เปิดคำพิพากษาศาลปกครองกรณีผู้ว่าฯโคราชสั่งปลดนายก อบต.เจ้าของรับเหมา
เปิดคำพิพากษาศาลปกครอง กรณีผู้ว่าฯโคราชสั่งปลดนายก อบต.เป็นเจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ชอบด้วยกฎหมาย อุทาหรณ์“เฉลิม วงษ์ไพร”นายก อบจ.สระบุรี?
นายเฉลิม วงษ์ไพร นายกองค์การบริการส่วนจังหวัดสระบุรี ถูกสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งให้ทราบว่าการที่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล บ้านหมอการช่าง อาจต้องห้ามตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 2550 มาตรา 267 ประกอบมาตรา 284 วรรคสิบ (กรณีผลประโยชน์ทับซ้อน)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำพิพากษาศาลปกครองในกรณีคล้ายกันมาเทียบเคียงดังนี้ ศาลปกครองนครราชสีมาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 เห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้มีคำสั่งปลดนายเหงี้ยว ภู่สกุลทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอ่าง อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา กรณีมีชื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัด ภู่สกุลทรัพย์ ถือเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
สืบเนื่องจากนายเหงี้ยว ภู่สกุลทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอ่าง อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องศาลปกครองนครราชสีมาว่า ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีคือผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้มีคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 3838/2553 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2553 ให้นายเหงี้ยวพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอ่าง
โดยให้เหตุผลว่าในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอ่าง นายเหงี้ยวมีชื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัด ภู่สกุลทรัพย์ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโดยมุ่งหาผลกำไร
ถือเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามมาตรา267 ประกอบมาตรา 284 วรรคสิบ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552
นายเหงี้ยว ภู่สกุลทรัพย์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า
1.มาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี โดยได้บัญญัติเกี่ยวกับการกระทำที่มีลักษณะต้องห้าม วิธีการดำเนินการเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวกระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามแม้มาตรา 284 วรรคสิบของรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะบัญญัติให้นำมาใช้บังคับกับสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นด้วยโดยอนุโลม
แต่ก็ไม่ได้บัญญัติว่าจะนำมาใช้บังคับแก่กรณีใด มีขอบเขตการบังคับใช้เพียงใด และหากสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องดำเนินการอย่างไร
2.อีกทั้งอำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นจะจำกัดอยู่เฉพาะภายในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ฟ้องคดีมีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการและพนักงานจ้างขององค์การบริการส่วนตำบลท่าอ่าง
มิได้มีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการทั่วไปเหมือนเช่นนายกรัฐมนตรี
รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดียังต้องตกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายอำเภอโชคชัย ผู้ถูกฟ้องคดี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งแตกต่างจากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
ไม่อาจถือได้ว่าตำแหน่งดังกล่าวมีลักษณะเดียวกันกับตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอ่างที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งอยู่
3.นอกจากนี้พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ได้บัญญัติเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามและการพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาวินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอ่างได้
4.ผู้ฟ้องคดีมีชื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัด ภู่สกุลทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นวันก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะได้รับการเลือกตั้ง และภายหลังจากผู้ฟ้องคดีได้รับเลือกตั้งแล้วก็มิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยการเข้าทำสัญญาใดๆ กับองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอ่างแต่อย่างใด คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอ่างจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ว่าฯนครราชสีมา
ศาลปกครองนครราชสีมามีความเห็นสรุปว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีมีชื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัด ภู่สกุลทรัพย์ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ตำบลท่าอ่าง อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2547
ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทาอ่าง เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2552 และดำรงตำแหน่งดังกล่าวตลอดมาจนถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2553 จึงลาออกจากตำแหน่งหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัด ภู่สกุลทรัพย์ ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอ่าง การกระทำของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว
จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 และมาตรา 284 วรรคสิบ และโดยที่รัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
ทั้งยังเป็นที่มาของกฎหมายอื่นและมีความมุ่งหมายพิเศษต่างจากกฎหมายทั่วไป ทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดข้อห้ามมิให้คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่มีลักษณะเป็นการดำเนินธุรกิจที่มุ่งหาผลกำไร เพื่อป้องกันการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
การที่ผู้ฟ้องคดีกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่กำหนดห้ามไว้ดังกล่าว
จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งมาตรา 92 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2546 กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอ่าง ตามที่นายอำเภอโชคชัย เสนอได้
ดังนั้นคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 3838/2553 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2553 ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอ่าง จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
จึงพิพากษายกฟ้อง และให้คำสั่งศาลลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 3838/2553 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2553 สิ้นผลการบังคับนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิพากษา
นายประศักดิ์ ศิริพานิช ตุลาการศาลปกครองนครราชสีมา ตุลาการเจ้าของสำนวน
นายสมศักดิ์ ศุภะรัชฎเดช ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองนครราชสีมา
นายธนกฤต กิตติวัฒน์ ตุลาการศาลปกครองนครราชสีมา
------------
อ่านประกอบในเรื่อง จังหวัดโยนอบจ.สระบุรีวินิจฉัยปม"เฉลิม วงษ์ไพร"เจ้าของรับเหมาส่อขัดรธน. http://www.isranews.org/ข่าว/57-2012-08-12-13-59-01/17354-จังหวัดโยนอบจ-สระบุรีวินิจฉัยปม-เฉลิม-วงษ์ไพร-เจ้าของรับเหมาส่อขัดรธน.html