ก้าวย่างของ "แม่ลาน" ในวันปลอด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
"เกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง ร้อยเรียงสังคม อุดมปัญญา นำพาสันติสุข" คือวิสัยทัศน์ของ "แม่ลาน" อำเภอเล็กๆ ใน จ.ปัตตานี ที่ประชาชนดำรงวิถีชีวิตอย่างปกติสุข กระทั่งได้รับเลือกให้เป็นอำเภอนำร่องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอำเภอแรกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2553
แม่ลานอยู่ห่างจากอำเภอเมืองปัตตานีไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 ถนนสี่เลนสายใหม่ไร้จุดตัดและไฟแดงประมาณ 25 กิโลเมตรเลี้ยวซ้ายตรงแยกคลองทรายเข้าไปก็จะถึงศูนย์ราชการอำเภอแม่ลานที่รายล้อมไปด้วย 3 ตำบลกับอีก 22 หมู่บ้าน
แน่นอนว่าการเป็นอำเภอนำร่องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้อำเภอแม่ลานเป็นที่รู้จักของสังคมวงกว้าง แต่สิ่งที่ดูจะสำคัญมากกว่านั้นก็คือ แม่ลานจะมีทิศทางการพัฒนาและการดำรงอยู่ของผู้คนอย่างไรในวันที่ไม่ได้ใช้กฎหมายพิเศษแล้ว
ปรีชา ชนะกิจกำจร นายอำเภอแม่ลาน ซึ่งเพิ่งเสนอแผนพัฒนาอำเภอภายใต้ยุทธศาสตร์ "ก้าวย่างผ่านพ้นความมั่นคง สู่มิติการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ประชาชน" ต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระหว่างเดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมอำเภอแห่งนี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า เรามีแผนงานที่ชัดเจนทั้งในมิติความมั่นคงและมิติการพัฒนาควบคู่กันเพื่อเตรียมความพร้อม่ของพื้นที่สู่การเป็นอำเภอที่พัฒนาแล้ว หลังจากมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
“ช่วงแรกยอมรับว่ายังมีความกังวลกันทุกฝ่ายว่าเมื่อยกเลิก พ.ร.ก.แล้ว (หมายถึงพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) แม่ลานจะเป็นอย่างไร เหตุการณ์จะรุนแรงขึ้นหรือไม่ ผมจึงต้องเตรียมแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยแผนระยะสั้นคือไม่ให้ประชาชนแตกตื่น สกัดไม่ให้ผู้ไม่หวังดีชักนำไปสู่ความแตกแยกรุนแรง ด้วยการออกเยี่ยมบุคคลกลุ่มเป้าหมาย ทำความเข้าใจกับข้าราชการว่ายังได้รับสิทธิต่างๆ เหมือนเดิม”
“ผมชี้แจงกับทุกฝ่ายจนเกิดความเข้าใจว่าเมื่อยกเลิก พ.ร.ก.แล้วทหารยังอยู่ได้ พื้นที่ไหนจะถอนทหารต้องมาคุยกันก่อน ต้องมีมาตรการรองรับ สร้างความเชื่อมั่นเรื่องการรักษาความปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งปกติแต่ละหมู่บ้านจะมีผู้ใหญ่บ้านดูแลอยู่แล้ว”
อย่างไรก็ดี การกำหนดแผนระยะสั้น นายอำเภอปรีชายอมรับว่ายังมีช่องโหว่อยู่บ้าง เพราะเนื่องจากพื้นที่กว้างและการดูแลในช่วงที่ผ่านมายังไม่ทั่วถึง จึงต้องมาจัดระบบกันใหม่ให้ครอบคลุม ทั่วถึง และชัดเจน ด้วยการแบ่งพื้นที่เป็นคุ้ม มีการตั้งชื่อแต่ละคุ้ม และคัดเลือกคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบ กรรมการคนหนึ่งดูแล 3-5 ครอบครัว เพื่อให้มีความใกล้ชิด พร้อมทั้งใช้กองกำลังประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นใจขึ้นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากพี่น้องประชาชนทุกหมู่บ้าน
ส่วนแผนระยะยาว นายอำเภอปรีชา บอกว่า ได้เดินหน้ายุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร และน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาเป็นยุทธศาสตร์หลักในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่
“ผมได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาขยายผล เดินตามรอยพ่อ ทุกบ้านมีผักสวนครัวรั้วกินได้ เลี้ยงสัตว์ปีก เลี้ยงปลา มีการแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างชาวบ้านและชุมชน เพื่อทำให้เกิดความผูกพัน เป็นการต่อยอดและจะว่าไปก็เป็นวิถีชีวิตจริงๆ ของคนแม่ลานอยู่แล้ว ถือเป็นจุดแข็งที่เรามีอยู่ ซึ่งด้วยจุดแข็งนี้ทำให้แม่ลานสามารถก้าวผ่านมิติด้านความมั่นคงมาได้ กระทั่งเป็นพื้นที่นำร่องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉะนั้นหลังจากนี้ไปจะพยายามเดินไปสู่การพัฒนาที่มีทิศทางชัดเจนและมีประสิทธิภาพ”
นายอำเภอปรีชา เป็นคนสุราษฎร์ธานี เคยรับราชการในพื้นที่ จ.ยะลา ยาวนานถึง 18 ปี ก่อนเป็นนายอำเภอยังไปเป็นปลัดอาวุโสในภาคอีสานอีกหลายปี กระทั่งได้รับตำแหน่งนายอำเภอแม่ลานเมื่อเดือน ก.พ.2553 เขาบอกว่าด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทำให้เลือกที่จะพัฒนาอย่างสอดคล้องกับวิถีปกติของชุมชน
“วิธีการทำงานของผมคือตอนเช้าผมจะไปนั่งตามร้านน้ำชาของชาวบ้านโดยไม่บอกล่วงหน้า เขาก็ต้อนรับด้วยรอยยิ้มที่เห็นแล้วมีความสุข นั่งคุยกันได้ทั้งพุทธและมุสลิมจนได้ใจ ผมให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสถาบันปอเนาะ บาบอ (ครูสอนศาสนาชั้นผู้ใหญ่) อุสตาซ (ครูสอนศาสนา) ไปเยี่ยมเด็กๆ ประทับใจตอนที่ไปปอเนาะวังกว้าง ต.ป่าไร่ ตอนนั้นเด็กกำลังเรียนหนังสือกันอยู่ พอผมจะแนะนำตัว เด็กกลับบอกชื่อและเรื่องราวหลายอย่างเกี่ยวกับผมได้ ทำให้ผมมีความสุขมาก”
“ช่วงบ่ายของแต่ละวันถ้าไม่มีงานอะไร ผมจะไปดูเด็กๆ เล่นกีฬาและสนับสนุนอุปกรณ์กีฬาให้กับสถานศึกษา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจว่ากีฬานั้นสร้างภาวะผู้นำ และการเป็นผู้นำไม่ใช่เรื่องยาก มีตัวอย่างผู้ว่าราชการจังหวัดและ นายอำเภอที่เป็นมุสลิมหลายคน”
“ผมเองก็ต้องแก่ตายไปตามอายุขัย ต้องสร้างคนใหม่ขึ้นมาทดแทน สร้างให้เด็กมีแรงบันดาลใจ คุณภาพชีวิตที่ดีไม่จำเป็นต้องร่ำรวย หากมีความพอเพียงในการดำรงชีวิตที่พอดี ก็สามารถมีความสุขได้”
นายอำเภอปรีชา บอกด้วยว่า แผนพัฒนาทั้งหลายที่กำหนดขึ้นมา มีเป้าหมายสำคัญคือการยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน คือมีรายได้แต่ละครัวเรือนไม่น้อยกว่า 120,000 บาทต่อปี นอกจากนั้นก็มีการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งมีทั้งหมด 9 แผนงาน ได้แก่
1.ด้านการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ 2.การกลับสู่อ้อมกอดที่อบอุ่น 3.การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 4.การพัฒนาเสริมสร้างหมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็ง 5.การบูรณาการใช้กองกำลังประจำถิ่น 6.การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 7.การให้ความเป็นธรรม 8.การแก้ไขปัญหาความยากจน และ 9.การสร้างคนยุคใหม่ให้ห่างไกลสิ่งไม่ดี
“การรักษาความมั่นคงต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับทุกเรื่องในพื้นที่ ทั้งมิติของความยากจน ยาเสพติด การมีส่วนร่วม และความเป็นธรรม จุดเปลี่ยนคือทำอย่างไรจึงจะนำเอาสองวิถีของวัฒนธรรมให้อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนได้ ให้อยู่กันอย่างสอดประสานเหมือนในอดีต อย่างการแสดงมโนราห์กับดิเกร์ฮูลู ทำอย่างไรไม่ให้แสดงกันแบบประจันหน้า แต่ร่วมกันในบริบทที่ไม่ขัดต่อหลักการของแต่ละศาสนา อยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพราะศิลปะและดนตรีช่วยทำให้จิตใจอ่อนโยน ไม่ก้าวร้าว การทำงานไม่ใช่มุ่งแก้แต่ความยากจนอย่างเดียว ต้องใช้หลายวิธีพร้อมกัน เพราะเมื่อมีรายได้เพียงพอ ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ผมเชื่อว่าถ้าทำได้ทั้งหมดนี้จะไม่มีสิ่งเลวร้ายใดๆ เกิดขึ้นอย่างแน่นอน”
นายอำเภอปรีชาบอกอีกว่า แม่ลานมีสิ่งดีๆ ที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก คือมี “ดินดี” อุดมสมบูรณ์ เป็นที่ราบลุ่มซึ่งมีดินร่วนซุย เพาะปลูกอะไรก็ได้ผล “น้ำดี” คือมีระบบชลประทานทั่วถึง ไม่แห้งแล้ง “คนดี” คือประชาชนยึดมั่นในหลักศาสนา และสำคัญที่สุดคือมี “ที่ตั้งดี” เหมือนพระเจ้าประทานมาให้คนแม่ลาน ทั้งถนนสี่เลน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418) และสถานีรถไฟคลองทรายที่จะขยายในอนาคต
“ทั้งหมดจะชักนำความเจริญมาสู่แม่ลาน แต่มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือคนแม่ลานต้องปรับตัวและเตรียมตัวให้รู้เท่าทันกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้น ต้องป้องกันไม่ให้คนที่อื่นมากว้านซื้อที่ดิน เพราะหลังการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แผนพัฒนาต่างๆ ก็จะเข้าสู่แม่ลาน และอาจมีนายทุนหัวใสเข้ามาหาช่องทางเก็บกำไร”
“ขณะนี้แม่ลานก้าวผ่านมิติความมั่นคงสู่มิติของการพัฒนาแล้ว เรามีเว็บไซต์ที่จัดทำมาไม่ถึงปีแต่มีคนเข้าชมกว่าแสนคน เป็นความภูมิใจที่เรื่องราวดีๆ ของแม่ลานได้รับความสนใจจากสังคม ผมพยายามให้สองวิถีสองวัฒนธรรมทั้งพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เพราะมิติของวัฒนธรรมทำให้คนรักและสามัคคีกัน”
สิ่งบ่งชี้ของแม่ลานว่ากำลังก้าวสู่มิติการพัฒนาอย่างเต็มตัวคือ สถิติการเกิดเหตุรุนแรงที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากปี 2552 เกิดเหตุ 12 ครั้ง แต่ปี 2553 เกิดเหตุเพียง 3 ครั้งเท่านั้น เมื่อระดับความรุนแรงลดลง ก็ไม่มีสถิติการอพยพย้ายถิ่นฐานหรือขายที่ดินหนีไปอยู่ที่อื่น ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของทางราชการมากขึ้น และมีจิตสาธารณะแจ้งเบาะแสข้อมูลด้านความมั่นคงและยาเสพติดมากขึ้นกว่าเดิม
“จากเหตุร้ายที่ลดลง แม้จะมีการพูดกันว่าแม่ลานเป็นอำเภอที่ท้าทาย แต่เราไม่ไปท้าทายใคร อยู่กันตามปกติ พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่มีเวลาทำงานอยู่ที่นี่ ขณะนี้มีโครงการสร้างมัสยิดข้างที่ว่าการอำเภอเพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจของพี่น้องมุสลิมเวลามาทำธุระที่อำเภอ กำลังเตรียมก่อสร้างโดยไม่จำกัดงบประมาณ ด้านพี่น้องพุทธก็มีที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่อีกด้านหนึ่งของที่ว่าการอำเภอเช่นกัน โดยจะให้มีพิธีสวดมนต์ใหญ่ในวันพระใหญ่ของแต่ละเดือน เราสร้างสองสิ่งนี้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน” นายอำเภอแม่ลาน กล่าว
ด้านความรู้สึกของชาวแม่ลาน สะมะแอ มะหา ชาวบ้านจาก ต.ป่าไร่ กล่าวว่า ช่วงที่รัฐบาลยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใหม่ๆ ก็นึกกลัวอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อได้รับข้อมูลจากนายอำเภอและทางอำเภอทำความเข้าใจจึงคลายกังวล ทำมาหากินตามปกติ ทำให้ไม่เครียด พร้อมจะร่วมมือกับชุมชนและพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญ
ขณะที่ รอสะนิง ดอฆอ จากบ้านม่วงเตี้ย กล่าวว่า ใช้ชีวิตเป็นปกติ จะมีหรือไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรกับชีวิตมากนัก เมื่อทางการเห็นว่าแม่ลานมีสันติสุข ควรยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็เห็นดีด้วย
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของอำเภอแม่ลานในวันที่ปลอดกฎหมายพิเศษ และกำลังก้าวเดินไปสู่อำเภอสันติแห่งสองวิถีวัฒนธรรม
--------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศการประชุมหารือร่วมกันระหว่างนายอำเภอ เจ้าหน้าที่ทหาร และชาวบ้านในชุมชน เพื่อเดินหน้าแผนพัฒนาแม่ลาน
2 ปรีชา ชนะกิจกำจร นายอำเภอ