‘คอรัป “ฉัน” ไม่ขอรับ’ ...ผนึกพลังเยาวชน 'ต้านโกง'
‘คอรัป “ฉัน” ไม่ขอรับ’ - Refuse to be corrupt
สโลแกนเด็ดของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ จากรั้วมหาวิทยาลัยกว่า 90 แห่งทั่วประเทศ ที่มารวมตัวกันในโครงการ ‘เยาวชนคนรุ่นใหม่...หัวใจสะอาด’ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program: UNDP) ที่ร่วมไม้ร่วมมือกับวิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลักดันโครงการนี้ขึ้นมา
นายขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ programme analyst โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย บอกเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า มาจากผลสำรวจชิ้นหนึ่ง ที่จัดทำขึ้นใน 38 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั่นก็คือประเทศไทย
ผลสำรวจดังกล่าวก็ออกมาในทิศทางเดียวกันว่า...
เยาวชนส่วนใหญ่มองเรื่องการติดสินบนของข้าราชการเป็นเรื่องปกติ
ข้าราชการใช้ทรัพยากรภาครัฐ เพื่อประโยชน์ของตนเอง ไม่เป็นไร
ที่สำคัญยังมองว่า การป้องกันหรือต่อต้านคอร์รัปชั่นนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของเยาวชนเลย
“สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การศึกษา เพื่อสร้างความเป็นพลเมือง (Civic Education) เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่นิสิตนักศึกษาไทย เราพบว่า พวกเขาทำกิจกรรมเยอะกว่านิสิตนักศึกษาในประเทศอื่นๆ ที่ได้มีการสำรวจในครั้งนี้มาก แต่ความรู้เกี่ยวกับการเป็นพลเมือง (civic knowledge) เกือบจะต่ำที่สุด
...ตรงนี้มันก็เกิดคำถามตามมาว่า สิ่งที่เราใส่เข้าไปให้กับพวกเขานั้น ที่ผ่านมามันไปไม่ถึงหรือไม่ อย่างไร” เขาตั้งข้อสังเกต
พร้อมกับอธิบายต่อไปว่า ส่วนเรื่องการคอร์รัปชั่นนั้น ในมิติขององค์กรระดับสากลแห่งนี้ มองว่า เป็นเรื่องที่ส่งกระทบโดยตรงต่อสิทธิมนุษยชน การสร้างประสิทธิภาพ และการพัฒนา
'คอร์รัปชั่น' ถือเป็นการละเมิดสิทธิที่ประชาชนควรจะได้ เช่น เงินที่คอร์รัปชั่น ถ้านำมาสร้างมหาวิทยาลัย จ้างครูที่มีคุณภาพ ก็จะทำให้การศึกษาของเยาวชนดีขึ้นมากกว่านี้
และเมื่อการ 'คอร์รัปชั่น' คือเรื่องของประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์สาธารณะ คอร์รัปชั่นย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งมันก็อาจทำลายสันติภาพได้ และดูเหมือนว่าในเรื่องนี้ก็ค่อนข้างตรงกับประเทศไทย
สุดท้าย 'คอร์รัปชั่น' กระทบต่อการพัฒนา เพราะหากข้อมูลที่ว่า มีการจ่ายใต้โต๊ะกันถึง 30% ของวงเงินในการดำเนินงานโครงการหนึ่งๆ เงินที่โดนคอร์รัปชั่นไปนั้น ย่อมกลายเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศอย่างแน่นอน
“เป้าหมายของโครงการ จึงต้องการสร้างการตระหนักรู้ในระดับปัจเจก จากเดิมที่มีความคิดว่าคอร์รัปชั่นไม่เกี่ยวกับตัวเขาเลย ตอนนี้รู้ว่าเกี่ยวอย่างไร และเริ่มที่จะเปลี่ยนตัวเอง ลบล้างพฤติกรรมที่ไม่ดี โดยเฉพาะสิ่งที่ใกล้ตัวที่สามารถทำได้ทันที เช่น นิสิตนักศึกษาขี่จักรยานยนต์แล้วถูกตำรวจจับอย่างนี้ เราจะเลิกให้สินบนได้ไหม? เพราะถ้ายังไม่เลิก เขาก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการคอร์รัปชั่นต่อไป”
และจากจุดนี้เอง...แม้มันจะเป็นเรื่องเล็กๆ ในมุมมองของใครหลายที่เห็นว่า เยาวชนควรจะต้องเดือนร้อนมากกว่านี้!! แต่ผมกลับมองว่า นี่คือก้าวแรก
และน่าจะเป็นผลลัพธ์ที่ดี เพราะหากเขาเข้าใจตรงนี้ เวลาเห็นคนอื่นทำอะไรที่ไม่ดี ไม่เข้าท่าก็จะเกิดอาการอดรนทนไม่ได้ ส่วนจะกล้าพูดหรือสะกิดเตือนหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติการ (take action) ของเขาเอง
ขณะเดียวกันเห็นว่า สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปนั้นคือ การสร้างเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นในระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่จะเข้ามาร่วมกันทำร่วมกันคิด โดยในระดับมหาวิทยาลัย อาจจะมีการจัดตั้งเป็นชมรมขึ้นมา ขับเคลื่อนกิจกรรมเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นเข้าไปสู่มหาวิทยาลัยให้ได้ และเพื่อให้การทำงานเกิดความต่อเนื่อง ส่วนในระดับภาค แต่ละภาคก็จะมีมหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่งเป็นแกนหลัก เพื่อรวมตัวกันขับเคลื่อนในระดับประเทศต่อไป
“ที่ผ่านมาปัญหาหลักที่การคอร์รัปชั่นมันแก้ยาก สาเหตุหนึ่งก็คือ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตัวบุคคลที่ลุกขึ้นมาต่อสู้จะมีมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ หมายความว่า หากคนๆ เดียวลุกขึ้นมาต่อสู้ แก้ไข เรียกร้อง คงไม่มีใครไปปกป้องความปลอดภัย อนาคตให้กับเขาได้ ความเสียหายต่อตัวปัจเจกจึงมากเกินไปกว่าที่ยอมรับได้ เพราฉะนั้นวิธีการก็คือ ต้องสร้างเครือข่ายขึ้นมาต่อสู้กับเรื่องนี้” ขวัญพัฒน์ ขมวดประเด็นทิ้งท้าย
ส่วนอีกหนึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน .....
อาจารย์ณรินทร์ เจริญทรัพยานนท์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนานักศึกษา วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ในฐานะผู้ร่วมปลุกปันโครงการมาตั้งแต่ต้น เล่าถึงการทำงานร่วมกันนิสิตนักศึกษาไว้อย่างน่าสนใจว่า ช่วงแรกๆ ที่นิสิตนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่เข้าใจว่า การคอร์รัปชั่นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเท่านั้น มองเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว ไปทำ ไปแก้อะไรไม่ได้ ซึ่งพอคิดอย่างนี้ก็ทำให้เกิดการเพิกเฉย
"เราจึงได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้มาอธิบายในเรื่องเหล่านี้ ก็ทำให้พวกเขาเข้าใจมากขึ้นว่า การคอร์รัปชั่นมันหมายรวมถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสมด้วยนะ ความเสียหาย ผลกระทบเชิงลบของการคอร์รัปชั่นมันมีอะไรบ้าง ซึ่งเราก็พูดถึงการคอร์รัปชั่นงบประมาณแผ่นดินเป็นเงินแสนๆ ล้านบาท สามารถเอาไปสร้างรถไฟฟ้าได้เป็นสาย เขาก็ตระหนักถึงอันตราย ผลกระทบในเรื่องนี้ และก็เปลี่ยนความคิดตรงนี้กันใหม่"
อาจารย์จาก มข.รายนี้ ยังมองต่อไปอีกว่า แม้ความพยายามเปลี่ยนแนวคิดของคน สังคมเป็นเรื่องยาก แต่ก็มีความหวังว่า ถ้ามีน้ำดีเยอะขึ้นเรื่อยๆ น้ำเสียก็เจือจางลง และหมดไปในที่สุด
“เราคงจะหวังไปแก้หรือบำบัดน้ำเสีย คงเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่มีต้นทุนในการเปลี่ยนสูงกว่าวัยรุ่น และแม้นักศึกษาจะไม่สามารถไปวิ่งไล่จับใครได้ แต่สิ่งที่เขามีคือ ‘พลังใส’ เป็นช่วงที่กำลังหาความเป็นตัวตน กำลังฟอร์มความคิดของตนเอง ซึ่งหากเราไปสร้างภูมิคุ้มกัน คนรุ่นใหม่ที่ไม่คอรัป ต้องไม่ให้เขา 'คอรัป' สร้างค่านิยมทางสังคม ไม่ต้องการคอร์รัปชั่น เชื่อว่า สังคมบ้านเราก็จะดีขึ้นเป็นลำดับ"
ขยับมาที่เยาวชนคนรุ่นใหม่จากรั้วจามจุรีกันบ้าง
นายวรายุทธ แซ่โค้ว หรือ ‘ติ๊ก’ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในสมาชิกโครงการฯ เล่าถึงแนวคิดในเรื่องคอร์รัปชั่นที่เปลี่ยนไปแบบพลิกฝ่ามือ โดยยืดอกยอมรับแบบแมนๆ ว่า แรกเริ่มเดิมทีความคิดในเรื่องคอร์รัปชั่นไม่ได้อยู่ในหัวเขาเท่าไหร่
“ผมกับเพื่อนๆ ที่เรียนรัฐศาสตร์ ชอบเอาเรื่องเกี่ยวกับการเมืองว่าคุยกัน ครั้งหนึ่งเคยตั้งคำถามกันเล่นๆ ว่า เฮ้ย...ถ้าเรียนจบกันไปแล้ว ต้องไปเป็นนักการเมือง จะโกงไหม? ในตอนนั้นผมก็ตอบไปว่า ถ้ามันจำเป็นก็ต้อง “โกง” เพราะถ้าไม่โกง เราก็อยู่ไม่ได้”
แต่พอมาร่วมโครงการฯ ก็ทำให้เห็นภาพ การทุจริตไม่จำเป็นต้องอยู่คู่กับการเมืองไทย เพราะว่ามันทำให้ประเทศเสียอะไรหายๆ อย่างไป ทั้งระบบราชการ การบริหารประเทศ การสูญเสียผลประโยชน์ของแผ่นดิน...มันทำให้เงินที่เข้าไปหล่อเลี้ยงระบบหายไป เอาเงินที่เก็บจากทุกคนไปทิ้งตรงไหนก็ไม่รู้
พร้อมกันนี้ เขายังเปรียบเทียบ การคอร์รัปชั่น มันก็เหมือนกับต้นไม้ที่ขาดน้ำ ทั้งที่จริง เรามีน้ำพอให้รด ต้นไม้สามารถเติบโตต่อไปได้ แต่พอน้ำ มันมีคนเอาไปไหนก็ไม่รู้ ประเทศที่มันควรจะเจริญเติบโต ก็เลยต้องหยุดชะงักและสุดท้ายมันก็ค่อยเหี่ยวลงๆ
ที่สำคัญ ผมว่า สถานการณ์ในประเทศไทยเดินมาถึงจุดสูงสุดแล้ว และมันก็จะดิ่งลงๆ
“ติ๊ก” ยังเผยมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อไปอีกว่า วัยรุ่นไทยเขามองว่า เรื่องการคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องดี แต่การที่จะให้มานั่งคุย สนใจในเรื่องนี้ ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะยังมองเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย การเมือง ทำให้ทุกคนยังไม่กล้าพูด แต่เชื่อว่าถ้ามีตัวกิจกรรมอะไรดีๆสักอย่าง ที่ทำให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้มันพูดกันได้นะ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผมว่าเยาวชนน่าจะกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้กันมากขึ้น
...เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องการคอร์รัปชั่นนั้น ถึงแม้จะมีคนที่ได้ประโยชน์ แต่คนที่เหลือก็ไม่ได้อะไร ที่สำคัญ ไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างจริงจัง” เขาเชื่ออย่างนั้น
ไม่ต่างกันนักกับแนวคิดของหนุ่มน้อยผิวเข้มจากจังหวัดปลายดามขวาน นายซายูตี สาหลำ หรือ ‘ตรี’ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่มองว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นในสังคมมาช้านาน
เขาในฐานะเยาวชนก็เคยตั้งคำถามในเรื่องว่า ตนเองจะสามารถเข้าไปทำอะไรได้บ้าง จะเข้าตรวจสอบได้ไหม หรือถึงขั้นต้องออกไปเดินประท้วง ทำอะไรที่รุนแรงหรือเปล่า
“คือตอนนั้น ผมไม่รู้จริงๆ ว่าจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร สิ่งที่ผมทำได้ในตอนนั้นคือ ‘ปล่อยให้มันผ่านไป’ เท่านั้น”
แต่ที่นี้ เมื่อผมได้เข้ามาร่วมกิจกรรมในโครงกาฯ ก็ได้เห็นมุมมอง เห็นปัญหาว่า เรื่องนี้มันเป็นปัญหาใหญ่โต มีทั้งผู้ร่วมกระทำ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทำให้เกิดการตระหนักรู้ว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น มันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ปัญหาปากท้อง การสาธารณสุข สวัสดิการสังคม รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะงบประมาณที่ควรลงไปพัฒนาบุคลากร พัฒนาประชาชนในประเทศถูกกัดกร่อนให้เหลือเพียงน้อยนิด
และถ้าจะให้เปรียบเทียบปัญหาคอร์รัปชั่น ผมว่า หลังจากได้รับความรู้ ข้อมูลข่าวสาร มันทำให้ผมคิดว่า "ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น มันเป็นปัญหาที่ร้ายแรง ถึงแก่ชีวิต"
...คิดดูนะครับว่า ถ้ามีการทุจริตเรื่องการรักษาพยาบาล การสาธารณะสุข โรงพยาบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอ สวัสดิภาพคน ประชาชนตาดำๆ จะดีขึ้นได้อย่างไร
โดยเฉพาะเมื่อการทุจริตในสังคมไทยนับวันยิ่งจะยกระดับมากขึ้น ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า มหัตภัยร้ายนี้ มันจะกัดกินสังคม กัดกินประเทศให้ตายวันตายพรุ่งเมื่อไหร่ ดังนั้น ไม่ว่าเราจะเป็นใครหรืออยู่ในส่วนไหนก็ตาม เมื่อเห็น ตระหนักรู้ตรงนี้แล้วก็ต้องช่วยๆ กัน ทำให้คนที่ไม่ได้เห็นปัญหา ได้เห็นปัญหา
ส่วนถ้าอยากให้เรื่องนี้ กลายเป็นประเด็นร้อน (hot issue) ที่ถูกพูดคุยกันในหมู่วัยรุ่น ‘ตรี’ มองว่า การนำดารา หรือคนที่มีชื่อเสียงมาร่วมรณรงค์ในการต่อต้านคอร์รัปชั่น หรือนำเนื้อหาในลักษณะเช่นว่านี้ สอดแทรกเข้าไปกับละครทีวี หรือรายการดังที่มีเรตติ้งสูงๆ เช่น ละครเรื่อง ‘แรงเงา’ ขณะนี้
แม้ด้านหนึ่งจะเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความรุนแรง แต่เมื่อละครเบรกตัวเอง ด้วยการเอาเนื้อหาเรื่องคอร์รัปชั่นสอดแทรกเข้าไป เช่นประโยคหนึ่งของ ‘แจงจิต’ ที่ว่า ใครจักใคร่ตบก็ตบ แต่อย่าเสียงานละกัน เพราะเงินทุกบาท
อีกแนวทางหนึ่งที่ นักศึกษารายนี้ เห็นว่า จะต้องทำควบคู่กันไปด้วยคือ ต้องจับ ‘ตัวใหญ่’ ที่ทุจริตคอร์รัปชั่นมาลงโทษให้ได้ แต่ตรงนี้คงยอมรับว่าเป็นปัญหาของบ้านเรา ที่จับตัวใหญ่ไม่ได้สักที เพราะนอกจากกรณีของพระรักเกียรติ รักขิตะธัมโม (สุขธนะ) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ก็ไม่เคยเห็นตัวใหญ่ถูกจับอีกเลย
“ผมว่าการต่อต้านคอร์รัปชั่นในสังคมคงเป็นเรื่องที่ต้องค่อยเป็นค่อยๆ ไป แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ถ้าเรามีจุดเริ่มต้นที่ดีเช่นนี้แล้ว ในอนาคตเรื่องเหล่านี้จะถูกสกัดออกไป และทำให้สังคมไทยค่อยๆ กลายเป็นสังคมปลอดคอร์รัปชั่น ปลอดการทุจริตได้อย่างแน่นอน ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหน ก็คงต้องขึ้นอยู่ที่ความร่วมมือของเยาวชน ประชาชนทุกคนครับ” เขาสรุป
ภาพประกอบจาก: www.facebook.com/TYAnticorruption