ทศวรรษแห่งการอ่านไทย ต้องเริ่มต้นปลูกฝังเด็กในชุมชน
เพราะ“ความรู้ดี-สำนึกดีสร้างชาติ” ไทยประกาศทศวรรษแห่งการอ่าน แต่กลับสวนทางสถิติคนไม่อ่านหนังสือ ถึงเวลาที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนวัฒนธรรมเหล่านี้ โดยเริ่มต้นที่การปลูกฝังเยาวชนในชุมชน
คนไทยอ่านหนังสือ 35 นาที/วัน ต่ำกว่าเพื่อนบ้าน
เร็วๆนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยผลสำรวจการอ่านหนังสือของคนไทยปี่ 2554 พบว่าผู้อ่านหนังสือที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ย 35 นาทีต่อวัน โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนใช้เวลาอ่านหนังสือฯ เฉลี่ย 39 - 43 นาทีต่อวัน มากกว่ากลุ่มวัยทำงานและสูงอายุที่ใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ยประมาณ 31 - 32 นาทีต่อวัน นอกจากนี้ยังพบว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยอ่านปีละประมาณ 2-5 เล่ม ขณะที่คนมาเลเซียมีการอ่านหนังสือ ปีละ 40 เล่ม คนสิงคโปร์อ่านหนังสือปีละ 40-50 เล่ม คนเวียดนามอ่านปีละ 60 เล่ม
ที่น่าสนใจคือ เด็กเล็ก(อายุต่ำกว่า 6 ปี)มีอัตราการอ่านหนังสือร้อยละ 53.5 เด็กในเขตเทศบาลมีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่านอกเขตเทศบาล เด็กเล็กในกรุงเทพมหานครมีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุด (ร้อยละ63.0) ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เด็กเล็กมีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุด (ร้อยละ 49.1)
สาเหตุที่เด็กเล็กไม่อ่านหนังสือนอกเวลาเรียนคือไม่มีผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง 2.3 ล้านคนหรือร้อยละ 46.5 ของเด็กเล็ก อ่านไม่ออกร้อยละ 19.5 ชอบดูโทรทัศน์ร้อยละ 10.2 ไม่ชอบอ่านหรือไม่สนใจร้อยละ 4.1 ส่วนสาเหตุที่ผู้ใหญ่ไม่อ่านหนังสือให้เด็กฟังเพราะไม่มีเวลาร้อยละ 46.9 คิดว่าเด็กยังเล็กเกินไปร้อยละ 28.6 ชอบดูโทรทัศน์ ร้อยละ 18.1 ไม่ชอบอ่านหนังสือหรือไม่สนใจอ่านให้เด็กเฟังร้อยละ 11.6
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะรณรงค์ให้คนรักการอ่าน เช่น หนังสือควรมีราคาถูกลง และมีเนื้อหาสาระน่าสนใจ รวมทั้งควรมีห้องสมุดประจำหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นต้น(ดูผลสำรวจการอ่านหนังสือของประชากรไทยปี2554http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/themes/files/readingRep54.pdf )
ผู้ใหญ่ไม่เห็นค่าการอ่าน เลี้ยงลูกดูทีวีคิดไม่เป็น-ก้าวร้าว
แม้ว่าปี 2552 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ กำหนดให้ 2 เมษายนของทุกปีเป็นวันรักการอ่าน และปี 2552 -2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน แต่จากสถิติข้างต้นสะท้อนว่าการอ่านยังไม่เป็นวัฒนธรรมไทย โอกาสในการเข้าถึงสื่อการอ่านยังมีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนเมืองและคนชนบท ตัวเลขการอ่านหนังสือของเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปีซึ่งเป็นวัยที่ควรได้รับการปลูกฝังยังน่าเป็นห่วง
เร็วๆนี้แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที ‘ชุมชนท้องถิ่นกับงานส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาสมองและพัฒนาเด็กปฐมวัย’ มีการถกปัญหาการขาดการส่งเสริมการอ่านในเด็กเล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ในชนบท
ประเด็นสำคัญคือเด็กเล็กในชนบทมักถูกฝากไว้ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดู แต่พบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อผิดๆว่าเด็กปฐมวัย 0-6 ปี ยังเล็กเกินไปอ่านหนังสือไม่ออกจึงไม่เห็นความจำเป็นในการใช้หนังสือเพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้แก่เด็ก นอกจากนี้ยังเห็นว่าหนังสือสำหรับเด็กเล็กมีราคาแพง มีแต่รูปไม่คุ้มค่าราคาที่จ่าย อีกทั้งหนังสือเด็กเล็กยังหาซื้อยากในชุมชนท้องถิ่นเนื่องจากไม่ค่อยมีวางจำหน่ายด้วย ดังนั้นส่วนใหญ่จึงมักให้บุตรหลานดูโทรทัศน์ บางส่วนเริ่มหันมาให้เด็กใช้แท็บแลตหรือโทรศัพท์มือถือ ทำให้เด็กเล็กใช้หนังสือไม่เป็นและอาจนำไปสู่โรคสมาธิสั้น
นางเพียงใจ พุฒแก้ว ครูหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านระวิ จ.ระนอง กล่าวถึงพฤติกรรมเด็กเล็กกับการดูโทรทัศน์ ว่าเด็กในศูนย์ฯมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงขึ้น เลียนแบบพฤติกรรมตัวละครโทรทัศน์ เมื่อทำห้องสมุดเด็กเล็กขึ้น นำหนังสือที่เหมาะกับช่วงวัยมาสอนพบว่าเด็กมีพฤติกรรมในทางที่ดี
รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่างานวิจัยด้านนิเทศศาสตร์ระบุว่าสื่อมัลติมีเดีย เช่น โทรทัศน์ ทำให้เด็กจำจดและเลียนแบบเนื้อหาสารได้แต่ไม่ทำให้คิดวิเคราะห์ แตกต่างจากสื่อด้านการอ่านโดยการใช้เสียงและภาพซึ่งช่วยกระตุ้นสมองให้เด็กรู้จักวิเคราะห์และมีจินตนาการหนังสือจึงเป็นสื่อสำคัญในการพัฒนาเด็กเล็กในทางที่เหมาะสม
ปัจจุบันท้องถิ่นต่างๆเริ่มให้ความสำคัญส่งเสริมการอ่านเด็กปฐมวัย มีการส่งเสริมผ่านโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อบต. แต่ปัญหาคือเจ้าหน้าที่ไม่ทราบวิธีการใช้หนังสือและคัดสรรหนังสือที่เหมาะสมต่อเด็กเล็กแต่ละช่วงวัย เช่น เด็กวัยขวบปีแรกควรให้อ่านหนังสือภาพที่มีสีตัดกันแตกต่างชัดเจน ขณะที่หนังสือที่ชุมชนมักได้รับบริจาคมามักเป็นหนังสือธรรมะและนิตยสารบันเทิง ทำให้ขาดหนังสือที่เหมาะต่อการเรียนรู้ตามวัยของเด็กเล็ก
การที่เด็กเล็กไม่ได้รับการส่งเสริมให้อ่านหนังสือไม่เพียงทำให้พัฒนาการของเด็กขาดช่วงแต่ยังส่งผลถึงความสามารถในการคิดวิเคราะห์เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย คำบ่นของครูตั้งแต่ชั้นมัธยมถึงมหาวิทยาลัยที่ว่า “นักเรียน/นักศึกษาปัจจุบันคิดวิเคราะห์ไม่เป็น” อาจเป็นเพราะเยาวชนของเราไม่ถูกส่งเสริมให้อ่านหนังสือตั้งแต่เล็ก จึงทำให้พลาดช่วง ‘หน้าต่างแห่งโอกาส’ ไปอย่างน่าเสียดาย
นาทีทองกระตุ้นสมองเด็กด้วยการอ่าน
การศึกษาของโครงการงานขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและเครือข่ายภาคีส่งเสริมการอ่าน แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน(สสส.) พบว่าพัฒนาการเด็ก 0 -6 ปีแรกเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดเป็น ‘หน้าต่างแห่งโอกาส’ หรือระยะวิกฤตของพัฒนาการของสมอง เนื่องจากเด็กพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะหลายด้าน สมองเปิดรับการเรียนรู้ที่ดีที่สุด หากพ้นช่วงนี้แล้วการพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ยาก โดยการสร้างทักษะกระบวนการเรียนรู้จะทำให้เซลล์สมองเด็กเติบโตสร้างการเชื่อมต่อกับเซลล์ตัวอื่นตลอดเวลา ทำให้ส่วนที่เชื่อมต่อกันของเซลล์สมองแข็งแรง ปฐมวัยจึงเป็นเวลาทองของการเรียนรู้พัฒนาทักษะสำคัญสำหรับชีวิต ซึ่งสื่ออันทรงประสิทธิภาพที่สุดอย่างหนึ่งคือหนังสือภาพที่ได้รับการออกแบบ‘สาร’เป็นอย่างดี จะก่อให้เกิดปัญญาทั้งภายนอกได้แก่ความรู้ความสามารถต่างๆของเด็ก และปัญญาภายใน อันเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในด้านจิตใจ อุปนิสัย อย่างผสมกลมกลืน
จึงควรส่งเสริมการอ่านแก่เด็กตั้งแต่วัยที่หน้าต่างแห่งโอกาสยังเปิดกว้าง รวมทั้งการสร้างวัฒนธรรมการอ่านแก่เยาวชนควรเริ่มต้นตั้งแต่ระดับชุมชน โดยให้ครอบครัวและท้องถิ่นร่วมพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของบุตรหลาน กระจายโอกาสการเรียนรู้โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กยากจนในชนบท
กล่องหนังสือเคลื่อนที่ กับ ข้อบัญญัติอบต.ส่งเสริมการอ่าน
มีต้นแบบดีๆจาก‘กิจกรรมกล่องหนังสือเคลื่อนที่ จ.ระนอง’ โดยกลุ่มระบัดใบ ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สสส.มาเป็นปีที่ 3
‘กล่องหนังสือเคลื่อนที่’ หรือ ‘กล่องหนังสือเดินสาย’ เป็นชื่อเรียกกิจกรรมการหมุนเวียนกล่องหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัยกว่า 50 กล่อง 3,000 เล่ม ที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมให้บุคลากรพัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่าร้อยละ 90 ทั่วจังหวัดระนอง และภาคีเครือข่าย เช่น อบต. 5 แห่งในจังหวัด รพ.สต และอสม. 5 อำเภอได้แก่ อ.เมือง ละอุ่น กะเปอร์ กระบุรี และ อ.สุขสำราญให้เข้าถึงทรัพยากรการอ่าน มีการให้ความรู้กับแกนนำในพื้นที่เพื่อให้เห็นความสำคัญของหนังสือและพัฒนาการกับสมองของเด็กปฐมวัย และการใช้หนังสือเพื่อพัฒนาเด็กเล็กอย่างเหมาะสมตามช่วงอายุ
จากการนำกล่องหนังสือเคลื่อนที่กระจายหมุนเวียนสู่ชุมชน ระบัดใบพบว่ามีผู้ให้ความสนใจกับกล่องหนังสือที่หมุนเวียนมาใหม่อยู่เรื่อยๆซึ่งต่างจากการมีห้องสมุดที่ขาดบรรยากาศในการทำให้เด็กเข้าถึงหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่หนังสือที่อยากอ่านอยู่ในตู้หนังสือที่ใส่กุญแจ การไม่ให้ยืม-คืน กฎของห้องสมุดที่ต้องเงียบซึ่งขัดกับธรรมชาติของเด็ก หรือกรณีที่มีหนังสือเหมาะกับเด็กจำนวนน้อย เป็นต้น
“เราเข้าถึงชาวบ้านด้วย ใช้กล่องมาเป็นตัวเปิดประเด็นกับพื้นที่ ห้องสมุดไม่ใช่เชิงรุกเพราะไม่มีโอกาสลงมา แต่การลงพื้นที่ทำให้เรามีโอกาสได้คุยกับเขา มันเหมือนคนขายที่ต้องการกระตุ้นการขาย หนังสืออยู่ดีๆใครจะมาหยิบอ่าน ถ้าไม่รักไม่ชอบกันจริง” ‘ป๊อบ’ หรือ ‘สุรพจน์ องค์วรรณดี’ หัวหน้าโครงการสโมสรส่งเสริมการอ่าน กลุ่มระบัดใบ กล่าว
อีกหนึ่งกรณีตัวอย่างของการส่งเสริมการอ่านในท้องถิ่น คือ การบรรจุโครงการส่งเสริมการอ่านลงในข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลของอบต.หนองขาม อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี ภายใต้ชื่อโครงการ ‘สื่อสร้างสรรค์ห้องสมุดมีชีวิต ตำบลแห่งการอ่าน’ โดยการผลักดันของนายกอบต. บุญยัง วังเปรม ท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณส่งเสริมการอ่านแก่เด็กเยาวชนและผู้ใหญ่ในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม
โดยที่ผ่านมาอบต.หนองขามได้จัดให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีมุมอ่านหนังสือ โดยคัดหนังสือดีสำหรับเด็ก 108 เล่มจากสสส. ให้หมุนเวียนไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่งในตำบล พร้อมอบรมให้ความรู้ครูถึงการนำหนังสือไปใช้ประโยชน์กับเด็กปฐมวัย นอกจากนี้ยังส่งเสริมการอานของผู้ใหญ่ด้วยการตั้งศูนย์เรียนรู้ประจำหมู่บ้านทั้ง 11 แห่ง โดยสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาหนังสือที่เหมาะสมกับทุกช่วงวัยและหลากหลายประเภท พร้อมทั้งตั้งห้องสมุดชุมชนระดับตำบลขึ้นโดยเชิญชวนให้ประชาชนบริจาคหนังสืออย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปสู่การเป็นตำบลแห่งการอ่านและสร้างวัฒนธรรมการอ่านที่ดีต่อไป
แม้งบประมาณส่งเสริมการอ่านปี 2556 ที่อบต.หนองขามได้รับการจัดสรรจะไม่ถึงร้อยละ 1 (40,000 บาท)ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณอบต.ทั้งหมด(21.5ล้านบาท) แต่นายกอบต.กลับเห็นว่าแม้เพียงน้อยนิดก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพราะจะทำให้ชุมชนได้คนที่มีคุณภาพกลับมา
“ถ้าท้องถิ่นมีนโยบายส่งเสริมการอ่านจริงจัง ความสำเร็จเกิดไม่ยาก” นายกอบต.หนองขามกล่าว
…………….
วาระชาติด้านการอ่านจะไม่สำเร็จหากดีแต่ป่าวประกาศ สิ่งที่ดีคือปลูกฝังเด็กตั้งแต่เล็กให้มีวัฒนธรรมการอ่าน ไม่เพียงเป็นการพัฒนาคนแต่ยังสร้างสังคมให้เข้มแข็ง...เมื่อคนมีความคิดสังคมย่อมมีสติตามมา.
ที่มาภาพประกอบที่ 2 :: http://bit.ly/U3jd3o