วิเคราะห์ "คาร์บอมบ์" กลางยะลา จับตาความเคลื่อนไหว "เปิดเจรจา" และแก๊งอิทธิพลผสมโรงป่วน
"นี่คือสงครามชัดๆ" คือคำพูดของผู้คนในเขตเทศบาลนครยะลาที่วิจารณ์ถึงเหตุการณ์คาร์บอมบ์เมื่อก่อนเที่ยงวันอาทิตย์ที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา บริเวณสี่แยกถนนไชยจรัสตัดกับถนน ณ นคร ย่านการค้าเก่า มีบ้านเรือนอายุมากกว่า 30 ปี และเป็นย่าน "พหุวัฒนธรรม" เนื่องจากเป็นที่อยู่ทั้งของชาวไทยพุทธ มุสลิม และคนไทยเชื้อสายจีนในตัวเมืองยะลา
ผลจาก "คาร์บอมบ์" ครั้งนี้ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสาหัสและเล็กน้อยเกือบ 20 คน จริงอยู่ที่ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ทะเลเพลิงที่เกิดจาก "คาร์บอมบ์" ซึ่งเผาผลาญบ้านเรือนเก่าแก่ไปกว่า 12 คูหา รถยนต์ รถจักรยานยนต์เสียหายไปอีกจำนวนหนึ่ง ภาพของเปลวไฟที่ลูกโชติช่วงกลางย่านชุมชนจึงเพียงพอที่จะทำให้ชาวบ้านร้านตลาดตื่นตกใจ และกล่าวว่าทั้งหมดคือ "สงคราม" ซึ่งถือว่าเป็นการสะท้อนข้อเท็จจริงอย่างตรงประเด็นที่สุด
สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปีนี้นับว่าปะทุถึง "ขีดสุด" ตั้งแต่การบุกทะลายฐานปฏิบัติการและปล้นปืนจากกองร้อยทหารราบที่ 15121 (ร้อย ร.15121) หรือฐานพระองค์ดำ ท้องที่ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ต่อด้วยการฆ่าชาวไทยพุทธอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ศพภายในเวลาเพียงสิบกว่าวัน และเหตุการณ์ฆ่ารายวัน ระเบิดรายวันที่มีเจ้าหน้าที่รัฐและพลเรือนเป็นเป้าหมาย
มันคือการแสดงให้เห็นว่าขบวนการ "บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต" ต้องการยกระดับความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายใต้การกุมบังเหียนแก้ไขสถานการณ์ของ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) ด้วย
ฝ่ายความมั่นคงให้เหตุผลถึงปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบที่เพิ่มความรุนแรงและความถี่อย่างมากในช่วงนี้ว่า มาจากความต้องการยกระดับปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ขึ้นสู่โต๊ะเจราจาในการประชุมองค์การการประชุมอิสลาม หรือ "โอไอซี" ซึ่งจะมีขึ้นที่ประเทศอิยิปต์ช่วงกลางเดือน มี.ค.นี้ การโหมก่อเหตุก็เพื่อให้ที่ประชุมเห็นถึงความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนแดนภาคใต้ "โอไอซี" จะได้นำปัญหาเข้าสู่วาระการประชุม
ที่ผ่านมาการประชุม "โอไอซี" ทุกครั้ง ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้พยายามผลักดันให้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่วาระการประชุมทุกครั้ง แต่กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานความมั่นคงของไทยก็สามารถใช้เหตุผล ข้อเท็จจริง และ "คอนเน็คชั่น" ที่มีกับประเทศมุสลิมหลายประเทศ ทำให้เรื่องนี้หลุดวาระไปได้ทุกครั้ง
นอกจากเหตุผลที่เกี่ยวกับการประชุมโอไอซีแล้ว ในที่ประชุมของฝ่ายทหารยังให้เหตุผลถึงความรุนแรงที่หนักหน่วงขึ้นในช่วงนี้ว่า เป็นปฏิบัติการของ "อาร์เคเค" และ "คอมมานโด" (หน่วยรบที่ผ่านการฝึกแบบจรยุทธ์) ของบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต เพื่อตอบโต้การที่เจ้าหน้าที่รัฐจับกุมและวิสามัญฆาตกรรมฝ่ายขบวนการได้จำนวนหนึ่ง ทั้งยังสามารถ "รุกทางการเมือง" ด้วยการใช้มาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพื่อให้ "แนวร่วม" ที่ต้องการกลับใจเข้ารายงานตัวต่อรัฐ โดยจะไม่เอาผิดดำเนินคดีตามกฎหมายอีกด้วย
เหล่านี้ทำให้ "บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต" ต้อง "เอาคืน" เพื่อสร้างขวัญให้สมาชิก และ "ข่มขวัญ" บรรดาแนวร่วมที่คิดกลับใจ
ทั้ง 2 เหตุผลที่กองทัพและฝ่ายความมั่นคงยกมาอ้างเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ "เงื่อนไขสงคราม" เท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะสิ่งที่ "ใช่" อย่างแน่นอนคือ "บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต" ต้องการยกระดับความรุนแรงเพื่อให้บรรลุความต้องการที่ "ตั้งธง" เอาไว้ นั่นคือการ "แบ่งแยกดินแดน" ให้สำเร็จ ปฏิบัติการของ "บีอาร์เอ็นฯ" จึงเกิดขึ้นทุกสถานที่ ทุกเวลาที่มี "ช่องว่าง" ให้ปฏิบัติการได้ ทั้งในเขตเมืองและพื้นที่ชนบท ถ้าพื้นที่ไหนทหาร ตำรวจ "หลวม" หรือ "ประมาท" พื้นที่ตรงนั้นคือพื้นที่ปฏิบัติการ
เช่นการโจมตีและปล้นปืนจากฐานปฏิบัติการพระองค์ดำ ก็มี "แนวร่วม" เกาะติดสถานการณ์จนพบ "ช่องว่าง" และ "จุดอ่อน" ของเจ้าหน้าที่ก่อนลงมือ เช่นเดียวกับ "คาร์บอมบ์" ครั้งล่าสุดนี้ เพราะถนนสายนี้เป็นสายที่ "ทหาร" ขับรถเข้ามาซื้ออาหารและเครื่องอุปโภคเป็นประจำ เมื่อปี 2552 พื้นที่ตรงนี้ก็เคยถูกวางระเบิดแสวงเครื่องจนเกิดความสูญเสียมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่วิธีการป้องกันของเจ้าหน้าที่ยังคงเป็นแบบเดิมๆ แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าพื้นที่ไหนเป็นจุดที่ทหารตำรวจชอบนำรถไปจอด นั่งพัก และซื้อของ ล้วนเป็น "พื้นที่อันตราย" ทั้งสิ้น แต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้เสียที
ในขณะที่เจ้าหน้าที่ยัง "ล้าหลัง" ก้าวไม่ทัน "แนวร่วม" ทั้งในมิติ "การทหาร" และ "การเมือง" แต่ฝ่ายแนวร่วมกลับพัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เช่น การประกอบ "คาร์บอมบ์" ครั้งล่าสุด รถยนต์ที่ใช้ประกอบระเบิดถูกตัดต่อเอาตัวเลขแชสซีและเลขเครื่องยนต์ออกหมด เพื่อป้องกันการสืบสวนถึงที่มาของรถยนต์ที่ใช้ รวมทั้งการประกอบระเบิดก็ "ซับซ้อน" มากขึ้น นอกจากจะนำระเบิดบรรจุในถังแก๊ส 4 ถังแล้ว ยังมีการนำน้ำมันเบนซินใส่ "แกลลอน" ไว้ในรถยนต์ เพื่อส่งผลให้เกิดเพลิงไหม้อาคารบ้านเรือนในจุดที่เกิด "คารบอมบ์" ด้วย สร้างความเสียหายมากขึ้นไปอีก และเป้าหมายย่อมหนีไม่พ้น "พลเรือน"
นอกจากนั้น การที่กองทัพวางน้ำหนัก "วิเคราะห์" สถานการณ์ที่เลวร้ายลงว่ามีเหตุปัจจัยเกี่ยวกับการประชุมโอไอซี และการแก้แค้นหรือปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อรักษาแนวร่วมเอาไว้ของบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต แต่กองทัพกลับไม่ได้มองปัญหาที่เกิดจากเรื่อง "ภายใน" เลย เช่น ขบวนการค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน กลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งไม่พอใจนโยบายการปราบปรามอิทธิพล ยาเสพติด และธุรกิจเถื่อนของแม่ทัพภาคที่ 4 ท่านนี้ ทำให้เกิดการจับมือกับ "ใครบางคน" เพื่อสร้างสถานการณ์ให้ "เลวร้ายลง" นำไปสู่การเปลี่ยนแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่
หรือปรากฏการณ์การเจรจาระหว่างตัวแทนฝ่ายปกครองที่เป็นตัวแทนฝ่ายการเมือง กับตัวแทน "ขบวนการพูโลภาคพื้นยุโรป" ตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค.2553 ถึงกลางเดือน ม.ค.2554 เพื่อยุติการก่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตาม "เงื่อนไข" ที่พูโลนำเสนอ
เพราะ "พูโล" อาจเป็นตัวแทนของ "บีอาร์เอ็นฯ" ในการเดินเกมเจรจาเพื่อ "รุกทางการเมือง" ก็ได้ ในขณะที่ "บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต" มีหน้าที่ "รุกทางทหาร" และก่อความรุนแรงอย่างต่อเนื่องเพื่อ "บีบ" ฝ่ายการเมืองให้ยอมตามเงื่อนไขของฝ่ายขบวนการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการโดยเร็ว
ทั้งหมดคือ "โจทย์" ของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการแก้ปัญหาหลายส่วนต้องใช้เวลา แต่ปัญหาบางอย่างต้องทำทันที โดยเฉพาะมาตรการการดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไม่ให้สูญเสียซ้ำอีก เพราะการใช้ "เงินเยียวยา" ก็ดี การออกมากล่าวคำว่า "เสียใจ" ก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า มาตรการรักษาความสงบและคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชนยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสร้างขวัญและกำลังใจให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง
นี่คือสิ่งที่กองทัพและฝ่ายความมั่นคงต้องเร่งแก้ไขโดยพลัน!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย
บรรยายภาพ : สภาพความเสียหายหลังเกิดคาร์บอมบ์กลางเมืองยะลา (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)