วิเคราะห์เหตุยิงครูกลางเมืองปัตตานี กลุ่มผู้ไม่หวังดีหวังผล 3 เด้ง!
เหตุการณ์สังหารครูมาโนช ชฎารัตน์ ครูโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล กลางเมืองปัตตานี เมื่อวันเสาร์ที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่มีครูถูกฆ่าในดินแดนแห่งนี้ เพราะนี่เป็นรายที่ 138 แล้ว แต่การลอบยิงครูมาโนชในจังหวะเวลาเช่นที่เกิดขึ้น มีข้อสังเกตที่น่าติดตามหลายประการ
โดยเฉพาะการวางแผนมาเป็นอย่างดีของคนร้าย เพราะการลั่นกระสุนครั้งนี้ส่งผลสะเทือนที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มขบวนการอย่างน้อย 3 เด้ง กล่าวคือ
1.คนร้ายเลือกก่อเหตุในวันเสาร์ที่ 15 ม.ค.2554 ก่อนวันครูเพียง 1 วัน ถือเป็นการสร้างข่าวและสร้างกระแสให้สังคมสนใจเหตุร้ายครั้งนี้มากกว่าปกติ ทั้งยังสามารถปลุกความเคลื่อนไหวของกลุ่มครูให้ออกมากดดันรัฐบาลได้ด้วย
2.เหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นก่อนที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่เพียง 2 วัน คือวันที่ 17 ม.ค. นายกฯจะล่องใต้ไปร่วมงาน "วันครู...ร่วมรำลึกคุรุวีรชนชายแดนใต้" ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อเชิดชูวีรกรรมของครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จนต้องเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
การก่อเหตุร้ายย่อมเป็นการท้าทายนายกฯและฝ่ายความมั่นคงว่า ไม่สามารถดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ได้ ทั้งยังเป็นการเปลี่ยนประเด็นของงาน “วันครู” ที่นายกฯมาร่วม ให้กลายเป็นเรื่องของการสูญเสียครูเพิ่มอีก 1 ชีวิต
3.วันอังคารที่ 18 ม.ค. คณะรัฐมนตรีมีกำหนดพิจารณาต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาศัยอำนาจของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งใช้มากว่า 5 ปีครึ่ง โดยมีข่าวว่าจะมีการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม 2 อำเภอ คือ อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส หลังจากก่อนหน้านี้ยกเลิกนำร่องมาแล้ว 1 อำเภอ คือ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี โดยการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 17 ม.ค. ก็จะไปที่ อ.แม่ลาน ด้วย
การก่อเหตุรุนแรงที่ส่งผลกระทบจากจิตวิทยาค่อนข้างสูงอย่างการ “ยิงครู” นั้น อาจทำให้สังคมตั้งคำถามถึงนโยบายการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล หรืออย่างน้อยก็ลดทอนความเชื่อมั่นลง ในขณะที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงพยายามประกาศว่าการทยอยยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นความสำเร็จของรัฐบาลในภารกิจดับไฟใต้
สรุปก็คือ “สงครามจิตวิทยา” เที่ยวนี้ กลุ่มผู้ก่อเหตุได้ประโยชน์ไปเต็มๆ
นอกจากนั้น เหตุการณ์ดักสังหารครูมาโนช ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของคนในพื้นที่มากพอสมควร เพราะตลอดช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่เทศกาลปีใหม่ มีการตรึงกำลังทหาร ตำรวจ และ อส. (อาสารักษาดินแดน) เพื่อรักษาความปลอดภัยในเขตเมืองอย่างหนาแน่น รวมทั้งบริเวณใกล้กับจุดเกิดเหตุยิงครูมาโนชก็มีการส่งกำลังมาเฝ้าระวังตลอด
ขณะที่ตามถนนซึ่งเป็นเส้นทางเข้าเมือง ก็จะมีด่านตรวจของเจ้าหน้าที่คอยตรวจรถยนต์และบุคคลต้องสงสัยจนการจราจรติดขัดเกือบทุกวัน จึงน่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่น่าจะได้รับข่าวสารมาก่อนแล้วว่าจะมีการยิงครูในพื้นที่ เพียงแต่ไม่รู้เป้าหมายที่ชัดเจนเท่านั้น ขณะที่คนร้ายก็เลือกก่อเหตุในบริเวณและจังหวะเวลาที่เป็น "ช่องว่าง" พอดี
พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า การก่อเหตุแต่ละครั้งของคนร้ายจะเลือกใช้ห้วงเวลาที่สำคัญๆ เพื่อให้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ เพราะถ้าเป็นการก่อเหตุรายย่อยทั่วไปจะไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร
“คนร้ายจะเลือกก่อเหตุในวันที่เป็นสัญลักษณ์ เช่น วันอาทิตย์เป็นวันครู และวันจันทร์นายกฯก็จะเดินทางลงพื้นที่ปัตตานี ก็เลือกก่อเหตุดักหน้าในวันเสาร์ คนร้ายเตรียมแผนมาก่อนแล้ว เมื่อสบโอกาสก็สามารถปฏิบัติการได้เลย” พ.อ.บรรพต กล่าว
ส่วนมาตรการการรักษาความปลอดภัยครูนั้น โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวว่า ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดคือช่วงระหว่างการเดินทาง ทุกเป้าหมายอ่อนแอล้วนตกอยู่ในอันตรายทั้งหมด แต่ถ้าอยู่ในแผนหรือมาตรการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้จัดเตรียมไว้ก็จะสามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะหากจะมีการออกนอกเส้นทางหรือมีงานที่ต้องไปทำธุระทั้งก่อนเวลาและหลังเวลาที่ตกลงกับฝ่ายความมั่นคง ก็ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อให้ง่ายต่อการเฝ้าระวัง เนื่องจากเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ตลอดทุกเวลา
“ฝ่ายคนร้ายจะเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายอยู่นาน เมื่อสบโอกาสก็จะก่อเหตุได้ทันที ฉะนั้น่แนวทางการป้องกันจึงได้เน้นย้ำกับทุกระดับ ทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ให้เจ้าหน้าที่และคณะครูติดต่อประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุเมื่อไหร่ และช่วงระหว่างเดินทางก็ยังเป็นจุดอ่อนอยู่ เป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่จะเฝ้าระวังตลอด เนื่องจากครูมีจำนวนมากเท่าๆ กับเจ้าหน้าที่ทหาร อีกอย่างหนึ่งภารกิจของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มีแค่ รปภ.ครูเท่านั้น” พ.อ.บรรพต กล่าว
นายบุญสม ทองศรีพลาย ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า กรณีของครูมาโนชไม่ได้เดินทางออกนอกเส้นทาง เพียงแต่อยู่ในช่วงวันหยุด และครูจะไปสอนพิเศษ เมื่อเกิดเรื่องขึ้นมาต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ดูเหมือนเหตุร้ายที่ชายแดนใต้จะไม่ได้สร้างความตระหนกตกใจให้กับคนในสังคมเท่านั้น แต่ยังสร้างความตึงเครียดระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเองด้วย!
----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พิธีรดน้ำศพครูมาโนช ที่วัดนพวงศาราม อ.เมืองปัตตานี บรรยากาศเต็มไปด้วยความโศกเศร้า (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังนิ)