ฟังเสียงจากพื้นที่...ทำไมใต้ถึงป่วนข้ามปี กับทฤษฎียุบ-ตั้ง ศอ.บต.
เหตุการณ์ความไม่สงบที่เพิ่มดีกรีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วผ่านเดือนแรกของปีนี้ ได้รับการอธิบายจากผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรี และนักวิชาการหลายคนจากนอกพื้นที่ว่า สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากความพยายามของกลุ่มขบวนการที่ต้องการยกระดับปัญหาขึ้นสู่เวทีสากล เนื่องจากจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำองค์การการประชุมอิสลาม หรือโอไอซี ในเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้
ทว่าหากลองหันไปถามความเห็นของคนในพื้นที่เอง รวมทั้งทหาร ตำรวจระดับปฏิบัติที่ไม่ใช่ระดับนโยบายซึ่งไม่จำเป็นต้องพูดจาอะไรให้สวยหรู จะพบ "จุดร่วม" ที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ คนในพื้นที่เชื่อว่าสาเหตุที่ใต้ป่วนข้ามปีมีปัจจัยสำคัญมาจากเรื่อง "ผลประโยชน์" และยังเป็นผลประโยชน์ที่ขัดกันระหว่างหน่วยงานรัฐด้วย
"งบ-จนท.-ธุรกิจมืด" ต้นตอไฟใต้โชน
เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัตินายหนึ่งจาก จ.นราธิวาส กล่าวว่า ทุกวันนี้เหตุการณ์ในพื้นที่รุนแรงขึ้นกว่าที่ผ่านมา เชื่อว่าเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ 1.ปัญหาการทำงานของเจ้าหน้าที่เอง 2.ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งเรื่องยาเสพติด ธุรกิจผิดกฎหมาย และ 3.งบประมาณจำนวนมหาศาลที่ถูกทุ่มลงมาจากส่วนกลาง
"ทุกอย่างเกี่ยวพันกันหมด อย่างตำรวจกับทหารทุกวันนี้หลายๆ พื้นที่ก็ทำงานไม่ลงรอยกัน ขาดเอกภาพ มีความพยายามทำให้พื้นที่อื่นมีสถานการณ์รุนแรงกว่าพื้นที่ของตน ส่วนเรื่องธุรกิจผิดกฎหมายก็เกี่ยวพันจนแทบแยกจากกันไม่ออก ทั้งเรื่องยาเสพติด ผู้มีอิทธิพล หลายครั้งที่จับยาเสพติดและจับกุมกลุ่มผู้ค้าได้ ก็จะพบเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เหตุรุนแรงแต่ละครั้งจึงยากที่จะสรุปได้ว่ามาจากเรื่องอะไร ยิ่งปีนี้จะมีการเลือกตั้งหลายระดับ ก็เชื่อว่าจะเป็นอีกชนวนหนึ่งให้มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน"
มีคนเสียประโยชน์หากเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัตินายหนึ่งจาก จ.ยะลา กล่าวว่า ผลพวงจากการนำร่องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในบางพื้นที่ (ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) มีส่วนทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบรุนแรงขึ้นในช่วงนี้
แต่มุมมองของทหารระดับปฏิบัติเห็นสวนทางกับผู้ใหญ่ในสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มองในมิติการท้าทายอำนาจรัฐจากการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะเขากลับเห็นว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ล้วนๆ เนื่องจากมีบางกลุ่ม บางหน่วยเสียประโยชน์จากการยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ
"หากสังเกตดีๆ จะพบว่าหลังจากนำร่องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เมื่อปลายปีที่แล้ว และรัฐบาลประกาศว่าจะมีการยกเลิกในอำเภออื่นๆ ต่อไป สถานการณ์ก็รุนแรงขึ้นตามลำดับ ซึ่งแน่นอนว่าการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินย่อมส่งผลกระทบถึงผลประโยชน์ที่บางหน่วยเคยได้รับอย่างแน่นอน และอาจมีแรงต้านจากคนกลุ่มนี้ ทำให้สถานการณ์ในช่วงนี้ทวีความรุนแรงขึ้น เพราะปัญหาภาคใต้ส่วนหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ระหว่างกลุ่ม"
จับตา ศอ.บต.ผงาดทำบางส่วนเสียอำนาจ
กำนันในพื้นที่ จ.ปัตตานี วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ความไม่สงบเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นช่วงปลายเดือน ธ.ค.2553 ซึ่งเป็นช่วงที่พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต.ฉบับใหม่ ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาและมีผลบังคับใช้ จำได้ว่ามีเหตุระเบิดที่ อ.เทพา จ.สงขลา นับจากนั้นมาก็มีเหตุรุนแรงถี่ขึ้น โดยเฉพาะช่วงปีใหม่มาจนถึงปัจจุบัน
