กอ.รมน.ประเมินดับไฟใต้ "สอบผ่าน" – "ถาวร"ยืนกรานป่วนหนักต้นปี 2554 เพราะ "จนท.บกพร่อง"
เปิดข้อมูลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ประเมินผล "ดับไฟใต้" สอบผ่านฉลุย ยกสถิติหลายจังหวัดคดีอุกฉกรรจ์ยังเยอะกว่าสามจังหวัดชายแดน ขณะที่ "ถาวร" การันตีแทนรัฐบาล แก้ปัญหาที่ปลายขวานไม่ล้มเหลว ยันระดับนโยบายเป็นเอกภาพ แต่ระดับปฏิบัติทำพลาด-แตกแถวแก้แค้นสร้างเงื่อนไข พร้อมปิดทาง "เจรจา" บอกรัฐไทยรับไม่ได้ "เขตปกครองพิเศษ"
ปี 2554 เป็นปีที่ฝ่ายความมั่นคงหมายมั่นปั้นมือว่าสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น ทว่าเปิดศักราชมายังไม่เต็ม 4 เดือน กลับปรากฏเหตุรุนแรงขนาดใหญ่โดยเฉพาะในย่านเศรษฐกิจและชุมชนในเขตเมืองไปแล้วหลายครั้ง ขณะที่ชุมชนไทยพุทธในหลายพื้นที่ก็ถูกคุกคามหนักข้อขึ้นอย่างชัดเจน
ช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) จึงต้องขยับเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ตามที่มีเสียงเรียกร้องและตั้งคำถามกันว่ายุทธศาสตร์ที่ฝ่ายความมั่นคงดำเนินการมา ถูกต้องหรือไม่ เพียงใด
เวทีของ กอ.รมน.จัดขึ้นหลายครั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชนด้วย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้นโยบายเอาไว้ว่า "อดีตผู้บังคับบัญชา นักวิชาการ นักการเมือง และสื่อมวลชนที่ได้ให้ข้อคิดเห็น ต่างมีความหวังดี ต้องการเห็นความสงบสุขเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นเราควรเรียนเชิญท่านเหล่านี้มาร่วมประชุมหารือเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา"
และเป้าหมายประการหนึ่งของการเปิดเวที ก็เพื่อจัดตั้งคณะทำงานในลักษณะ "คลังสมอง" หรือ Think Tank ขึ้นเพื่อระดมองค์ความรู้จากทุกภาคส่วนในภารกิจ "ดับไฟใต้" ซึ่งถึงวันนี้ไม่ใช่ความรับผิดชอบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอีกต่อไปแล้ว โดยแนวคิดนี้ โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ก็เคยเสนอความเห็นเอาไว้ในบทบรรณาธิการที่ชื่อ...บอมบ์กลางเมือง 3 ลูกใน 8 วัน...ได้เวลากองทัพยอมรับความจริงหรือยัง? http://www.south.isranews.org/talk-to-the-editor/736--3--8-.html
ปลื้มไฟใต้ไม่ยกระดับสู่สากล-หมู่บ้านปฏิเสธความรุนแรงเยอะขึ้น
เวทีของ กอ.รมน.มีประเด็นน่าสนใจมากประการหนึ่งคือ มุมมองของฝ่ายความมั่นคงเองที่มีต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหา โดยผลสัมฤทธิ์จากการทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ 6 ประการที่ผ่านมาในมุมมองของฝ่ายความมั่นคงมีดังนี้
- ปัญหาในพื้นที่ไม่ถูกยกระดับไปสู่สากล
- นโยบายการแก้ไขปัญหาได้รับการยอมรับ สถิติเหตุการณ์มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด
- จำนวนหมู่บ้านที่ปฏิเสธความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือปี 2552 จำนวน 22 หมู่บ้าน ปี 2553 จำนวน 32 หมู่บ้าน
- ไม่มีการขับไล่ทหารด้วยการชุมนุม
- ประชาชนให้ความร่วมมือมากขึ้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนสามารถลงพื้นที่ด้วยความมั่นใจ
- รายได้ต่อครัวเรือนสูงขึ้น
- พื้นที่มีความปลอดภัยมากขึ้น สามารถป้องกันการก่อเหตุได้ มีการจับกุมมือปืนและมือระเบิดได้มากขึ้น
- การแจ้งเตือนเกี่ยวกับวัตถุระเบิด ห้วงเดือน ต.ค.2552 ถึง ก.พ.2554 ทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีปริมาณการแจ้งเตือนทั้งหมด 660 ครั้ง ป้องกันได้ 280 ครั้ง เกิดขึ้นจริง 299 ครั้ง
ประเมินตัวเอง "สอบผ่าน"
มีการประเมินผลการปฏิบัติงานใน 6 ยุทธศาสตร์ กล่าวคือ
1.ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความเข้าใจ เงื่อนไขเรื่องอัตลักษณ์และความไม่เป็นธรรม ได้คะแนน 76%
2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ประชาชนในพื้นที่มีปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น ได้คะแนน 47%
3.ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ปัญหาภัยแทรกซ้อน ผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่ได้รับการสนับสนุนเครื่องมือและปัจจัยที่จำเป็นในการก่อเหตุ ได้คะแนน 80%
4.ยุทธศาสตร์การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน เป้าประสงค์คือสถานการณ์ในพื้นที่ไม่ถูกยกระดับเข้าสู่เวทีสากล ได้คะแนน 80%
5.การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ได้คะแนน 72%
6.การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ได้คะแนน 60%
ป่วนหนักไตรมาสแรกปี 54 ไม่ใช่ตัวชี้วัดไฟใต้คุโชน
สำหรับการวิเคราะห์เหตุการณ์ความรุนแรงห้วงเดือน ม.ค.ถึง มี.ค.2554 ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าไฟใต้หวนกลับมาคุโชนอีกครั้งในช่วงครบ 7 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนนั้น ทาง กอ.รมน.มีมุมมองดังนี้
- เป็นความพยายามตอบโต้งานการรุกทางการเมืองตามนโยบายการเมืองนำการทหารของฝ่ายรัฐที่เริ่มปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นเพื่อแย่งชิงมวลชนกลับคืน
- พื้นที่นอกจังหวัดชายแดนภาคใต้บางพื้นที่มีสถิติคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญสูงกว่า (มีการอ้างข้อมูลตัวเลขจากหลายจังหวัด อาทิ บุรีรัมย์ เป็นต้น)
- มีกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ได้รับการบ่มเพาะเคลื่อนไหวและคอยฉวยโอกาสจากช่องว่าง
- ไม่สามารถนำมาเป็นตัวชี้วัดว่าสถานการณ์มีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากในอดีตมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
- เป็นการยากที่จะทำให้พื้นที่มีความปลอดภัยได้ทุกพื้นที่และทุกเวลา อันเนื่องมาจากสภาพพื้นที่ปฏิบัติการและจำนวนเป้าหมายล่อแหลมซึ่งมีค่อนข้างมาก
ตำรวจเอาด้วยเปิดระดมความเห็นทุกฝ่าย
ไม่เพียงแต่ กอ.รมน.เท่านั้นที่เปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ทว่าในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ก็ได้เปิดเวทีระดมสมองจากฝ่ายต่างๆ ในห้วงเดือนเดียวกัน
ผู้ที่เข้าร่วมมีทั้งผู้บริหารระดับสูงของหน่วยตำรวจ อาทิ พล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชฏฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) ผู้บังคับการตำรวจภูธรสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสงขลา ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 4 หัวหน้าศูนย์ส่วนงานในสังกัดศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ตำรวจทางหลวง ตำรวจน้ำ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หน่วยบินตำรวจ ตำรวจรถไฟ และกองพิสูจน์หลักฐาน
นอกจากนั้นยังมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการทหาร การเมือง การก่อการร้ายสากล กระบวนการยุติธรรม และด้านสิทธิมนุษยชนด้วย อาทิ รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ คอลัมน์นิสต์ชื่อดัง ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พล.อ.นิพันธ์ ทองเล็ก ประธานที่ปรึกษาสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย อดีตเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ (ผบช.สนว.ตร.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พล.ท.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษา กอ.รมน.ภาค 4 เป็นต้น
"ถาวร"ยันรัฐบาล ปชป.ไม่ล้มเหลวดับไฟใต้
ด้านท่าทีของฝ่ายการเมือง นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบปัญหาภาคใต้ ให้สัมภาษณ์รายการ "เดอะ แชร์" ทางสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ โดยมี นายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ เป็นพิธีกร เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา และได้ตอบคำถามเกี่ยวกับสถานกาณ์ร้ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ชายแดนใต้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
นายถาวร กล่าวว่า เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งตั้งแต่ช่วงต้นปี 2554 ทั้งเหตุโจมตีและปล้นฐานทหาร รวมถึงเหตุระเบิดกลางเมือง ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกถึงความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เพราะคนกลุ่มหนึ่งยังมีแนวคิดแบ่งแยกดินแดนอยู่ อีกทั้งต้นตอของการก่อเหตุร้ายก็ไม่ได้มาจากความยากจน ปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาการไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่เป็นความพยายามเพื่อต้องการแบ่งแยกดินแดน และจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข
"ยืนยันว่าสถานการณ์ไม่ได้หนักกว่าเก่า เพราะเรื่องทำนองนี้ก็เกิดในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เช่นกัน" นายถาวร ระบุ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยจากพรรคประชาธิปัตย์ ยังยืนยันด้วยว่า สถานการณ์ชายแดนใต้โดยรวมดีขึ้น โดยมีปัจจัยชี้วัดคือ
1.พี่น้องประชาชนเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ไม่มีการต่อต้านจากพี่น้องประชาชนและผู้นำศาสนา รัฐมนตรีลงไปในพื้นที่ไม่ต้องมีโล่มนุษย์คอยป้องกัน
2.จำนวนเหตุรุนแรงลดลงอย่างชัดเจน จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง และจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บก็ลดลง
3.การยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของพี่น้องประชาชนทำได้ดีขึ้น ประชาชนพึงพอใจที่รัฐบาลมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนอยู่ดีกินดี และมีวิถีชีวิตตามหลักศาสนาอิสลาม
"ขณะนี้เหลืออย่างเดียวที่รัฐบาลยังปวดหัวอยู่ก็คือเรื่องความคิดความเชื่อในการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งต้องใช้เวลาแก้ไข ใครมาเป็นรัฐบาลต้องใจเย็น ต้องใช้การเมืองนำการทหาร" นายถาวร ย้ำ
ซัด จนท.หย่อนประสิทธิภาพ-แตกแถว "แก้แค้น" สร้างเงื่อนไข
นายถาวร ยังอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ขนาดความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหญ่โตขึ้นว่า เป็นเพราะ 2 ปัจจัย คือ พื้นที่ล่อแหลม กับบุคคลเป้าหมาย หมายความว่าเมื่อไหร่ที่พื้นที่ล่อแหลมอ่อนแอ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่อยู่อ่อนแอ ก็จะเกิดเหตุร้ายขึ้น เช่นเดียวกัน บุคคลที่อยู่ในเป้าประสงค์ของกลุ่มผู้ก่อการ ถ้าไม่อยู่ในการรักษาความปลอดภัย (รปภ.) หรือ รปภ.บกพร่อง ก็จะโดนทันที
"เรื่องนี้ไม่ได้เป็นความผิดในเชิงนโยบาย แต่เป็นเรื่องความหย่อนประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบหน้างานนั้นๆ"
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังปฏิเสธข้อกล่าวหาของบางฝ่ายที่มองว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง "เลี้ยงไข้" ไม่ให้สถานการณ์สงบ โดยบอกว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และไม่เคยตั้งคำถามเรื่องนี้ แต่ยอมรับว่าตัวเขามีคำถามเรื่องความเป็นเอกภาพในการบังคับบัญชาว่ามีจริงหรือไม่ เพราะวันนี้ความเป็นเอกภาพในนโยบายดีอยู่แล้ว แต่ในระดับปฏิบัติยังขาดอยู่ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่บางกลุ่ม บางคน อาจจะแค้นแทนเพื่อนหรือผู้บังคับบัญชาที่สูญเสียจากเหตุการณ์ ก็ไปกระทำการบางอย่างในลักษณะเอาคืน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องระดับนโยบาย แต่เป็นปัญหาเฉพาะบุคคล และได้ให้แม่ทัพภาคที่ 4 ดำเนินการสอบสวนเอาผิดเรียบร้อยแล้ว
"เรื่องแบบนี้มีไม่มากนัก แค่ 1-2 กรณี แต่ฝ่ายตรงข้ามจะหยิบไปขยายผลเพื่อนำไปสู่องค์กรระหว่างประเทศและองค์กรสิทธิมนุษยชน เช่น โอไอซี (องค์การการประชุมชาติอิสลาม)" นายถาวร กล่าว
ปิดทางเจรจา-ยันรัฐไทยไม่รับ "เขตปกครองพิเศษ"
ส่วนประเด็นที่ว่าใครคือหัวหน้าผู้ก่อความไม่สงบตัวจริงนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ก็ทราบอยู่ เช่น นายมะแซ อุเซ็ง (ถูกออกหมายจับในคดีปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547) ก็เป็นตัวจริง และเมื่อเดือนที่แล้ว (ก.พ.) ก็มีการประชุมกันของกลุ่มของคนเหล่านี้ในบางประเทศ โดยยังดำรงความมุ่งหมายในเชิงอุดมการณ์เพื่อการแบ่งแยกดินแดน หรือสามารถต่อสู้ให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ
อย่างไรก็ดี เมื่อถูกถามถึงการยกระดับการพูดคุยกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การเจรจาในระดับรัฐบาล นายถาวร กล่าวว่า การเจรจาจะถือเป็นการยอมรับกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งตลอดมารัฐบาลไทยทุกยุคจะไม่มีการพูดคุยในระดับที่จัดตั้งโดยรัฐบาลอย่างเด็ดขาด แต่ในทางลับอาจมีการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงาน 2 ฝ่าย
"ประเด็นที่ไม่สามารถนำไปสู่การเจรจาได้คือเรื่องเขตปกครองพิเศษ เพราะรัฐนี้เป็นรัฐเดี่ยว ไม่ใช่สหพันธรัฐ และรัฐธรรมนูญก็เขียนเอาไว้ว่าประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกไม่ได้ จึงจบร่วมกันไม่ได้" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุ
จับกระแส "เจรจา" ผ่านกลุ่มเคลื่อนไหวในประเทศ
อนึ่ง ประเด็นการเปิดเจรจากับผู้แทนองค์กรที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนนั้น นอกจากจะมีข่าวการเปิดเจรจากับผู้แทนกลุ่มพูโลเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งจริงๆ มีการเปิดเจรจามาหลายครั้งแล้ว ก็ยังมีข่าวอีกด้านหนึ่งจากเครือข่ายภายในประเทศไทยที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้เช่นกัน
กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.เป็นต้นมา โดย นายชนาพัทธ์ ณ นคร ประธานเครือข่ายเตมูจิน (ซึ่งเคยเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับหลายฝ่าย) ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง ผบ.ทบ. โดยอ้างว่าได้รับการประสานจากกลุ่มผู้นำศาสนาบางกลุ่มว่า มีมูลนิธิการกุศลแห่งหนึ่งที่เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณให้กับขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลไทย โดยมูลนิธิแห่งนี้มีที่ตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน
แม้ความเคลื่อนไหวของ นายชนาพัทธ์ จะไม่ได้รับการตอบรับอย่างเป็นทางการจากทางกองทัพ แต่ข้อมูลบางส่วนของเขานับว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะที่บอกว่าที่ผ่านมามีการเจรจาระหว่างกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนกับตัวแทนกองทัพและรัฐบาลไทยอยู่เป็นระยะ แต่หาข้อสรุปไม่ได้ เพราะตัวแทนของแต่ละฝ่ายไม่มีอำนาจตัดสินใจอย่างแท้จริง ประกอบกับผู้แทนกองทัพมักจะมีการโยกย้ายสับเปลี่ยนหน้าที่เป็นประจำทุกปี ทำให้ไม่มีความต่อเนื่อง
นายชนาพัทธ์ ยังอ้างด้วยว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มที่ต้องการเจรจามี 3 ข้อที่สำคัญ คือ 1.แก้ไขพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ให้จุฬาราชมนตรีมาจากการเลือกตั้งของมุสลิมทั่วประเทศแทนการเลือกผ่านคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดเหมือนในปัจจุบัน
2.ให้รัฐสภาแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนสาธารณะขึ้นมาเพื่อไต่สวนคดีความมั่นคงทุกคดีตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้แทนจากอาเซียน โอไอซี และองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้าร่วม
และ 3.ให้รัฐบาลยอมรับว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ไม่ได้เป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการทั้งหมด แต่มีการสร้างสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางส่วนและกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ด้วย
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : บอมบ์กลางเมือง 3 ลูกใน 8 วัน...ได้เวลากองทัพยอมรับความจริงหรือยัง?
http://www.south.isranews.org/talk-to-the-editor/736--3--8-.html