รัฐเข็นร่างกฎหมายจัดระเบียบ "ซะกาต" วางระบบเงินบริจาคพี่น้องมุสลิม
ในขณะที่พรรคเพื่อไทยเพิ่งเสนอร่างกฎหมายระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี เพื่อหวังให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการนครปัตตานี ซึ่งรวมเอา จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เข้าด้วยกัน พร้อมทั้งยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ผลงานชิ้นโบว์แดงของพรรคประชาธิปัตย์ โดยชิงจังหวะ "จุดพลุ" ช่วงใกล้เลือกตั้งนั้น
ล่าสุดรัฐบาลประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ "เดอะมาร์ค" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงเร่งเข็นร่างกฎหมายออกมาอีกหนึ่งฉบับช่วงปลายรัฐนาวา คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต พ.ศ.... ซึ่งมีเสียงเรียกร้องมาเนิ่นนาน
ร่างกฎหมายฉบับนี้หากผ่านการพิจารณาของรัฐสภาและบังคับใช้ได้จริง จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีมัสยิดและองค์กรการกุศลของพี่น้องมุสลิมอยู่จำนวนมาก "ทีมข่าวอิศรา" จึงสรุปเนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่อยู่ในกระบวนการบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร (คณะรัฐมนตรีส่งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อกลางเดือน มี.ค.) ให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันศึกษารายละเอียด
แจงเหตุต้องการจัดระเบียบ "ซะกาต"
ในบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต ระบุเหตุผลของการตรากฎหมายฉบับนี้เอาไว้ว่า โดยที่บัญญัติศาสนาอิสลามกำหนดให้ผู้มีเงินหรือทรัพย์สินครบจำนวนตามเกณฑ์และได้ครอบครองครบรอบปีมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินหรือทรัพย์สินส่วนหนึ่งที่เรียกว่า "ซะกาต" ให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับซะกาต แต่เนื่องจากที่ผ่านมาการบริหารจัดการและการจ่ายซะกาตยังมีความแตกต่างกัน ไม่เป็นเอกภาพ ขาดประสิทธิภาพ และไม่มีระบบการตรวจสอบ
ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต เพื่อจัดระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และมีระบบตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้มีหน้าที่จ่ายซะกาต และผู้มีสิทธิได้รับซะกาตได้รับความช่วยเหลืออย่างเสมอภาคและทั่วถึง
เปิดนิยาม "ซะกาต-อาดิ้ล"
ในมาตรา 3 ของร่างกฎหมาย ได้กำหนดนิยามของ "ซะกาต" เอาไว้ว่า หมายถึงเงินหรือทรัพย์สินจำนวนหนึ่งที่บัญญัติศาสนาอิสลามได้กำหนดให้เจ้าของเงินหรือทรัพย์สินนั้นมีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับซะกาตตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติศาสนาอิสลามได้กำหนดไว้
"กองทุนซะกาต" หมายความว่า กองทุนซะกาตที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมบรรดาซะกาตจากผู้มีหน้าที่จ่ายซะกาต เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับซะกาตตามบัญญัติศาสนาอิสลาม รวมถึงการรับบริจาคบรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้เป็นทานหรือเพื่อสาธารณกุศล
ส่วน "ผู้มีสิทธิได้รับซะกาต" หมายความว่า บุคคลแปดประเภทซึ่งมีสิทธิได้รับซะกาต โดยมีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาตกำหนดตามมาตรา 12 (6) ทั้งนี้ ต้องสอดคล้องกับบัญญัติศาสนาอิสลาม
ขณะที่ "อาดิ้ล" หมายถึง ผู้ซึ่งศรัทธายึดมั่นและปฏิบัติตามบัญญัติศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด
ตั้งบอร์ดระดับชาติ "ควบคุม-ตรวจสอบ" กองทุนซะกาต-เงินบริจาค
สาระสำคัญของร่างกฎหมายคือการกำหนดคณะกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการและควบคุมกองทุนซะกาต ซึ่งมีทั้งคณะกรรมการระดับชาติ คณะกรรมการระดับปฏิบัติการ และคณะกรรมการกองทุนซะกาตของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มัสยิด และนิติบุคคลอื่นทั่วประเทศ
ในมาตรา 4 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 6 ระบุว่า การจัดเก็บซะกาตหรือการรับบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเข้ากองทุนซะกาตต้องดำเนินการบนพื้นฐานของความสมัครใจของผู้มีหน้าที่จ่ายซะกาตหรือผู้บริจาคอย่างแท้จริง โดยต้องไม่มีการบังคับในรูปแบบใดทั้งทางตรงและทางอ้อม
การแจกจ่ายซะกาตต้องมุ่งหมายเพื่อที่จะส่งเสริมและสนับสนุนบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติตามบัญญัติศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด
มาตรา 7 กำหนดให้ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของผู้จ่ายซะกาต ผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สิน และผู้มีสิทธิได้รับซะกาตเป็นความลับ ไม่อาจเปิดเผยได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากบุคคลผู้นั้นก่อนหรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
สำหรับบอร์ดระดับชาติ บัญญัติไว้ในร่างกฎหมายมาตรา 8 เรียกว่า "คณะกรรมการส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต" ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.เป็นประธาน ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกรมการศาสนา ผู้แทนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวง พม. และผู้แทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
นอกจากนั้นยังมีผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านการเงิน ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาสังคม ด้านละ 1 คน และด้านศาสนาอิสลามจำนวน 2 คน เป็นกรรมการ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต เป็นกรรมการและเลขานุการ
กำหนดสเปคกรรมการต้องมีสายสัมพันธ์ดีกับทุกศาสนา
ที่น่าสนใจก็คือ ร่างกฎหมายระบุให้กรรมการผู้แทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องเป็น "คนอาดิ้ล" และมีคุณสมบัติ 8 ประการ เช่น มีสัญชาติไทยโดยการเกิด อายุไม่ต่ำกว่า 30 บริบูรณ์ มีความสัมพันธ์อันดีกับทุกศาสนา และมีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องจบการศึกษาอย่างน้อยปริญญาตรี มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี รัฐมนตรีมีสิทธิให้ออกได้หากบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ
ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาตเสมือนเป็นบอร์ดใหญ่ระดับชาติ มีอำนาจหน้าที่ระดับนโยบายรวม 12 ข้อ ทั้งส่งเสริม กำกับดูแล บริหารจัดการ และควบคุมการจัดตั้งกองทุนซะกาตทั่วประเทศ อาทิ พิจารณาอนุมัติให้จดทะเบียนจัดตั้งกองทุนซะกาต, พิจารณาเรื่องร้องเรียนและมีมติให้ผู้บริหารกองทุนซะกาตพ้นจากตำแหน่ง, ออกประกาศกำหนดเกี่ยวกับประเภทและจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่ต้องจ่ายซะกาตในแต่ละประเภท และกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับซะกาต เป็นต้น (มาตรา 12 วงเล็บ 1-12)
ตั้งบอร์ดระดับปฏิบัติคุมอีกชั้น-เข้มเงินบริจาค ตปท.
สำหรับคณะกรรมการระดับปฏิบัติ มีหน้าที่กำกับดูแล "กองทุนส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต" โดยให้จัดตั้งกองทุนดังกล่าวในสำนักงานปลัด พม. เพื่อใช้สำหรับการดำเนินงานส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือในการดำเนินกิจการของกองทุนซะกาต โดยมีสำนักงานเป็นผู้บริหารจัดการกองทุนส่งเสริมฯ และมีคณะกรรมการเป็นผู้ควบคุมดูแลกองทุนส่งเสริมฯ (มาตรา 15)
กองทุนส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินดังต่อไปนี้ (1) เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้ (2) เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์กรต่างประเทศ (3) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรืออุทิศให้ (4) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับโอนจากการชำระบัญชีของกองทุนซะกาต และ (5) ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินตาม 1-4
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายยังกำหนดให้คณะกรรมการอาจมีมติให้นำเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนส่งเสริมฯไปจัดหาผลประโยชน์ได้ตามที่เห็นสมควร โดยต้องไม่ขัดกับบัญญัติศาสนาอิสลาม (มาตรา 17)
นอกจากนี้ รายได้หรือประโยชน์จากการดำเนินงานหรือการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนส่งเสริมฯ ให้นำเข้าสมทบกองทุนส่งเสริมทั้งหมด โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน (มาตรา 18)
กองทุนนี้บริหารโดยสำนักงานส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานปลัด พม. และมีอำนาจตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุนซะกาต, ประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้บริหารกองทุนซะกาต, พิจารณารับคำขอจดทะเบียนจัดตั้ง การเลิก การยุบรวม และการแยกกองทุนซะกาต โดยสำนักงานดังกล่าวขึ้นกับบอร์ดระดับชาติอีกชั้นหนึ่ง เพราะผู้อำนวยการสำนักงานเป็นกรรมการและเลขานุการของบอร์ดใหญ่โดยตำแหน่ง
คลอดเกณฑ์จัดตั้งกองทุนซะกาต-บอร์ดบริหารกองทุน
ส่วนหลักเกณฑ์และขั้นตอนการจัดตั้งกองทุนซะกาตทั่วประเทศนั้น บัญญัติในหมวด 3 มาตรา 23 ถึง 30 โดยสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มัสยิด มูลนิธิ สมาคม หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ประสงค์จะจัดตั้งกองทุนซะกาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อสำนักงานตามระเบียบที่กำหนด
กองทุนซะกาตที่จดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีคณะกรรมการผู้บริหารกองทุนซะกาตเป็นผู้แทนของนิติบุคคลในการดำเนินกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก
"กองทุนซะกาต" ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินดังต่อไปนี้ (1) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับจากผู้จ่ายซะกาต (2) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรืออุทิศให้ (3) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับอุดหนุนจากกองทุนส่งเสริมฯ (4) ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินตาม 1-3
ในร่างกฎหมายมาตรา 26 กำหนดให้เงินและทรัพย์สินของกองทุนซะกาตให้จ่ายได้เฉพาะแก่ผู้มีสิทธิได้รับซะกาต ขณะที่มาตรา 27 กองทุนซะกาตที่จดทะเบียนแล้วให้ใช้ชื่อนำหน้าว่า "กองทุนซะกาต" ต่อด้วยชื่อที่ประสงค์จะขอจดทะเบียน และลงท้ายด้วยข้อความว่า "ซึ่งจดทะเบียนแล้ว"
สำหรับการบริหารจัดการกองทุนซะกาต บัญญัติอยู่ในหมวด 4 มาตรา 31-41 โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดซึ่งขอจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนซะกาตเป็นผู้แต่งตั้งคณะผู้บริหารกองทุนซะกาต ในกรณีที่มัสยิด มูลนิธิ สมาคม หรือนิติบุคคลอื่นยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้ง ให้องค์กรเหล่านั้นเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน
คณะกรรมการบริหารกองทุนประกอบด้วยประธาน 1 คน รองประธาน 1 คน ผู้บริหารซึ่งคัดเลือกจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือกรรมการจากองค์กรอื่นที่ยื่นขอจัดตั้งกองทุนจำนวน 4 คน และผู้แทนผู้จ่ายซะกาตจำนวน 3 คนซึ่งคัดเลือกจากผู้จ่ายซะกาตให้กับกองทุนซะกาตนั้นเป็นจำนวนสูงสุดเรียงลำดับในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้โดยความสมัครใจ
ผู้บริหารกองทุนจะต้องเป็น "คนอาดิ้ล" และเป็นมุสลิมผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด รวมทั้งเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลบามเป็นอย่างดี มีความสัมพันธ์อันดีกับทุกศาสนา และมีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย (มาตรา 32)
กรรมการบริหารกองทุนซะกาต ยกเว้นผู้แทนผู้จ่ายซะกาต มีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี และดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ
"นัจมุดดีน-อารีเพ็ญ-ปชป." ชงร่าง พ.ร.บ.ซะกาตอีก 2 ร่าง
นอกจากร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต ซึ่งเป็นร่างของรัฐบาลแล้ว ยังมีร่างกฎหมายเรื่องเดียวกันนี้ที่เสนอโดย นายนัจมุดดีน อูมา ส.ส.นราธิวาส นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส.ระบบสัดส่วน และคณะ กับร่างที่เสนอโดย นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ ส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรอีก 2 ร่าง หลังจากที่นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองแล้ว เนื่องจากเป็นร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวด้วยการเงิน
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับซะกาตอีก 2 ร่าง มีเนื้อหาสาระแตกต่างจากร่างของรัฐบาลพอสมควร ซึ่ง "ทีมข่าวอิศรา" จะสรุปรายละเอียดมานำเสนอในโอกาสต่อไป
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ ISRAMPARTY
http://isramparty.wordpress.com/2011/01/23/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%95/