"มองง่ายๆ คือเมื่อก่อนมีคนบอกว่าเพราะรัฐบาลยุบ ศอ.บต.ทำให้เหตุการณ์ภาคใต้ปะทุขึ้น (ช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) จากนั้นก็มีการจัดตั้ง ศอ.บต.ขึ้นใหม่ (ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) เหตุการณ์ดูเหมือนทุเลาลงบ้าง ต่อมาได้มีการเรียกร้องขอให้มีกฎหมาย ศอ.บต.ออกมารองรับ เมื่อกฎหมายผ่านสภา เหตุการณ์ความรุนแรงก็กลับมาเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้การก่อเหตุที่ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ เป็นความพยายามแบ่งแยกดินแดน"
"ความเป็นจริงในพื้นที่ตอนนี้ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวต่อเนื่องได้ขนาดนี้แล้ว เพราะมีพื้นที่จำกัดมากหากเทียบกับในอดีต แม้จะยังมีเครือข่ายหรือเขตอิทธิพลอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสามารถเคลื่อนไหวได้ถึงขนาดนี้ ฉะนั้นผมจึงมองว่ามันเป็นเรื่องของกลุ่มเสียประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการฟื้น ศอ.บต.และทำให้มีกฎหมายรองรับอย่างเต็มรูปแบบเช่นนี้"
"หากมองกลับกัน ถ้าการสร้างสถานการณ์มาจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจริงๆ ก็แปลว่ารัฐต้องรื้อโครงสร้างความคิดใหม่ทั้งหมด เพราะการแก้ปัญหา 7 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มขบวนการมีศักยภาพมากขึ้น และมากถึงขนาดบุกโจมตีฐานทหารได้ ซึ่งผมว่าไม่ใช่"
กำนันรายนี้ยังยกเหตุการณ์จริงที่น่าจับตาและเพิ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ คือมีการแจกจ่ายใบปลิวที่อ้างว่าเป็นของกลุ่มพูโล แต่เนื้อหากลับมุ่งโจมตี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแล ศอ.บต. โดยเฉพาะการนำมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาบังคับใช้เพื่อเปิดทางให้กลุ่มผู้หลงผิดหรือยอมกลับใจสามารถเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยรัฐอาจยกเว้นโทษจากการกระทำผิดในอดีต แต่ให้เข้าอบรมเป็นเวลา 6 เดือนแทน
"เนื้อหาในใบปลิวมุ่งโจมตีนายถาวรและแนวทางการทำงานของนายถาวรอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องมาตรา 21 ซึ่งถือเป็นเรื่องประหลาด เพราะตลอดมาเวลาที่กลุ่มขบวนการจะทำอะไร จะไม่มีการโจมตีบุคคล แต่จะโจมตีรัฐไทยในภาพรวม"
"การเมือง" ตัวเร่งความรุนแรง
อีกเรื่องที่กำนันรายนี้มองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาพที่ปั่นป่วนอย่างหนักในพื้นที่ขณะนี้ คือ “การเมือง” ทั้งการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ ทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้นไปอีก
"ปัญหาภาคใต้ดูเผินๆ เหมือนง่าย แต่ถ้าเราแกะเข้าไปทีละปม จะทำให้มองภาพออกว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่สามจังหวัด ขณะที่ประชาชนก็ชาชินกับเหตุการณ์จนหายกลัวไปแล้ว เวลามีระเบิดเกิดขึ้น เมื่อทุกคนรับรู้ก็จะพูดคำเดียวว่า ‘อีกแล้วเหรอ’ หรือไม่ก็ ‘อ๋อ...ที่ไหนล่ะ’ เท่านั้นเองสำหรับความรู้สึกของพี่น้องในพื้นที่ ซึ่งมันต่างจากในอดีตมาก" กำนันจาก จ.ปัตตานี กล่าว
รองผู้ว่าฯปัตตานียันไม่เล่นตามเกม "แก๊งป่วน"
ฟังเสียงจาก "คนเล็กคนน้อย" ในพื้นที่มาแล้ว คราวนี้ลองมาฟัง ว่าที่ร้อยตรีเลิศเกียรติ วงศ์โพธิ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี บ้าง ซึ่งเขาประเมินสถานการณ์ไม่ต่างจากรัฐบาลในส่วนกลาง
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มา แต่จริงๆ ยังถือว่าปกติ เพราะมีหลายตัวแปรที่ทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น ทั้งเรื่องที่จะมีการประชุมโอไอซี ซึ่งเป็นแนวทางการต่อสู้ของบางกลุ่มในพื้นที่ที่พยายามทำให้เกิดการความรุนแรงขึ้น เพื่อให้เกิดการตอบโต้จากเจ้าหน้าที่ จะได้ยกระดับปัญหาไปสู่เวทีของโลกมุสลิม"
"แต่ฝ่ายเราใช้ความอดทนมากเพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามดำเนินการตามแผนได้สัมฤทธิ์ผล หลายๆ นโยบายที่แต่ละจังหวัดมี ทำให้ประชาชนเข้าใจและให้ความร่วมมือกับรัฐมากขึ้น ทำให้อีกฝ่ายเกิดความคิดที่ต้องการหยุดชาวบ้านไม่ให้มาร่วมมือ จึงจำเป็นต้องก่อเหตุขึ้นเพื่อกดขวัญและกำลังใจชาวบ้านให้ลดต่ำลง ทำให้เหตุการณ์ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นกว่าที่ผ่านมา" รองผู้ว่าฯปัตตานี ระบุ
ดูเหมือนมุมมองของคนพื้นที่ที่เป็นแค่คนธรรมดา จะสวนทางกับบรรดาผู้มีอำนาจอย่างสิ้นเชิง!
-------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุระเบิดที่ ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี คือหนึ่งในเหตุรุนแรงต่อเนื่องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังนิ)