ตามไปดู "ศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิด" แกะรอยบึ้มป่วนชายแดนใต้
เหตุระเบิดรับศักราชใหม่ที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2554 ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด หรือ อีโอดี และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สุไหงปาดี ต้องสังเวยชีวิตจากปัญหาความไม่พร้อมของอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็น “บอมบ์สูท” หรือ “หุ่นยนต์กู้ระเบิด” ทำให้หน่วยงานความมั่นคงที่รับผิดชอบถูกวิจารณ์จมหู
อย่างไรก็ดี จากการติดตามข้อมูลของ “ทีมข่าวอิศรา” ทำให้ทราบว่า อันที่จริงแล้วในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิดชนิดต่างๆ โดยตรง และมีรูปแบบการทำงานที่เป็นระบบพอสมควร นอกเหนือจากหน่วยเก็บกู้-ทำลาย หรือ อีโอดี ทั้งของทหาร ตำรวจ ที่เป็นดั่ง “ด่านหน้า” เผชิญเหตุบึ้มรายวันอยู่แล้ว
หน่วยงานที่ว่านี้ก็คือ “ศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิด” หรือ Bomb Data Center (BDC) ซึ่งอยู่ใต้ร่มของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า หรือ ศปก.ตร.สน.
หน้าที่สำคัญของศูนย์นี้ก็คือการแกะรอย เชื่อมโยง รวมทั้งวิเคราะห์หลักฐานที่เก็บได้จากระเบิดแสวงเครื่องแต่ละลูกที่ตูมสนั่นในพื้นที่ ด้านหนึ่งก็เพื่อสาวให้ถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ประกอบระเบิดมรณะ และเป็นหลักฐานสำคัญเพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับกลุ่มผู้ก่อเหตุ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เพื่อพิจารณาเทคนิควิธีการของคนร้าย เพื่อกำหนดแผนและมาตรการป้องกัน หรือคาดการณ์ว่าจะมีระเบิดตูมตามขึ้นอีกหรือไม่ แนวโน้มจะเป็นพื้นที่ไหน และ...ยังมีอีกสักกี่ลูก!
พล.ต.อ.สฤษฎ์ชัย อเนกเวียง รองผู้บัญชาการ ศปก.ตร.สน. เล่าให้ฟังว่า แนวคิดการก่อตั้งศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิด เริ่มมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้ยุทธวิธีการลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง (ระเบิดที่ประกอบขึ้นจากอุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่น) เพื่อสร้างสถานการณ์และประทุษร้ายเจ้าหน้าที่รัฐตลอดจนประชาชนบ่อยครั้งมาก ทำให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) สมัยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ ศปก.ตร.สน. เดินหน้าจัดตั้งศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิดขึ้น เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน วิเคราะห์ และหาข้อมูลของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยุติการก่อเหตุระเบิด
วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดตั้งศูนย์ฯ ก็เพื่อบันทึกรายละเอียดของระเบิดแต่ละลูก ชิ้นส่วนของวัตถุระเบิดที่คนร้ายใช้ก่อเหตุในแต่ละครั้ง โดยจะเก็บรายละเอียดเพื่อเป็นฐานข้อมูลเทียบเคียงกัน และคาดการณ์ถึงระเบิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
“เมื่อเกิดเหตุระเบิด เราจะย้อนกลับไปดูที่ฐานข้อมูลว่าระเบิดที่คนร้ายใช้เหมือนหรือตรงกับลูกไหนที่ผ่านมาบ้าง เพื่อจะสามารถแกะรอยถึงต้นตอ ทั้งในแง่ของอุปกรณ์และพื้นที่ ซึ่งหากวิเคราะห์ได้ตรง ก็จะง่ายต่อการติดตามหาตัวคนร้าย”
พล.ต.ต.สฤษฎ์ชัย เล่าต่อถึงวิธีการทำงานของศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิดว่า โดยหลักแล้วจะดูเรื่องสายไฟ สวิตซ์ เชื้อปะทุ และสะเก็ดระเบิด โดยนำวัตถุพยานเหล่านี้มารวบรวม สังเคราะห์ และเทียบเคียงกับระเบิดลูกอื่นๆ
“เราจะดูวิธีการประกอบ รูปแบบ เช่น การพันสายไฟ ดูว่าวิธีการเหมือนกันหรือไม่ แล้วเชื่อมโยงลักษณะสำคัญของระเบิดแต่ละลูกเข้าด้วยกัน ขณะเดียวกันก็จะสามารถดูถึงพัฒนาการของคนร้าย จนสามารถวิเคราะห์ได้ว่าระเบิดแต่ละรูปแบบใช้ไปกี่ลูกแล้ว ยังเหลืออีกกี่ลูก”
“ยกตัวอย่างท่อนเหล็กที่คนร้ายนำมาใช้เป็นสะเก็ดระเบิด เราดูได้ว่าความยาวของเหล็กมีเท่าไหร่ นำมาตัดท่อนได้กี่ท่อน ใช้ไปกี่ท่อนแล้ว ยังเหลือสำหรับประกอบเป็นระเบิดได้อีกกี่ลูก หรือระเบิดที่ผลิตขึ้นจากแป๊บน้ำ เป็นที่รู้กันว่าท่อเหล็กที่ทำแป๊บน้ำนั้นมีความยาว 6 เมตร และร้านค้าจะไม่มีการตัดแบ่งขาย เมื่อพบระเบิดที่ทำจากแป๊บน้ำ อาจจะยาวประมาณ 6 นิ้ว เมื่อนำขนาดมาคำนวณก็จะทำให้คาดการณ์ได้เลยว่าระเบิดที่ทำมาจากแป๊บน้ำยังเหลืออีกกี่ลูก เมื่อเรารู้แนวโน้ม ก็ทำให้เราสามารถแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต่างๆ ได้”
ฟังมาถึงตรงนี้ คำถามที่น่าคิดก็คือ ผลจากการเก็บหลักฐานและสังเคราะห์ข้อมูลระเบิดที่ชายแดนใต้ บอกอะไรกับเราได้บ้าง ประเด็นนี้ พล.ต.ต.สฤษฎ์ชัย อธิบายว่า สิ่งที่พบคือรูปแบบระเบิดชนิดต่างๆ เช่น แยกตามวัตถุประสงค์ที่คนร้ายใช้ สามารถแบ่งได้คือ
1.ระเบิดแบบฝังใต้ถนน ระเบิดประเภทนี้จะประกอบใส่ในถังดับเพลิงหรือถังแก๊ส ใช้โจมตีรถของทหาร ตำรวจ หรือชุดคุ้มครองครูที่ขับอยู่บนท้องถนน
2.ระเบิดที่ใช้วางทั่วไป อาจประกอบใส่ในกล่องโลหะ กระป๋องอาหาร กระป๋องน้ำอัดลม แป๊บน้ำ ท่อพีวีซี หรือแม้แต่กล่องน้ำผลไม้
จากวัตถุประสงค์การใช้ ก็ตามไปถึงภาชนะบรรจุ พบว่าตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน (กลางเดือน ธ.ค.2553) ระเบิดที่ทำขึ้นจากกล่องเหล็กถูกนำมาใช้ก่อเหตุมากที่สุดถึง 674 ครั้ง รองลงมาคือการใช้ถังดับเพลิง 253 ครั้ง ขณะที่ท่อเหล็กหรือแป๊บน้ำถูกนำมาเป็นภาชนะประกอบระเบิด 169 ครั้ง ส่วนระเบิดที่ทำจากท่อพีวีซีมีทั้งสิ้น 95 ครั้ง และถังแก๊สอีก 65 ครั้ง อย่างไรก็ดี ยังมีระเบิดที่ประกอบจากภาชนะอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงอีก รวมทั้งสิ้น 730 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 เดือนหลังมานี้ มีพัฒนาการของระเบิดรูปแบบใหม่เป็น “กับระเบิดแบบเหยียบ” ระเบิดประเภทนี้คนร้ายจะฝังเอาไว้ แล้วจุดระเบิดลูกหนึ่งเพื่อหลอกเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปตรวจที่เกิดเหตุ และอาจพลาดไปเหยียบ หรือไม่ก็ฝังไว้ในสวนยางพาราเพื่อทำร้ายชาวบ้านที่ออกกรีดยาง
ส่วนการประกอบระเบิดแต่ละแบบนั้น พล.ต.ต.สฤษฎ์ชัย บอกว่า คนร้ายยังคงประกอบในรูปแบบเดิม นั่นคือใช้แหล่งพลังงานจากแบตเตอรี่ ส่วนดินระเบิดแรงดันสูงที่นิยมใช้กัน ได้แก่ แอมโมเนียมไนเตรท ผสมกับน้ำมันเบนซิน ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “แอลโฟ” สำหรับดินระเบิดประเภทอื่นก็มีใช้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทีเอ็นที หรือ ซีโฟร์ โดยใช้สายไฟต่อเข้ากับเชื้อปะทุเพื่อจุดระเบิด
พ.ต.อ.เอกกฤต วิริยะภาพ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิด กล่าวว่า การควบคุมการผลิตระเบิดแสวงเครื่องนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะเรามีเพียงกฎหมายควบคุมการซื้อขายวัตถุระเบิดและเชื้อปะทุเท่านั้น แต่พวกส่วนประกอบที่นำมาประกอบเป็นระเบิด ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป เช่น ถ่านไฟฉาย สายไฟ นาฬิกา หรือเศษเหล็กที่นำมาทำสะเก็ดระเบิด เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขอความร่วมมือร้านค้าที่จำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว หากพบการซื้อในลักษณะต้องสงสัย เช่น ซื้อครั้งละมากๆ ก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทำการตรวจสอบได้ทันที
“เป็นไปได้ว่าคนร้ายที่ผลิตระเบิดในพื้นที่ชายแดนใต้มีเพียงไม่กี่คน เพราะรูปแบบของการประกอบระเบิดไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ยุทธวิธีในการวางระเบิดเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าน่ากลัวมากกว่า ฉะนั้นขอฝากถึงพี่น้องประชาชนทั่วไป หากพบวัตถุต้องสงสัยที่ผิดปกติ ไม่มีเจ้าของ หรือดูไม่เรียบร้อย ขัดสายตา ให้รีบออกห่าง และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบทันที ส่วนชาวสวนยางที่เข้าไปกรีดยาง ต้องระวังกับระเบิดแบบเหยียบ อาจต้องใช้สัตว์เลี้ยงนำหน้าไปก่อน เพื่อป้องกันการเสียขาอย่างถาวร” พ.ต.อ.เอกกฤต ระบุ
เปิดสถิติระเบิด 7 ปีไฟใต้-คาร์บอมบ์ 20 ครั้ง
สำหรับสถิติเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นทั้งหมดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ต้นปี 2547 ถึงสิ้นปี 2553 มีทั้งสิ้น 1,992 ครั้ง แต่ที่แยกแยะข้อมูลแล้วนับถึงวันที่ 13 ธ.ค.2553 จำนวน 1,987 ครั้ง พบว่าปีที่เกิดระเบิดมากที่สุดคือปี 2550 จำนวน 484 ครั้ง จังหวัดที่มีเหตุระเบิดมากที่สุดคือ จ.นราธิวาส 920 ครั้ง รองลงมาคือ จ.ยะลา 599 ครั้ง จ.ปัตตานี 412 ครั้ง และ จ.สงขลา 56 ครั้ง
ขณะที่รูปแบบการวางระเบิดที่รุนแรงที่สุด ใช้ดินระเบิดจำนวนมากที่สุด คือระเบิดที่ติดตั้งมาในรถยนต์ หรือ “คาร์บอมบ์” จากสถิติที่เก็บรวบรวมโดยศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิด พบว่า ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา มีคาร์บอมบ์ทั้งสิ้น 20 ครั้ง แยกเป็น จ.ยะลา 5 ครั้ง จ.ปัตตานี 2 ครั้ง และ จ.นราธิวาส มากที่สุดถึง 13 ครั้ง
"เอกภาพ"ที่ยังถูกตั้งคำถาม
สำหรับเหตุระเบิดเที่ยวล่าสุดที่ก่อความสูญเสียที่ อ.สุไหงปาดี จนหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานและการประสานงานของหน่วยเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดในพื้นที่นั้น
จากการตรวจสอบของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่า หน่วยหลักที่ทำหน้าที่เก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด คือ "หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย" ซึ่งเป็นหน่วยของทหาร แต่หน่วยเฉพาะกิจอโณทัยก็มีกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอสำหรับรองรับเหตุระเบิดทุกๆ เหตุการณ์ ประกอบกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็กว้างใหญ่ไพศาล มีถึง 37 อำเภอ (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 33 อำเภอ กับอีก 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวมเป็น 37 อำเภอ) ทำให้ต้องใช้วิธีฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ โดยเฉพาะตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เพื่อทำหน้าที่เก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดในพื้นที่รับผิดชอบของตน หรือให้สามารถเผชิญเหตุเฉพาะหน้าได้
อย่างไรก็ดี การก่อตั้ง “ศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิด” ซึ่งเป็นหน่วยงานของตำรวจ ก็มีความพยายามประสานทั้งข้อมูลและกระบวนการเก็บกู้ของเจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆ อยู่เหมือนกัน ดูได้จากวัตถุประสงค์ของการตั้งหน่วย 6 ข้อ ได้แก่
1.ดำเนินการเก็บกู้วัตถุระเบิด พิสูจน์ทราบ ทำลาย และทำพื้นที่ให้ปลอดภัย
2.ตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิดและวัตถุพยานจากระเบิดเพื่อประกอบสำนวนการสอบสวน
3.เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลและข่าวสารเหตุการณ์ระเบิดทั้งหมดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับบุคคลและความมั่นคงแห่งรัฐ รวมถึงการใช้ระเบิดปลอม (Hoax Bomb) การตรวจพบวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง (Improvise Explosive Device ; IED) ระเบิดทางทหาร ( Military Bomb ) และรวบรวมข้อมูลผู้นำเข้า ผู้ผลิต แหล่งผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ใช้วัตถุระเบิด
4.จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) ให้กับบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5.ให้การสนับสนุนเครื่องมือและเจ้าหน้าที่แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อได้รับการร้องขอ
และ 6.ติดต่อประสานงานกับศูนย์ข้อมูลระเบิดของตำรวจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและขอรับการสนับ สนุนในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาหน่วยงานที่รับผิดชอบ
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิดยังมีหน้าที่ให้ความรู้กับหน่วยงานในพื้นที่ ถึงวิวัฒนาการของระเบิดแต่ละช่วง และวิธีการระแวดระวัง ตลอดจนการใช้อุปกรณ์ตรวจสอบเบื้องต้นก่อนการเข้าพื้นที่เกิดเหตุด้วย
ดูเหมือนความเป็นเอกภาพของหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งการประสานข้อมูลและการข่าว ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งจัดการโดยด่วน เพื่อไม่ให้การสูญเสียเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกดังเช่นที่ผ่านมา!
------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พล.ต.ต.สฤษฎ์ชัย อเนกเวียง กำลังชี้ให้ดูระเบิดแสวงเครื่องรูปแบบต่างๆ ที่คนร้ายใช้สร้างสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
2 ศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิด ภายในโรงเรียนตำรวจภูธร 9 หรือ ศปก.ตร.สน. อำเภอเมือง จ.ยะลา
3 พล.ต.ต.สฤษฎ์ชัย (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังนิ)
อ่านประกอบ : สถิติระเบิด 7 ปีไฟใต้เฉียด 2 พันครั้ง นราฯหนักสุด "บึ้มถังดับเพลิง" มาแรง
http://www.south.isranews.org/backword-statistic/642--7--2---qq-.html