลิตภาพแรงงานดีขึ้น 8.2% ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเพราะส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นปีละ 3-5% ขณะที่ปี 2554 ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเพียง 1.6% เพราะผลกระทบน้ำท่วมใหญ่
หมายความว่าคนงาน 1 คนต้องทำงานมากขึ้น จากเดิม 100 ชิ้นก็ต้องเพิ่มเป็น 108.2 ชิ้น สิ่งที่อาจเป็นปัญหาตามมาคือเรื่องความปลอดภัยและการเจ็บป่วยจากการทำงาน เพราะนายจ้างมีแรงกดดันจากต้นทุนค่าจ้างเพิ่มทำให้มุ่งเพิ่มผลผลิตเพิ่มยอดขาย แต่จะให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ใส่ใจความปลอดภัยลูกจ้างด้วยหรือไม่ ยังเป็นคำถาม
ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่จะตามมาภายหลังการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การเพิ่มชั่วโมงทำงานหรือโอที การลดของเสียหรือชิ้นงานที่เสียหายจากการทำงานผิดพลาด รวมทั้งลดต้นทุนชิ้นส่วนวัตถุดิบ
“การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานก็หมายถึงให้คนทำงานเร็วขึ้นในเวลาเท่าเดิม โอกาสจะผิดพลาดหรือเกิดอุบัติเหตุเพราะต้องทำงานแข่งกับเวลาก็มีมากตามไปด้วย การทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นยังหมายถึงคนงานมีเวลาพักผ่อนน้อยลง โอกาสเสี่ยงอุบัติเหตุก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน” ประธานคสรท. กล่าว
ชา ลี ชี้ว่าอีกว่านายจ้างจะมองผลกำไรเป็นตัวตั้ง และมองการป้องกันความปลอดภัยเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง ทำให้ปัจจุบันมีเพียงโรงงานขนาดใหญ่ 20% เท่านั้นที่ให้ความสำคัญเรื่องแบบนี้ ส่วนโรงงานขนาดรองลงมามักจะละเลยขาดการใส่ใจสวัสดิภาพคนงาน
อย่างไรก็ตามข้อมูลสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ชี้ว่าสถิติประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากงานย้อนหลังถึงปี 2550 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2550 มีลูกจ้างเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน 198,652 ราย และลดลงเฉลี่ยปีละ 9.9% ปีล่าสุด 2554 จำนวนการเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุลดลงเหลือ 129,632 ราย โดย 5 อันดับแรกของอันตรายจากงานตั้งแต่ปี 2550-2554 คือวัตถุหรือสิ่งของบาด/ทิ่มแทง เฉลี่ย 5 ปีมีลูกจ้างประสบอันตราย 46.23% ต่อปี รองลงมาถูกวัตถุสิ่งของกระแทกชน วัตถุหรือสารเคมีกระเด็นเข้าตา วัตถุสิ่งของหล่นทับ ถูกวัตถุสิ่งของหนีบ นอกจากนี้หากวัดตามระดับความรุนแรง พบว่าลูกจ้างที่ประสบอันตรายและหยุดงานไม่เกิน 3 วัน อยู่ที่ 71.49% รองลงมาคือประสบอันตรายและหยุดงานเกิน 3 วัน 26.56% ประสบอันตรายจนสูญเสียอวัยวะ 1.54% ตาย 0.40% และบาดเจ็บจนทุพพลภาพมีสัดส่วนน้อยที่สุด 0.01%
ข้อมูล ณ วันที่ 1 มี.ค. 2555 มีอัตราลูกจ้างประสบอันตรายในการทำงาน 17.92 รายต่อ 1,000 คน ชาลี ตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลขที่ลดลงส่วนหนึ่งอาจมาจากการมีมาตรการป้องกันอุบัติเหตุของนายจ้างจริง แต่อีกส่วนอาจเป็นเพราะหากมีอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆ นายจ้างมักจะไม่ลงทันทึกไว้มากกว่า
“เรา มีกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน แต่ในทางปฎิบัติมีการบังคับใช้มากน้อยขนาดไหน สถานประกอบการต้องทำรายงานความปลอดภัยส่งทุกเดือน แต่เจ้าพนักงานรับรายงานมาแล้วไปตรวจดูหรือไม่ว่าเป็นไปตามที่รายงานมาจริง” ชาลี ตั้งคำถามทิ้งท้าย
ทั้งนี้ตัวเลขนายจ้างที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในปี 2554 อยู่ที่ 338,270 ราย แต่เจ้าพนักงานตรวจแรงงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทั่วประเทศมี 1,500 คนเท่านั้น
