บทวิเคราะห์สวนทางรัฐ...ถอดรหัส "ทึ้งงบ - ม.21 - การเมือง" ต้นตอใต้ป่วนหนักปี 54
"จริงๆ แล้วเราทราบดีว่าในช่วงปี 2554 นี้ จะมีการก่อเหตุในขั้นบันไดขั้นที่ 6 และ 7 (ตามแผนบันได 7 ขั้น) ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ" คือคำอธิบายจาก นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ให้เหตุผลเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่ง "ป่วนหนัก" มาตั้งแต่เดือนสุดท้ายของปี 2553 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
หลายคนได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านแล้วคงงงว่า ในระดับแกนนำรัฐบาลยังฝังใจกับ "แผนบันได 7 ขั้น" อยู่อีกหรือ ทั้งๆ ที่บุคลากรจากหน่วยข่าวของรัฐเองบางหน่วยไม่ได้ให้ค่ากับ "แผนบันได 7 ขั้น" ที่ว่านี้แต่อย่างใด
"แผนบันได 7 ขั้น" หรือ "แผนปฏิวัติ 7 ขั้นตอน" คือเอกสารที่หน่วยงานความมั่นคงอ้างว่ายึดได้จากบ้านของ นายมะแซ อุเซ็ง เมื่อปี พ.ศ.2546 ซึ่งต่อมา นายมะแซ ถูกทางการไทยออกหมายจับและตั้งรางวัลนำจับนับสิบล้านบาทในฐานะเป็นแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน และก่อเหตุปล้นอาวุธปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547
เนื้อหาของแผนก็เป็นไปตามชื่อ คือการกำหนดขั้นตอนต่างๆ เพื่อปฏิวัติและแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จากราชอาณาจักรไทย ซึ่งแผนแต่ละขั้นมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป โดยขั้นที่ 6 กับ 7 ตามที่นายถาวรพูดถึง ก็คือขั้น "จุดดอกไม้ไฟ" หมายถึงการก่อเหตุร้ายทุกรูปแบบในพื้นที่ จากนั้นจึงใช้การโจมตีด้วยกองกำลังต่อกลไกรัฐเต็มพื้นที่ ซึ่งขณะโจมตีจะติดธงรัฐปัตตานีควบคู่ไปด้วยเพื่อให้สื่อมวลชนกระจายข่าวไปทั่วโลก และหวังผลให้ประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติและองค์กรมุสลิมระดับโลกเข้ามาแสดงบทบาทในการแก้ปัญหา จนนำไปสู่การลงประชามติของประชาชนเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชและจัดตั้งรัฐปัตตานีขึ้นในที่สุด
ทั้งนี้ ตามแผนเดิม กลุ่มผู้ก่อการจะปฏิบัติตามแผนในขั้นที่ 6 และ 7 ในปี พ.ศ.2548 แต่มีข่าวในภายหลังว่าเนื่องจากความไม่พร้อมของกองกำลัง แนวร่วม และยุทโธปกรณ์ ทำให้ต้องเลื่อนเวลาออกไปอีกระยะหนึ่ง
หากคำสัมภาษณ์ของนายถาวรเป็นจริง ย่อมหมายความว่าฝ่ายผู้ก่อการเลื่อนปฏิบัติการแผนบันไดขั้นที่ 6 และ 7 มาเป็นปีนี้ (อย่างนั้นหรือ?)
อันที่จริงก่อนหน้านี้ ทั้งนายถาวรและ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รวมถึง นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาอธิบายถึงสถานการณ์ร้อนแรงในภาคใต้ว่าเป็นความพยายามยกระดับสู่เวทีสากล โดยเฉพาะโลกมุสลิม เพราะในเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำโอไอซี หรือการประชุมระดับผู้นำขององค์การการประชุมอิสลาม (Organization of the Islamic Conference: OIC) ครั้งที่ 12 ที่ประเทศอียิปต์
จะว่าไปทั้งเรื่องแผนบันได 7 ขั้น และประเด็นที่เกี่ยวโยงกับโอไอซีก็เป็นเรื่องเดียวกัน กล่าวคือแผนปฏิวัติในขั้นที่ 7 ก็มีการอ้างไว้ในแผนว่า "หวังผลให้ประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติหรือองค์กรมุสลิมระดับโลกเข้ามาแสดงบทบาทในการแก้ปัญหา จนนำไปสู่การลงประชามติของประชาชนเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชและจัดตั้งรัฐปัตตานีขึ้นในที่สุด"
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวล่าสุดของโอไอซี เกี่ยวกับการจัดประชุมสุดยอดครั้งที่ 12 ที่ประเทศอียิปต์นั้น ได้ถูกเลื่อนจากวันที่ 15 มี.ค.2554 ออกไปอย่างไม่มีกำหนดแล้ว จากแถลงการณ์ของโอไอซีที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา อันสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในอียิปต์ แต่กระนั้น โอไอซีก็ยังให้เกียรติอียิปต์เป็นเจ้าภาพจัดประชุมต่อไป และให้สิทธิในการกำหนดวันประชุมใหม่เอง
กอรปกับความวุ่นวายทางการเมืองของประเทศมุสลิมหลายประเทศ นอกเหนือจากอียิปต์ ก็เช่น ตูนีเซีย ทำให้สถานการณ์ในโลกมุสลิม ณ ขณะนี้ปั่นป่วนพอสมควร
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีคำถามว่า คำอธิบายของคนในรัฐบาลเกี่ยวกับแผนบันได 7 ขั้นและการประชุมสุดยอดผู้นำโอไอซีมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด?
สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของแหล่งข่าวระดับสูงในหน่วยงานด้านความมั่นคงหลายหน่วยที่ประเมินตรงกันว่า ความพยายามยกระดับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ นั้น ส่งผลไม่มากนักต่อท่าทีของโลกมุสลิมรวมถึงองค์การสหประชาชาติ
กล่าวคือการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ดำรงอยู่และยืดเยื้อมานานกว่า 7 ปี มีหลายครั้งที่บางประเทศพยายามผลักดันให้ปัญหาของประเทศไทยเข้าสู่วาระการประชุมของโอไอซี แต่รัฐบาลไทยในสถานะ "กลุ่มประเทศผู้สังเกตการณ์" ก็สามารถ "สกัด" เอาไว้ได้ทุกครั้ง
ขณะเดียวกัน การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ส่งผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก หลายเหตุการณ์ยังกระทำต่อโรงเรียนและสถานพยาบาล ซึ่งขัดแย้งกับจุดยืน (อย่างน้อยก็ในทางเปิด) ของโอไอซีที่ค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ (อาจ) สนับสนุนการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ (ได้)
แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคงจึงให้น้ำหนักของความพยายามก่อเหตุรุนแรงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2553 จนถึงปัจจุบันสวนทางกับท่าทีของคนในรัฐบาลว่า น่าจะมาจาก "ปัญหาภายใน" มากกว่า โดยเฉพาะ "ปัญหาทางการเมือง" ซึ่งมีประเด็นที่น่าพิจารณาดังนี้
1) พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำรัฐบาลได้พยายามโหมกระแส "ดับไฟใต้สำเร็จ" ตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 และได้นำร่องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) อำเภอแรกของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2553 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่นี้ หลังจากประกาศมาตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.2548 และต่ออายุทุกๆ 3 เดือนมาถึง 21 ครั้ง
การยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้กระแส "ดับไฟใต้สำเร็จ" หรือ "มีแนวโน้มสำเร็จ" ดูมีน้ำหนักจริงจังมากขึ้นพอสมควร และย่อมส่งผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะมีขึ้นภายในปีนี้ไม่มากก็น้อย
ฉะนั้นการสร้างกระแสลักษณะนี้ย่อมมีฝ่ายที่เสียประโยชน์...
2) ความพยายามของพรรคประชาธิปัตย์ในการสร้างผลงานให้เป็นรูปธรรมในฐานะ "แกนนำรัฐบาล" และเป็นพรรคการเมืองที่มี "ส.ส.ใต้" มากที่สุด รวมทั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังสะท้อนผ่านการรีบเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต.ฉบับใหม่ ให้มีผลบังคับใช้ในปลายปี 2553 ด้วย
การผ่านกฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างพลิกความคาดหมายของหลายฝ่าย เพราะในชั้นพิจารณาของวุฒิสภา มีการแก้ไขหลักการในร่างกฎหมายหลายประเด็น แต่เมื่อส่งร่างกลับมายังสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้กุมเสียงข้างมากในสภาล่างกลับยอมรับร่างแบบง่ายๆ โดยไม่เสียเวลาตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภาอีก
กฎหมาย ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ฉบับใหม่ไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะในแง่ของการวางโครงสร้างหน่วยงานดับไฟใต้ที่ให้ "ฝ่ายการเมือง" และ "พลเรือน" มีบทบาทนำแทนทหารอย่างถาวร พร้อมทั้งติดดาบผู้นำฝ่ายพลเรือนอย่างเลขาธิการ ศอ.บต.ให้สามารถ "ปรับ-ลด-ปลด-ย้าย" ข้าราชการที่ประพฤติมิชอบออกจากพื้นที่ได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการสถาปนา "อำนาจใหม่" ผ่านสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ที่สำคัญ ศอ.บต.โครงสร้างใหม่ยังมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีกฎหมายรองรับชัดเจน จึงสามารถตั้งงบประมาณของตนเองและบริหารงบประมาณได้เอง ไม่ต้องเบิกจ่ายงบผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ซึ่งคุมโดย "ทหาร" อีกต่อไป
และ ศอ.บต.ยังเป็นหน่วยงานหลักสำหรับการใช้จ่ายงบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง รวมทั้ง "แผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2554 ถึง 2555" วงเงินงบประมาณถึง 63,319 ล้านบาทด้วย ซึ่งการใช้งบย่อมก่อประโยชน์ต่อฝ่ายการเมืองในระดับกุมนโยบายอย่างไม่ต้องสงสัย
ฉะนั้นการมี ศอ.บต.โครงสร้างใหม่จึงย่อมมีผู้เสียประโยชน์...
3) การเดินหน้าใช้มาตรการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ซึ่งมีสาระสำคัญคือเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องหาว่ากระทำความผิด แต่ "กลับใจ" ยอมเข้ามอบตัว หรือผู้ที่พนักงานสอบสวนเห็นว่ากระทำความผิดโดย "หลงผิด-รู้เท่าไม่ถึงการณ์" สามารถเข้ากระบวนการฝึกอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนได้ โดยไม่ถูกฟ้องดำเนินคดีอาญาตามความผิดที่เคยก่อ
เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการ "นิรโทษกรรม" กลุ่มที่เคยก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ก็ไม่น่าจะผิดความหมายนัก
ประเด็นที่น่าพิจารณาก็คือ "ฐานความผิด" ที่เข้าข่ายได้รับการยกเว้นการดำเนินคดีอาญา ซึ่งรัฐบาลประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา เพราะปรากฏว่าความผิดทุกประเภทตั้งแต่ข้อหาฉกรรจ์โทษประหารชีวิตอย่าง กบฏแบ่งแยกดินแดน ฆ่าคนตาย ลอบวางระเบิด ไปจนถึงข้อหาเบาหรือคดีมโนสาเร่อย่างการกระทำผิดพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ผู้ที่กระทำมีสิทธิแสดงความจำนงขอเข้ารับการฝึกอบรมแทนการถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น
พนักงานอัยการระดับอธิบดีที่ร่วมพิจารณา "ฐานความผิด" ดังกล่าวนี้ เคยให้ข้อมูลกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า หากจะใช้กระบวนการตามมาตรา 21 รัฐต้องกล้านิรโทษกรรมทุกฐานความผิด เพื่อให้เกิดผลสะเทือนทางจิตวิทยาในพื้นที่
ข้อเสนอนี้เป็นรูปธรรมขึ้นมา เพราะถึงที่สุดรัฐบาลก็เดินหน้า "นิรโทษ" ทุกฐานความผิดจริงๆ ขณะที่กระแสข่าว "แนวร่วมกลับใจ" และกลุ่มติดอาวุธที่เบื่อหน่ายกับการต่อสู้กับรัฐ เพราะต้องหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ตามป่าเขา ไม่มีโอกาสได้กลับไปใช้ชีวิตปกติอยู่กับครอบครัว ก็มีปรากฏอยู่เนืองๆ
สอดรับกับปฏิบัติการในทางลับของอดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ท่านหนึ่งซึ่งใช้วิธีการ "พูดคุย รับฟัง และช่วยเหลืออย่างจริงใจ" กับบรรดาแนวร่วมทั้งตัวจริงและตัวปลอมบางส่วนที่มีความขัดแย้งหรือต้องการหันหลังให้กับขบวนการ ผลของปฏิบัติการพบว่ามีผู้ที่อ้างว่าเคยอยู่ในขบวนการยอมเปิดตัวมาพูดคุยกับอดีตรองแม่ทัพท่านนี้จำนวนหลายร้อยคน
ฉะนั้นหากกระบวนการตามมาตรา 21 เกิดสัมฤทธิ์ผลเหมือนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 สมัยต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ฝ่ายขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนย่อมเสียประโยชน์ และได้รับผลกระทบอย่างสูง...
นอกจากเหตุปัจจัยหลักๆ 3 ประการดังกล่าวแล้ว ยังมีข่าวกระเส็นกระสายซึ่งเป็น "ปัญหาภายใน" ของกองทัพภาคที่ 4 เอง ว่ามีความพยายาม "เลื่อยขาเก้าอี้แม่ทัพ" เนื่องจาก พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผงาดขึ้นดำรงตำแหน่งแบบเหนือความคาดหมายพอสมควร และได้รับแรงสนับสนุนแบบ "เต็มเหนี่ยว" จากอดีตแม่ทัพ พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก)
ประกอบกับ พล.ท.อุดมชัย เดินหน้านโยบาย "รับฟังเสียงที่แตกต่าง" และเปิดเกมรุกแบบเงียบๆ เพื่อตัดเส้นทางการค้ายาเสพติด ของเถื่อน และน้ำมันเถื่อน ซึ่งก่อผลกระทบทั้งกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และกลุ่มขบวนการที่ใช้เงินจากธุรกิจใต้ดินเหล่านี้เป็นน้ำเลี้ยงส่วนหนึ่ง
ทั้งสองเหตุปัจจัยเสริมนี้ก็ทำให้มีผู้เสียประโยชน์ไม่น้อยเช่นกัน...
ถึงนาทีนี้คงปฏิเสธไมได้อีกแล้วว่า สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีเหตุปัจจัยจากกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนแต่เพียงด้านเดียว ความจริงข้อนี้ฝ่ายรัฐเองก็รู้ แต่ปัญหาก็คือทุกฝ่ายยอมรับและริเริ่มแก้ไขทุกปัญหาอย่างเป็นระบบแล้วหรือยัง
ไม่เชื่อลองไปถามชาวบ้านร้านตลาดในพื้นที่ดูก็ได้...เพราะแทบไม่มีใครเชื่อว่าไฟใต้ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 7 ปีเป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการฝ่ายเดียว!
-------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
-ถอดรหัสไฟใต้เดือดข้ามปี "การเมือง-อิทธิพลมืด" ผสมโรง
http://www.south.isranews.org/scoop-and-documentary/scoop-news-documentary/665--q-q.html
-แผนบันได 7 ขั้น (ตอนที่ 1) จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
http://www.komchadluek.net/detail/20110131/87471/%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%947%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%281%29.html