แกะรอยประชุมโอไอซี กับท่าทีข้องใจของรัฐมนตรีถาวร เสนเนียม
อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ มากไปกว่าย่อหน้าข้างบนนี้ "ทีมข่าวอิศรา" จึงไปค้นข้อมูลเกี่ยวกับโอไอซีมารายงาน
"โอไอซี" เป็นชื่อย่อของ "องค์การการประชุมอิสลาม" หรือ Organization of the Islamic Conference (OIC) ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ.1971 หรือ พ.ศ.2514 จากผลการประชุมของผู้นำชาติมุสลิม 35 ชาติเมื่อ 2 ปีก่อนหน้า (1969) ปัจจุบันมีสมาชิก 57 ประเทศ จาก 4 ทวีป คือเอเชีย ยุโรป อัฟริกา และอเมริกาใต้ ถือเป็นองค์กรนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลกมุสลิม
สำหรับประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกโอไอซี แต่มีสถานะเป็น "ผู้สังเกตการณ์" ร่วมกับอีกหลายๆ ประเทศ เช่น รัสเซีย
การประชุมที่สำคัญของโอไอซี ได้แก่ การประชุมสุดยอดผู้นำชาติมุสลิม หรือ The Islamic Summit Conference ซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี ครั้งล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค.ปี ค.ศ.2008 (พ.ศ.2551) นับเป็นการประชุมครั้งที่ 11 จัดที่ประเทศเซเนกัล
การประชุมอีกระดับหนึ่งคือ ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศโอไอซี จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ครั้งที่แล้วเมื่อเดือน พ.ค.ปี ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) ที่ประเทศคาซัคสถาน ซึ่งนับเป็นการประชุมครั้งที่ 37
พิจารณาจากข้อมูลของรัฐบาล การประชุมโอไอซีที่พูดถึง น่าจะหมายถึงการประชุมสุดยอดผู้นำชาติอิสลามในเดือน มี.ค.ปีนี้ ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งที่ 12 จัดที่ประเทศอียิปต์
ส่วนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ในภาคใต้ของไทยร้อนแรงขึ้นหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม!
"ถาวร"ข้องใจโอไอซีไม่เคยถามข้อมูล จนท.ตาย
ข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับโอไอซี นอกจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้แล้ว ยังมี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ด้วย โดยท่าทีของ นายถาวร ที่มีต่อโอไอซี นับว่าน่าสนใจ เพราะไม่ได้พูดแค่ว่าเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ไฟใต้คุโชนมากขึ้นหรือไม่เท่านั้น
นายถาวร กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 24 ม.ค.เอาไว้แบบนี้...
"ผมพูดตรงๆ ว่าฝ่ายตรงข้ามยั่วยุเพื่อให้รัฐใช้ความรุนแรง เพื่อหยิบยกเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมโอไอซีในช่วงเดือน มี.ค.และการประชุมครั้งดังกล่าวกระทรวงการต่างประเทศจะไปชี้แจง เนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ม.ค. ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุคนร้ายบุกโจมตีฐานทหาร (ที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส) เจ้าหน้าที่โอไอซีได้เดินทางเข้าพบ นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมาหาข้อมูลและตรวจสอบตามเป้าหมายว่า รัฐบาลใช้ความรุนแรงกับคนไทยมุสลิมหรือไม่"
"ผมทราบว่าโอไอซีไม่เคยถามเลยว่า ผู้ก่อความไม่สงบกระทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์จนบาดเจ็บและเสียชีวิตเท่าใด" นายถาวร กล่าว
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังยืนยันข้อมูลเชิงสถิติการเกิดเหตุรุนแรงว่า ลดจำนวนลงอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ดีขึ้น ส่วนเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้น (เช่น คนร้ายโจมตีฐานทหาร) ต้องไปตรวจสอบกับผู้รับผิดชอบในพื้นที่นั้น
"งานของคนอื่นผมไม่อยากก้าวก่าย แต่วันนี้ภาคใต้มีกี่กองร้อยไปคิดเอาเอง ไม่ต้องออกจากปากผม" นายถาวร กล่าว พร้อมย้ำว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่กระทบกับแนวทางทยอยยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งรัฐบาลจะเดินหน้าต่อไป
ส่วนความคืบหน้าการจัดทำร่างระเบียบ ศอ.บต. หลังจากพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือกฎหมาย ศอ.บต.ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้นั้น นายถาวร บอกว่า ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว 3 ระเบียบ คือ
1.ระเบียบว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ได้จัดตั้งขึ้น
2.ระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและระยะเวลาในการสั่งเจ้าหน้าที่ของฝ่ายพลเรือนออกจากพื้นที่ ในกรณีที่บุคคลเหล่านั้นทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน หรือก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคง โดยจะกำหนดให้เลขาธิการ ศอ.บต.เป็นผู้มีอำนาจสามารถสั่งให้ออกจากพื้นที่ได้
3. ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การคัดเลือกเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาด้านการบริหารการพัฒนา ซึ่งมาจากกลุ่มต่างๆ ทั้งหมด 12 กลุ่มในพื้นที่ รวม 49 คน ซึ่งระเบียบทั้ง 3 ฉบับผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต