เบื้องลึกฆ่าไทยพุทธ...ปมแย่งผลประโยชน์ "ที่ดิน-สินค้าเกษตร" ซ้อนทับความไม่สงบ
เหตุการณ์สังหารหมู่พี่น้องชาวไทยพุทธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นติดๆ กันถึง 2 เหตุการณ์ในห้วงเวลาเพียงไม่กี่วัน คือเหตุฆ่ายกครัว 4 ศพทิ้งขึ้นอืดที่ อ.เมือง จ.ยะลา กับเหตุกราดยิงที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกันมากถึง 9 ศพนั้น มีเบื้องลึกหลายประการที่น่าพิจารณา
แน่นอนว่าสาเหตุด้านหนึ่งย่อมถูกมองว่าเป็นการคุกคาม "ชนกลุ่มน้อยต่างศาสนิก" เพื่อขับให้ไล่พ้นพื้นที่ไป ทว่าอีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามี "เหตุปัจจัย" อื่นๆ แฝงอยู่ด้วย โดยเฉพาะการแย่งชิงผลประโยชน์เรื่องที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม และปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเปิดพื้นที่สำหรับทำการเกษตร ซึ่งมีกลุ่มอิทธิพลแบ่งเขตหากินกันอยู่อย่างโจ๋งครึ่มในหลายอำเภอ
ยิ่งราคายางพาราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกิโลกรัมละกว่า 120 บาท เฉพาะแค่ "ขี้ยาง" ราคายังพุ่งไปถึงกิโลกรัมละ 60 บาท ขณะที่ราคาปาล์มน้ำมันก็กำลังทะยานขึ้นตาม ทำให้สวนยางพาราและสวนปาล์มในพื้นที่ ตลอดจนที่ดินผืนงามที่เหมาะสำหรับปลูกพืช 2 ชนิดนี้ มีค่ายิ่งกว่าทอง!
หลายกรณีจึงได้เห็นการไล่ล่าสังหารหรือประทุษร้ายชาวบ้านไทยพุทธที่เป็นเจ้าของสวนยาง เจ้าของสวนปาล์ม เพื่อผลในการแย่งชิงพื้นที่ทำเกษตรกรรม กระทั่งกลายเป็นเหตุรุนแรงซ้อนกับการสร้างสถานการณ์เชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนซึ่งเชื่อกันว่าต้องการสังหารชาวไทยพุทธเพื่อกดดันให้อพยพย้ายถิ่นฐานออกไป
ที่น่าตกใจคือภาครัฐดูจะยังไม่ตระหนักกับสถานการณ์นี้มากนัก เพราะตีโจทย์ว่าความรุนแรงเป็นปัญหาเชิงความมั่นคงที่เชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น ทั้งๆ ที่ปมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็มีน้ำหนักไม่แพ้กัน
ย้อนรอย "ฆ่า" ชิงสวนยาง-สวนปาล์ม
ก่อนเกิดเหตุสลดฆ่ายกครัว 4 ศพครอบครัวของ นายประสิทธิ์ บุญหลง ซึ่งคนร้ายสังหารไม่เว้นแม้แต่ลูกวัยเยาว์ทั้งหญิงและชาย เคยเกิดเหตุประทุษร้ายที่ค่อนข้างชัดว่าเป็นการกระทำเพื่อข่มขู่คุกคามหรือเอาชีวิตโดยมุ่งผลแย่งชิงสวนยางพารา สวนปาล์ม หรือที่ดินทำเลทอง
ดังเช่นเมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนจ่อยิง นายช่วย พรหมศร อายุ 69 ปี เสียชีวิตคาสวนปาล์มนิคมสหกรณ์บาเจาะ บ้านฮุแตทูวอ หมู่ 4 ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นสวนปาล์มของตนเอง โดยนายช่วยเสียชีวิตในสภาพนั่งคุกเข่าคล้ายกำลังก้มกราบขอชีวิต
ข้อมูลจากการสืบสวนทราบว่า สวนปาล์มของนายช่วยมีพื้นที่มากถึง 20 ไร่ มีรายได้จากการขายผลปาล์มประมาณ 2 แสนบาทต่อเดือน ที่ผ่านมามีนายหน้าหลายคนพยายามมาติดต่อขอซื้อสวนปาล์ม แต่นายช่วยไม่ยอมขาย ทำให้ในช่วง 2-3 เดือนมานี้ สวนปาล์มของนายช่วยถูกลอบวางระเบิดแล้วถึง 2 ครั้ง กระทั่งในที่สุดมีคนร้ายลอบยิงนายช่วยจนเสียชีวิต
ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 18 ก.ย.2553 เกิดเหตุคนร้ายนับสิบรายใช้อาวุธสงครามเอ็ม 16 บุกยิงชาวไทยพุทธเสียชีวิตถึง 4 ราย ทั้งยังจุดไฟเผาบ้านจนวอดอีก 3 หลัง ในท้องที่บ้านฮูแตยือลอ หมู่ 6 ต.บาเร๊ะใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งนอกจากกระแสข่าวเรื่อง "ไทยพุทธครอบครัวสุดท้าย" ที่วิเคราะห์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางแล้ว ยังมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องสวนยางพาราและสวนผลไม้ของผู้ตายด้วย แต่ก็ไม่ได้มีการติดตามตรวจสอบต่อ
ย้อนกลับไปอีก ในช่วงระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค.2553 หรือราวๆ 2 เดือนกับ 11 วัน เกิดเหตุระเบิดในสวนยางพาราในท้องที่ อ.ธารโต จ.ยะลา ทั้งสิ้น 5 ครั้ง ระเบิด 6 ลูก มีผู้เสียชีวิตทั้งเจ้าหน้าที่และชาวบ้านรวม 3 ราย บาดเจ็บสาหัสถึงขั้นขาขาดอีก 3 ราย โดยสวนยางพาราที่เกิดเหตุล้วนเป็นสวนของชาวไทยพุทธ
ครั้งนั้น นายสุรชัย วงค์ศุภลักษณ์ นายอำเภอธารโต ยอมรับกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า สาเหตุของระเบิดถี่ยิบในท้องที่ อ.ธารโต มาจากเรื่องไล่ที่ ซึ่งมีมานานแล้ว เป็นการรังควานคนไทยพุทธไม่ให้ทำมาหากินสะดวกด้วยวิธีกดดันหลายวิธี ทั้งใช้อาวุธปืนไล่ยิง เผาบ้านชาวบ้าน กระทั่งล่าสุดหันมาลอบวางระเบิด โดยใช้กับระเบิดแบบเหยียบ
และที่ อ.ธารโต เช่นกัน เมื่อปลายปี 2549 เคยเกิดเหตุรุนแรงในลักษณะยิงแล้วจุดไฟเผาทั้งบ้านทั้งคน ทำให้ชาวบ้านไทยพุทธนับร้อยชีวิตจากบ้านสันติ 1 และ 2 ท้องที่ ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา และ ต.แม่หวาด อ.ธารโต ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน ต้องอพยพหนีตายไปอาศัยอยู่ที่วัดนิโรธสังฆารามในเขต อ.เมืองยะลา เป็นเวลานานหลายเดือน
ในครั้งนั้นก็มีกระแสข่าวค่อนข้างชัดว่า เมื่อชาวบ้านอพยพหนีภัยกันไปแล้ว ก็มีบุคคลลึกลับเข้าไปกรีดยางพาราและเก็บผลไม้ในสวนผลไม้แทนเจ้าของเดิม ขณะที่ชาวบ้านเจ้าของสวนก็ไม่กล้ากลับไปทำกินอีก สุดท้ายรัฐก็ต้องหาที่ดินผืนใหม่ให้กับชาวบ้านบางส่วน และฝึกอบรมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เพื่อจัดเวรยามดูแลกันเอง
เห็นได้ชัดว่าปฏิบัติการความรุนแรงลักษณะนี้ นอกจากจะส่งผลให้พี่น้องไทยพุทธกับไทยมุสลิมหวาดระแวงกันเองจนอยู่ร่วมกันไม่ได้ในหลายพื้นที่แล้ว ยังมีปมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากผลิตผลทางการเกษตรผสมโรงอยู่ด้วยอย่างแยกไม่ออก
ผ่า 3 ปมเหตุฆ่ายกครัว 4 ศพ
กลับมาที่ปมฆ่ายกครัว 4 ศพครอบครัวของนายประสิทธิ์ บุญหลง ซึ่งทำให้นายประสิทธิ์ นางมณี ศรีขวัญ ภรรยา น.ส.รุ่งรัชนี บุญหลง บุตรสาววัย 16 ปี และ ด.ช.
รุ่งระพี บุญหลง อายุแค่ 7 ปีเสียชีวิตทั้งหมดนั้น จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของ "ทีมข่าวอิศรา" ก็พบ "เบื้องลึก" ที่มากไปกว่าการก่อเหตุเพื่อสร้างสถานการณ์ความไม่สงบเช่นกัน
ข้อมูลที่ตรวจสอบได้ พบว่า ครอบครัวของนายประสิทธิ์มีพื้นเพอยู่ใน ต.แป้น อ.สายบุรี จ.ปัตตานี แต่ได้ไปทำสวนในพื้นที่บ้านศรีภักดี ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าคนร้ายน่าจะสังหารครอบครัวนายประสิทธิ์ที่ ต.โคกสะตอ แล้วอำพรางนำศพไปทิ้งที่ อ.เมืองยะลา
แหล่งข่าวซึ่งอาศัยอยู่ใน ต.โคกสะตอ เปิดเผยว่า นายประสิทธิ์และครอบครัวได้ย้ายมาพำนักอยู่ในตำบลนี้นานกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งพื้นที่นี้กำลังมีปัญหาการแย่งที่ดินทำกินและลักลอบตัดไม้ทำลายป่า โดยมีกลุ่มอิทธิพลคอยบงการและหาผลประโยชน์มาโดยตลอด อีกทั้งช่วงหลังยังเป็นพื้นที่กบดานของกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบอีกด้วย ทำให้สาเหตุการสังหารครอบครัวนายประสิทธิ์ มองได้หลายแง่มุม
สอดคล้องกับ นายสันติ ชูดวง ปลัดอาวุโสอำเภอรือเสาะ ที่บอกว่า ปมสังหารเป็นไปได้จาก 3 สาเหตุ คือ 1.ถูกฆ่าตัดตอนจากกลุ่มขบวนการกก่อความไม่สงบ เนื่องจากครอบครัวของนายประสิทธิ์มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับชาวบ้านมุสลิมในพื้นที่อย่างมาก ซึ่งพื้นที่นี้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการอยู่ เพราะเป็นเขตรอยต่อสามารถข้ามไปได้หลายอำเภอ เช่น อ.สุคิริน จ.นราธิวาส อ.บันนังสตา จ.ยะลา จึงเป็นไปได้ว่านายประสิทธิ์และครอบครัวอาจได้เห็นหรือรับรู้อะไรบางอย่างซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญ จนอีกฝ่ายต้องฆ่าเพื่อตัดตอน
2.ในพื้นที่มีปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า และการบุกรุกเขตป่าสงวน โดยครอบครัวของนายประสิทธิ์มีความสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ อาจเป็นไปได้ว่านายประสิทธิ์ไปรู้ข้อมูลลึกๆ บางประการ จึงถูกสังหารโดยกลุ่มอิทธิพลเพื่อปิดปาก และ 3.เป็นการสังหารเพื่อแย่งที่ดินทำกิน เนื่องจากนายประสิทธิ์ครอบครองที่ดินอยู่หลายสิบไร่
ไม่ใช่ "ไทยพุทธครอบครัวสุดท้าย"
จากการตรวจสอบพื้นที่บ้านศรีภักดี พบว่า เมื่อราว 20 ปีก่อน รัฐได้จัดสรรที่ดินแถบนี้เป็นนิคมเพื่อให้ชาวบ้านทำกินครอบครัวละ 18 ไร่ ตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้น 3 หมู่บ้าน คือ บ้านธรรมเจริญ บ้านศรีภักดี และบ้านศรีภิญโญ ทั้ง 3 หมู่บ้านขึ้นกับ ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
ประเด็นที่น่าสนใจคือ บ้านธรรมเจริญ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นพี่น้องมุสลิม ส่วนอีก 2 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องไทยพุทธ กล่าวคือบ้านศรีภักดี มีชาวไทยพุทธอาศัยอยู่ 36 ครอบครัว และบ้านศรีภิญโญมีชาวไทยพุทธอาศัยอยู่ 26 ครอบครัว ตลอดมาทั้ง 3 หมู่บ้านอยุ่ร่วมกันอย่างปกติสุข ไปมาหาสู่และพึ่งพาอาศัยกันอย่างฉันท์มิตร
ช่วงที่สถานการณ์ไฟใต้คุโชน พื้นที่แถบนี้เคยเกิดเหตุรุนแรงแค่ครั้งเดียว คือหตุการณ์คนร้ายลอบยิง นายอาแว บือแน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จนเสียชีวิตเมื่อปี 2552 ส่วนเหตุอื่นๆ นอกจากนั้นไม่มีเลย ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าทั้ง 3 หมู่บ้านไม่เคยมีปัญหากันมาก่อน
แหล่งข่าวซึ่งเป็นมุสลิมและอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งอะไรกันเลย และไม่เคยมีการสร้างสถานการณ์ขับไล่พี่น้องไทยพุทธด้วย ไม่เคยมีครอบครัวไทยพุทธอพยพย้ายถิ่นออกจากพื้นที่ ทั้งหมดที่เคยอาศัยอยู่มาตลอด 20 ปีทุกวันนี้ก็ยังอยู่กันได้ ฉะนั้นข่าวที่ออกมาว่าเป็นไทยพุทธครอบครัวสุดท้ายจึงไม่เป็นความจริง ไม่รู้เอาข่าวมาจากไหน
นางรอพีอะ ลาแตะ ชาวบ้านไอจือนะ ต.โคกสะตอ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกับบ้านศรีภักดี กล่าวว่า ที่บ้านเปิดรับซื้อยางแผ่น ทำให้รู้จักและสนิทสนมกับครอบครัวของนายประสิทธิ์เป็นอย่างดี เพราะครอบครัวนี้จะแวะมาขายขี้ยางและยางแผ่นเป็นประจำ บางครั้งก็แวะมาดื่มน้ำทักทายกัน
"ไม่เคยคิดเลยว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับครอบครัวของพี่ประสิทธิ์ เพราะแกเป็นคนดี ตรงไปตรงมา ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร พอเกิดเหตุร้ายขึ้นก็ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เพราะครอบครัวนี้เป็นคนดีจริงๆ"
"หมู่บ้านแถบนี้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่เคยมีปัญหา ทุกบ้านจะพึ่งพาอาศัยกัน อย่างเช่นครอบครัวอิสลามบางครอบครัวจะลงไปซื้อกับข้าวในตลาดโคกสะตอ เพื่อนบ้านที่เป็นพุทธก็จะฝากซื้อของด้วย หรือถ้าครอบครัวพุทธลงไปตลาด ครอบครัวอิสลามก็ฝากซื้อของ เป็นแบบนี้ตลอด และไม่เห็นว่ามีใครอพยพย้ายถิ่นฐานเลย ถ้าจะมีปัญหาฉันต้องรู้อยู่แล้ว เพราะเป็นแม่ค้ารับซื้อยาง ใครไปใครมาก็จะต้องพูดคุยให้ฟัง แต่นี่ไม่มีเลย" นางรอพีอะ กล่าว
"ไอ้โม่ง"ได้ประโยชน์จากความรุนแรง
อย่างไรก็ดี จากการพูดคุยกับชาวบ้านหลายราย ได้รับคำตอบตรงกันว่า ในพื้นที่กำลังมีปัญหาเรื่องตัดไม้ทำลายป่า มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามเข้ามาอยู่เป็นประจำ โดยขบวนการตัดไม้มีกลุ่มอิทธิพลหนุนหลัง เป้าหมายก็เพื่อเปิดพื้นที่ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันซึ่งราคากำลังดีมาก ส่วนไม้ที่ตัดก็จะชักลากไปขายทำกำไรอีกต่อหนึ่ง
เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติการในพื้นที่ อ.รือเสาะ กล่าวสอดคล้องกันว่า พื้นที่ ต.โคกสะตอมีป่าสงวนมาก แม้จะมีนิคมอยู่ด้านใน แต่ก็พบว่ายังมีปัญหาเรื่องลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอยู่บ่อยครั้ง โดยมีกลุ่มอิทธิพลและเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยเข้าไปเกี่ยวข้อง ปัญหานี้กำลังรุนแรงมาก เพราะราคายางพารากับปาล์มน้ำมันอยู่ในขาขึ้น และคาดว่าจะมีแนวโน้มเช่นนี้อีกหลายปี ทำให้มีนายทุนแสวงหาที่ดินเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ 2 ชนิดนี้
ข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส.นราธิวาส พรรคมาตุภูมิ ที่เคยให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า มีกลุ่มนายทุนอิทธิพลพยายามกว้านซื้อที่ดินจำนวนหลายร้อยหลายพันไร่ในพื้นที่โดยใช้เงินที่ได้จากการทำธุรกิจผิดกฎหมายอีกต่อหนึ่ง
และทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนที่พอจะทำให้เห็นภาพว่า การไล่ฆ่า ล่า สังหารหลายๆ กรณีในสามจังหวัดชายแดน มีปมผลประโยชน์ซ้อนทับอยู่กับการสร้างสถานการณ์รุนแรงรายวัน และไฟใต้ที่คุโชนเริ่มชัดว่าไม่ใช่มีเฉพาะปมแยกดินแดนแต่เพียงอย่างเดียว
เพราะมีผู้รับผลประโยชน์เต็มๆ จากความรุนแรง!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เจ้าหน้าที่กำลังเข้าตรวจสอบศพครอบครัวนายประสิทธิ์ บุญหลง ที่ถูกคนร้ายสังหารและนำไปทิ้งจนขึ้นอืดในเขต อ.เมืองยะลา (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์ และผ่านการตกแต่งโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา)
2 สวนยางพาราที่กำลังทำรายได้งามให้เจ้าของสวน (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)