สธ.เคลียร์ปมพยาบาล 1 ม.ค. 56 ทยอยบรรจุเป็น ขรก.
รองปลัด สธ. แจงละเอียดยิบ ม.ค. 56 เริ่มเดินหน้าบรรจุพยาบาล เป็น ขรก. ที่เหลือโยกเป็นพนักงาน กสธ. ชี้เงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ 1.2 เท่า
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุพรรณ ศรีธรรมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (กลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ) กล่าวในงานเสวนาสาธารณะเรื่อง: วิกฤติพยาบาล "ระดมปัญญาร่วมหาทางออก" ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึงการแก้ปัญหากรณีเรียกร้องให้บรรจุพยาบาลเข้ารับราชการว่า ในเรื่องนี้มีปัญหาอย่างมาก แง่หนึ่งคือเรื่องการบรรจุพนักงาน ลูกจ้างชั่วคราวเข้ารับราชการ อีกแง่หนึ่งคือเรื่องการขาดแคลนพยาบาล ซึ่งจากหารือระดับนโยบายร่วมกับทีมงานของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เห็นทางออกในเบื้องต้นร่วมกันว่า เรื่องที่จะต้องดำเนินการคือ 1.จะต้องประเมินกำลังคนที่มีการขาดแคลนอย่างแท้จริงในสายงานต่างๆ ซึ่งจะพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ภาระงาน พื้นที่ศักยภาพ โดยเฉพาะในสายงานพยาบาล ซึ่งภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ จะทราบจำนวนที่แท้จริง และเมื่อทราบข้อมูลดังกล่าว จะนำมาหาทางออกร่วมกันว่า กำลังคนของกระทรวง สธ. เมื่อเทียบกับปริมาณ ภาระงานในแต่ละพื้นที่ มาตรฐานต่างๆ แล้ว สัดส่วนกำลังคนที่ทุกฝ่ายมองเห็นตรงกันควรจะเป็นเท่าไหร่
2.จำนวนพยาบาลที่ค้างบรรจุ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา จำนวน 30,000 อัตราที่ต้องการให้บรรจุภายใน 3 ปี นั่นคือปี 2556-2558 นั้น จะจัดทำออกมาเป็นแผนที่ชัดเจนว่า ในแต่ละปีจะสามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้กี่คน ส่วนลูกจ้างที่เหลือ ก็จะมีการออกร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือพนักงาน กสธ. ขึ้นมา เพื่อที่จะให้พยาบาลเหล่านี้มีสถานะเป็นพนักงาน กสธ. ไม่ใช่ลูกจ้างชั่วคราวอีกต่อไป ซึ่งการจ้างงานดังกล่าวจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มวิชาชีพ หรือกลุ่มที่อยู่ภายใต้วิชาชีพทั้งหมด ได้แก่ พยาบาล แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัช เทคนิคการแพทย์ 2.กลุ่มสายสนับสนุน เช่น ธุรการ บัญชี การเงิน คอมพิวเตอร์ และ 3.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เช่น สถาปนิก วิศวกร ที่จำเป็นต้องจ้างไว้ระบบ
สำหรับร่างระเบียบดังกล่าวนั้น นายสุพรรณ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการร่างแล้วเสร็จเป็นเรียบร้อย โดยมีผู้แทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ก.พ. สำนักงบประมาณมาร่วมดำเนินการด้วย โดยสาระสำคัญในส่วนของเงินเดือนนั้น พนักงาน กสธ.จะได้รับเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ 1.2 เท่า บัญชีเงินเดือนจะคล้ายคลึงกับข้าราชการ และมีสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ เช่นการลาป่วย ลากิจ ลาศึกษาต่อ เหมือนกันข้าราชการเช่นกัน ส่วนสิทธิในการรักษาพยาบาลนั้น จะใช้ระบบประกันสังคม ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม เพราะอนาคตข้างหน้าธงของรัฐบาลนั้น ก็จะมีกำหนดให้สิทธิประโยชน์ของทุกกองทุนเท่าเทียมกัน จึงคิดว่าสิทธิในเรื่องนี้คงไม่แตกต่างกันอีกต่อไป
“ขณะที่สิทธิในเรื่องความก้าวหน้า แต่เดิมมีการพูดกันมากว่าพนักงาน กสธ. ลูกจ้างชั่วคราว จะไม่มีสิทธิได้ขึ้นไปถึงตำแหน่งผู้บริหารนั้น ต่อไปหากคณะกรรมการประเมินแล้วว่า บุคคลใดเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ก็จะมีโอกาสได้ก้าวหน้าในหน้าที่การงานเช่นกัน โดยจะมีการไปแก้ไขกติกา ระเบียบที่ขัดแย้งในเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน”
ส่วนเรื่องการได้รับบำเหน็จบำนาญนั้น นายสุพรรณ กล่าวว่า แม้พนักงาน กสธ.จะไม่ได้มีกองทุนบำเหน็จบำนาญ แต่จะมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงาน กสธ. ขึ้นมา โดยจะหักเงินเดือนของพนักงาน กสธ.ไว้เดือนละประมาณ 3-5% และรัฐบาลจะสมทบให้อีกในจำนวนที่เท่ากัน เมื่อเกษียณอายุหรือออกจากกระทรวงไปก็จะมีเงินสะสมจำนวนหนึ่ง และหากในอนาคตกองทุนนี้มีจำนวนสมาชิกมากขึ้น กองทุนฯ โตขึ้น ก็จะสามารถนำเงินไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเมื่อเกิดกำไรก็จะสามารถนำกำไรมาแบ่งปันให้กับสมาชิกได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ จึงเป็นทางเลือกที่จะเกิดขึ้น
“การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ สธ.จะรับหน้าที่เป็นผู้ต่อรองกับรัฐบาลกลางให้เข้าใจเองว่าการแก้ปัญหาของ สธ.อย่างเบ็ดเสร็จนั้น จะต้องคนส่วนหนึ่งได้บรรจุเป็นข้าราชการ ส่วนที่เหลือจะบรรจุเป็นพนักงาน กสธ.ทั้งหมด โดยรัฐบาลจะต้องจัดสรรเงินงบประมาณจากงบกลางส่วนหนึ่ง เพื่อใช้เป็นค่าจ้างในการจัดจ้างพนักงาน กสธ. ซึ่งคาดว่าในขณะนี้จะต้องใช้งบประมาณปีละประมาณ 1,700 ล้านบาท ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่ขาดทุนจะได้ไม่เกิดความวิตกมากนัก ในทางกลับ สธ.ก็จะเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารจัดการเงินจำนวนนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อที่รัฐบาลจะได้สบายใจได้ว่า ไม่ต้องจ่ายเพิ่มแน่นอน”
รองปลัด สธ. ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับการดำเนินงานของ สธ.มีการกำหนดปฏิทินที่ชัดเจนดังนี้ ภายในเดือนตุลาคมจะทราบว่า จำนวนข้าราชการที่จะสามารถบรรจุได้ว่ามีกี่ตำแหน่ง ขณะที่ภายในเดือนพฤศจิกายน จะดำเนินการเรื่องการออกระเบียบพนักงาน กสธ. แก้ไขกติกาที่เกี่ยวข้อง เดือนธันวาคม จะผลักดันระเบียบต่างๆ ออกมาได้ และหากเป็นไปตามแผน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 เป็นต้นไป จะเริ่มบรรจุข้าราชการได้ส่วนหนึ่ง และคาดว่าจะเริ่มบรรจุลูกจ้างชั่วคราว เป็นพนัก กสธ. ได้ครบราวเดือนมิถุนายน 2556 ทั้งนี้ เชื่อว่าแผนดังกล่าว จะเป็นความหวังสำหรับทุกคนที่รอค่อยมาอย่างยาวนาน เป็นทางออกที่เหมาะสม สร้างความเป็นธรรมในการทำงาน และทำให้ระบบสามารถอยู่ได้ต่อไป
“อย่างไรก็ตาม เห็นว่า จะต้องมีการแก้ปัญหาในระยะยาวควบคู่ไปด้วยคือ 1.ปรับบทบาท ภารกิจของกระทรวง สธ. 2.มีการกระจายอำนาจ และ 3.การกำหนดรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายมากขึ้น”
เมื่อถามถึงการปัญหาเรื่องค่าตอบแทน นายสุพรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีปัญหาติดขัดในเรื่องวิธีการจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งก็จะดำเนินการแก้ไขระเบียบในเรื่องนี้ และจะมีการนำร่องเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามปริมาณงานมาใช้ ซึ่งตรงนี้มีวงเงิน 3,000 ล้านบาท และขณะนี้ก็ได้รับการอนุมัติเป็นที่เรียบร้อย พร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป