นักวิชาการ แนะเพิ่มมูลค่าผลผลิต ยกระดับความมั่งคั่งประเทศ
เวทีไทยแลนด์ฟิวเจอร์ 2 มองอนาคตความมั่งคั่งไทยต้องเพิ่มมูลค่าผลผลิต เชื่อมภาควิชาการ-เอกชน ต่อยอดงานวิจัยสู่การปฏิบัติจริง
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน สถาบันอนาคตไทยศึกษา และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดสัมมนา พลิกเส้นทางพัฒนา... สถาปนาความมั่นคงใหม่ให้ประเทศ Thailand Future Forum No.2 ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายหลังที่การสัมมนาครั้งแรกวาระที่กลั่นกรองออกมาได้ คือ การยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ (moving up the value chain) การสัมมนาครั้งนี้จึงจัดขึ้นเพื่อหาแนวทางต่อยอดเรื่องการยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยมีดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงาน
ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวตอนหนึ่งถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันของไทย เป็นการเขียนแผนจากระดับฐานล่างสู่บน เริ่มต้นที่ประชาชนมากขึ้น ต่างจากเดิมที่เขียนแผนจากบนลงฐานล่าง แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า มีนำมาปฏิบัติได้น้อย ด้วยเพราะส่วนหนึ่งทาง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่มีอำนาจในการบังคับให้หน่วยงานรัฐต่างๆ ดำเนินการตามแผน และอีกประการหนึ่งเพราะถูกแผนบริหารราชการแผ่นดินที่รัฐบาลแต่ละชุดเขียนขึ้นในช่วงหาเสียงว่าจะปฏิบัติให้ได้ภายใน 4 ปีมาเบียดบัง นโยบายบริหารประเทศจึงกลายเป็นนโยบายระยะสั้น ไม่ใช่นโยบายที่มองภาพระยะยาวของประเทศ
ขณะที่ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวถึง "เส้นทางสู่ความมั่นคั่ง" ของประเทศ โดยมองว่า จะต้องเริ่มต้นด้วยการยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ (moving up the value chain) ซึ่งจะต้องทำภายใต้มิติที่หลากหลาย ภายใต้ความร่วมมือในการผลักดันจากหลายภาคส่วนและหลายสาขา ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชนและภาคประชาชน หัวใจหลักต้องสร้างนวัตกรรม ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมด้านการผลิต อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีปัญหาติดขัดอยู่ที่ว่า หลายปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าที่ไทยผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ แผนวงจรไฟฟ้า และส่วนประกอบรถยนต์ ที่มีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละไม่ถึง 3% นั่นเพราะไม่มีการยกระดับคุณภาพสินค้าและเพิ่มมูลค่าของสินค้า
"หากต้องการเพิ่มมูลค่าผลผลิตจะต้องย้อนกลับไปเริ่มที่กระบวนการพัฒนาสินค้าผ่านการออกแบบ การวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หรือมองภาพข้างหน้าด้วยการทำการตลาด พัฒนาโลจิสติกส์และการสร้างแบรนด์ ทั้งนี้ ไม่มีประเทศใดที่จะไปสู่ความมั่งคั่งและพัฒนาการยกระดับผลิตภัณฑ์ได้โดยไม่ให้น้ำหนักและความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา รวมถึงสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญคือความชัดเจนในการนำแผนไปปฏิบัติ ที่ต้องระบุเป้าหมาย ตัวชี้วัด แนวทางในการพัฒนา รวมถึงสายการรับผิดชอบในการดำเนินตามแผนอย่างชัดเจน โดยมีภาครัฐ ภาควิชาการและภาคเอกชนเชื่อมโยงความร่วมมือกัน"
ดึงงานวิจัย เชื่อมวิชาการ-เอกชน ยกระดับผลผลิต
จากนั้นภายในงานมีเวทีเสวนา "พลิกเส้นทางพัฒนา... สถาปนาความมั่นคั่งใหม่ให้ประเทศ" โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศ.กิตติคุณ ดร. คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ร่วมเสวนา
ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า อุปสรรคในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตในประเทศไทย คือ ขาดความเชื่อมโยงระหว่างภาควิชาการและภาคเอกชน ที่ไม่สามารถดึงงานวิจัยจากภาควิชาการที่มีอยู่ มาปรับใช้ ต่อยอดและพัฒนาได้ อีกทั้งยังขาดบุคคลากรที่ตรงกับความต้องการในแต่ละสายงาน หรือจบการศึกษามาไม่สามารถทำงานในสายงานนั้นๆ ได้ ต้องปรับบุคลากรให้มีใจกับการปฏิบัติงานจริง และยังขาดนวัตกรรมของแต่ละผลผลิต ที่ยังไม่มีการคิดค้นหรือเพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้
ขณะที่ศ.กิตติคุณ ดร.คุณหญิงสุชาดา กล่าวว่า เห็นด้วยว่างานวิจัยของภาควิชาการยังไม่สามารถนำไปต่อยอดกับภาคเอกชนได้ การเชื่อมโยงระหว่างภาควิชาการและภาคเอกชนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปรับเข้าหากันมากขึ้น เพื่อให้ภาคเอกชนนำงานวิจัยไปต่อยอด และเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตได้ ทั้งนี้ การผลิตบุคลากรยังมีความสำคัญและต้องปรับตัวอยู่เสมอ นอกเหนือจากเป้าหมายที่สถาบันการศึกษาจะผลิตบุคลากรให้เป็นคนเก่ง ดีและฉลาดแล้ว ปัจจุบันนี้ต้องเพิ่มให้เป็นคนที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วไปตามสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ กล่าวสอดคล้องกันว่า การวิจัยและพัฒนาของภาควิชาการยังไม่ตอบสนองและสอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน ยังไม่สามารถนำมาต่อยอดได้ จากนี้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการคงต้องร่วมมือกันมากขึ้น ปิดช่องโหว่ต่างๆ ให้ได้ เพื่อให้งานวิจัยและพัฒนานำมาสู่แนวทางปฏิบัติที่ยกระดับและเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้จริง
"ในส่วนบริษัทขนาดใหญ่ไม่น่าห่วงนัก เพราะมีทุนที่สามารถส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดมูลค่าผลผลิตได้เอง แต่สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ที่มีทุนน้อย ทำการวิจัยและพัฒนาได้ยาก มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาช่วยสนับสนุนและผลักดันอย่างจริงจัง ให้เกิดการวิจัยและพัฒนา มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆและสร้างแบรนด์ เพื่อยกระดับสินค้าให้ได้ ส่วนสำคัญอีกประการ คือ ความรู้เกี่ยวกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ที่เมื่อ 2 ปีที่แล้วพบว่า มีผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 70% ที่ไม่รู้จักเออีซี กระทั่งปัจจุบันยังไม่สามารถวางแนวทางปรับตัวเพื่อเข้ากับเออีซีได้ นี่จึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่ง"