นอกจากอุบัติเหตุจากการทำงานที่เห็นตัวเลขชัดเจนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกันแต่ภาพที่ปรากฎออกมายังพร่ามัว คือการเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน เช่น การทำงานในสภาพแวดล้อมที่อันตราย เป็นฝุ่นผง มีสารเคมีในระยะเวลายาวนาน จนทำให้คนงานเจ็บป่วยในอีกหลายปีให้หลัง
โดยหลักการแล้ว สำนักงานประกันสังคมจะมีกลไก “คลินิกอาชีวเวชศาสตร์” หรือ “คลินิกโรคจากการทำงาน” เข้ามาดูแล คลินิกเหล่านี้จะอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ เปิดทำการไม่เหมือนกัน บางพื้นที่ที่มีชุมชนโรงงานน้อย อาจเปิดเฉพาะวันพุธและศุกร์ แต่บางพื้นที่ที่มีโรงงานตั้งอยู่มากอาจเปิดทำการทุกวัน โดยสำนักงานประกันสังคมพยายามขยายเครือข่ายคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ จากแรกเริ่มมีเพียง 20 กว่าแห่ง เพิ่มเป็น 68 แห่ง และล่าสุดเพิ่มเป็น 82 แห่ง
แพทย์ของคลินิกเหล่านี้จะทำงานต่างจากการรักษาของโรงพยาบาลทั่วๆไป เพราะโรงพยาบาลจะให้น้ำหนักไปที่การรักษาตามอาการ แต่คลีนิคโรคจากการทำงานนอกจากรักษาแล้ว ยังตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุว่าโรคที่มีผู้ป่วยเข้ามารับบริการนั้นมีสาเหตุจากงานประเภทใด โรงงานหรือนายจ้างต้องไปปรับปรุงสภาพการทำงานอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้มีการบาดเจ็บหรือเป็นโรคจากการทำงานอีก
ข้อมูล จากประกันสังคมพบว่า โรคที่พบจากการทำงานส่วนใหญ่จะเป็นอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากทำงานในลักษณะท่าทางซ้ำๆกัน โรคเกี่ยวกับปอดเนื่องจากการทำงานในที่ที่มีฝุ่นผง โรคต้อกระจกตา เนื่องจากทำงานที่เกี่ยวกับแสง เช่น การเชื่อมโลหะต่างๆ รวมทั้งโรคมะเร็งเนื่องจากการทำงานกับสารเคมี
นอกจากนี้ ในกรณีที่คนไข้ป่วยเนื่องมาจากการทำงานอันตรายหลายสิบปีแล้วเพิ่งมาแสดงอาการในภายหลัง แพทย์ประจำคลินิกดังกล่าวก็ยังต้องวินิจฉัยโรคว่ามีสาเหตุจากการทำงานหรือ ไม่ ซึ่งจะส่งผลไปถึงการใช้สิทธิรักษาพยาบาล และความรับผิดชอบของนายจ้างในภายหลัง
เช่น หากป่วยด้วยโรคมะเร็ง แพทย์ทั่วๆไปจะเน้นการรักษาโรค แต่น้อยมากที่จะสืบหาที่มาของโรค ค่ารักษาต่างๆก็จะเป็นไปตามสิทธิของผู้ป่วยแต่ละคน ไม่ว่าจะประกันสังคม บัตรทอง หรือควักเงินจ่ายเอง แต่หากเป็นแพทย์คลินิกโรคจากการทำงาน นอกจากรักษายังต้องสืบประวัติการทำงาน หากพบว่าผู้ป่วยเคยทำงานในโรงงานสารเคมี แล้วแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน เงินที่ใช้รักษาจะถูกเบิกจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งเป็นกองทุนตามกฎหมายที่บังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบฝ่ายเดียว สำหรับใช้รักษาอาการเจ็บป่วยของลูกจ้าง และนายจ้างอาจจ่ายเงินค่ารักษาเพิ่มเติมหากเกินวงเงินที่กองทุนกำหนดไว้
เผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุในงานประชุมดำเนินงานและสร้างเครือข่ายคลินิกโรคจากการทำงานเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาว่า คลินิกโรคจากการทำงานสามารถให้การดูแลครอบคลุมลูกจ้างได้ 8.22 ล้านคน ลดการประสบอันตรายจากการทำงานกรณีหยุดงานเกิน 3 วันขึ้นไป การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพและตาย ลงเหลือ 4.55 ต่อพันรายในปี 2554 จากอัตรา 5.37 ต่อพันรายในปี 2553 นอกจากนี้รายงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเรื่องสถานการณ์การดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทยปี 2555 ระบุว่าจำนวนลูกจ้างที่เป็นเป็นโรคจากการทำงานระหว่าง ปี 2546 - 2552 มีแนวโน้มลดลง จาก 8,460 คน ในปี 2546 เหลือเพียง 4,575 คนในปี 2552
แม้แนวโน้มสถิติการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยในงานจะลดลงเรื่อยๆ พร้อมๆกับการขยายตัวของคลินิกโรคจากการทำงาน แต่ในมุมมองของฝ่ายลูกจ้างแล้วตัวเลขเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงมายาภาพ ซึ่งสถานการณ์เรื่องความปลอดภัยหรือการดูแลสุขภาพผู้ใช้แรงงานยังอยู่ในภาวะล่อแหลม
ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลขการเจ็บป่วยการบาดเจ็บในการทำงาน การเป็นโรคจากการทำงานนั้นไม่ได้ลดลงจริงๆตามที่รัฐให้ข้อมูล แต่นายจ้างปกปิดไม่รายงานข้อมูล หากมีการเจ็บป่วยก็มักจะโยนให้คนงานไปใช้สิทธิรักษาของกองทุนประกันสังคมแทน
ข้อแตกต่างคือ กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่ใช้สำหรับรักษาลูกจ้างที่เจ็บป่วยนอกเวลางาน การให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิประกันสังคมแทนสิทธิของกองทุนเงินทดแทน ก็เพื่อลดตัวเลขสถิติการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน เพราะหากโรงงานหรือสถานประกอบการนั้นๆมีตัวเลขคนงานเจ็บป่วยในงานมากขึ้นเรื่อยๆ นายจ้างจะถูกเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนมากขึ้นตามอัตราความเสี่ยงของงาน
ยกตัวอย่าง จ.สระบุรี ซึ่งธนพรเป็นอนุกรรมการความปลอดภัยจังหวัด มีฝุ่นผงจากโรงปูนโรงงานคอนกรีตเยอะมาก แต่กลับไม่มีรายงานการเจ็บป่วยจากสิ่งเหล่านี้ การตรวจร่างกายพนักงานประจำปีของแต่ละโรงงานก็รายงานว่าคนงานสุขภาพเป็นปกติ จึงไม่แปลกที่ตัวเลขเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงานจะมีน้อย
“โรคแบบนี้ใช้เวลาสะสมนานหลายปีกว่าจะแสดงอาการ เวลาตรวจร่างกายประจำปี แพทย์จากโรงพยาบาลท้องถิ่นก็บอกว่าเป็นปกติ แต่บางคนออกจากงานไป 2-3 ปีก็ตาย หมอก็จะบอกว่าตายจากมะเร็ง นายจ้างก็บอกว่าไม่เกี่ยวกับเขาเพราะมาป่วยเอาหลังจากออกจากงาน” ธนพร กล่าว
กรณีเช่นนี้ ปัญหาคือตัวแพทย์ประจำคลินิกอาชีวเวชศาสตร์เองที่ไม่ค่อยอยากวินิจฉัยว่าคนงานป่วยหรือเสียชีวิตจากการทำงาน การวินิจฉัยลักษณะนี้ทำได้ยากและต้องใช้หลักฐาน ส่วนใหญ่คนงานจะเสียชีวิตหลังจากออกจากงานไปนานหลายปี เปิดช่องให้นายจ้างปฏิเสธความรับผิดชอบได้ คนงานจะเสียสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าเสียชีวิตจากกองทุนเงินทดแทนตามไปด้วย นอกจากนี้ในกรณีที่แพทย์จะวินิจฉัยว่าคนงานป่วยจากการทำงานจริง หากนายจ้างไม่ยอมร่วมจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลก็ไม่มีความผิดตามกฎหมายอะไร เพราะถือว่าได้จ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทนซึ่งเอาไปจ่ายค่ารักษาให้คนงานไปแล้ว
ธนพร สรุปว่าต่อให้สำนักงานประกันสังคมจะขยายคลินิกโรคจากการทำงานอีกมากมายก็ไม่ ได้ช่วยอะไร หากขั้นตอนการปฎิบัติการวินิจฉัยโรคยังไม่มีประสิทธิภาพ และขยายอีกเท่าไหร่ก็คงไม่พอเพราะคนงานมีเป็นล้านคน
“การเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงานต้องไปเริ่มจากการป้องกันในโรงงานอย่างเข้มข้น ไม่ใช่การเพิ่มจำนวนคลีนิค ต้องวางระบบการจัดการจริงจัง การตรวจสุขภาพประจำปีต้องตรวจจริงๆ เงินที่กองทุนเงินทดแทนบอกว่าจะขยายสิทธิประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลเนี่ย เอาไปส่งเสริมเรื่องป้องกันความปลอดภัยดีกว่า เพราะต่อให้ขยายเพดานค่ารักษาเป็น 1 ล้านบาทก็ไม่มีใครอยากป่วยเพื่อไปใช้สิทธิ”ธนพร กล่าว
…………………………
สุด ท้ายคือตัวลูกจ้างเองต้อง ที่ต้องตระหนักถึงสิทธิและกล้าเรียกร้องนายจ้างในเรื่องความปลอดภัยหากเห็นว่าในที่ทำงานมีสภาพการทำงานไม่เหมาะสม .