"เพื่อไทย"เอาจริงชงร่าง ก.ม.นครปัตตานี เลือกตั้งผู้ว่า-เลิก ศอ.บต.
ช่วงใกล้เลือกตั้ง...เริ่มมีความเคลื่อนไหวเพื่อนำเสนอนโยบายและร่างกฎหมายของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ หวังเรียกคะแนนนิยมจากประชาชน โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นนโยบายหนี่งที่หลายพรรคการเมืองให้ความสนใจ และเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักยิ่งในช่วงนี้
หนึ่งในนั้นคือพรรคเพื่อไทย (พรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนเดิม) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (ร่าง พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี พ.ศ..... เพื่อจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษชื่อว่า "นครปัตตานี" ครอบคลุมพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มี "ผู้ว่าราชการนครปัตตานี" มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และมี "สภานครปัตตานี" ที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งอำเภอละ 1 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของผู้ว่าราชการนครปัตตานี
ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความยาวถึง 121 มาตรา เพิ่งผ่านความเห็นชอบของคณะทำงานภาคใต้ พรรคเพื่อไทย และจะเสนอเข้าบรรจุเป็นระเบียบวาระของสภาผู้แทนราษฎร โดยในเอกสารประกอบร่างกฎหมายได้ระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานีเอาไว้ว่า "โดยที่สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของประชาชนและความมั่นคงของประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องบูรณาการการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกรูปแบบ รวมถึงการกำหนดให้มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาให้บรรลุตามเป้าหมายในอันที่จะทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสงบเรียบร้อยด้วย"
ยุบเลิก ศอ.บต.-แต่ให้คงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล อบต.
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี สรุปได้ดังนี้
- ยกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (เพิ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อปลายปีที่แล้ว) โดยให้ "นครปัตตานี" เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ทำหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.นราธิวาส ยะลา และ จ.ปัตตานีอย่างบูรณาการ และให้ใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี แทน
- การบริหารนครปัตตานี ประกอบด้วย สภานครปัตตานี และผู้ว่าราชการนครปัตตานี โดยสมาชิกสภานครปัตตานีมาจากเลือกตั้งจากตัวแทนอำเภอ ให้อำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง และให้มีสมาชิกสภานครปัตตานีได้อำเภอละหนึ่งคน ส่วนผู้ว่าราชการนครปัตตานีมี 1 คน และมีรองผู้ว่าราชการนครปัตตานีได้ไม่เกิน 3 คน มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี
- ให้นครปัตตานีปฎิบัติภารกิจในการจัดทำและบูรณาการแผนงานโครงการด้านการพัฒนาของหน่วยงานของรัฐต่างๆ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และเอกชน
- ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างและอัตรากำลังของ ศอ.บต.มาเป็นของนครปัตตานี
- ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลการปฎิบัติราชการของนครปัตตานี
- ให้ตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ จ.นราธิวาส ยะลา และปัตตานีที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ต่อไป
รู้จัก "นครปัตตานี" ของพรรคเพื่อไทย
มาตรา 5 ของร่างพระราชบัญญัติบริหารราชการนครปัตตานี ระบุว่า ให้นครปัตตานีมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีระเบียบการบริหารตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอาณาเขตท้องที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี
มาตรา 6 ระบุว่า ให้พื้นที่การบริหารนครปัตตานีครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี รวมทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่สามจังหวัดดังกล่าว
มาตรา 15 ระบุให้อายุของสภานครปัตตานีมีกำหนดคราวละสี่ปี นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภานครปัตตานี
มาตรา 42 ระบุว่า ให้นครปัตตานีมีผู้ว่าราชการนครปัตตานีคนหนึ่งซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นโดยวิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ มาตรา 44 อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการนครปัตตานีต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 13 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 กล่าวคือ ต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตนครปัตตานีเป็นเวลาติดต่อกันจนถึงวันสมัครไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตนครปัตตานี และได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือตามกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ให้นครปัตตานีในปีที่สมัครหรือปีก่อนที่สมัครหนึ่งปี
มาตรา 45 กำหนดให้ผู้ว่าราชการนครปัตตานีมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
จัดทำยุทธศาสตร์พัฒนา-ดึงกิจการฮัจญ์ดูแลเอง
อำนาจหน้าที่ของนครปัตตานี บัญญัติไว้ในมาตรา 73 มีถึง 29 เรื่อง เฉพาะที่สำคัญคือ
- จัดทำยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี ในลักษณะบูรณาการ
- จัดทำแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
- การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งนี้ตามข้อบัญญัตินครปัตตานี และตามกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนครปัตตานี
- ส่งเสริมแนวคิดด้านพหุวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมแห่งชาติ รวมถึงการลดการผูกขาดทางวัฒนธรรมหรือการขจัดการเลือกปฏิบัติทางวัฒนธรรมโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
- ส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาแก่คนไทยในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานีที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย
- การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล
- การจัดการศึกษา
นอกจากนั้น ร่างกฎมายมาตรา 74 ยังให้นครปัตตานีจัดทำสรุปสถานการณ์ ปัญหาและอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีทุกหนึ่งปี และให้คณะรัฐมนตรีเสนอรัฐสภาเพื่อทราบด้วย
การบริหารยังไม่พ้นเงา "มหาดไทย"
ในช่วงท้ายของร่างพระราชบัญญัติ ยังกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับนครปัตตานีเอาไว้ด้วย โดยในมาตรา 102 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการอื่นนอกเหนือจากที่พระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนครปัตตานี ถ้ากระทรวง ทบวง กรมใดเห็นสมควรส่งข้าราชการมาประจำนครปัตตานีเพื่อปฏิบัติราชการในหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรมนั้นๆ ก็ย่อมกระทำได้โดยทำความตกลงกับนครปัตตานี
มาตรา 103 การตั้งงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนในนครปัตตานี ให้รัฐบาลตั้งให้นครปัตตานีโดยตรงภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอื่น เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดให้นครปัตตานีนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะออกระเบียบกำหนดการใช้จ่ายเงินดังกล่าวก็ได้
มาตรา 114 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของนครปัตตานี เพื่อการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริง หรือสั่งให้ผู้ว่าราชการนครปัตตานี ชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของนครปัตตานี ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นว่าการปฏิบัติใด ๆ ของผู้ว่าราชการนครปัตตานีขัดต่อกฎหมาย มติของคณะรัฐมนตรี หรือเป็นไปในทางที่อาจทำให้เสียประโยชน์ของนครปัตตานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะยับยั้งหรือสั่งการตามที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา 115 นโยบายเสริมสร้างสันติสุข ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความมั่นคงและการรักษาความมั่นคงภายในในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐบาล
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ป้ายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชูนโยบายสนับสนุนการจัดตั้ง "นครปัตตานี" อย่างชัดเจน